×

สว. นันทนา มองการตรวจสอบจริยธรรมไม่ควรเป็นตัวชี้วัดเดียว เสนอลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ล้นเกิน

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (2 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่อดีต สว. ตั้งข้อสังเกตว่า ว่าที่รัฐมนตรี 11 คน อาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เนื่องจากมีคดีอยู่ในองค์กรอิสระ โดยระบุว่า การตรวจสอบคุณสมบัติผู้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะจากประสบการณ์ที่เห็น ตั้งพลาดเพียงคนเดียวอาจหมายถึงผู้ที่แต่งตั้งจะต้องพ้นจากตำแหน่ง

 

นันทนาเห็นว่าตรงนี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างมาก เพราะองค์กรอิสระมีอำนาจกว้างขวางและล้นเกินฝ่ายบริหาร สามารถปลดผู้นำสูงสุดของรัฐบาลได้ รวมถึงยังล้นเกินมาถึงฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถยุบพรรคการเมืองได้ ดังนั้นทางแก้คือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้จำกัดขอบเขตขององค์กรอิสระไม่ให้มีอำนาจล้นเกิน และยึดหลักการคานอำนาจระหว่างกัน การคานและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

 

ส่วนบทบัญญัติในขณะนี้ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ใช่หรือไม่ นันทนากล่าวว่า เป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะความจริงเรื่องจริยธรรมเป็นการตรวจสอบบุคคลในสาขาอาชีพของตัวเอง ซึ่งโทษจะเป็นไปอย่างเหมาะสม แต่โทษผิดจริยธรรมร้ายแรงที่ถึงขั้นตัดสิทธิตลอดชีวิตตามรัฐธรรมนูญ หรือเรียกว่าใบดำนั้น ส่วนตัวยังสงสัยว่าได้สัดส่วนกับความผิดหรือสิ่งที่ถูกตีความว่าเป็นจริยธรรมที่ผิดพลาดไปหรือไม่ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรต้องหันกลับมาทบทวน โดยเฉพาะเรื่องโทษให้เป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสม

 

“ความจริงแล้วเรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เราก็อยากได้คนที่มีประวัติที่สะอาด ซื่อสัตย์สุจริต พร้อมๆ กับคุณสมบัติด้านอื่น เช่น ความรู้ ความสามารถ และศักยภาพด้านต่างๆ แต่ไม่ใช่การตรวจสอบภูมิหลังแล้วนำมาเป็นดัชนีชี้วัดเพียงตัวเดียวในการขึ้นดำรงตำแหน่ง ถ้าเป็นเช่นนี้หมายความว่าคนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งคงต้องฟูมฟักกันตั้งแต่เกิด คุณสมบัติไม่ด่างพร้อยหรือมีอะไรเสียหาย”

 

นันทนากล่าวต่อไปว่า การวินิจฉัยแบบนี้และบทลงโทษถือว่าไม่ได้สัดส่วน ไม่ควรย้อนพฤติกรรมในอดีตมาชี้ว่ามีพฤติกรรมผิดจริยธรรมร้ายแรง ควรต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและได้สัดส่วน แต่ยอมรับว่าควรต้องมีบทบัญญัติจริยธรรม จะบอกว่าไม่สนใจเรื่องนี้ก็ไม่ได้ ไม่ควรตรวจสอบเฉพาะเรื่องเล็กน้อย

 

เมื่อสื่อมวลชนถามถึงกรณีของ พิชิต ชื่นบาน ถือว่าเล็กน้อยหรือไม่ นันทนากล่าวว่า กรณีของพิชิตเป็นตัวอย่างหนึ่งที่หัวหน้ารัฐบาลมองว่าอาจไม่ร้ายแรงที่จะตั้งเข้ามาได้ หรือกรณีของนักการเมืองอีกหลายคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตด้วยเหตุการณ์ที่ทำมาในอดีตและไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นการกระทำในปัจจุบัน ส่วนตัวคิดว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับโทษนั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising