×

ทำไมคนรุ่นใหม่เป็นหนี้เร็วกว่าคนรุ่นก่อน

12.09.2023
  • LOADING...
คนรุ่นใหม่เป็นหนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘บัตรเครดิต’ นั้นสามารถทำให้ชีวิตใครหลายๆ คนง่ายขึ้น เพราะว่าไม่จำเป็นต้องพกเงินสดติดตัวตลอดเวลา มีสิทธิประโยชน์มากมาย และที่สำคัญคือ ช่วยเพิ่มอำนาจทางการเงินให้เราสามารถซื้อหรือผ่อนสิ่งของที่มีราคาแพงได้ 

 

แต่สำหรับใครที่หมุนเงินไม่ทันและใช้วิธีจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำมาตลอด ก็อาจชักหน้าไม่ถึงหลังกว่าเดิม เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งประกาศว่า จะปรับขึ้นอัตราการจ่ายขั้นต่ำของบัตรจาก 5% เป็น 8% ในปีหน้า แถมชมรมธุรกิจบัตรเครดิตยังเตรียมเดินหน้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ขยายเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 16% กลับไปอยู่ที่ 18% ตามเดิม

 

การปรับขึ้นอัตราการจ่ายขั้นต่ำและเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้เสียอันดับต้นๆ ของคนไทย 

 

ทำไมต้องปรับขึ้นจ่ายขั้นต่ำ? 

 

ในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้ออกนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการปรับลดอัตราการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 10% เหลือแค่ 5% รวมถึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% ลดเหลือ 16%  

 

แต่ปัจจุบันเมื่อเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว รายได้ของลูกหนี้เริ่มกลับมาดีขึ้นแล้ว แบงก์ชาติจึงมองว่าควรปรับมาตรการให้กลับไปใช้เกณฑ์ปกติ โดยปี 2024 อัตราการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจะทยอยปรับขึ้นเป็น 8% และเพิ่มเป็น 10% ในปี 2025 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย มีความกังวลว่า การเพิ่มอัตราการจ่ายขั้นต่ำจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ เพราะลูกค้าหนึ่งรายส่วนใหญ่จะมีบัตรเครดิตเฉลี่ย 3 ใบ และมีลูกค้าจ่ายขั้นต่ำประมาณ 20-25% ของทั้งระบบ 

 

หากขยับอัตราจ่ายขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอาจทำให้ลูกค้าต้องจ่ายเพิ่มขึ้นทุกใบ ซึ่งอาจหนักเกินไปได้ เสี่ยงซ้ำรอยเดิมกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่หลังจากปรับอัตราจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% ก็ส่งผลกระทบให้เกิดหนี้เสียในสินเชื่อบัตรเครดิตค่อนข้างสูง

 

อีกทั้งชมรมธุรกิจบัตรเครดิตยังเตรียมเดินหน้าหารือกับแบงก์ชาติ เพื่อขอให้พิจารณาขยายเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ปัจจุบันถูกปรับลดมาอยู่ที่ 16% ให้กลับไปอยู่ที่ 18% ตามเดิม เนื่องจากต้นทุนการเงิน (Cost of Fund) ในการประกอบธุรกิจสูงขึ้น เพราะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า มาตรการเหล่านี้ควรทำในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจดี แต่ในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจยังลุ่มๆ ดอนๆ แบบนี้และคนเป็นหนี้เยอะ อาจทำให้คนที่พึ่งพาวงจรของหนี้ เช่น ใช้บัตรเครดิตจ่ายหนี้รถยนต์ หนี้บ้าน หรือหนี้อื่นๆ จำเป็นต้องตัดสินใจว่าเขาจะหยุดจ่ายหนี้อะไรก่อนดี และเป็นผลให้คุณภาพของสินเชื่อแย่ลง

 

บัตรเครดิต กับดักหนี้ครัวเรือนไทย 

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงมาก คิดเป็น 86.8% ของ GDP ตีเป็นเงินก็คือ 14.9 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2022) หรือเฉลี่ยแล้วคนไทยมีหนี้ 559,400 บาทต่อครัวเรือน

 

แต่ถ้าหันมาดูรายได้ ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยตีกลมๆ แค่เดือนละ 28,000 บาท ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนไทยเฉลี่ยเดือนละ 22,000 บาท ส่วนต่างมีอยู่ 6,000 บาท แค่ใช้หนี้ก็เหนื่อยแล้ว เงินเก็บเงินออมอย่าเพิ่งพูดถึงดีกว่า

 

ส่วนทศวรรษที่ผ่านมา ตัวเลขยอดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอยู่ในระดับสูงและโตเร็วเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกัน ที่น่าเป็นห่วงคือ 20% ของคนไทยกำลังประสบกับปัญหาหนี้เสียและมีการค้างชำระเกินกว่า 90 วันขึ้นไป โดยในจำนวนนี้คนรุ่นใหม่อายุ 20-35 ปีที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมีหนี้เสียสูงที่สุด หรือว่าคิดเป็น 24%  

 

เมื่อพูดถึงหนี้ หนี้สามารถแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ หนี้ที่ไม่สร้างรายได้ (Non-Productive Loan) ที่ซื้อความสุขสบายในวันนี้ แต่ไม่ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในวันหน้า เพราะส่วนใหญ่มักเป็นของใช้แล้วหมดไป เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค และหนี้จากการจับจ่ายซื้อของเกินที่ฐานะ

 

กับอีกประเภทคือ หนี้ที่สร้างรายได้ (Productive Loan) ที่ช่วยให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างอนาคต สร้างอาชีพ และมีความมั่นคงระยะยาว เช่น หนี้เพื่อการศึกษา หนี้ซื้อบ้าน หรือหนี้เพื่อซื้ออุปกรณ์ประกอบอาชีพ

 

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไทยเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ 

 

โดยแบ่งเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 39% และบัตรเครดิต 29% ขณะที่หนี้ที่สามารถสร้างรายได้หรือความมั่งคั่ง อย่างเช่น หนี้เพื่อธุรกิจและหนี้บ้าน กลับมีสัดส่วนเพียงอย่างละ 4% เท่านั้นจากบัญชีหนี้ทั้งหมด

 

อีกเรื่องที่พบคือ คนรุ่นใหม่เริ่มมีหนี้เร็ว และส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล 

 

ที่น่าเป็นห่วงคือ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชี เช่น มีหนี้บัตรเครดิต 2 ใบ หนี้รถ 1 คัน และสินเชื่อส่วนบุคคลอีก 1 บัญชี วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน ทั้งยังสูงกว่าเกณฑ์ของต่างประเทศที่ห้ามไม่ให้มีหนี้เกินกว่า 5-12 เท่าของรายได้ต่อเดือน ลูกหนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะจ่ายไม่ไหวจนกลายเป็นหนี้เสีย เห็นได้จากจำนวนบัญชีหนี้เสียที่เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 60% และถ้าหากดูการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีการขยายตัวขึ้นมากที่สุด 

 

ดร.พิพัฒน์ มองว่า การที่คนรุ่นใหม่เป็นหนี้เร็วกว่าคนรุ่นก่อนๆ มีเหตุผลอยู่หลายปัจจัย  

 

ปัจจัยแรกคือ มุมมองต่อการเป็นหนี้เปลี่ยนไป สมัยก่อนคนอาจมีค่านิยมว่าการเป็นหนี้ไม่ดี แต่วันนี้คนรุ่นใหม่คิดว่าหนี้ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะหากไม่เป็นหนี้เลย บางคนอาจไม่สามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์บางอย่างได้ ซึ่งเมื่อมุมมองต่อหนี้เปลี่ยนไป พฤติกรรมการใช้เงินก็เปลี่ยนไปด้วย จากที่เน้นเก็บออมเงินให้ได้เยอะๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการกล้าที่จะใช้เงินซื้อความสุขให้ตัวเองมากขึ้น 

 

ปัจจัยถัดมาคือ ความสามารถในการเข้าถึงบริการทางเงินที่ง่ายขึ้น คนยุครุ่นพ่อรุ่นแม่เราอาจต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากมายกว่าจะได้เงินกู้ แม้แต่ปัจจุบันแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ยังมีบริการให้ช้อปก่อนและจ่ายทีหลังเลย

 

และปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญคือ ภาวะเศรษฐกิจ สมัยก่อน GDP โต 7-8% ต่อปี คนสามารถจ่ายหนี้ได้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะรายได้โตขึ้นเรื่อย ตรงข้ามกับวันนี้ที่เศรษฐกิจโตช้า เงินเดือนขยับขึ้นน้อย แต่ค่าครองชีพพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว 

 

กำเนิดบัตรเครดิต 

 

เชื่อไหมว่าบัตรเครดิตที่ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้อยู่ 2,800 ล้านใบนั้น มีต้นกำเนิดมาจากการลืมกระเป๋าสตางค์ของผู้ชายเพียงคนเดียว

 

ย้อนกลับในปี 1950 ค่ำคืนหนึ่งที่มหานครนิวยอร์ก แฟรงก์ แมคนามารา ที่เพิ่งคุยธุรกิจสำคัญเสร็จและกำลังจะจ่ายค่าอาหาร เขาพบว่าเขาลืมเอากระเป๋าสตางค์มาจากบ้าน

 

โชคดีที่ภรรยาของเขามาช่วยคลี่คลายเรื่องทั้งหมด แต่แมคนามาราก็รู้สึกเสียหน้ามาก และตั้งใจว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกเป็นเด็ดขาด 

 

เขาจึงเกิดไอเดียทางธุรกิจว่า จะดีแค่ไหนถ้าเรามีบัตรเล็กๆ ใบหนึ่งที่รับรู้กันกับร้านอาหารว่า ขอแปะโป้งไว้ก่อน เดี๋ยวมาจ่ายทีหลัง โดยมีบริษัทเป็นตัวกลางช่วยจัดการเรื่องเงินระหว่างสมาชิกบัตรกับร้านอาหาร

 

ถัดจากนั้นหนึ่งปี แมคนามาราก็กลับไปยังร้านอาหารร้านเดิม และใช้กระดาษแข็งที่มีชื่อบนบัตรว่า Diners Club จ่ายบิลค่าอาหาร ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นการกำเนิดบัตรเครดิตใบแรกของโลก

 

หลังเปิดตัวได้ปีเดียว Diners Club มีสมาชิกบัตรถึง 42,000 ราย บริษัทขยายการให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ร้านอาหาร บริการเช่ารถ โรงแรม ไปจนถึงห้างร้านต่างๆ โดยที่ Diners Club มีรายได้จากการคิดค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปี 5 ดอลลาร์ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจากร้านที่เป็นคู่ค้า 7%

 

ธนาคารต่างๆ ที่เห็นช่องทางทำกำไรจากบัตรรูปแบบใหม่นี้ก็ไม่รีรอที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นบ้าง 

 

ปี 1958 ยักษ์ใหญ่ด้านการเงินอย่าง American Express และ Bank of America ต่างก็เปิดตัวบัตรเครดิตของตัวเอง

 

American Express ส่งเสริมการขายด้วยการชูความเป็นผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม พร้อมกำหนดระยะเวลาจ่ายคืนให้ยืดหยุ่นกว่าเดิม แลกกับการคิดดอกเบี้ย เนื่องจากช่วงแรกการจ่ายคืนจะเป็นลักษณะเมื่อถึงสิ้นเดือนผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องจ่ายเงินคืนเต็มจำนวน หรือใช้เท่าไรจ่ายคืนเท่านั้น 

 

ส่วน Bank of America ก็สร้างตำนานด้วยการส่งบัตรเครดิตมากกว่า 2 ล้านใบไปทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่การเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นทำให้ธนาคารต้องสูญเงินกว่า 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะว่าผู้ถือบัตรมากกว่า 1 ใน 5 ไม่จ่ายหนี้คืน 

 

แต่ถึงอย่างนั้น Bank of America ก็ยังคงเดินหน้าทำบัตรเครดิตต่อ จนเวลาต่อมาพวกเขาเป็นที่รู้จักในชื่อว่า Visa 

 

ความนิยมในบัตรเครดิตที่มากขึ้น ทำให้การใช้บัตรเครดิตขยับขยายจากสหรัฐอเมริกาไปสู่สหราชอาณาจักร และช่วงกลางทศวรรษ 1980 บัตรเครดิต Diners’ Club, American Express, Visa และ Mastercard ก็ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

 

ส่วนไทยเริ่มมีการใช้บัตรเครดิตครั้งแรกเมื่อปี 1969 โดยผู้ออกบัตรที่เข้ามาบุกตลาดครั้งนั้นก็คือ Diners’ Club ก่อนที่ปีถัดมา Bank of America จะนำบัตร Visa เข้ามาเช่นกัน บัตรเครดิตจึงเริ่มได้รับความสนใจจากชาวไทยเพิ่มมากขึ้น จนในปี 1972 ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมกับธนาคารศรีนครผลิตบัตรเครดิตของตัวเองขึ้นมา

 

ช่วงแรกลูกค้าบัตรเครดิตในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง แต่ว่าการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นทำให้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุมัติถูกปรับลดลง คนที่มีรายได้ระดับปานกลางจึงเริ่มสามารถถือครองบัตรเครดิตได้ จนบัตรเครดิตถูกใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 

 

โดยตามข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2023 ไทยมีการใช้งานบัตรเครดิตกว่า 26 ล้านใบ ถ้าหากเทียบช่วงเวลาเดียวกับเมื่อปี 2014 ที่มีการใช้บัตรเครดิตเพียง 19.3 ล้านใบเท่านั้น จะพบว่าเพิ่มขึ้นมาถึง 6.6 ล้านใบเลยทีเดียว 

 

แน่นอนว่าบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตเองก็ทยอยทำรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยรายได้รวมของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ที่มีสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตกว่า 65% จากสินเชื่อทั้งหมดนั้น ตั้งแต่ปี 2014 – ไตรมาส 2 ปี 2023 บริษัททยอยมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีลดลงไปบ้างเล็กน้อยในช่วงโควิด

 

‘จ่ายขั้นต่ำ’ ดอกพอกพูน หนี้อยู่นาน

 

การใช้บัตรเครดิตนั้นหากศึกษารายละเอียดให้ดีและใช้ให้เหมาะสม เราจะได้ประโยชน์ต่างๆ อย่างคุ้มค่า 

 

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าขาดความระมัดระวังในการใช้จ่าย บัตรเครดิตก็อาจกลายเป็นหายนะทางการเงินได้เหมือนกัน เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงถึง 16% ต่อปี และการพยายามจะแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตด้วยการเลือกจ่ายขั้นต่ำนั้นอาจยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะการจ่ายขั้นต่ำทำให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา 2 ก้อนในเวลาเดียวกัน

 

ก้อนที่ 1 คือ ก้อนที่คำนวณจากมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมดที่ใช้ไป ซึ่งจะถูกคิดดอกเบี้ยกลับไปถึงวันที่เรารูดบัตรเครดิตในสินค้าหรือบริการนั้นๆ

 

ยกตัวอย่างว่า ถ้าเรารูดซื้อสินค้า 10,000 บาท ธนาคารสรุปยอดใช้จ่ายวันที่ 25 ของทุกเดือน และกำหนดชำระทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไป เมื่อครบกำหนดชำระในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เราเลือกจ่ายขั้นต่ำ 5% ซึ่งเท่ากับ 500 บาท เราจะถูกคิดดอกเบี้ยก้อนแรก 175.34 บาท 

 

ดอกเบี้ยก้อนที่ 2 คือ คิดจากส่วนต่างของขั้นต่ำที่จ่ายไปกับเงินต้นที่เหลืออยู่ ซึ่งจะถูกคิดดอกเบี้ยต่อไปจนถึงรอบบิลหน้าในการจ่ายบิล ในที่นี้เราเหลือที่ต้องจ่าย 9,500 บาท เมื่อคำนวณแล้วเราจะต้องจ่ายดอกเบี้ย 66.6 บาท เมื่อนำดอกเบี้ยทั้งสองก้อนมารวมกันเท่ากับว่าสรุปเดือนนั้นเราต้องจ่ายดอกเบี้ย 241.94 บาท 

 

หากเดือนถัดไปยังผ่อนขั้นต่ำอีก ดอกเบี้ยก็จะอยู่ในลักษณะนี้อีกไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะไม่รูดเพิ่มหรือก่อหนี้เพิ่มเลยก็ตาม เราก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถปิดหนี้หนึ่งก้อนได้ 

 

ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า การทยอยปรับอัตราการจ่ายขั้นต่ำให้กลับไปเป็น 10% ตามเดิมนั้น ในแง่หนึ่งก็เพื่อควบคุมปัญหาจ่ายดอกเบี้ยเยอะและประชาชนที่เป็นหนี้นาน 

 

พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากเราใช้เงินในบัตรเครดิตไป 80,000 บาท และเลือกจ่ายขั้นต่ำ 5% เท่ากับว่าจะใช้เวลาถึง 10 ปี 3 เดือนในการปิดหนี้ และจ่ายดอกเบี้ยรวม 28,000 บาท แต่ถ้าจ่ายขั้นต่ำ 10% จะใช้เวลาปิดหนี้เพียง 5 ปี จ่ายดอกเบี้ยรวม 12,000 บาท

 

แต่ถึงอย่างนั้นแบงก์ชาติก็เข้าใจว่าบางคนไม่มีความสามารถจ่ายหนี้ได้จริงๆ เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง และเศรษฐกิจฟื้นตัวจากรายได้ต่างประเทศเป็นหลัก จึงจะเร่งให้ผู้ออกบัตรเครดิตสื่อสารเรื่องการปรับเกณฑ์จ่ายขั้นต่ำให้ลูกค้ารับทราบ และเตรียมแนวทางดูแลลูกหนี้ที่ไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราการจ่ายได้ เช่น การโอนเปลี่ยนประเภทหนี้จากบัตรเครดิตเป็นสินเชื่อแบบตามกำหนดเวลา (Term Loan)  

 

หากถามว่า ทำไมดอกเบี้ยบัตรเครดิตถึงแพงเป็นอันดับต้นๆ ดร.พิพัฒน์ อธิบายว่า

 

หนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลนั้นเป็นสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน และไม่มีข้อตกลงเลยว่าจะใช้กรอบระยะเวลาในการจ่ายคืนเท่าไร ต่างกับหนี้บ้านหรือหนี้รถที่ธนาคารและผู้กู้ทำข้อตกลงกันไว้ชัดเจนว่าจะจ่ายคืนภายในกี่ปี ธนาคารจึงบริหารจัดการได้ยากกว่า เพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะได้เงินกลับคืนมาเมื่อไรหรือจะกลายเป็นหนี้เสียไหม นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสูงกว่าสินเชื่อที่มีหลักค้ำประกัน รวมถึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมแบงก์ชาติจึงกำหนดว่าคุณต้องจ่ายคืนขั้นต่ำอย่างน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ของยอดหนี้ 

 

ในขณะเดียวกัน ดร.พิพัฒน์ ก็มองว่า สถานการณ์ Market for Lemons ที่เป็นคำเอาไว้ใช้อธิบายว่า เวลาไม่รู้ข้อมูลอะไร เราจะคิดบนฐานกรณีที่เลวร้ายที่สุดไปก่อน  

 

ซึ่งปกติทฤษฎี Market for Lemons จะใช้ในกรณีของการซื้อรถมือสองที่ผู้ซื้อไม่รู้ข้อมูลเลยว่ารถคันนี้เคยเกิดอุบัติเหตุไหมหรือเคยเอาไปเข้าอู่หรือเปล่า เราจะมีธงในใจว่ารถคันนี้คุณภาพไม่ดี ทั้งที่ความจริงอาจจะดีก็ได้

 

กรณีของบัตรเครดิตก็เช่นเดียวกัน การที่อัตราดอกเบี้ยสูง ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารหรือสถาบันทางการเงินไม่มีข้อมูลว่าผู้ขอยื่นอนุมัติบัตรเครดิตนั้นแต่ละคนมีประวัติเป็นอย่างไร ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุด อย่างแรกคือ การมีข้อมูล Credit Scoring หรือคะแนนเครดิต สำหรับประเมินความสามารถในการชำระหนี้จากเจ้าของบัตรเครดิตว่าเขามีรายได้เพียงพอไหมและพฤติกรรมการจ่ายหนี้ในอดีตเขาเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันข้อมูลด้าน Credit Scoring ที่ใช้กันทั่วไปในไทยมาจากศูนย์เครดิตบูโร 

 

เพราะฉะนั้นการบอกว่าจะแก้ปัญหาหนี้ด้วยการยกเลิกเครดิตบูโรจึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่จะทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีก เพราะทันทีที่ไม่มีข้อมูล ทุกคนจะถูกเหมารวมไปก่อนว่าเป็นลูกหนี้ที่แย่ และถูกตั้งดอกเบี้ยแพงขึ้นมาทันทีทุกคน

 

นอกเหนือจาก Credit Scoring สิ่งหนึ่งที่ในต่างประเทศมีแต่ไทยยังไม่มีคือ Debt Service Ratio หรือ DSR ที่หมายถึงอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม ซึ่งมีไว้ช่วยเช็กระดับความปลอดภัยของแต่ละคนว่า ถ้ามีเงินเดือนเท่านี้คุณจะมีหนี้ได้แค่ไหน   

 

ในกรณีต่างประเทศกำหนด DSR เอาไว้ว่าไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ เพราะในชีวิตประจำวันของเรามีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องจ่ายอีก หากเป็นหนี้สูงเกิน 30% ของรายได้ การใช้หนี้ให้ตลอดรอดฝั่งจะไม่ใช่เรื่องง่าย 

 

ที่น่าสนใจคือ เมื่อธนาคารมีข้อมูลเหล่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บดอกเบี้ยในบรรทัดฐานเดียวกันหมด คนที่ Credit Scoring และ DSR อยู่ในเกณฑ์ดีก็อาจได้เก็บดอกเบี้ยน้อยหน่อย คนที่ไม่มีข้อมูลอะไรบันทึกไว้เลยก็อาจเก็บดอกเบี้ยที่สูงกว่า 

 

ปัจจุบันแบงก์ชาติกำลังยังอยู่ระหว่างจะนำ DSR มาบังคับใช้ภายในปี 2025 โดยระยะแรกจะเริ่มใช้กับสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เป็นศูนย์กลางของปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อน โดยที่สถาบันการเงินอาจพิจารณาให้สินเชื่อได้เกิน DSR ที่กำหนดได้ หากแสดงให้เห็นได้ว่าลูกหนี้มีความสามารถเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ เพื่อลดโอกาสลูกหนี้บางส่วนที่อาจถูกตัดออกไปนอกระบบ 

 

ดร.พิพัฒน์ ขยายความเพิ่มเติมว่า ปัญหาหนึ่งของไทยคือ เรามีประชากรวัยทำงานกว่า 40 ล้านคน แต่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือระบบที่มีบัญชีเงินเดือน ส่วนอีก 2 ใน 3 อยู่นอกประกันสังคม คนกลุ่มนี้อาจมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ แต่ไม่มีหลักฐานมาแสดงตามที่ธนาคารกำหนด ดังนั้นพวกเขาจึงหันไปกู้ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ต้องมีหลักฐานแสดงรายได้ แต่จะมีดอกเบี้ยสูงกว่า

 

แถมการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต 16% ที่ดูเหมือนจะช่วยลูกหนี้ กลับกลายเป็นอีกเหตุผลให้ธนาคารปฏิเสธการให้กู้กับคนที่มีความเสี่ยงสูงหรือคนที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเขา 

 

ดังนั้นต่อให้นำ DSR มาบังคับใช้ ก็เท่ากับว่าสถาบันการเงินจะให้บริการได้แค่เฉพาะคน 1 ใน 3 ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนคน 2 ใน 3 ที่อยู่นอกระบบ จะไม่สามารถเข้าถึงการกู้สินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลได้อยู่ดี 

 

เพื่อแก้ปัญหานี้ นอกจากมาตรการ DSR แบงก์ชาติกำลังจะนำ Risk-Based Pricing หรือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน 

 

โดยมาตรการ Risk-Based Pricing จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น

 

ขณะที่กลุ่มลูกหนี้มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน เช่น คนที่มีความเสี่ยงธนาคารคิดดอกเบี้ย 16% ส่วนลูกหนี้ที่ดีคิดแค่ 5% 

 

ข้อดีของ Risk-Based Pricing คือ ธนาคารสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ และไม่ได้ปฏิเสธการเข้าถึงเงินกู้ของกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ออกบัตรเครดิตมากขึ้น โดยจะตัดเชือกว่าใครรู้หรือประเมินความเสี่ยงลูกค้าได้แม่นกว่ากัน 

 

จะเห็นได้ว่าปัญหาหนี้บัตรเครดิตมีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด วันนี้แบงก์ชาติกำลังยกระดับการแก้ไขไปอีกขั้น แต่ลำพังแค่มาตรการของแบงก์ชาติก็อาจไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก หากผู้บริโภคไม่ร่วมปิดจบปัญหานี้ของตัวเองไปพร้อมกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising