×

วัตถุล้ำค่าผ่านบทสนทนาของสองปราชญ์จากสาส์นสมเด็จ ในนิทรรศการใหม่ของกรมศิลปากร

26.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กำลังจะเปิดให้เข้าชมนิทรรศการนี้มีชื่อว่า ‘ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ’ ที่ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีของกรมศิลปากรต่างร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อให้ประชาชนได้เข้าชมกันในช่วง New Normal เร็วๆ นี้
  • สาส์นสมเด็จ เป็นลายพระหัตถ์ที่เขียนโต้ตอบกันระหว่างราชวงศ์ชั้นสูงสองพระองค์ที่ต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 และมีเรื่องราวเกี่ยวกับคนในราชสำนักที่ได้รับผลกระทบอยู่ด้วย
  • โดยนิทรรศการ ‘ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ’ นี้ได้ใช้เรื่องเล่า (Narrative) จาก สาส์นสมเด็จ มาช่วยเล่าเรื่องให้กับโบราณวัตถุต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง

ในขณะที่โควิด-19 ทำให้พิพิธภัณฑ์ในไทยที่ต่างๆ ต้องปิดลงชั่วคราว แต่ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีของกรมศิลปากรต่างร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อเตรียมจัดนิทรรศการสำคัญเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2563 เพื่อเตรียมให้ประชาชนได้เข้าชมกันในช่วงชีวิต ‘New Normal’ (ปกติใหม่) โดยนิทรรศการนี้มีชื่อว่า ‘ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ’ จัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งกำลังจะเปิดให้เข้าชมเร็วๆ นี้

 

นิทรรศการครั้งนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างไปจากหลายนิทรรศการที่กรมศิลปากรเคยจัดแสดงไปหลายครั้ง นับตั้งแต่วิธีการเล่าเรื่องด้วยการใช้บทสนทนาของสองยอดปราชญ์แห่งสยามเป็นตัวช่วยเล่าเรื่องให้กับวัตถุจัดแสดง เสริมด้วยข้อมูลการค้นคว้าสำคัญทางโบราณคดีล่าสุดจากทั่วประเทศ 

 

ประติมากรรมรูปเหมือนครึ่งตัวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ซ้าย) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขวา) ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการ

 

สาส์นสมเด็จสำคัญอย่างไรกับชาติ

สาส์นสมเด็จ อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นเคยนักในหมู่ของประชาชนทั่วไป ครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อหนังสือชุดนี้ก็จากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ได้อธิบายที่มาคำศัพท์ช่างโบราณผ่านบทวิเคราะห์ของสองปราชญ์คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์หนึ่งถือเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย อีกพระองค์ถือว่าเป็นนายช่างใหญ่แห่งสยาม ดังนั้นข้อเขียนที่ปรากฏใน สาส์นสมเด็จ จึงย่อมเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ สถาปัตยกรรม งานช่างโบราณ ภาษาศาสตร์ ดนตรี และประเพณีวัฒนธรรมของสยามแต่โบราณ เรียกได้ว่านี่คือขุมทรัพย์ทางปัญญาของคนไทยที่สำคัญระดับชาติที่บันทึกไว้ในช่วงที่ประเทศสยามเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ และกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475

 

สาส์นสมเด็จ บันทึกลายพระหัตถ์ตอบโต้กันของยอดปราชญ์แห่งสยาม

 

ลายพระหัตถ์โต้ตอบกันระหว่างทั้งสองพระองค์นั้นเริ่มต้นจากปี 2457-2486 โดยมีลักษณะเป็นจดหมายที่ทรงเขียนถึงกันเป็นประจำ บางครั้งจึงเรียกว่า ‘จดหมายเวร’ ภายหลังได้รับการจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2490 ในวารสารศิลปากร ด้วยการสนับสนุนของทายาทของทั้งสองพระองค์ จากนั้นได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มในหนังสืองานศพจำนวน 55 ภาค ในช่วงปี 2490-2505 กว่าจะมารวมพิมพ์เป็นเล่มชุดใหญ่อีกครั้งก็ตกปี 2505 โดยองค์การค้าคุรุสภาแบ่งออกเป็นทั้งหมด 26 เล่ม มีสารบัญค้นเรื่องอีก 1 เล่ม เพื่อสะดวกต่อการค้นหาความรู้ต่างๆ จากนั้นได้มีการค้นพบลายพระหัตถ์โต้ตอบในช่วงปี 2475 อีก โดยเพิ่มเติมเข้าไปในฉบับพิมพ์ปี 2534 ซึ่งลดจำนวนลงให้เหลือ 10 เล่ม (แต่หนาขึ้น) ปัจจุบันทั้งหมดสามารถหาอ่านออนไลน์ได้จากห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ ห้องสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอื่นๆ  

 

เมื่อมองลงในรายละเอียด จดหมายลายพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์นั้นมีคุณค่าหลายด้านต่อผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ตัวอย่างเช่น ข้อเขียนของพระองค์นั้นช่วยทำให้เราทราบว่าสถาปัตยกรรมใดสร้างขึ้นเมื่อใดกันแน่ ตัวอย่างเช่น บันทึกฉบับหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงประทานต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2458 เกี่ยวกับฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 1 และที่ 2 ความว่า “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสิ่งที่เปนฝีมือในรัชกาลที่ ๑ คือ ก. พระอุโบสถ รูปทรงเปนอย่างรัชกาลที่ ๑ แต่ลวดลายนั้นประปนกัน เปนอันได้ซ่อมแปลงหลายคราว…” 

 

อุปกรณ์เครื่องเขียนบนโต๊ะทรงงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

ในบางฉบับก็สะท้อนถึงการคิดวิเคราะห์ล้มล้างความเชื่อเดิมๆ ตัวอย่างเช่น ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กล่าวว่า “ใครว่าพราหมณ์เรานี้พืชพันธุมาจากพาราณสี อย่าได้ทรงเชื่อเลย ​“สัมภุน์ธเรส์เน์เตร จตุวัก์เตร ตติล เมาสิน์เตร วัก์เตร” ไม่ใช่สันสกฤตเลย” (1 มีนาคม 2459)

 

มีอีกแง่มุมที่อยากให้ชวนมองด้วย กล่าวคือในเมื่อ สาส์นสมเด็จ เป็นลายพระหัตถ์ที่เขียนโต้ตอบกันระหว่างราชวงศ์ชั้นสูงสองพระองค์ที่ต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จึงย่อมมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับคนในราชสำนักที่ได้รับผลกระทบอยู่ด้วย ดังเช่นที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนไว้ว่า “งานศพเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (เจิม แสงชูโต) ไม่มีทหารกองเกียรติยศ เขาว่าเจ้าพระยาวรพงศยุคุณหญิงสงวนให้ไปหาพระยาพหล ขอทหาร เขาว่าคุณหญิงสงวนไปหา พระยาพหลว่าธรรมเนียมให้กองเกียรติยศนั้นเลิกแล้ว” (สาส์นสมเด็จ, 12 เมษายน 2476) ความจริงแล้วในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 นั้น เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จลี้ภัยไปอยู่ที่ปีนังนั้นได้ทรงเขียนจดหมายถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เช่นเดิม ซึ่งบางฉบับมีเรื่องการเมืองแทรก ผมเชื่อว่าน่าจะมีจดหมายบางฉบับที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือถูกเซนเซอร์ไป ซึ่งน่าสนใจต่อการค้นหา

 

นอกจากประเด็นที่กล่าวมา ผมขอนอกเรื่องอีกสักนิดคือในช่วงที่อ่าน สาส์นสมเด็จ ระหว่างเขียนบทความนี้ ผมพบว่านอกจากสิ่งที่เป็นสาระความรู้ในจดหมายแล้ว สาส์นสมเด็จ ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามของทั้งสองพระองค์ในการนำเอกสารและวรรณกรรมโบราณนับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาถึงสมัยก่อนหน้าพระองค์มาทำการตีพิมพ์เป็นหนังสือสมัยใหม่ ซึ่งผมว่านี่ถือว่าสำคัญ เพราะจะก่อให้เกิดองค์ความรู้มหาศาลต่อสังคมไทยในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนเอกสารเกี่ยวกับตำราพระราชพิธีราชาภิเษก สังข์ทอง ไชยเชฐ คาวี ไกรทอง เป็นต้น หรือถ้าเราพูดกันอีกแบบหนึ่งก็คือ เอกสารทางประวัติศาสตร์หรือวรรณคดีสำคัญต่างๆ ที่กลายมาเป็นมรดกสำคัญของชาตินั้นก็เป็นผลมาจากกระบวนการคัดเลือกของทั้งสองพระองค์นี้เอง

 

ให้ตัวอักษรช่วยเล่าเรื่องวัตถุ

อย่างที่กล่าวว่านิทรรศการนี้มีความแตกต่างจากนิทรรศการของกรมศิลปากรที่ผ่านมา ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ผู้คิดและสร้างสรรค์นิทรรศการนี้ขึ้นมาได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของนิทรรศการนี้ว่า เดิมทีนิทรรศการของกรมศิลปากรมักจะนำเสนอโบราณวัตถุผ่านกรอบของเนื้อหาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ แล้วก็มีคำอธิบายประกอบโบราณวัตถุเป็นหลัก แต่นิทรรศการ ‘ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ’ นี้ได้ใช้เรื่องเล่า (Narrative) จาก สาส์นสมเด็จ มาช่วยเล่าเรื่องให้กับโบราณวัตถุต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง ซึ่งหลายชิ้นเป็นสิ่งที่กล่าวถึงใน สาส์นสมเด็จ บางชิ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสืบค้นศึกษาต่อของกรมศิลปากรสมัยหลัง ซึ่งกระบวนการนี้เองทำให้วัตถุมีชีวิตมากกว่าที่เคยเป็น

 

ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย กรมศิลปากร ยืนข้างตู้จัดแสดงประติมากรรมดินเผาที่ค้นพบล่าสุด และที่เคยค้นพบมาแล้วจากการขุดค้นวัดพระงาม

 

ไอเดียที่ดิษพงศ์คิดจนกลายมาเป็นนิทรรศการนี้นั้นสำคัญมากในความคิดของผม เพราะเท่ากับทำให้ผู้ชมนิทรรศการไม่ได้รับความรู้จากตัววัตถุจัดแสดงเท่านั้น หากแต่ยังได้รู้สิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวประวัติของวัตถุ’ (Biography of object) คือประวัติของวัตถุที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่วัตถุนั้นได้ถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำวัตถุที่ถูกทิ้งหรือหมดหน้าที่ไปแล้วกลับมาเป็นวัตถุสำคัญของชาติ เป็นต้น อีกประการหนึ่งนับเป็นเรื่องที่คนที่สนใจต่อศิลปวัตถุนั้นยังให้ความสำคัญกันน้อย 

 

วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งที่ดิษพงศ์กล่าวด้วยคือ สาส์นสมเด็จ เป็นเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นขุมทรัพย์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม แต่คนภายนอกยังรู้จักน้อย หรือบางคนอาจไม่รู้จักมาก่อนเลย ดังนั้นจึงต้องการแนะนำให้คนทั่วไปได้รู้จักจากนิทรรศการครั้งนี้ว่าชนชั้นนำสมัยก่อนนั้นมีวิธีการหาความรู้และบันทึกข้อมูลอย่างไร

 

วัตถุประสงค์ประการสุดท้ายคือการอัปเดตและต่อยอดความรู้แต่ครั้งที่สมเด็จทั้งสองได้เคยสนทนากัน ตัวอย่างเช่น เรื่องของพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัยที่พบในภาคใต้ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงให้ข้อสังเกตไว้ว่าพระพิมพ์ดินดิบนี้มีอัฐิของพระอริยสงฆ์ผสมอยู่ด้วย ซึ่งในนิทรรศการนี้ก็พยายามใช้เทคนิควิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยพิสูจน์ ดังนั้นผู้มาชมนิทรรศการจึงไม่ได้ความรู้เฉพาะในภาคอดีตเท่านั้น แต่ยังเป็นภาคปัจจุบันด้วย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่านิทรรศการนี้ก็คือบทสนทนา (Dialogue) ระหว่างกรมศิลปากรกับสมเด็จทั้งสองพระองค์อีกทางหนึ่งด้วย ด้วยเหตุนี้แม้สิ่งต่างๆ ในห้องจัดแสดงจะดูนิ่งเฉย แต่ความจริงแล้วกลับเต็มไปด้วยเสียงแห่งการพูดคุย ซึ่งนับเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าอย่างมาก 

 

ธรรมจักรสมัยทวารวดี โบราณวัตถุล้ำค่าที่แสดงถึงร่องรอยพุทธศาสนาที่เก่าแก่ในไทย

 

ไฮไลต์ของนิทรรศการที่ควรชม

นิทรรศการนี้มีสิ่งที่ Beyond (ไกลเกิน) กว่า สาส์นสมเด็จ คือการนำข้อค้นพบและโบราณวัตถุใหม่จากการทำงานโบราณคดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งผมถือว่าเป็นไฮไลต์หรือจุดเด่นของนิทรรศการนี้ ยังไม่นับรวมโบราณวัตถุบางชิ้นที่ปกติแล้วไม่ง่ายเลยที่จะเห็นการจัดแสดงกัน ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจากไชยา, พระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย, สถูปจำลองจากราชวงศ์ปาละในอินเดีย, จารึกวัดเสมาเมือง (หลักที่ 23) เจ้าปัญหา, จารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหง ฯลฯ จนผมเองก็ลำบากใจที่จะเลือกว่าถ้าหากไปชมนิทรรศการนี้ซึ่งมีทั้งหมดถึง 6 โซน แล้วอะไรที่ควรเป็นไฮไลต์ของงานดี เพราะคงขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะประเมินกัน แต่เอาเป็นว่าผมขอแนะนำสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด 

 

ผมขอพามาที่ห้องด้านในสุดก่อน เริ่มต้นกันที่โซน 4 ความรู้เรื่องเมืองนครปฐมโบราณ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่คงทราบกันว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ให้ความสนพระทัยกับเมืองนครปฐมอย่างมาก เพราะค้นพบหลักฐานแบบทวารวดีที่ในเวลานั้นเชื่อว่าเชื่อมโยงไปถึงในสมัยที่พระเจ้าอโศกส่งสมณทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ หลักฐานที่ทำให้ในเวลานั้นเชื่อว่าพระเจ้าอโศกส่งสมณทูตมานั้น ได้แก่ ธรรมจักรแกะสลักจากหินที่ค้นพบมากมายในเมืองนครปฐม ดังปรากฏใน สาส์นสมเด็จ ภาค 5 และในหนังสือ ตำนานพุทธเจดีย์สยาม ที่พระองค์ทรงนิพนธ์ด้วย อย่างไรก็ดี ความเชื่อเรื่องพระเจ้าอโศกเคยส่งสมณทูตนี้ ปัจจุบันไม่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการแล้ว เพราะไม่ปรากฏในหลักฐานสมัยพระเจ้าอโศก หากแต่ปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา 

 

โบราณวัตถุที่จัดแสดงในห้องนี้ประกอบด้วยธรรมจักรแบบทวารวดีที่ตั้งเด่นตระหง่านท้ายห้อง แต่ที่เป็นไฮไลต์จนห้ามพลาดคือประติมากรรมและจารึกที่ได้จากการขุดค้นล่าสุดที่วัดพระงาม จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้พบประติมากรรมทวารบาลดินเผาที่สวยงามเป็นอย่างมาก โดยสะท้อนถึงอิทธิพลของอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ที่น่าตื่นเต้นคือการค้นพบจารึกใหม่สมัยทวารวดี จารึกด้วยอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกนี้สำคัญ เพราะปรากฏชื่อ ‘ทวารวดี’ ด้วย ซึ่งเท่ากับยืนยันการมีตัวตนของรัฐทวารวดี ส่วนจารึกเนื้อหาว่าอย่างไรนั้นขอให้ไปชมนิทรรศการนะครับ แม้จะอ่านไม่ออก แต่การได้ชมเส้นสายของตัวอักษรที่เป็นบรรพบุรุษของตัวอักษรไทยก็นับว่าคุ้มค่าแล้วครับ

 

จารึกวัดพระงามสมัยทวารวดี จารึกที่ค้นพบล่าสุด ได้มีการนำมาจัดแสดงในนิทรรศการสาส์นสมเด็จนี้ด้วย

 

เมื่อพูดถึงเรื่องก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ดิษพงศ์ยังได้กล่าวว่านิทรรศการนี้ยังมีอีกมุมหนึ่งที่เล่าเรื่องจุดเริ่มต้นของโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยปรากฏในข้อเขียนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยเขียนไว้ถึงสั้นๆ เมื่อพระองค์เสด็จไปประทับที่ปีนัง ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน งานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยก็ได้ถือกำเนิดขึ้น (คำถามที่ผมอยากกระตุ้นให้ตั้งคำถามด้วยก็คือ ทำไมในช่วงที่มีการศึกษาโบราณคดีกันช่วงแรกๆ ชนชั้นนำสยามจึงยังไม่สนใจหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์กัน)

 

โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้จัดแสดงอยู่ในโซน 4 เช่นกัน ซึ่งมีโบราณวัตถุมากมาย เช่น ไหใส่ศพจากทุ่งกุลาร้องไห้ ภาชนะดินเผาจากบ้านเชียง ดินเทศที่ใช้โรยบนตัวศพหรือใช้เขียนสีแดง ซึ่งอย่างหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยวินิจฉัยไว้ใน สาส์นสมเด็จ เช่นกันว่าเป็นตัวแทนของเลือด อย่างไรก็ดี ที่ผมเห็นว่าเป็นไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดเลย แม้โบราณวัตถุชิ้นนี้อาจจะไม่สวยงามนัก แต่ถือว่ามีความสำคัญระดับชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ เตาถลุงเหล็กรูปทรงกลม ที่ได้จากการขุดค้นล่าสุดที่เมืองลี้ จังหวัดลำพูน โดยนักโบราณคดีจากกรมศิลปากร เตานี้สำคัญอย่างไร สำคัญตรงที่บ่งบอกถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านโลหกรรมขั้นสูงและการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ โดยมีอายุถึง 2,300-2,500 ปีมาแล้ว ซึ่งหมายความว่าบริเวณภาคเหนือเคยมีชุมชนเก่าแก่มาแล้วก่อนหน้าสมัยหริภุญไชย ซึ่งมักถือเป็นจุดตั้งต้นของประวัติศาสตร์ล้านนาเสียอีก 

 

ดินเผารูปร่างกลมๆ นี้เป็นเตาถลุงโลหะที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ ขุดได้จากอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่งด้านงานช่าง ด้วยเหตุนี้จึงทรงออกแบบพระเมรุมาศและประติมากรรมต่างๆ ด้วย ในนิทรรศการจึงมีพระเมรุจำลองและตาลปัตรพัดยศที่พระองค์ทรงออกแบบ ซึ่งนัยสำคัญที่อยากให้ชวนมองคือสิ่งเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับอำนาจทางการเมืองทั้งฝ่ายราชสำนักและพระสงฆ์ ซึ่งถือเป็นเสาหลักทางการเมืองของสังคมไทย ทั้งหมดนี้จัดแสดงอยู่ในโซนที่ 6 สองสมเด็จกับงานศิลปกรรม 

 

นอกจากโบราณวัตถุและจารึกแล้ว ที่ผมค่อนข้างตื่นเต้นในนิทรรศการนี้คือมีการนำประติมากรรมต้นแบบพระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฝีมือของ ศ.ศิลป์ พีระศรี มาจัดแสดงอีกด้วย นิทรรศการในส่วนนี้ทำให้เห็นว่าประติมากรรมและอนุสาวรีย์นั้นสัมพันธ์กับการกำเนิดรัฐชาติสมัยใหม่อย่างไร ซึ่งนอกจากประติมากรรมพระเจ้าตากสินแล้ว ยังมีประติมากรรมต้นแบบอื่นๆ เช่น ประติมากรรมรูปสมเด็จย่า และรัชกาลที่ 6, 8 และ 9 เป็นต้น ที่ปั้นโดยฝีมือของท่านอีกหลายชิ้น ความเชื่อมโยงของการเลือกประติมากรรมต้นแบบเหล่านี้มาจัดแสดงในโซนนี้ก็เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ที่คัดเลือก ศ.ศิลป์ พีระศรี หรือคอร์ราโด เฟโรชี เข้ามารับราชการ โดยทดสอบด้วยการให้ปั้นรูปของพระองค์ และยังกราบบังคมทูลฯ เชิญให้รัชกาลที่ 6 มาเป็นแบบอีกด้วย 

 

 

นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ข่าวมาด้วยว่าเร็วๆ นี้จะมีการนำกลองมโหระทึกที่เพิ่งค้นพบที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งถือเป็นกลองมโหระทึกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศมาจัดแสดงด้วย เรียกได้ว่านิทรรศการนี้รวบรวมโบราณวัตถุที่ค้นพบล่าสุด สำคัญที่สุด และเป็นข้อมูลการค้นคว้าทางโบราณคดีล่าสุดจากทั่วประเทศมาให้ชมกัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

ภายในห้องจัดแสดงโซนที่ 4 จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับงานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์, ความรู้เรื่องเมืองนครปฐมโบราณ, โบราณคดีภาคใต้ และเครื่องปั้นดินเผาภาคเหนือ

 

ผมคิดว่านอกจากผู้ไปชมจะได้เพลิดเพลินและตื่นเต้นกับการชมโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงแล้ว เรายังได้เห็นแนวคิดใหม่ๆ ในการจัดนิทรรศการที่กำลังแสดงถึงบทสนทนา 3 ชั้น ชั้นแรกคือระหว่างสมเด็จทั้งสอง ชั้นที่สองคือระหว่างกรมศิลปากรกับสมเด็จทั้งสอง และชั้นที่สามคือระหว่างผู้ชมนิทรรศการกับสมเด็จทั้งสองกับกรมศิลปากร ผมจึงมองว่าถึงนิทรรศการจะ ‘เงียบ’ แต่กลับเต็มไปด้วย ‘เสียง’ ซึ่งนับเป็นแนวคิดที่น่าสนใจของการจัดนิทรรศการ 

 

สุดท้ายนี้ คำถามสำคัญที่ควรคิดไปพร้อมกันด้วยคือทำไมปราชญ์สองพระองค์นี้จึงต้องเขียนจดหมายโต้ตอบกันไปมา และไม่ใช่การเขียนเล่าเรื่องทั่วไปดังเช่นจดหมายทั่วไปเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์และต้องสืบค้นกันอย่างมาก ดังนั้นเนื้อหาในจดหมายของทั้งสองพระองค์นั้นก็คืองานด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติแบบหนึ่ง โดยเป็นสำนึกที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในรัฐสยามสมัยใหม่ที่ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณกรรมคือเครื่องบ่งบอกความศิวิไลซ์ของชาติตามค่านิยมของตะวันตก หากเป็นเช่นนั้น จดหมายของทั้งสองพระองค์จึงควรได้รับการวิเคราะห์กันอีกมากเพื่อให้เข้าใจโลกทัศน์ของชนชั้นนำในเวลานั้น 

 

สำหรับนิทรรศการศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ ทางผู้จัดยังไม่ทราบวันที่จะเปิดนิทรรศการที่แน่นอน แต่คาดว่าราวกลางเดือนมิถุนายนนี้ หากสนใจสามารถชมนิทรรศการเบื้องต้นผ่านทางยูทูบได้ที่ https://youtu.be/V7wNRTN7eak หรือติดตามได้ที่ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร https://www.facebook.com/prfinearts และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ https://www.finearts.go.th/thailandmuseum

 

ขอขอบคุณ: 

  • ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร และพุทธพร คุ้มวงษ์ พนักงานรถพิพิธภัณฑ์สัญจร สังกัดกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและนำชมนิทรรศการ
  • อาจารย์ธนโชติ เกียรติณภัทร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลประวัติการพิมพ์ สาส์นสมเด็จ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising