×

ผสานเทคโนโลยีแห่งอนาคต เพื่อเล่าย้อนเรื่องประวัติศาสตร์ในอดีต

22.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • Interactive Map แสดงผังวังหน้าในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งซ้อนทับกับผังเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน สร้างการมีส่วนร่วมโดยตรง เพียงผู้ชมขยับมือ ข้อมูลต่างๆ ก็จะปรากฏขึ้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิทรรศการที่เน้นเรื่องการสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
  • ไฮไลต์ด้านเทคโนโลยีในนิทรรศการคือ กำแพงประวัติพระที่นั่งคชกรรมประเวศ  เพียงสัมผัสภาพและข้อมูลต่างๆ จะปรากฏ อีกทั้งยังมีพลับพลาสูงที่ใช้เทคโนโลยีของจอที่มองทะลุได้ในการเล่าข้อมูลรายละเอียดของสถาปัตยกรรมที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน
  • บิท สตูดิโอ คือผู้รับหน้าที่พัฒนาโปรแกรมสื่อโต้ตอบในนิทรรศการวังน่านิมิต สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมและนิทรรศการ และเป็นเจ้าแรกๆ ในการนำเสนอวิทยาการเชิงลึก อาทิ Machine Learning หรือ Computer Vision มาประยุกต์ใช้ร่วมกับศิลปะและการออกแบบ
  • นอกจากจะช่วยให้คนดูเข้าใจภาพปัจจุบันกับอดีตบริเวณวังหน้าได้ดียิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทีมงานบิท สตูดิโอยังได้กลับไปทบทวนประวัติศาสตร์สำคัญของชาติ บทที่หลายคนอาจลืมเลือนหรือไม่เคยรับรู้มาก่อน

เมื่อคุณเดินเข้าสู่นิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องพระราชวังโบราณ คุณคงคาดหวังว่าจะได้เห็นภาพเก่าที่เล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ หรืออาจเห็นแบบจำลองของอาคารหรือโบราณสถานที่เคยตระหง่านเป็นจุดเด่นของพื้นที่นั้นๆ

 

แต่การนำเสนอนิทรรศการสมัยใหม่ เพื่อดึงดูดผู้คนยุคปัจจุบันที่พยายามก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่องอดีตกาล ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ที่เห็นผ่านตากันมาครั้งแล้วครั้งเล่า

 

วังน่านิมิต เปิดให้เข้าชมตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และใครที่แวะเวียนไปที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในช่วงที่ผ่านมา อาจสะดุดตากับการจัดสรรพื้นที่ห้องสตูดิโอชั้น 4 ในแบบที่เราอาจไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนักในการนำเสนอนิทรรศการในเมืองไทย

 

นอกจากการจัดพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างมีนัยสำคัญ จุดที่เป็นแผนที่แบบ Interact Map ที่นำผังของวังหน้าในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 ซ้อนทับกับผังเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน สร้างการมีส่วนร่วมโดยตรง อีกทั้งภาพขยายของพระที่นั่งคชกรรมประเวศและพลับพลาสูง ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ลึกซึ้งกว่าแค่อ่านจากตัวอักษรและดูภาพเก่า ทั้งหมดนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิทรรศการที่เน้นเรื่องการสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

 

Interactive Map สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมเพียงแค่ขยับมือ

Photo: ธัญรดา เลิศวิไลรัตน์

 

บทความตอนที่ผ่านมาๆ THE STANDARD พาผู้อ่านย้อนอดีต เพื่อทำความเข้าใจเรื่องวังหน้าแบบปูพื้นตั้งแต่ต้นกำเนิดของตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมัยอยุธยา มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ผ่านเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ จนเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการโดยตรง เราจะปิดท้ายซีรีส์ ‘วังน่านิมิต’ ด้วยการพูดคุยกับ เกียรติยศ พานิชปรีชา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิท สตูดิโอ จำกัด ที่รับหน้าที่ผสานเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการสำคัญที่ว่าด้วยบทสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์ไทย

 

เกียรติยศ พานิชปรีชา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิท สตูดิโอ จำกัด

Photo : สลัก แก้วเชื้อ

 

อยากให้จำกัดความให้คนทั่วไปเข้าใจว่าสิ่งที่บิท สตูดิโอทำคืออะไรบ้าง

มีเวอร์ชันสั้นกับยาวครับ (หัวเราะ) เวอร์ชันสั้นก็คือ คนทั่วไปก็จะบอกว่าเราทำ Interactive Media เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ถ้าเป็นเวอร์ชันยาวก็คือ จริงๆ แล้ว ความตั้งใจของบริษัทคือ เราต้องการจะรวมกลุ่มคนจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์ คนทำอิเล็กทรอนิกส์ คนทำแมคคานิกส์ คนเรียนทางศิลปะ นักออกแบบ มารวมกลุ่มกัน ซึ่งจริงๆ คำจำกัดความที่ต่างประเทศเขาใช้คือคำว่า Creative Technologist หมายถึงเอาคนสายสร้างสรรค์กับคนสายเทคนิคมาอยู่ด้วยกัน เพื่อทำงานเทคโนโลยีอะไรบางอย่างที่สร้างสรรค์

 

ส่วนมากงานของเราจะเก่งทางด้านงานวิจัย ด้านเทคนิค งานเทคโนโลยีด้านงานระบบ งานอะไรที่มันลึกๆ หน่อย แต่เราเอามาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรืองานอีเวนต์ครับ

 

คือผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะใช่ไหม

ใช่ครับ จริงๆ บริษัทเปิดมาปีที่ 6 แล้ว ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เรามีความตั้งใจที่จะรวมกลุ่มคนไทยเก่งๆ เพื่อออกมาสร้าง นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ และสร้างออกมาเป็นสวนสนุก interactive อันนี้คือเป้าหมายของเราในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แล้วสวนสนุก interactive ก็กำลังจะเปิดช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ที่เอ็มควอเทียร์ ข้างในก็เหมือนเราเอาเทคโนโลยีต่างๆ ใส่เข้าไปให้คนเข้ามาสร้างสรรค์อะไรบางอย่างผ่านเทคโนโลยีได้อย่างงานต่างประเทศ เราก็มีทำให้ที่ซิลลิคอน แวลลีย์ ที่แอตเลนตา นิวยอร์ก โดยเราทำควบคู่กับเพนตาแกรม ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบระดับโลกบริษัทหนึ่งที่มีสาขาหลายประเทศ แต่ที่เราทำงานด้วยคือ อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เราก็จะดูแลส่วนที่เป็นเทคนิคต่างๆ ให้เขา เขียนโปรแกรม สร้างศิลปะ หรือ Generative Art ของพวกนี้มันจะขายได้ที่เมืองนอก เมืองไทยจะขายไม่ค่อยได้เท่าไร

 

แสดงว่าความสามารถของคนไทยในเรื่องนี้ก็เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล

ใช่ครับ เป็นที่ยอมรับ คือแต่ก่อนผมทำงานอยู่ที่อเมริกา อังกฤษ ตอนก่อนไปเราก็จะมีความเชื่อว่า จริงๆ แล้วเราอาจจะสู้ฝั่งโน้นไม่ได้ แต่พอเราไปอยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ คือ เราเก่งกว่าเยอะเลย (หัวเราะ) ผมคิดว่า บางทีคนเก่งๆ ไม่ค่อยอยู่รวมตัวกันในไทย ผมก็เลยอยากจะรวมคนเก่งจากหลายสาขามาเพื่อนำเสนอแนวคิดและส่งเทคโนโลยีออกไปทางฝั่งโน้น เพราะคนไทยดังเรื่องความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ดังเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งจริงๆ แล้วเราเก่งเทคโนโลยีด้วย คนอื่นอาจจะไม่รู้

 

Photo : สลัก แก้วเชื้อ

 

ลองเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าไปทำอะไรบ้างที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ครับ เรียนด้านซอฟต์แวร์มา ตอนเรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ ผมมีความสนใจมากๆ และชอบอะไรที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับจักรกลหรือคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นก็เลยทำงานวิจัยเกี่ยวกับด้าน Speech Recognition การเรียนรู้เสียงและคำภาษาไทย เหมือน Siri ครับ แต่ว่าตัวนี้สมัยก่อนมันยังไม่มี ก็ทำกับอาจารย์ เสียงคือหนึ่งในปฏิสัมพันธ์ ส่วนอื่นๆ ก็จะมี สัมผัส มีภาพ ซึ่งพวกนี้ต้องใช้งานกับเซ็นเซอร์อะไรบางอย่างที่จะได้รับข้อมูลเข้าไปแล้วก็เอาไปใช้ ตอนไปเรียนต่อก็เลยโฟกัสด้านนี้พร้อมกับสนใจคอมพิวเตอร์กราฟิกด้วย เพราะชอบเรื่องดีไซน์ สุดท้ายพอเรียนจบก็เลยไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา ทำงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ ทำซีจีหนังครับ

 

ซีจีที่เราดูทุกวันนี้ ทีมข้างในมันจะมีสองทีมใหญ่ๆ คือทีมทำแอนิเมชันและทำกราฟิก กับทีมที่เขียนโปรแกรมเพื่อช่วยแก้ปัญหา ผมก็เข้าไปอยู่ในทีมที่เขียนโปรแกรมช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็จะทำพวกหนังต่างๆ อย่างตอนที่ย้ายจากอเมริกาไปอยู่อังกฤษก็ได้ทำหนังเรื่อง Gravity เป็นโปรเจกต์ใหญ่มากๆ อันหนึ่งที่เราได้ไปช่วยทำคือ ในวงการวิชวลเอฟเฟกต์เอง จริงๆ แล้วพื้นฐานความรู้ที่ใช้มันค่อนข้างเหมือนกับตอนที่นำมาใช้ กล่าวคือ เอาพื้นฐานความรู้มาประยุกต์ใช้กับหลายๆ วงการได้ ตอนอยู่ที่อังกฤษเลยมีความคิดว่า ด้วยความรู้ที่เรามี น่าจะกลับมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อส่งไปฝั่งโน้นได้

 

เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของคนมากมาย งานนิทรรศการก็ไม่มีข้อยกเว้น

จริงๆ ก่อนที่จะมีการนำเทคโนโลยีมาผสมผสาน ผมว่าคนจะเห็นเป็นลักษณะของที่ตั้งโชว์นิ่งๆ อย่างตอนเด็ก ผมไปพิพิธภัณฑ์ ก็จะดูว่าอันนี้คือไหจากยุคสมัยนี้ ก็จะมีกระดาษเขียนอยู่ข้างล่าง เราก็ไปยืนอ่าน แล้วก็พยายามจะมองว่า อันนี้ที่จับมันมีดีไซน์เป็นแบบนี้เพราะอะไร เราก็ต้องมอง แล้วก็มองขึ้นมาด้านบน ทำความเข้าใจกับตัวหนังสือ ทีนี้พอเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา อย่างพวก AR ถ้าอยากจะแก้ปัญหาอันเมื่อกี้ที่เราต้องมาดูของจริง มาอ่านรายละเอียดในกระดาษ คือถ้ามันมีลักษณะที่เราหยิบอะไรขึ้นมาส่องแล้วมันบอกเลยว่า สมัยก่อนตรงนี้เขาดีไซน์มาแบบนี้เพราะอะไร แล้วสมมติมันมีอะไรแตกหัก อันนี้ก็จะเสริมเข้าไปว่า ก่อนหน้านี้มันมีแบบนี้ด้วย คือมันจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม เพิ่มเติมทำให้เป็นภาพเห็นได้ชัดขึ้น ทำให้ประสบการณ์ในการรับข้อมูลมันง่ายมากขึ้นและเข้าใจมากขึ้นครับ ผมว่านี่คือความต่างของสมัยก่อนกับปัจจุบัน

 

มันสร้างภาพจำได้เร็วใช่ไหม

ครับ เหมือนจริงๆ คนมีปฏิสัมพันธ์หรือ interaction กับข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น

 

ย้อนกลับไปตอนที่คุณเล่าว่าด้วยความที่เรามีประสบการณ์ทั้งที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ก็เลยอยากจะรวมกลุ่มคนเก่งๆ ทำงานด้านนี้ เพื่อส่งออกไอเดียไปขายที่เมืองนอกบ้าง มีบริษัทที่ทำแบบนี้อยู่ก่อนหน้านี้หรือเปล่า

ในประเทศไทย จริงๆ ถ้าส่งออกลักษณะแบบนี้ ผมไม่เคยเห็นนะครับ ผมคิดว่า อย่างน้อยเราน่าจะเป็นเจ้าแรกที่นำเทคโนโลยีเชิงลึกมาใช้ร่วมกับศิลปะและการออกแบบ เช่น เราใช้ Machine Learning หรือ Computer Vision นำมาประยุกต์ใช้ อย่าง Machine Learning ผมยังไม่เคยเห็นใครใช้เลย นอกจากเรา อย่างตัวนี้ถ้าคนนึกถึง ก็จะนึกถึงการเอาไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆในองค์กร ซึ่งจะเป็นเรื่องอะไรหนักๆ แต่จริงๆ แล้วเราเอามาประยุกต์ใช้ในวงการนี้ได้ค่อนข้างเนียน ทำให้จริงๆ คนอาจไม่รู้ว่าเราใช้ Machine Leaning

 

ถ้าจะเปรียบเทียบเรื่องการเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ในพิพิธภัณฑ์ การจัดนิทรรศการ ระหว่างเมืองไทยกับเมืองนอกแตกต่างกันอย่างไร

จริงๆ ต้องยอมรับว่า ที่เมืองนอกเขาทำมาก่อนเรา โดยที่เมืองนอกเอง อย่างเทคโนโลยี AR ผมก็เคยไปทดลองใช้ก็รู้สึกว่ามันไปค่อนข้างไกลมาก หรือบางพิพิธภัณฑ์เองเขาก็ใช้ Machine Learning มาช่วยในการค้นหาวัตถุ หรือข้อมูลต่างๆที่ผู้ชมสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเขามายืนแล้วทำหน้าลักษณะหนึ่ง แล้วตัวซอฟต์แวร์ก็ตรวจจับใบหน้าว่า เขาทำหน้าแบบไหน เช่น ทำหน้าอ้าปาก มันก็แสดงให้เห็นเลยว่า ในพิพิธภัณฑ์นี้มีรูปอะไรที่เหมือนกับรูปอ้าปากบ้าง เช่น รูประบายสีบนกำแพงของพีระมิด เขาก็จะแมตช์แล้วก็บอกว่า ของที่ลักษณะคล้ายๆ แบบนี้อยู่ที่นี่ หรือให้คนทำท่าทางว่า ท่าลักษณะแบบนี้มันแมตช์กับอะไร ให้วาดเลยก็ได้ เช่น เราสนใจแต่ไม่รู้หรอกว่ามันเรียกว่าอะไร เราสนใจของที่ลักษณะรูปร่างประมาณนี้ แล้วก็ลองวาดดู เขาก็จะแมตช์หาให้ก็ได้ ทำให้มี interaction ระหว่างตัวนิทรรศการกับตัวคนดู

 

แล้วอย่างวงการในเมืองไทยล่ะ

ในเมืองไทยนี่ผมว่ามันค่อนข้างก้าวกระโดดมากๆ เลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือถ้าสิบปีที่แล้วกับสิบปีนี้เรากลับมาดู ผมว่าถ้าเป็นกราฟของเราจะเป็นลักษณะของ เอกซ์โพเนนเชียล คือเหมือนมาค่อนข้างเริ่มใกล้เข้ามาเรื่อยๆ อย่างตอนผมกลับมาใหม่ก็ไปชมนิทรรศรัตนโกสินทร์ หรือพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ ผมว่าใช้เทคโนโลยีได้ค่อนข้างน่าสนใจ

 

มีข้อด้อยอะไรบ้างที่เรายังล้าหลังประเทศอื่น

จริงๆ ด้วยความเข้าใจหรือการพัฒนาเทคโนโลยี ผมว่าไม่ด้อยไปกว่ากันนะครับ เพียงแต่เรื่องงบประมาณในการจัดทำค่อนข้างมีจำกัดทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งผมคิดว่า ผู้จัดอาจจะยังไม่คุ้นเคย หรือยังไม่มีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีพวกนี้มาใช้ จะคุ้นเคยกับแบบเดิมๆ เช่น แต่ก่อนเราอาจจะมีกระดาษเขียน แต่เดี๋ยวนี้เรามีพวกเซ็นเซอร์ อะไรพวกนี้ งบประมาณในการทำของหนึ่งชิ้นก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน

 

มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงอยู่ใช่ไหม เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆในการจัดนิทรรศการ

ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับความเหมาะสม จริงๆ ผมว่าเทคโนโลยีไม่ได้แพง เพียงแต่ว่าเราควรจะเลือกอันที่เหมาะสมกับเวลาและงบประมาณมากกว่า

 

บิท สตูดิโอมาลงเอยและร่วมมือกับโครงการวังน่านิมิตได้อย่างไร

เราทำงานในลักษณะนี้มาสักพักหนึ่งแล้ว และพอดีกับที่มีโอกาสคุยกับคุณใหม่ (คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการโครงการนิทรรศการวังน่านิมิต) ว่าจริงๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้เราสามารถนำมาปรับใช้ เพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูลยากๆ ได้ อย่างข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ผมว่ามันมีความท้าทายว่า เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของเรา เหมือนเราเรียนประวัติศาสตร์ ข้อมูลมันก็เยอะแยะ เราจะย่อยข้อมูลที่เข้าใจยากเพื่อนำเสนอให้เข้าใจง่ายอย่างไร บทบาทของเราคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ผสมผสานกับข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อให้การเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลง่ายขึ้น น่าสนใจมากขึ้น และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวได้มีปฏิสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ซึ่งผมว่าบางทีเราไม่ได้ใช้เทคโนโลยีบางอย่าง การที่จะเข้าใจถึงข้อมูลอาจจะยาก เช่น สนามหลวงในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกัน แล้วเราจะเทียบอย่างไรให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยให้เห็นว่า แต่ก่อนมันเป็นพื้นที่ของวังหน้านะ ตรงนี้เทียบอดีตกับปัจจุบันมันแตกต่างกันอย่างไร

 

พระที่นั่งคชกรรมประเวศ

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-26

 

พระที่นั่งคชกรรมประเวศ

 

คงต้องพูดคุยกันหลายรอบ ไปฟังบรีฟ ไปศึกษาข้อมูล ก่อนที่จะออกมาเป็นภาพ สื่อข้อมูลให้ทางทีมงานเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำคืออะไร และจะออกมาในรูปแบบไหน

ใช่ครับ

 

มีขั้นตอนหรืออุปสรรคอะไรบ้างระหว่างการทำงาน เข้าใจว่าอันแรกเลยคือ ทีมที่เน้นทำกราฟิก หรือทำอะไรต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยี ต้องเข้ามาศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์

ใช่ครับ ผมว่าอันนี้เป็นพาร์ตที่ยากที่สุดสำหรับเรา ต้องยอมรับว่า เราไม่เก่งประวัติศาสตร์ (หัวเราะ) อาจจะเรียนตอนเด็กๆ แต่ไม่สามารถจำได้ ก็มาย้อนไล่ตั้งแต่ในอดีตจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วก็นั่งไล่อ่านกันว่า “เฮ้ย จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์เราเป็นอย่างไร (หัวเราะ)” เสร็จแล้วค่อยมาดูว่า ทำไมถึงมีวังหน้า? แล้วมีทำไม? ตั้งอยู่อย่างไร? ซึ่งก็ต้องขอบคุณทางคุณใหม่และกรมศิลปากรที่ให้ข้อมูล พร้อมกับทางพี่โจ (จิตติ เกษมกิจวัฒนา – ภัณฑารักษ์นิทรรศการวังน่านิมิต) ด้วย

 

ภาพจำลองพลับพลาสูง

 

เป็นทะเลข้อมูล

(หัวเราะ) ใช่ครับ ถ้าไม่มีพี่โจ เราจะค่อนข้างหลงทะเลมาก พี่โจเขาจะบอกว่า ต้องโฟกัสตรงนี้ เอาตรงนี้มาเล่า ทีนี้จะเล่าด้วยลักษณะไหนก็ขึ้นอยู่กับทางเรา การศึกษาประวัติศาสตร์ของพาร์ตเรานี่ยากมาก

 

เป็นเรื่องยากนะที่ต้องศึกษาเรื่องที่เราไม่คุ้น

ใช่ครับ ชื่อก็ยากครับ (หัวเราะ) ต้องจำชื่อแต่ละคน

 

ทีมงานก็ต้องไปทัวร์วังหน้าหลายรอบเลย

ใช่ครับ จริงๆ อย่างหนึ่งที่หลงใหลกันคือ เรารู้สึกว่า “จริงๆ แล้วในอดีตเราเจ๋งมากเลย” แล้วเราเห็นรูปจากฝรั่งนะครับ รูปที่อยู่ในคลังที่เขาส่งมาให้ดู “โอ้โห สมัยก่อนนี้เจริญมาก”

 

ทำให้ได้รู้ว่าทุกพื้นที่ในจุดที่เขาเรียกว่าเมืองเก่า มันมีเรื่องราวเยอะแยะ

ใช่ครับ มีเรื่องราว ทำให้ตอนไปสถานที่จริงเรามีความรู้สึกที่ต่างออกไป

 

จอฉายแผนที่วังหน้าในระหว่างการติดตั้งนิทรรศการ

 

แล้วไฮไลต์ของนิทรรศการคืออะไร ในส่วนที่บิท สตูดิโอรับผิดชอบ

จริงๆ ก็อยากให้ทุกคนชมทั้งหมด ทั้งหมด 3 ชิ้นงานด้วยกัน แต่อันที่เราคิดว่าเป็นไฮไลต์ที่สุดคือ อันแรก ที่เราทำเป็นลักษณะของแพลตฟอร์มนะครับ แพลตฟอร์มก็คือ เป็นเหมือนโต๊ะเตี้ยที่เราฉายภาพลงมา เพื่อให้คนเห็นว่าในปัจจุบันภาพรวมแผนที่ที่ปัจจุบันคนเข้าใจมีลักษณะอย่างไร แล้วย้อนไปอดีตตรงวังหน้านี้เป็นอย่างไร เขาสามารถเข้าไปชมสถาปัตยกรรมต่างๆ ของวังหน้าได้

 

โดยที่ใช้แค่มือขยับไปมา แล้วก็มีเซ็นเซอร์ เพื่อให้เข้าไปอยู่ในมุมนั้นๆ สามารถรู้ข้อมูลต่างๆ ของวังหน้าได้ ผมว่าอันนี้จะเป็นไฮไลต์

 

โปรเจกเตอร์ฉายข้อมูลพระที่นั่งคชกรรมประเวศ

 

แล้วอีกสองส่วนล่ะ

อีกสองส่วนก็จะมีลักษณะที่เกี่ยวกับประวัติของพระที่นั่งคชกรรมประเวศครับ เราจะทำเป็นลักษณะของกำแพงที่มีภาพปรากฏอยู่ ซึ่งเมื่อเราสัมผัสที่กำแพงนั้นก็จะมีข้อมูลต่างๆ ขึ้นมา เช่น คำอธิบายถึงส่วนยอดของพระที่นั่งคชกรรมประเวศที่หายไป เมื่อเราสัมผัสที่กำแพงก็จะได้เห็นว่า แต่ก่อนมียอดด้านบนที่เป็นลักษณะนี้ ก่อนที่จะเสียหาย แล้วเสียหายไปเมื่อไร? ผู้ชมก็จะเข้าใจข้อมูลได้จากสิ่งที่เรานำเสนอ

 

จอฉายลักษณะของพลับพลาสูงซ้อนกับพื้นที่บริเวณสนามหลวงเป็นฉากหลัง

 

แล้วก็อันที่สามจะเป็นลักษณะของพลับพลาสูง เราเล่าข้อมูลรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของพลับพลาสูง โดยใช้เทคโนโลยีของจอที่มองทะลุได้นะครับ เห็นภาพพลับพลาสูงว่ามีหน้าตาอย่างไร โดยจะมีกราฟิกอยู่ทางด้านบน เพื่อโอเวอร์เลย์ แล้วอธิบายในแต่ละจุด

 

คนที่ไปดูจะได้เห็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

ใช่ครับ

 

ใช้ระยะเวลาในการสร้างแบบเหล่านี้นานไหม

ก็ประมาณสามเดือนได้ครับ ทีมของบิท สตูดิโอก็ต้องคุยกับทีมทั้งทางคุณใหม่ คุณโจ แล้วก็ทีมกรมศิลปากรหลายเดือนครับ

 

ในความคิดของคุณและทีมงาน การนำเทคโนโลยีมาใช้กับการจัดแสดงในนิทรรศการสำคัญอย่างไร

จริงๆ แล้วสิ่งที่จำเป็นคือ เราต้องนำเสนอข้อมูล ถ่ายทอดทุกอย่างให้กับผู้ชมได้ ให้เขาเข้าใจแล้วก็อยากจะติดตาม อาจจะไม่จำเป็นต้องสนุก แต่เป้าหมายของเราคือ ให้เขาเข้าใจ

 

Interactive Map สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมเพียงแค่ขยับมือ

Photo: ปฏิพล รัชตอาภา

 

ถ้ามีการใช้เทคโนโลยีผสมผสานเข้ามา ก็มีประโยชน์ช่วยให้เข้าใจ เรียนรู้ สร้างภาพจำได้ง่ายขึ้นใชไหม

ถูกต้องครับ จริงๆ แล้วเป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีคือ ต้องการให้คนสามารถเข้าใจของที่ยาก เรื่องที่ยาก เนื้อหาที่ยาก ย่อยให้มันง่าย เป็นสเตปให้คนสามารถติดตามได้ ให้เขาเป็นคนควบคุมเนื้อหาหรือข้อมูลที่เขาอยากจะได้

 

ภาคแรกจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 27 มิถุนายนนี้  แล้วพอย้ายไปที่พื้นที่วังหน้าในเดือนธันวาคม จะมีอะไรแตกต่างกันไหม

จริงๆ อุปกรณ์เหมือนเดิม แต่ด้วยตัวพื้นที่ทำให้คนได้อยู่ในพื้นที่นั้น แล้วได้เห็นของจริง พื้นที่จริง ซึ่งผมว่า จะยิ่งอินมากขึ้น ยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่า เรากำลังยืนอยู่ในจุดประวัติศาสตร์ แล้วก็มีของที่อธิบายจุดประวัติศาสตร์เหล่านั้นด้วยว่าตรงนี้มีลักษณะอย่างไร

 

ที่ผ่านมา ทุกวันนี้พวก VR, CR, AR และพวกสแกนเนอร์ ทุกอย่างเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ขึ้นเยอะ เวลาที่ไปจัดแสดง เราเอาเทคโนโลยีพวกนี้ไปใช้ เสียงตอบรับที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งคนดูและลูกค้าของบิท สตูดิโอ

เอาคนดูก่อนนะครับ ถ้าเวลาเขาเห็นของใหม่ มีอะไรใหม่ แน่นอนว่ามีฟีดแบ็กที่ดี เพราะมันสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยใช้มาก่อน ก็จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากคนชมงานอยู่แล้ว ส่วนทางลูกค้าเองก็แฮปปี้กับวิธีการใหม่ๆ เพราะก่อนที่เรายังไม่นำเทคโนโลยีเข้ามา การจัดอีเวนต์มันจะค่อนข้างเหมือนกันหมด เช่น งานแสดงรถ แต่ก่อนโชว์รถ โชว์พริตตี้ หลังๆ ก็จะลดลง และนำเทคโนโลยีเข้ามาเสียบแทน เพื่อให้คนสนใจของลักษณะนี้ หรือรถพวกนี้มากขึ้น

 

อย่างเมื่อปีที่แล้ว เราเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาให้กับฮอนด้า เขามีงานมอเตอร์โชว์ โดยต้องการจะโชว์รถซีอาร์วีรุ่นใหม่ แต่เขาไม่มีรถ ยังมาไม่ถึง ไม่มีในโชว์รูม สิ่งที่เราช่วยแก้ปัญหาคือ เราก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมคนต้องไปดูรถที่โชว์รูมล่ะ ทำไมคนไม่สามารถดูรถได้ทุกที่ เราก็ใช้เทคโนโลยีทำเป็นลักษณะของ AR มาใช้ ให้คนสามารถส่องปุ๊ปแล้วมีรถโผล่ขึ้นมา

 

นอกจากแก้ปัญหาแล้ว ยังช่วยให้เขาขายของได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เวลาเราดูรถก็อยากจะเทียบกับรถที่เรามีว่าใหญ่กว่าเดิม เล็กกว่าเดิม หลังคาสูงกว่าเดิมไหม ช่วงนี้น้ำท่วมรถจะยกสูงไหม เราก็ทำเป็นลักษณะ AR ที่นำไปส่องรถตัวเอง แล้วก็มีรถซีอาร์วีทับรถเราอยู่ เพื่อให้ดูว่า รถเขาสูงกว่า กว้างกว่า ข้างหลังเก็บของได้เยอะกว่า สำหรับลูกค้า นอกจากแก้ปัญหาแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการขายให้เขาด้วย

 

Photo: สลัก แก้วเชื้อ

 

มีตัวอย่างอื่นๆ ที่คุณรู้สึกว่าได้ใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอีกหรือไม่

เมื่อปีที่แล้วเราทำให้กับทาง SCB เขาต้องการเล่าเรื่องของ Machine Learning ที่นี้การจะทำให้ลูกค้าของ SCB ซึ่งเป็นคนทั่วไปเข้าใจเรื่องแมชชีนด้วยวิธีง่ายๆ มันเป็นเรื่องยาก เขาก็เลยอยากจะใช้เรื่องราวบางอย่างที่คนเข้าใจง่ายๆ

 

สิ่งที่เราทำให้เขาคือ การดูโหวงเฮ้ง เราทำซอฟต์แวร์ขึ้นมา เพื่อให้คนมายืนมาดูโหวงเฮ้งของตัวเอง แล้วก็ออกมาว่าได้คะแนนเท่าไร คนนี้โอบอ้อมอารี คนนี้ลักษณะโหวงเฮ้งเป็นอย่างไร ใช้ Machine Learning ให้คนเข้าใจมากขึ้น

 

เหมือนเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ ทำให้เรื่องไกลตัวกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าจะถามว่าลักษณะงานที่เราทำ มีตลาดโตพอที่จะรองรับได้อีกไหม หรือมีลู่ทางอะไรเพิ่มเติม

ผมคิดว่าโตได้อีกค่อนข้างเยอะ เราอาจเป็นคลื่นลูกแรกๆ ซึ่งเริ่มมาทำงานทางด้านนี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจกับน้องรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งจบออกมา น้องๆ ที่ผมเจอส่วนใหญ่ทำงานน่าสนใจมากมาย ลูกค้าก็ตอบรับดีและมองว่า มันเหมือนยุคสมัยที่เปลี่ยนจากหนังสือพิมพ์เป็นโทรทัศน์ ก็เลยเกิดตลาดขึ้นใหญ่มาก จริงๆ แล้วทุกที่ต้องการเทคโนโลยี เพื่อมาทำประสบการณ์ต่างๆ พวกนี้ดีขึ้น

 

แต่สำหรับโครงการวังน่านิมิต นอกจากเราจะนำเทคโนโลยีมาผสานกับการจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องของอดีตมากขึ้น ทีมงานบิท สตูดิโอเองก็เหมือนได้กลับมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์บทสำคัญของชาติอีกครั้งหนึ่ง

โห อย่างหนักเลยครับ (หัวเราะ) นั่งอ่านและย่อยข้อมูลกันนานเลยครับ ยากเลย แต่เราได้เรียนรู้เยอะ ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่เรานำเสนอ ทำให้คนดูสามารถเข้าใจภาพเทียบปัจจุบันกับอดีต ระหว่างไทม์ไลน์ของอดีตกับปัจจุบันว่ามีอะไรที่แตกต่างออกไปบ้าง มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในบริเวณวังหน้าบ้าง เป็นประสบการณ์รื้อฟื้นอดีตด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต เพื่อการใช้งานในปัจจุบันที่น่าสนใจครับ

FYI
  • โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม สามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ wangnaproject.space
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising