×

‘ปากบารา’ อุทยานแห่งชาติและวิถีชาวเลที่กำลังจะหายไป กับ EIA ที่รัฐต้องกลับไปทบทวน

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics Master Plan) เชื่อมโครงข่ายการขนส่งระหว่างอันดามันและอ่าวไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคใต้
  • โดยเป็นโครงการที่มีปัญหาตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพราะตัวรายงานไม่ได้กล่าวถึงสิ่งบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์และลักษณะพิเศษของพื้นที่ เช่น ปะการังเจ็ดสี ดอกไม้ทะเล กัลปังหาสีขาว ตลอดจนเป็นเส้นทางหากินของพะยูน วาฬบรูด้า และฉลามวาฬ
  • อีกทั้งยังต้องถอนพื้นที่ส่วนหนึ่งออกจากสถานะความเป็นอุทยาน หากโครงการได้รับการอนุมัติ
  • นักวิชาการในระดับพื้นที่และชาวบ้านได้ร่วมกันศึกษาสภาพแวดล้อมบริเวณอ่าวปากบารา เพื่อยืนยันว่าอ่าวปากบารามีความอุดมสมบูรณ์และไม่คุ้มค่าอย่างยิ่งที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก

 

     “วันนี้อาจจะไม่ได้ปลา เพราะใครๆ ก็บอกว่าน้ำเสีย”

     บังยุ้ม หรือ วิเชียร งะสมัน ชาวประมงวัย 43 ปี ที่เริ่มออกเรือหาสัตว์น้ำเลี้ยงปากท้องบริเวณอ่าวปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล มาตั้งแต่วัย 7 ขวบ หันมาพูดกับเรา

     คราบรอยดินที่เปรอะเปื้อนเสื้อผ้าของบังยุ้มคือหลักฐานว่าน้ำในวันนี้ไม่เหมาะกับการหาปลาทราย เพราะลมมรสุมที่นำพายุฝนมากระหน่ำเมื่อคืนทำให้โคลนตีฟุ้งขึ้นในน้ำ ส่งผลให้น้ำเสียไม่เหมาะกับการที่ปลาทรายจะออกมาแหวกว่าย

     “ถึงวันนี้เราจะไม่ได้ พรุ่งนี้เราก็ยังต้องออกเรือหาปลาอยู่อย่างนี้แหละ บอกไม่ได้เหมือนกันว่าวันไหนจะได้ปลาหรือไม่ได้ มันไม่แน่นอน วันนี้น้ำเสีย พรุ่งนี้น้ำอาจจะดีก็ได้ ชีวิตชาวประมงก็เป็นแบบนี้ ไม่มีอะไรแน่นอน”

     คำตอบของบังยุ้ม ชวนเราคิดไปถึงอีกความไม่แน่นอนของท้องทะเลปากบารา ที่วันหนึ่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์อาจหายไป และถูกแทนที่ด้วย ‘ท่าเรือน้ำลึก’ จากโครงการแลนด์บริดจ์ สะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล สงขลา-สตูล ที่มีแผนสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics Master Plan) เชื่อมโครงข่ายการขนส่งระหว่างอันดามันและอ่าวไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคใต้

     หากท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นจริง เราอดคิดไม่ได้ว่า วิถีชีวิตของบังยุ้ม และชาวประมงพื้นบ้านที่นี่ รวมถึงสถานะความเป็นอุทยานแห่งชาติของปากบาราจะเป็นอย่างไร…

 

1.

 

 

     เช้าตรู่ หลังจากค่ำคืนที่พายุโหมกระหน่ำ บังยุ้มประจำการที่ท้ายเรือ ติดเครื่องยนต์ ถือหางเสือ ออกสู่อ่าวปากบาราตามวิถีชีวิตที่ผูกพันกับน้ำเค็มและคลื่นทะเล

     มอเตอร์ท้ายเรือหางยาวส่งเสียงกังวานทั่วทั้งคุ้งน้ำ ฟองคลื่นตีกระทบท้องเรือทิ้งร่องรอยไว้ตลอดแนว   

     20 นาทีผ่านไป เราล่องเรือมาถึงเวิ้งทะเลด้านทิศตะวันออกของเกาะเขาใหญ่ห่างจากชายฝั่งปากบาราประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งเป็น ‘จุดไข่แดง’ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ทะเลชายฝั่งมากที่สุดที่ชาวบ้านมักจะมาวางอวนกัน และบริเวณนี้เป็นจุดเดียวกันกับที่รัฐมีโครงการจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โครงการแลนด์บริดจ์ สะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล สงขลา-สตูล ซึ่งสืบเนื่องมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern seaboard) ที่มีเป้าหมายเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคใต้ของประเทศซึ่งเป็นโครงการที่มีปัญหายืดเยื้อมายาวนานกว่า 40 ปี

     “วันนี้คลื่นไม่แรง แต่ถ้าเป็นช่วงมรสุม พอออกมาถึงตรงนี้คลื่นจะสูง 3-4 เมตรเลย ช่วงมรสุมนี่เป็นช่วงที่หาปลาได้เยอะ แต่ก็จะเสี่ยงมากด้วยเหมือนกัน”

     บังยุ้มหันมาคุยกับเราหลังจากเสียงมอเตอร์เรือสงบลง ก่อนที่จะคว้าธงสีส้มที่มีอวนปลาทรายผูกติดอยู่ทิ้งลงในทะเล แล้วเริ่มเดินเรืออย่างช้าๆ ปล่อยอวนความยาวเกือบ 1,000 เมตรลงสู่ท้องทะเล

     “ไม่ใช่ทะเลทั้งหมดที่จะมีปลาชุกชุมตลอด แต่ตรงนี้มันมีแนวสันดอนทรายเป็นแนวอาหารของปลา ของสัตว์ทะเล ยิ่งอ่าวปากบาราเป็นปากน้ำ สัตว์ต่างๆ จะเข้ามาหากิน เป็นแหล่งรวมของสัตว์นานาชนิดเลย” บังยุ้มเล่าขณะวางอวนจับปลา

 

2.

 

 

     โดยไม่ได้นัดหมาย คำบอกเล่าของชาวเลท้องถิ่นอย่างบังยุ้มสัมพันธ์กับคำกล่าวของ อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เล่าให้เราฟังถึงระบบนิเวศบริเวณนี้

     “บริเวณอ่าวปากบาราเป็นระบบนิเวศปากแม่น้ำขนาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่จังหวัดพังงาไล่ลงมาตลอดแนวจนถึงจังหวัดสตูล ระบบนิเวศแบบนี้จะมีธาตุอาหารต่างๆ อุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นแหล่งที่น้ำทะเลพัดตะกอนดินต่างๆ เข้ามาสะสม แต่อ่าวปากบารามีความจำเพาะพิเศษกว่านั้น เพราะที่นี่เป็นปากน้ำเพียงแห่งเดียวที่มีแนวปะการังและกัลปังหาเกิดขึ้น โดยเฉพาะบริเวณรอบเกาะเขาใหญ่ที่มีกลุ่มปะการังเจ็ดสี ดอกไม้ทะเล และกัลปังหาสีขาวอยู่เป็นจำนวนมาก ที่นี่จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำต่างๆ

     “ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ที่นี่จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานแห่งชาติ”

 

3.

  

 

     ระหว่างรอเวลาให้ปลาติดอวน บังยุ้มขับเรือพาเราไปทักทายเรือประมงพื้นบ้านลำอื่นๆ ในเวิ้งอ่าวปากบารา

     ‘เฒ่าทะเล’ คือฉายาของสองตายาย อายุ 75 และ 69 ปี ตามลำดับ ที่เราพบระหว่างทาง บังยุ้มเล่าให้เราฟังว่าฉายานี้ไม่ได้มาง่ายๆ ชั่วชีวิตของสองผู้เฒ่าหากินมากับท้องทะเล และด้วยความชำนาญสองผู้เฒ่าจึงหาปลาหากุ้งได้ไม่เคยขาดแม้จะเป็นช่วงหน้าแล้งก็ตาม

     กุ้งทะเลกว่า 200 ตัววันนี้คือเครื่องพิสูจน์

     ระหว่างนั้น บังดล หรือ ดล ทุมมาลี ชาวประมงวัย 45 ปี ขับเรือเข้ามาเทียบเพื่อทักทายตามวิถีของชาวเลระหว่างรอปลาติดอวน

     บังดลออกเรือหาปลามากับภรรยาสองคน โดยค้างคืนในทะเลมาแล้ว 3 คืน ด้วยเหตุผลที่ว่าการกลับเข้าฝั่งนั้นต้องใช้เวลามากและน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีราคาสูง การค้างคืนจึงคุ้มค่ากว่า เราสงสัยเรื่องการอยู่กิน จึงชะเง้อเข้าไปดูในเรือส่วนที่มุงหลังคาไว้ พบว่าภายในมีหม้อหุงข้าวและเครื่องครัวอยู่ครบครัน

     “โชคดีมีแฟนมาออกเรือด้วย มาเป็นแม่ครัวให้ บางทีได้ปูม้า ได้กุ้ง ก็ทำกินกันบนนี้เลย อาหารการกินดีกว่าอยู่ที่บ้านอีก” บังดลบอกกับเราพร้อมยิ้มกว้าง

     มีเวลาให้ได้ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันไม่มากนัก เพราะช่วงนี้เป็นเวลาน้ำขึ้น สัตว์ทะเลต่างพากันแหวกว่ายออกมาเล่นน้ำกัน เรียกว่าเป็นช่วง prime time ของเหล่าชาวประมงที่จะจับสัตว์น้ำเลยก็ว่าได้

 

4.

 

 

     ครึ่งชั่วโมงผ่านไป…

     บังยุ้มเหเรือกลับทิศเดิมที่วางอวนไว้ ตรงไปยังจุดที่มีธงสีส้มเป็นสัญลักษณ์ ก่อนพบว่าวันนี้เขาอาจจะไม่ได้ปลากลับบ้าน 

     ท้องทะเลก็เป็นเช่นนี้ ธรรมชาติก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรแน่นอน

     “ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น บังพูดแบบไม่ต้องคิดเลยว่าคงหาปลายากมากๆ เพราะสภาพพื้นที่แถบนี้มันเปรียบเสมือนหัวสะพานของโครงการ ถึงอวนของบังจะเป็นอวนลอย แต่ก็คงเข้ามาหาปลาแถวนี้ไม่ได้หรอก เพราะเขาคงกันพื้นที่ของเขาไว้จอดเรือ ไว้สัญจร บังคงต้องออกเรือไกลออกไปอีก พวกต้นทุนค่าน้ำมันก็เพิ่มเข้ามาอีก ไม่เหมือนกับเราออกเรือมาที่นี่ ออกมาระยะเท่านี้ ยังไม่เสียน้ำมันเยอะ แล้วยังกลับไปกินข้าวที่บ้านได้อีก ต้นทุนมันน้อยกว่า”

 

 

     ด้วยความผูกพันของชุมชนกับท้องทะเล หากวันหนึ่งท้องทะเลเปลี่ยนแปลงไป ชุมชนที่นี่ก็คงต้องเปลี่ยนแปลงตาม เพราะหากโครงการท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น โครงการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อการขนส่งสินค้าระยะทาง 142 กิโลเมตร โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำหรือเขื่อน รวมไปถึงโครงการพัฒนาแหล่งพลังงานหรือโรงไฟฟ้า

     ท้ายที่สุดแล้ว ชุมชนอาจต้องถูกเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรม และสูญเสียศักยภาพของชุมชนไป รวมถึงอาชีพของพวกเขาไป และดูเหมือนว่าข้อเสนอที่รัฐจะนำมารองรับการสูญเสียนี้ดูจะไม่ตอบโจทย์มากนัก

     “ถ้าจะทำงาน คนไม่มีความรู้อย่างชาวประมงที่ไม่เคยเรียนหนังสือจะได้ไปทำงานตรงนั้นไหม ลองมาเปรียบเทียบกันดูว่า ถ้าเขาให้ไปทำงานก่อสร้างสะพานได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท แต่ถ้าชาวประมงออกทะเล วันนี้เขาไม่ได้ พรุ่งนี้เขาอาจฟลุกได้เป็นพันสองพัน”

       

5.

 

 

     ถึงเวลากลับขึ้นฝั่ง…

     บ่ายแก่ของวัน น้ำที่หาดเริ่มลด ผืนทรายปนกรวดสีดำเข้มเริ่มปรากฏชัด เรือหางยาวเล็กใหญ่ร่วมร้อยลำจอดเรียงรายอยู่บนชายหาด

     ชาวประมงกำลังทยอยขึ้นฝั่งเพื่อนำอวนขึ้นมาที่แพปลาบริเวณด้านหลังของท่าเทียบเรือปากบาราที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่กำลังรอต่อเรือข้ามไปยังเกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา รวมไปถึงเกาะแก่งน้อยใหญ่ในทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน

     หญิงสาวหลากวัยเข้ามาช่วยคู่ชีวิตของตนแกะปลา ปูม้า และสัตว์ทะเลอื่นๆ ออกจากอวน ปลาที่ได้จากที่นี่จะถูกส่งไปยังกลุ่มประมงพื้นบ้านปากบารา เพื่อผ่านกระบวนการจัดการของสมาชิกภายในกลุ่ม ทั้งการแล่ปลา การจัดเก็บรักษาอย่างถูกสุขลักษณะ แล้วถูกส่งต่อไปยังร้านคนจับปลา ร้านขายปลาที่ส่งผลผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลาง ทำให้ชาวประมงได้รับค่าเหนื่อยอย่างเป็นธรรม  

     หากบังเอิญมีปลาที่มีขนาดเล็กจนเกินไปพลาดท่ามาติดอวนก็ปล่อยกลับคืนสู่ท้องทะเล ให้สัตว์น้ำเหล่านั้นได้กลับไปเติบโตและออกลูกออกหลาน เรียกว่าเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้สมดุลอย่างยั่งยืนกันต่อไป

     แต่รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA กลับสวนทางกับความเป็นจริง

     อาจารย์ศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า “ถ้าจะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก ก็จะต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานหมู่เกาะเภตราบางส่วนซึ่งก็คือบริเวณเกาะเขาใหญ่ ถึงมันจะน้อยแต่มันเป็นหัวใจของอุทยานซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดแล้ว พื้นที่ราว 4 พันไร่อาจจะดูไม่เยอะนะ แต่เมื่อเทียบกับผลกระทบของมันที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีการขนส่งทางทะเลบริเวณนั้น มันจะมีการรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี แล้วมันก็จะกระจายและสะสมไปทั่วทั้งอ่าวปากบารา เพราะพื้นที่ตรงนี้มันไม่ใช่พื้นทรายแต่มันเป็นทรายปนดินซึ่งแน่นอนว่ามันจะสะสมและไม่ถูกพัดพาออกไปง่ายๆ เหมือนอย่างมาบตาพุดหรือแหลมฉบัง

     “นอกจากนี้ ยังจะมีการขุดลอกร่องน้ำเพื่อทำเส้นทางเดินเรือ สิ่งที่จะตามมาก็คือดินตะกอนที่ฟุ้งกระจายไปทั่ว และที่สำคัญแถบนี้เป็นแหล่งที่พบพะยูน วาฬบรูด้า และฉลามวาฬมาหากินอยู่บ่อยครั้ง ตรงนี้ก็จะถูกทำลายไปด้วย เป็นเพราะการศึกษา EIA ที่ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด สิ่งสำคัญขนาดนี้มันก็เลยตกหล่นไป

     “ทีนี้นักวิชาการในระดับพื้นที่อย่างผมร่วมกับชาวบ้านก็ลงไปศึกษาตามที่กำลังทรัพย์เราจะมี พยายามศึกษาไปเรื่อยๆ แล้วก็พบว่ายังมีพื้นที่อีกหลายหลายจุดที่มันมีลักษณะพิเศษ ทั้งกัลปังหา ปะการังอ่อน รวมไปถึงกองหินขาวซึ่งอยู่ในเขตที่จะสร้างตัวท่าเรือน้ำลึกเลยไม่ใช่แค่เส้นทางเดินเรือเท่านั้น เพื่อที่เราจะได้มีสิ่งไปยืนยันว่าพื้นที่ตรงนี้มันสมบูรณ์มากจริงๆ และไม่คุ้มค่าอย่างยิ่งที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกตรงนี้ และอยากให้เจ้าของโครงการได้ทบทวนตรงนี้ด้วย”

       

6.

 

 

     ตกเย็น บังยุ้มชวนเราไปกินข้าวเย็นที่บ้าน ปลาทรายที่เราได้มาในวันนี้คือวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร

     “อย่างน้อยๆ ถ้าน้ำเสีย หาปลาไม่ได้ ก็ยังพอมีปลาติดมือกลับมาทำกินที่บ้าน”

     ปลาทรายทอดขมิ้น และปลาทรายย่าง กินกับข้าวสวยร้อนๆ คือมื้อค่ำของเราวันนี้ ทั้งบังยุ้ม ภรรยาและลูก ต่างใช้มือเปิบข้าวเข้าปากตามวิถีท้องถิ่น

 

 

     “ทะเลที่นี่ให้ชีวิตบัง ให้บังได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงครอบครัว ยิ่งตอนนี้ลูกสาวของบังกำลังจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย บังยิ่งหยุดออกเรือไม่ได้”  

     บ้านของบังยุ้มที่เรากำลังนั่งกินมื้อค่ำกันอยู่นี้ คือพื้นที่ส่วนหนึ่งที่จะถูกนำมาสร้างเป็นเส้นทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าจากท่าเรือน้ำลึก ซึ่งทางผู้รับผิดชอบโครงการได้มีการเข้ามาทำการปักหมุดเพื่อระบุเขตแดนแล้ว

     “หมู่บ้านบังนี่โดนเต็มๆ เลย เพราะมันจะตรงกับลาน 18 ล้าน ของปากบาราซึ่งเป็นจุดหัวท่าที่จะมีเส้นทางรถไฟรางคู่ เคยมีเจ้าหน้าที่มาวัดที่ทาง บังก็เป็นคนเอาเรือพาเขาข้ามไปที่ป่าชายเลนและสำรวจที่แถบนี้ เพราะตอนนั้นบังไม่รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไรกัน จนตอนหลังบังถึงได้รู้ว่าเขาจะทำสะพานรถไฟรางคู่

     “ถ้าท่าเรือจะเกิดขึ้นตรงนี้ บังก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็ปล่อยให้มันเป็นเรื่องอนาคตไป แต่บังเกิดที่นี่ บังก็อยากจะอยู่ที่นี่”

 

7.

 

 

     คงเป็นเรื่องน่าใจหาย หากท้องทะเลแห่งนี้ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวประมงหลายร้อยครอบครัว และเป็นศูนย์รวมแหล่งอาหารทะเลที่ส่งกลับเข้ามาหล่อเลี้ยงคนในประเทศจะหายไป แล้วถูกแทนที่ด้วยท่าเรือน้ำลึกและภาคอุตสาหกรรมที่อาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะสามารถคืนเงินทุนที่กู้มาได้

     และไม่มีสิ่งใดที่จะมายืนยันได้ว่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้จะคุ้มค่ากับการต้องแลกมาด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ประเมินค่าไม่ได้เหล่านี้ได้หรือไม่

     “ถ้าวันหนึ่งระบบนิเวศตรงนี้มันหายไป ศักยภาพของคนในพื้นที่ก็จะหายไปด้วย การพัฒนาศักยภาพด้วยตัวเองของชุมชนต่อไปที่กำลังมีแผนที่จะต่อยอดการประมงพื้นบ้านไปสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนก็จะหายไป จากที่ชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้ก็กลายเป็นว่าจะต้องรอพึ่งพาศักยภาพที่รัฐจะเอามาให้

     “ผมเชื่อว่าศักยภาพที่ชาวบ้านมีนั้นมันมีค่ามากกว่าศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจที่ภาครัฐไปลงทุน หลายโครงการที่ผ่านมา อย่างมาบตาพุดหรือแหลมฉบังก็เป็นบทเรียนให้เราได้เห็นแล้ว”

     อาจารย์ศักดิ์อนันต์ นักวิชาการในพื้นที่กล่าวเหมือนไม่อยากให้โครงการท่าเรือน้ำลึกที่ภาครัฐจะทำเกิดขึ้นจริง

 

8.

 

 

     เวลาล่วงเลยมาจนถึง 1 ทุ่ม เสียงอาซานจากสุเหร่าดังก้องทั่วทั้งหมู่บ้าน  เป็นเวลาที่ชาวมุสลิมในปากบาราจะต้องไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

     ถึงเวลาแยกย้าย

     ก่อนจากกัน บังยุ้มบอกลาด้วยความหวังว่าบังและครอบครัวจะไม่ต้องย้ายออกไปจากปากบารา เพราะปากบาราคือบ้านที่ดีที่สุดของบัง

     “บ้านบังคือสวรรค์อยู่แล้ว อันดามันคือสวรรค์ของบัง”

FYI
  • ร้านคนจับปลา คือ ร้านขายปลาทางเลือกที่ชาวประมงพื้นบ้านสามารถส่งปลามาขายได้โดยตรงถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์น้ำที่หามาได้และทำให้ชาวประมงรู้จักจัดการผลผลิตของตนอย่างถูกต้องก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค ก่อตั้งโดยสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทย และองค์การออกซ์แฟม (Oxfam)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising