×

สแกนนโยบายพลังงานว่าที่รัฐบาลใหม่ เมื่อการรื้อสัญญาเอกชนทำยาก แต่การลดค่าไฟ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

20.05.2023
  • LOADING...
นโยบายพลังงาน

สแกนนโยบายพลังงาน 2 พรรคใหญ่ระหว่างรอความหวังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ‘ก้าวไกล’ ท้าชนกลุ่มทุน ลดค่าไฟฟ้า หนุนประชาชนใช้โซลาร์เซลล์ ขณะที่ ‘เพื่อไทย’ เห็นพ้องลดค่าไฟ แต่พ่วงราคาแก๊สและน้ำมัน พร้อมปัดฝุ่นแผนขุดก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนกัมพูชา ด้านวงการพลังงานมอง การรื้อสัญญาซื้อขายไฟถือว่าแก้ยาก แต่การลดค่าไฟก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 

ก่อนที่จะเห็นการจัดสรรโควตารัฐมนตรี ความคืบหน้าล่าสุด พรรคก้าวไกลดึงพรรคใหม่เข้ารวมเป็น 9 พรรคร่วมรัฐบาล และรอการลงนาม MOU สัปดาห์หน้า ขณะนี้หลายฝ่ายจับจ้องมาที่ ‘เค้กก้อนใหญ่’ กระทรวงเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นรายชื่อว่าที่รัฐมนตรีบางกระทรวงออกมาบ้างแล้ว แต่สำหรับวงการพลังงาน กระทรวงเกรดเอ ถือว่ายังเงียบและยังดูท่าทีกันอยู่  THE STANDARD WEALTH ชวนย้อนดูนโยบายพลังงาน 2 พรรคใหญ่ร่วมรัฐบาล และมุมมองวงในจากกระทรวงเกรดเอนี้  

 

ก้าวไกล ท้าชนกลุ่มทุนลดค่าไฟ หนุนโซลาร์เซลล์

 

พรรคก้าวไกล วางแม่ทัพ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ วัย 35 ปี ดีกรีปริญญาโท MSc Finance Imperial College London รับหน้าที่ดูแลนโยบายด้านพลังงาน 2 เรื่องหลัก คือ ลดค่าไฟฟ้า และผลักดันให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ โดยการลดค่าไฟนั้นจะใช้บันได 5 ขั้นโดยตั้งเป้าปีแรกจะลดค่าไฟ 70 สตางค์ต่อหน่วยทันที และภายใน 4 ปีจะเปิดเสรีโซลาร์รูฟ เปลี่ยนแดดเป็นเงิน ท้าชน ‘เสือนอนกิน’ กลุ่มทุนใหญ่ด้านพลังงานที่ฟันค่าประกันกำไรผ่านบิลค่าไฟ เดินหน้าเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงานใหม่ รวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า

 

โดยหลักๆ แนวทางการลดค่าไฟฟ้าวางไว้ว่า หากเข้ามาทำหน้าที่ รัฐต้องยกเลิกการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ซึ่งจะส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ต้นทุนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แย่งใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทย ไม่ได้ถูกนำมาร่วมเป็น Energy Pool ในการรับภาระต้นทุน LNG ที่มีราคาแพง การปล่อยให้กลุ่มทุนพลังงานแย่งเอาก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทยไปใช้เป็นต้นทุนวัตถุดิบถูกๆ ในขณะที่ประชาชนต้องมาเป็นผู้แบกรับต้นทุนจากราคาก๊าซนำเข้า LNG เต็มๆ โดยที่ปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซไม่ถูกนำมาเฉลี่ยต้นทุนก๊าซ LNG นำเข้าด้วย ซึ่งผู้ที่รับซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยทั้งหมดก็คือ ปตท.

 

ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงมีนโยบายในการจัดสรรก๊าซธรรมชาติใหม่ ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ควรหันไปใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาปริมาณก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอ

 

ขณะที่แผนใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์โดยการไฟฟ้าฯ ต้องใช้ระบบ Net Metering ในการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากประชาชน คือใช้วิธีการหักลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตจากโซลาร์บนหลังคาใช้เอง กับไฟฟ้าจากการไฟฟ้า โดยคิดค่าไฟในอัตราที่เท่ากัน แทนการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ด้วยระบบ Net-billing เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมากขึ้น

 

‘เพื่อไทย’ หนุนลดค่าไฟ ราคาแก๊ส น้ำมัน เร่งขุดก๊าซธรรมชาติพื้นที่ทับซ้อน

 

ทางด้านพรรคเพื่อไทย มีหัวหน้าทีมนำทัพพลังงาน พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช วางนโยบายพลังงาน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1. ลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม และราคาน้ำมัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนที่สามารถทำได้ทันที โดยจะมีการเข้าไปแก้ไขโครงสร้างราคาพลังงาน 2. เจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยมีการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ควรนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ 

 

อาทิ ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากเมียนมาลดลง ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาสูงมาก อนาคตเทรนด์โลกจะมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำให้ในอนาคตก๊าซธรรมชาติจะไม่มีราคา จึงจำเป็นต้องรีบนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้และขายนำรายได้เข้าประเทศ และก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนสามารถเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ โดยไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่ 6 โรง และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า

 

แก้สัญญาซื้อขายไฟไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ลดค่าไฟก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ประเด็น ‘การปรับแก้สัญญาซื้อขายไฟกับโรงไฟฟ้าเอกชนไม่ใช่เรื่องง่าย’ ต้องดูข้อกฎหมายของสัญญาที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าที่ทำสัญญาที่มีอยู่ในมือ ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวตรงนี้

 

โดยการทำสัญญาต่างๆ ของภาครัฐนั้นรัดกุมอยู่แล้ว เพราะเป็นการทำสัญญาระดับราชการ การจะปรับแก้ไขสัญญาหรือทบทวนอะไรก็คงต้องดูรายละเอียดเชิงลึก และนำทั้งเหตุและผลท้ายที่สุดเพื่อนำมาคุยกัน

 

“แต่นโยบายพลังงานรัฐบาลใหม่ ในการปรับลดราคาค่าไฟฟ้า หากดูตามต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริง ขณะนี้ ‘ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้’ เนื่องจากปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาลมีการบริหารจัดการต้นทุน และการยืดหนี้ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่ค้างจ่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปได้โดยมีการหาแหล่งเงินให้กับ กฟผ. หรือการหาเงินสนับสนุนอื่นๆ ได้ก็สามารถทำได้” แหล่งข่าวกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising