×

“ผมยังเหมือนเดิม” สว. ใหม่ ‘บัส เทวฤทธิ์’ จากเข้าค่ายทหารปี 57 สู่รัฐสภา

30.07.2024
  • LOADING...

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คนจากการสมัครรับเลือกปี 2567 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เข้ารัฐสภามาแทนที่ 250 สว. ที่หมดวาระลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ เทวฤทธิ์ มณีฉาย หรือ บัส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากการสมัครรับเลือกปี 2567 ‘กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม’ จากอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

 

บัสเป็นอดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท วัย 40 ปี ผู้เขียนแนะนำตัว 5 บรรทัดตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในใบ สว.3 ระบุถึงตัวเองว่า

 

“ปี 2562 เป็นบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไทที่รายงานข่าวเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เริ่มเป็นนักข่าวตั้งแต่ปี 2555 เกาะติดประเด็นการเมือง สิทธิแรงงาน เป็นกระบอกเสียงประชาชนควบคู่ไปกับงานข่าวเชิงสืบสวนฯ การใช้อำนาจรัฐและทุน รวมทั้งยังเคลื่อนไหวปกป้องเสรีภาพสื่ออย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยื่นฟ้องศาลปกครองขอเพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัว สว. เพราะเห็นว่ากระทบต่อเสรีภาพสื่อและเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน”

 

 

ทำงานข้อมูลมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553

 

ตอนปี 2553 ผมทำงานที่ ‘ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53’ มีบันทึกออกมาเป็นเล่ม ‘ความจริงเพื่อความยุติธรรม’ มีชื่อผมด้วย หลังจากนั้นทำงานในคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) แล้ววันสุดท้ายที่เป็นนักเคลื่อนไหวคือวันที่นำรายชื่อผู้ร่วมลงชื่อพร้อมร่างแก้ไขจาก ครก. 112 เข้ารัฐสภา (ถนนอู่ทองใน) ในระหว่างที่อาจารย์ นักวิชาการเข้าไปยื่นเอกสารที่รัฐสภา ผมก็ยืนปราศรัยอยู่ด้านนอกรัฐสภา

 

แล้วคนที่บอกผมว่าต่อไปนี้จะทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะเราจะไปเป็นนักข่าวประชาไทคือ พี่จิ๋ว-จีรนุช เปรมชัยพร หัวหน้าที่ประชาไท โดยก่อนหน้านั้นผมเป็น ‘นักข่าวพลเมือง’ คือเป็นนักเคลื่อนไหวแล้วเขียนข่าวส่งประชาไทได้ กระทั่งวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ผมก็เป็นพนักงานของประชาไทเต็มตัว ต่อมาปี 2562 ผมเป็นบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท

 

 

ปี 2557 เข้าค่ายทหาร ปี 2567 เข้ารัฐสภา

 

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผมถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกไปรายงานตัวตามคำสั่ง 44/2557 วันที่ 3 มิถุนายน 2557 ผมไปหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ก่อนจะถูกควบคุมตัวไปค่ายทหาร ‘มทบ.11’ แถวๆ เกียกกาย ซึ่งไม่ไกลจากรัฐสภาในปัจจุบัน ตอนนั้นในที่ควบคุมตัวมีการล้อมรั้วปิดเหมือนเราอยู่ในห้องดำ ที่จริงเป็นห้องอาหารที่เขาดัดแปลงเป็นห้องคุมตัว เอาอะไรมาปิด มีการล้อมด้วยลวดหนาม บรรยากาศก็คงหวังผลทางจิตวิทยาให้ดูน่ากลัว มีทหารถือปืนรักษาความปลอดภัย ไม่ให้เราออกจากพื้นที่

 

ผมถูกคุมตัวในค่ายทหาร 3 วัน 2 คืน จึงได้ออกมา ซึ่งระหว่างนั้นมีการนำตัวมาสอบสวนที่เทเวศร์ตอนค่ำๆ ของ 1 ใน 2 คืนที่ถูกคุมตัวด้วย

 

ประเด็นสำคัญคือเราไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย ไม่สามารถพบทนายความ ทั้งที่การควบคุมตัวสอบสวนนี้หากมีคดีความผิด คำสอบสวนสามารถถูกใช้เป็นหลักฐานในการส่งต่อไปที่ศาลทหารได้ ไม่ใช่ขึ้นศาลยุติธรรม บางคนถูกตัดสินจำคุกด้วยมาตรา 112 หลังถูกควบคุมตัว

 

ขณะเดียวกันที่บ้านผม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ก็มีทหารไปพบพ่อแม่ผมวันที่ผมไปรายงานตัว ผมอยู่ในลิสต์ที่ถูกจับตา ถ้าจะเดินทางออกนอกประเทศต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. หรือถ้าทำความผิดจะให้เซ็น MOU จะดำเนินคดีและจะอายัดทรัพย์สิน ซึ่งผมไม่มีอะไรให้อายัด มีแต่บัญชีเงินเดือน นอกจากนั้นมีทหารไปหาที่ประชาไทด้วย 2 ครั้ง 

 

ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงครามปี 2557 มีหน่วยงานทหารเข้ามายึดพื้นที่ตรงนั้นในการปฏิบัติงานของ คสช. ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด หลังจากทหารติดตามไปที่บ้าน เขาก็โทรให้ผมไปคุยที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นที่ทำการของเขา

 

หลังออกจากการถูกคุมตัวที่ กทม. ผมกลับบ้าน ผมก็ไปศาลากลางจังหวัดสมุทรสงครามคนเดียว ขับมอเตอร์ไซค์ไปคุยกับทหาร 4-5 คนในห้อง

 

พอปี 2567 อาคารซึ่งอยู่ในรั้วศาลากลาง คือหอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็ถูกจัดเป็นสถานที่เลือก สว. ระดับจังหวัด เป็นอาคารข้างๆ อาคารที่ผมเคยไปพบทหารในปี 2557

 

เขามอนิเตอร์จับตาในจังหวัด นอกจากผมแล้วก็มีอดีต สส. รังสิมา รอดรัศมี ตอนนั้นเป็น สส. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต สว. บุญยืน ศิริธรรม กระบวนการติดตามของทหารยุติไปในปี 2562 ช่วงก่อนเลือกตั้ง 2562

 

เรื่องผ่านมาแล้ว แต่ Digital Footprint ข่าวเก่าๆ ยังมีอยู่ ซึ่งสามารถส่งผลได้ทั้งเป็นโทษและเป็นคุณเมื่อผมสมัคร สว. หากจะส่งผลเป็นโทษ เช่น ผู้สมัคร สว. ฝ่ายอนุรักษนิยมบางคนซึ่งมีสิทธิโหวตเขาอาจจะมองว่าผมไปทำอะไรผิดหรือเปล่า ทำไมอยู่ในลิสต์แบบนี้

 

ขณะเดียวกันอาจจะส่งผลเป็นคุณ เพราะแสดงให้เห็นว่าผมมีจุดยืนตรงข้ามกับฝ่ายรัฐประหาร และผมไม่มีปัญหากับข้อเท็จจริงนี้ เพราะเป็นความจริงที่บ่งบอกจุดยืนเราด้วย

 

 

เป็น สว. แล้ว เข้ารัฐสภาแล้ว จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะไม่หวั่นไหวกับข้อเสนอการต่อรองผลประโยชน์มหาศาล

 

คนอื่นอาจจะพรีเซนต์ตัวเองว่า “ฉันเดินสายนี้มานาน ขอให้เชื่อมั่นในตัวฉัน” ส่วนผมก็เดินสายนี้มาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ทำกิจกรรมมาจนกระทั่งเป็นนักข่าว แต่ผมอยากจะบอกว่า อย่าเชื่อมั่นในตัวผมเลย

 

ผมเสนอโครงการที่เรียกว่า Senate Watch ให้คนที่เคยเป็นโหวตเตอร์ส่งเพื่อนเข้าสภาแต่ไม่ได้เข้ามาเอง หรือคนที่อายุยังไม่ถึง 40 ปีในตอนรับสมัคร สว. ขอให้ทุกคนเดินไปด้วยกัน แม้ไม่ใช่ สว. แต่ต้องคอยจี้คอยตรวจสอบการทำงานของ สว.

 

ผมไม่สามารถให้คำมั่นได้ ด้วยความที่ผมไม่มีพรรคการเมืองคอยกำกับ ไม่มีทีม Think Tank คอยกลั่นกรอง คอยช่วยสนับสนุนข้อมูล พอเข้าไปด้วยตัวคนเดียวนอกจากอาจจะถูกล่อด้วยผลประโยชน์แล้ว อาจจะหวั่นไหวหรืออาจจะไม่หวั่นไหวกับผลประโยชน์ แต่อาจจะถูกข่มขู่จนกลัว คือไม่ทำอะไรเลยเพราะกลัว (หัวเราะ) หรือสุดท้ายด้วยความเหนื่อยล้า เราอาจจะเฉื่อยชา เราอาจจะไม่เดินเป๋ ไม่หวั่นไหว แต่เราก็ไม่เดิน (หัวเราะ)

 

ดังนั้นถ้ามีภาคประชาชน Senate Watch คอยเป็นคนถือ ‘ปฏัก’ คอยจิ้มเหมือนผมเป็นวัวเป็นควายให้เดินในทางที่ประกาศตั้งแต่ต้น คอยสนับสนุนข้อมูล เช่น การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ หากมีการช่วยก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ดุลพินิจของเราเข้าใกล้ ‘ความสมบูรณ์’ มากขึ้น เพราะเราไม่มีทางที่ดุลพินิจจะสมบูรณ์ ไม่มีทางเป็นอรหันต์ แต่หากเราสร้างการมีส่วนร่วมให้คนเข้ามาให้ข้อมูล ก็จะเข้าใกล้ความสมบูรณ์มากที่สุด

 

ผมเสนอไอเดีย Senate Watch แต่ผมไม่สามารถไปจัดตั้งได้ เพราะมันจะกลายเป็นขัดแย้งหลักการไป แต่อยากให้ภาคประชาชนคอยตรวจสอบ

 

 

ถ้าวันหนึ่งพบว่า สว. เทวฤทธิ์ โหวตอะไรที่ไม่ตรงกับแนวทาง ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ จะตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่าไปรับผลประโยชน์ฝ่ายไหนมาหรือเปล่า

 

ตั้งข้อสังเกตได้เลยครับ และผมคิดว่าการโหวตแต่ละครั้งทั้งของ สส. และของ สว. ต้องมีคำอธิบาย ผมอยากจะเชิญชวน แม้ผมเป็นเสียงส่วนน้อย แต่เป็นไปได้ไหม โดยเฉพาะ สว. อย่างเช่นการโหวตรับรองหรือไม่รับรอง อาจารย์วิษณุ วรัญญู ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด

 

ผมก็อยากรู้ว่าแต่ละคนให้ดุลพินิจไว้อย่างไร ไม่ใช่แค่โหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่ควรจะให้เหตุผลอย่างน้อย 5 บรรทัดตามที่มาเหมือนตอนสมัคร สว. ก็ได้ (หัวเราะ)

 

เขียนอย่างน้อย 5 บรรทัดให้ประชาชนรู้ว่าคุณโหวตแบบนี้เพราะอะไร เพราะเป็นเรื่องสำคัญควรจะบอกกล่าวกับประชาชน ต้องมีการแสดงเหตุผลอย่างมีวุฒิภาวะ แล้วประชาชนจะได้ตรวจสอบการให้เหตุผลในฐานะ สว. ไม่ใช่กดเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแล้ว สว. ก็กลายเป็นแค่จำนวนนับ

 

 

เป็น สว. มีความแตกต่างจาก สส. ขณะ สส. มีพรรคสังกัด มีนโยบาย เมื่อเข้ามาเป็น สว. เทวฤทธิ์แล้วจะใช้อำนาจนี้อย่างไร

 

ด้านหนึ่งก็จะมีงานธงของเราเรื่องรัฐธรรมนูญ คือผมวางกรอบไว้ว่าตัวเองไม่ได้มีความชอบธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับ สส. ไม่ว่าจะไม่เห็นด้วยกับมติ สส. อย่างไร สว. ก็ไม่มีความชอบธรรมมากเท่า สส. เพราะกติกาที่มา สว. ที่แตกต่างจาก สส. ดังนั้น สว. อาจจะเสนอแนะได้ แต่ถ้าถึงขนาดแทรกแซง ยับยั้ง หรือถอดถอน สำหรับผม ผมจะไม่ทำ

 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ยังไม่มีมติของสภาผู้แทนราษฎร ผมก็จะพยายามเปิดโอกาสให้จัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ เช่น คำถามประชามติ เราสามารถตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีให้ทบทวนคำถาม กับคำถามที่ล็อกว่าเห็นชอบหรือไม่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เรามองว่าเป็นคำถามล็อก และเป็นคำถามเชิงซ้อน ทำให้เกิดความยากลำบากแก่ประชาชนในการแสดงมติ

 

ถ้าถึงที่สุดเราฝืนเขาไม่ได้เพราะไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ ก็คงทำหน้าที่รายงานคณะกรรมาธิการ ผมเล็งไว้ว่า ‘คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา’ กับ ‘คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา’ น่าจะเป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ฝากความหวังหรือคนที่กำลังเคลื่อนไหวซึ่งถูกละเมิดสิทธิตอนนี้

 

ผมยังทำงานเนื้อหา งานคอนเทนต์เหมือนเดิมแม้ไม่ได้เป็นสื่อมวลชน ผมมองว่าเนื้อหาในเชิงสอบสวน งานกรรมาธิการน่าจะช่วยได้เยอะ เราสามารถเรียกฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐให้มาตอบคำถามเราได้ ขณะที่ตอนเป็นสื่อ เจ้าหน้าที่อาจจะปฏิเสธเราก็ได้ แต่ตอนนี้เราอาจจะเรียกมาได้และเราเข้าถึงเอกสารที่เป็นปฐมภูมิได้มากขึ้น

 

ผมและทีมมาฟอร์มกองบรรณาธิการสืบสวนสอบสวนเลยก็ว่าได้ อย่างน้อยเรื่องกฎหมายแต่ละฉบับที่เข้ามาก็ต้องทำงานเชิงลึก ซึ่งเราต้องให้ดุลพินิจ ต่อให้เราไปขวางเสียงส่วนใหญ่ในสภาไม่ได้ ก็ต้องใช้อภิปรายเพื่อให้สังคมเห็นผลกระทบหรือโอกาสที่จะเกิดผลกระทบ รวมถึงบทบาทกรรมาธิการที่ต้องตรวจสอบฝ่ายรัฐที่ไปละเมิดสิทธิประชาชน ก็ต้องใช้ทักษะงานเชิงสืบสวนสอบสวนเพื่อตรวจสอบ

 

 

หลังจากนี้เมื่อเป็น สว. แล้วจะมีวิธีการทำงานที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกับตอนทำงานสื่อมวลชนหรือไม่

 

ประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาเขียนไว้ว่าต้องเป็นกลาง ขณะที่สื่อมวลชนเองก็ยังมีข้อถกเถียงกันเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งสื่อมวลชนบางสำนักใช้คำว่าสมดุล

 

ผมอยากผลักดันให้เกิดการแก้ไขตรงนี้เช่นกัน เพราะความเป็นกลางของ สว. อาจจะไม่มีอยู่จริง และข้อถกเถียงเหล่านี้ก็มีอยู่ในวงการสื่อ เราอาจจะใช้คำว่ามีดุลพินิจสมดุล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่หมายถึงการฟังรอบด้าน แล้วก็ไปใช้ดุลพินิจในการตัดสิน ผมคิดว่าโดยอำนาจ บทบาท หรือกลไกต่างๆ สว. แตกต่างจากสื่อมวลชน แต่ว่าบางเรื่องการขุดคุ้ยข้อมูลก็ดึงเอาทักษะการทำงานของสื่อมวลชนมาใช้ได้

 

เราอาจจะใช้กรอบงานข่าวเป็นกรอบในการทำงาน ซึ่งแม้แต่ฝ่ายที่เขาเคยร่วมทางกับเรามา ถ้าเขาเดินเป๋จากกรอบ เราอาจจะขัดหรือแย้งกับเขาก็ได้ เพราะสื่อต้องเชื่อมั่นในความจริง จะไปสร้างเรื่องขึ้นมาเองไม่ได้ ถ้ามีปัญหาข้อเท็จจริง เราก็ต้องขัดกับเขา เราทำข้อมูลที่แม้อาจจะไม่ใช่ความจริงอันสมบูรณ์ แต่ข้อเท็จจริงที่เรามี ถ้าไม่ตรงกับเขา เราก็ต้องแย้ง

 

นอกจากนั้นประมวลจริยธรรมมีข้อที่ห้ามสมาคมกับคู่ขัดแย้ง ซึ่งการไปนั่งกินข้าวกับคนในม็อบก็อาจจะถูกร้องเรียนว่าไปสมาคมกับคู่ขัดแย้งหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ หรือคู่ขัดแย้งกรณีแรงงานลูกจ้างมีข้อพิพาทกับนายจ้าง ถ้า สว. ไปนั่งกินข้าวพูดคุยในม็อบ อาจจะถูกมองว่าไปสมาคม ซึ่งขัดประมวลจริยธรรมอยู่

 

ผมคิดว่าเรื่องนี้คนทำงานภาคประชาชน เช่น อาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ และ อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง สว. ทั้ง 2 ท่านก็คงเห็นปัญหาข้อนี้เช่นกัน

 

การออกแบบ สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เหมือนอยากให้ สว. เป็นยอดมนุษย์ เป็นอรหันต์ อาจเป็นเพราะบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ 2540 สว. ตอนนั้นถูกมองว่าเป็นสภาผัวเมีย สภานักการเมือง เขาก็เลยวางซีน สุดท้ายเป็นอย่างไร สุดท้ายออกแบบมาเป็นอย่างนี้ (หัวเราะ)

 

ผมเชื่อว่าความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง และไม่มีหรอกคนที่อิสระอย่างแท้จริง เพราะคนก็ต้องมีกลุ่ม มีเพื่อน มีการเสวนากัน มาอภิปรายถกเถียงกัน แม้แต่ที่มาของ สว. ยังมีการแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพ ซึ่งการแบ่งกลุ่มอาชีพก็บอกอยู่แล้วว่าแต่ละกลุ่มอาจจะมีความขัดแย้งกัน

 

กลุ่ม 7 พนักงานหรือลูกจ้างที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อาจจะขัดหรือแย้งกันกับกลุ่ม 12 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม

 

กลุ่ม 17 ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ ถ้าเชื่อว่าเป็นอิสระจากรัฐและทุน อาจจะขัดหรือแย้งกันกับกลุ่ม 1 การบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง หรือแม้กระทั่งกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐและทุน ก็อาจจะขัดแย้งกับรัฐ ขัดแย้งกับกลุ่ม 12 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม อยู่แล้ว

 

Parliament คือการพูด ดังนั้นจะต้องมีความขัดแย้งกันอยู่แล้ว แต่ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ผมเชื่อมั่นว่าตราบใดที่วุฒิสภาเป็นพื้นที่ตรงกลางสำหรับทุกกลุ่มที่ขัดแย้งกันทั้งความคิด ที่มา ชนชั้น อัตลักษณ์หรือผลประโยชน์ต่างๆ สามารถพูดคุยขัดแย้งกันได้ ก็จะเกิดดุลพินิจขึ้นมาเอง

 

ความขัดแย้งในการถกเถียงจะนำไปสู่ดุลพินิจ ผมเชื่อแบบนี้ ยอมรับความจริงว่าทุกคนมีจุดยืน เป้าหมาย ที่มาที่ไป แล้วมาขัดแย้งกัน สุดท้ายเราจะมีดุลพินิจในการพิจารณา ไม่งั้นจะมี Parliament ได้อย่างไร

 

 

สว. เงินเดือนหลักแสน สามารถตั้งทีมงานตามกฎหมายได้กี่ตำแหน่ง แต่ละคนเงินเดือนเท่าไร

 

สว. สามารถตั้ง ‘ผู้เชี่ยว, ผู้ชำ, ผู้ช่วย’ มาทำงานรับเงินเดือนจากรัฐสภา 

 

โดยผู้เชี่ยวชาญ 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท ผู้ชำนาญการ 2 คน เงินเดือนคนละ 15,000 บาท ผู้ช่วยดำเนินงาน 5 คน เงินเดือนคนละ 15,000 บาท

 

แต่ผมใช้วิธีนำเงินเดือนตัวเองบางส่วนเติมให้ทีมงานตามฐานานุรูปตามที่เขาเรียกร้อง เพราะเรามองว่าเป็นการฟอร์มกองบรรณาธิการขึ้นมาในการทำงาน

 

เคยได้รับสายโทรศัพท์ให้ไปรับเงินรับทองเพื่อโหวตอะไรให้ใครไหม 

 

ผมได้ยินเรื่องเล่าจากคนอื่นเยอะมากว่ามีการต่อรอง เสนอให้รถตู้พร้อมคนขับรถและให้เงินเดือน หรือตอนเลือกระดับจังหวัด ระดับประเทศ ถ้าไปโหวตให้เขาแล้วจะได้อะไร

 

บางคนเขาก็ส่งคลิปเสียงมาให้ว่ามีบทสนทนาแบบนี้ ถ้าเขาเป็นอะไรไปช่วยเก็บหลักฐานไว้ด้วย เขาส่งฝากไว้ในฐานะที่ผมเป็นสื่อและได้รับความไว้วางใจ

 

แต่ส่วนตัวผมไม่ได้รับการติดต่อเสนออะไรให้ อาจจะเป็นเพราะว่าผมประกาศชัด และตอนเริ่มแรกคนอื่นอาจจะมองว่าผมไม่น่าจะได้เป็น สว. แน่ๆ เขาจึงไม่เข้าใกล้

 

แต่พอเริ่มฟ้องคดีไปที่ศาลปกครอง เริ่มออกมาโวย สว. สมชาย แสวงการ เรื่องการกล่าวหามีชื่อในโผบัญชีฮั้ว 149 คน คนอื่นก็เริ่มเห็นแบรนด์ว่าผมเป็นบรรณาธิการประชาไทมาก่อน ก็น่าจะมีจุดยืนที่ชัด เขายิ่งคิดว่าอย่าไปดีลด้วยดีกว่า 

 

แล้วกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน จะมีลักษณะอีกอย่างคือ คนไม่ค่อยกล้ามาแตะด้วย เพราะกลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นข่าวเสียเอง กลัวกลายเป็นคอนเทนต์ของสื่อ แล้วสื่ออย่างผมก็คงอยากได้คอนเทนต์ด้วย เพราะไปฟ้องศาลปกครองมาแล้ว ไปโวย สว. สมชาย แสวงการ มาแล้ว ดังนั้นถ้าใครติดต่อผมก็จะกลายเป็นเชื้อมูลอย่างดีที่จะถูกนำไปเป็นคอนเทนต์ ดังนั้นไม่มีการติดต่อมาเลย

 

อีกแง่หนึ่ง ผมก็แปลกใจว่าข่าวที่เขาปั่นเรื่องตัวเลข เขาต่อรองให้ได้รับการสนับสนุนหรือเปล่า หรือว่าเขาไม่มีเบอร์ผมก็เลยไม่ติดต่อมา (หัวเราะ) แต่ก็ทำให้เราทำงานง่ายดี ไม่ต้องเกรงใจใคร ลำบากใจ หรือกลัวใคร เพราะเขาก็คงกลัวผมว่าไอ้นี่ปากโป้งแน่นอน

 

ผมมองอีกอย่างในมุมมองของผมซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง คือเวลาที่คนบอกว่าอิสระ หรือไม่ได้มีสังกัดอะไร มันมีมูลค่านะครับ เพราะแปลว่า ‘ขอดูก่อนนะ ขอฟังก่อนนะ ขอคิดก่อนนะ’ เรียกอีกอย่างว่า ‘ตลาดเปิดแล้วจ้า’ มีอะไรที่จะทำให้เราตัดสินใจหรือเปล่า บางคนคำว่าอิสระหมายความว่า ‘ตลาดเปิด’

 

หรืออีกอย่างคือ ด้วยระบบ ถ้ากลุ่มใหญ่เขามีคะแนนพอแล้ว เขาก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมาช้อนแล้ว ยกเว้นกลุ่มย่อยที่พยายามจะเอาจำนวนไปเพื่อจะบอกว่าเป็นกลุ่มใหญ่อันดับ 2 เพื่อไปต่อรองเรื่องกรรมาธิการ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก็มีนัยของเขา

 

ขณะที่กลุ่มใหญ่เขาอาจจะมีพอแล้ว จากสมมติฐานคนที่ได้คะแนนลำดับ 1-6 ของแต่ละกลุ่ม คะแนนเกาะกัน รวมแล้วก็คือ 6×20 = 120 คน ก็เกินกึ่งหนึ่งแล้ว กระทั่งวันโหวตจริงมีการโหวตถึง 159 เสียง ในวันโหวตประธาน สว.

 

คำถามว่าเอา 159 เสียงไปทำไม ก็คือเอาไปปิดตายการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้เสียง 1 ใน 3 แปลว่าจำนวนที่เหลืออยู่ไม่ถึง 1 ใน 3 ใครจะแก้รัฐธรรมนูญต้องมาคุยกับกลุ่มใหญ่ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ยังไม่รวมถึงเรื่ององค์กรอิสระต่างๆ ต่อให้เดินสายมาดีอย่างไรก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งเขาก็ต้องมาคุย

 

 

ใน สว. 200 คน มองว่าแบ่งได้กี่กลุ่ม และมองตัวเองอยู่กลุ่มไหน

 

แม้จะโหวตประธาน 159 คน แต่ถ้าให้ผมแบ่งเป็นกลุ่ม ผมมองกลุ่มใหญ่ประมาณ 150 คน ต่อมากลุ่มคนที่มีจุดยืนชัดกลุ่มนี้มี 15 คน นับแบบเจียมตัว ผมก็อยู่กลุ่มนี้ คืออยากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนั้นมีกลุ่มที่สวิงไปมาก็ประมาณ 40 กว่าคน

 

 

ตอนตัดสินใจสมัคร สว.

 

เนื่องจากผมถูกบรรดานักเคลื่อนไหวรุ่นที่อายุยังไม่ถึง 40 ปี บอกว่าในฐานะอายุครบ 40 ปีแล้ว ผมต้องรับผิดชอบต่อภารกิจแห่งยุคสมัยของพวกเขา ก็คือเรื่องผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วน iLaw ทุกคนรอด เพราะยังไม่มีใครอายุถึง 40 ปี ยกเว้น อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ นะครับ

 

ผมไปรณรงค์ที่อำเภอ จังหวัด มีจุดที่เราคุยกับผู้สมัครคนอื่นๆ ได้สอบถามความคิดเห็นเขาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนั้นพยายามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครรับเลือก สว. เพื่อเป็นพื้นที่สนทนา ทั้งข้อมูลจาก iLaw และ senate67 ในพื้นที่สนทนาตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ซึ่งระดับอำเภอมีจำนวนคนน้อยกว่าจังหวัด ส่วนระดับจังหวัดของสมุทรสงครามมี 3 อำเภอ มีผู้สมัครร้อยกว่าคน ดังนั้นจึงได้คุยแลกเปลี่ยนกันเกือบทั้งหมด

 

ผมผ่านระดับจังหวัดมาได้เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่แข่งขันกันอย่างเดือด ผมสมัครกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ทั้งจังหวัดมีเพียง 2 คน นั่นแปลว่าผมไม่โดนสกัด ผมขอคะแนนอย่างน้อยรอบละ 1 คน ก็สามารถเข้ามาถึงเมืองทองธานี ระดับประเทศได้แล้ว

 

จนกระทั่ง สว. สมชาย แสวงการ โพสต์ว่าผมอยู่ในโผบัญชีฮั้ว 149 คน แต่หากสังเกตดีๆ ชื่อในโผนั้นคือชื่อผู้สมัครที่สมัครในกลุ่มอาชีพละ 1-2 คนในจังหวัดนั้นๆ ถ้าหากเขาไม่โดนสกัด อย่างน้อยได้ 1 คะแนนในรอบไขว้ เขาก็เข้าระดับประเทศได้ ดังนั้นผมจึงไม่ต้องชิงรักหักเหลี่ยมโหดกับใคร 

 

การเลือกกลุ่ม 18 ตรงกับตัวผมและเป็นการเลือกถูกกลุ่ม เพราะแข่งขันไม่สูงในระดับอำเภอ จังหวัด

 

เริ่มต้นสมัครไปเป็นโหวตเตอร์ แต่ก็มุ่งหมายจะไปให้ไกลที่สุดเพื่อการันตีว่าคนที่จะสืบทอดเจตจำนงของเราเป็นคนที่เรามั่นใจว่าคนนี้จะไม่บิดพลิ้ว เพราะการได้มาซึ่งอำนาจเป็นเรื่องสำคัญและกระบวนการการันตีการใช้อำนาจก็สำคัญไม่แพ้กัน เราไม่รู้ว่าแต่ละคนเมื่อไปถึงปลายทางแล้วจะใช้อำนาจตามสิ่งที่เรามุ่งหมายและตามสิ่งที่เครือข่ายเรามุ่งหวังหรือเปล่า ก็เลยคิดว่าจะไปให้สุดทาง มาถึงระดับประเทศที่เมืองทองธานี คนที่เราเห็นในกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชนที่พอรู้จักหรือมั่นใจในแนวทางเหลือจำนวนน้อยมาก จึงคิดว่าเราจะต้องไปให้สุดทาง

 

 

ยื่นศาลปกครองขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.

 

คำฟ้องของผมเขียนเอง ส่งเองทางออนไลน์ ผมอยากประชาสัมพันธ์ว่าช่องทางศาลปกครองมีการอำนวยความสะดวกต่างๆ ยื่นทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

 

ต่อมามีการเรียกไปไต่สวนจนกระทั่งมีคำพิพากษา แม้ กกต. แย้งว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย แต่เนื่องจากเป็นระเบียบ กกต. ก็เป็นอำนาจทางการปกครอง การร่างคำฟ้องไม่ยากเท่ากับการฟ้องศาลยุติธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญ

 

ผมขอเรียนเชิญทุกท่านยื่นศาลปกครอง เหมือนผมรับบทโฆษกศาลปกครอง (หัวเราะ) คือเว็บไซต์ศาลปกครองจะมีช่องทางเรียกว่า ‘ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์’ มีการแนะนำวิธีการให้ด้วย เราเขียนบรรยายคำฟ้องตามความเดือดร้อนที่ถูกองค์กรรัฐละเมิด เราเขียนเองได้เลย

 

ผมยื่นทางออนไลน์ ซึ่งเป็นคนละคำฟ้องกับกลุ่มอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ แต่ผลออกมาคล้ายๆ กัน ศาลปกครองเพิกถอนระเบียบ กกต. บางข้อ ซึ่งบางข้อก็ตรงกันระหว่างคำฟ้องของผมกับกลุ่มอาจารย์พนัส

 

 

อาวุธของเสียงข้างน้อย

 

เมื่อระเบียบ กกต. ไม่ให้ผู้สมัคร สว. บอกว่าจะไปทำอะไร ให้บอกแค่ว่าเคยทำอะไร เคยเป็นอะไร มีประสบการณ์อะไร ผมอ่านรัฐธรรมนูญ ทำข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และดูความเห็นของ iLaw บ้าง ของนักวิชาการบ้าง นำมาประกอบกันเป็นประเด็นที่เราจะฟ้องศาลปกครอง

 

แต่เราก็มีธงของเราอยู่แล้ว เช่นเรื่องการขาดการมีส่วนร่วม เรื่องการไม่สามารถให้คำมั่นได้ว่าตัวเองจะไปทำอะไรหรือไม่สามารถแสดงจุดยืนได้ เป็นเพียงการบอกว่ามีคุณสมบัติอะไร มีประสบการณ์อย่างไร ซึ่งผมมองว่าไม่เพียงพอที่จะการันตีความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่า สส. กับ สว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ความเป็นผู้แทนอย่างน้อยต้องบอกได้ว่าจะไปทำแทนเรื่องอะไร เพราะเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน

 

สว. บางท่านบอกว่าการแสดงวิสัยทัศน์ใครก็เฟกได้ ใครก็พูดได้ ผมฟังแล้วได้แต่เกาหัว เพราะผมเตรียมบันทึกว่าทุกคนเคยพูดกับสภานี้ไว้ว่าอย่างไร ผมจะถอดเทปและแปะไว้ที่โต๊ะผม สักวันหากมีปัญหาอะไรผมจะย้อนคำเหล่านั้นมา เพราะอย่างน้อยเป็นสัญญาประชาคม ซึ่งก็คือวุฒิสภากับประชาคม เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าตีตั๋วฟรีให้วุฒิสภา แล้วสุดท้ายเขาทำอะไรก็ไม่สามารถตรวจสอบติดตามได้

 

การทำข้อมูลเป็นอาวุธเดียวที่เราสามารถที่จะไปทวงเขาได้ เพราะในแง่จำนวน เราสู้เขาไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องเอาสิ่งที่เขาเคยพูดไว้ไปทวง

 

 

ไม่ได้ร่วมเปิดตัวผู้ประสงค์สมัครรับเลือกเป็น ‘สว. ประชาชน’ และฟ้องศาลปกครองคนเดียวไม่ได้ยื่นศาลเป็นกลุ่มจำเลย แต่ก็ถูกจัดเป็น ‘สว. สีส้ม’ จะอธิบายอย่างไร

 

ผมประกาศลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ตั้งแต่ก่อนยื่นศาลปกครอง แต่อาจจะเป็นเพราะผมโนเนม คนก็เลยไม่ค่อยรู้จัก ผมแสดงตัวคนแรกในกลุ่มสื่อที่แนะนำตัวใน senate67 ต่อมาเริ่มเป็นที่รู้จักตอนฟ้องศาลปกครอง

 

ผมลาออกจากบรรณาธิการประชาไทก่อนสมัครอย่างเป็นทางการ 1 วัน เพื่อไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง

 

ด้วยความที่ผมไม่ได้รวมกลุ่มกับใคร ทำให้ระหว่างทางผมก็ต้องแสวงหากลุ่มอื่น ขี่ม้าเลียบค่ายตลอด และเนื่องจากผมไปร้อง กกต. เรื่อง สว. สมชาย แสวงการ เปิดโผหาว่ามาจากการฮั้ว 149 คน แล้วในโผรายชื่อนั้นมีผู้สมัครกลุ่มสื่อจากจังหวัดอื่นๆ ด้วย ซึ่งผู้สมัครกลุ่มนี้ในแต่ละจังหวัดมีคนสมัครจำนวนไม่มาก เขาจึงเห็นเรา แล้วเขาก็มาคุยกับเรา ทำให้เป็นที่รู้จัก แล้วเหมือนผมเป็นตัวแทนหมู่บ้านที่ไปไฝว้กับ สมชาย แสวงการ ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นแรงหนุน

 

ส่วนเรื่องถูกแปะว่าเป็นส้ม ผมคิดว่าเป็นเรื่องแนวทางมากกว่า ผมรณรงค์อย่างเปิดเผย ผมต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้ง 100% ก็เอาเรื่องนี้ไปคุยกับคนในพื้นที่ที่มาแนะนำตัวกัน ถามเขาว่าเห็นด้วยกับแนวทางนี้ไหม เพื่อแลกเปลี่ยนกัน เห็นด้วยหรือไม่ เพราะอะไร

 

ดังนั้นถ้าจุดนี้ไปตรงกับความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลที่ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไปสอดคล้องกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าผมสังกัดพรรคก้าวไกล เพียงแต่ว่าเป็นคนที่มีจุดยืนเหมือนกันเท่านั้นเอง ไม่ได้หมายความว่าขาดความเป็นอิสระ บางเรื่องเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับก้าวไกลก็มี ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมาตีกรอบได้

 

ตอนเลือกประธานและรองประธาน กลุ่มที่ผมคิดว่ามีแนวทางเดียวกัน ตอนแรกบางคนบอกมี 30 คน แต่เหลือ 19 คน 18 คน และ 15 คน แปลว่ากลุ่มนี้มีงูเห่าหรือเปล่า ซึ่งผมมองว่าเรามองแบบนั้นไม่ได้ เพราะ สว. ไม่ได้มีพรรคอย่าง สส. ถ้าเป็นพรรคยังมีคณะกรรมการวินัยพรรคในการตรวจสอบว่าถ้าคุณฝ่าฝืนมติพรรค คุณจะโดนลงโทษอย่างนั้นอย่างนี้

 

ผมยังเชื่อว่าคนที่เห็นด้วยกับเราเรื่องรัฐธรรมนูญก็อาจจะมาร่วม แม้จะไม่เห็นด้วยตอนเลือกประธาน รองประธาน ก็เป็นเอกสิทธิ์ของเขา เราไม่สามารถทำให้ สว. เห็นไปในทางเดียวกันได้ทุกอย่าง สว. กลุ่มใหญ่ บางเรื่องเขาอาจจะเห็นด้วยกับเราก็ได้ แม้ไม่ใช่ทั้งหมดทุกเรื่อง

 

 

เป็นนักการเมืองแล้ว

 

มีอำนาจทางการเมืองครับ ถ้ามองในแง่กลไกการเมืองในเชิงสถาบันทางการเมือง แต่จริงๆ แล้วนักข่าวก็มีอำนาจทางการเมือง แม้ไม่ใช่การเมืองในเชิงสถาบันการเมือง แต่เป็นอำนาจของกระแสข้อมูล

 

ทุกคนก็ดีลกับอำนาจ ขึ้นอยู่กับอำนาจอย่างเป็นทางการหรือไม่ จะเรียกผมว่านักการเมืองก็ได้

 

ต่อไปเวลาฟัง สว. เทวฤทธิ์ จะต้องให้ความเชื่อถือแตกต่างจากเวลาฟังบรรณาธิการเทวฤทธิ์หรือไม่ เพราะกลายเป็น ‘นักการเมือง’ ไปแล้ว

 

ผมเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องสัมพันธ์กับการเมืองเรื่องของการต่อรองอะไรหลายๆ อย่างเพื่อได้รับการสนับสนุน แต่ว่าด้วยที่มา ผมไม่ได้ให้สัญญาอะไรเป็นพิเศษกับคนอื่น เช่น บางคนอาจจะเสนอตำแหน่งอะไรให้ใคร ส่วนผมพรีเซนต์อย่างเดียวเรื่องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นด้วยที่มาจึงไม่ได้ทำให้ตัวตนของตัวเองเสียไป

 

ผมโชคดีเพราะตอนเลือกระดับอำเภอ จังหวัด ผมได้คะแนนเดียวก็เข้ารอบเมืองทองธานีระดับประเทศได้แล้ว เมื่อมาระดับประเทศ ก็ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มที่มีจุดยืนมาลงสมัครเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงได้แรงสนับสนุนจากกลุ่มนี้ด้วย เราไม่ได้เสียตัวตนอะไร ณ วันนี้ผมบอกได้เลยว่าผมยังเหมือนเดิม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising