Neuralink Corp. บริษัทพัฒนาอุปกรณ์ฝังสมองของเจ้าพ่อโซเชียลอย่าง อีลอน มัสก์ ตั้งเป้าจะเริ่มการใส่สมองเทียมขนาดเท่าเหรียญให้กับผู้ป่วยที่เป็น ‘มนุษย์’ ภายใน 6 เดือนข้างหน้า จากประกาศในงาน Show and Tell ของบริษัท
Neuralink ได้ลับคมผลิตภัณฑ์ตัวนี้มานานแสนนาน ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ขนาดเล็กและลวดเชื่อมขั้วไฟฟ้า พร้อมด้วยหุ่นยนต์ที่ตัดกะโหลกศีรษะของผู้ป่วยและฝังอุปกรณ์ไว้ในสมอง ซึ่งการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องได้ดำเนินไปด้วยดีพอที่บริษัทจะตั้งเป้าหมายสำหรับการทดลองในมนุษย์เป็นครั้งแรกภายใน 6 เดือนข้างหน้า
มัสก์บอกว่า Neuralink จะไม่หยุดแค่สมองของมนุษย์และได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 รายการ อย่างแรกคือการพัฒนาการปลูกถ่ายที่สามารถเข้าไปในกระดูกไขสันหลังได้และอาจช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวให้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต อีกอย่างคือการปลูกถ่าย ‘ดวงตา’ เพื่อฟื้นฟูการมองเห็นของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘อีลอน มัสก์’ เชื่อมนุษย์บรรลุวิธีเป็นอมตะ ผ่านการดาวน์โหลดสมองใส่หุ่นยนต์
- สมองกลไม่ไกลเกินเอื้อม! ‘Neuralink’ โปรเจกต์เชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ของ อีลอน มัสก์ กำลังเข้าสู่การทดลองกับ ‘มนุษย์’
- อีลอน มัสก์ เผยความคืบหน้า ‘Neuralink’ โปรเจกต์เชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ โชว์การทดลองในหมู
“ฟังแล้วมันดูเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม แต่เรามั่นใจว่ามันเป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูการทำงานทั่วร่างกายให้กับคนที่บาดเจ็บตรงกระดูกสันหลังได้” เขากล่าว “และบางคนที่มองไม่เห็นมาทั้งชีวิต เรามั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถมองเห็นโลกได้”
เป้าหมายของส่วนประสานระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า BCI (Brain-Computer Interface) ในขั้นแรกคือการช่วยให้บุคคลที่มีภาวะร่างกายอ่อนแอ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) หรือโรคเส้นเลือดในสมองตีบ สามารถสื่อสารโดยตรงผ่านความคิดของตนได้
โดยบริษัทเคยสาธิตให้ลิง ‘พิมพ์ด้วยกระแสจิต’ มาแล้ว ซึ่ง Neuralink จะแปลงสัญญาณประสาทเป็นข้อมูลที่คอมพิวเตอร์สามารถตีความได้ และความหวังของมัสก์คือการผลักดันให้มันเป็นอุปกรณ์ Mainstream ที่ใช้กันทั่วโลก และการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร
เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองกับเครื่องจักรนั้นถูกพัฒนามาหลายทศวรรษแล้ว แต่การปรากฏตัวของมัสก์บนเวทีนี้ได้กระตุ้นกระแสการลงทุนจากผู้ร่วมทุนไปสู่บริษัทสตาร์ทอัพ และช่วยผลักดันภาคสนามไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่ไวกว่าที่เคย
และเมื่อพูดถึงการลงทุนกับมนุษย์ มีบริษัทสตาร์ทอัพ 2-3 แห่งนำหน้ามัสก์ไปแล้วในเรื่องนี้ เช่น Synchron Inc. ที่สามารถฝังอุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายขดลวดเข้าไปในสมองของผู้ป่วยในออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้แล้ว อุปกรณ์นี้ช่วยให้ผู้ป่วยที่ขยับหรือพูดไม่ได้สามารถสื่อสารแบบไร้สายได้ผ่านคอมพิวเตอร์และความคิดของพวกเขา และ Onward Inc. ยังได้พัฒนาอุปกรณ์แบบใหม่เพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บไขสันหลัง
Neuralink นำเสนอการผ่าตัดที่เข้าไปลึกกว่าคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดมาก โดยผู้ป่วยจะต้องถูกตัดชิ้นส่วนกะโหลกออกและปล่อยให้สายเข้าไปฝังในเนื้อเยื่อสมอง
แต่พลังการประมวลผลทำให้พวกเขาทะยานไปได้ไกลกว่าคู่แข่งมาก การเดิมพันของมัสก์คือการผ่าตัดที่ลึกขึ้นร่วมกับความสามารถในการประมวลผลที่ดีกว่าจะช่วยให้ฮาร์ดแวร์ของ Neuralink บรรลุผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้ และสามารถฟื้นฟูการทำงานของมนุษย์ได้มากกว่าผลิตภัณฑ์จากคู่แข่ง
ข้อกังวลหลักบางประการของ Neuralink เกี่ยวกับการฝัง BCI คือการทำให้แน่ใจว่าหุ่นยนต์สามารถทำการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วและมีอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วยน้อยที่สุด โดยมัสก์ได้คาดการณ์ไว้ว่าวันหนึ่งการปลูกถ่ายสมองจะไวเท่ากับระยะเวลาในการรับบริการของผู้ป่วยนอก (OPD)
สุดท้ายนี้แม้ Neuralink จะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ยาวนานนัก (ก่อตั้งมาแล้วประมาณ 6 ปี) แต่จำนวนงานทั้งหมดที่บริษัทนี้ได้ทำไปช่วยให้มันเป็นบริษัท BCI รอบด้านเพียงแห่งเดียวที่หวังว่าจะทำทุกอย่างได้ ขณะที่คู่แข่งรายอื่นจะโฟกัสไปที่สมอง ดวงตา หรือไขสันหลัง
อ้างอิง: