×

โรงงานที่นครปฐม ออกแถลงการณ์เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยืนยันควบคุมได้เร็วแล้ว ด้านมูลนิธิสิ่งแวดล้อมชี้คนไทยต้องเสี่ยงกับสารมลพิษทุกวัน

โดย THE STANDARD TEAM
22.09.2022
  • LOADING...
นครปฐม

วันนี้ (22 กันยายน) จากเหตุการณ์สารเคมีของ บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เกิดการรั่วไหล ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการสูดดมกลิ่นเหม็นเป็นบริเวณกว้าง   

 

ทาง บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ได้ทำเอกสารชี้แจงในเวลาต่อมา ระบุว่า ยืนยันการรั่วไหลของสารเคมีจำนวนเล็กน้อยที่ บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) ในจังหวัดนครปฐม เวลาประมาณ 05.45 น. ของวันที่ 22 กันยายน 2565 โดยเป็นการรั่วไหลของของเหลวถ่ายเทความร้อนทั่วไปจำนวนเล็กน้อย และได้รับการจำกัดบริเวณการรั่วไหลอย่างรวดเร็วภายใน 10 นาที  

 

ไม่มีการรั่วไหลสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และปล่อยมลพิษในอากาศที่มีกลิ่นรุนแรงกระจาย บริษัทยืนยันไม่พบผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือได้รับผลกระทบอื่นๆ ต่อพนักงาน หรือชุมชนโดยรอบ

 

อินโดรามา เวนเจอร์ส ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการดูแลใส่ใจ และความปลอดภัยของพนักงานของเราและชุมชนโดยรอบ คือสิ่งสำคัญสูงสุดของบริษัท และเราทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อประเมินสาเหตุ และดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก

 

สำหรับสารเคมีดังกล่าว เป็นน้ำมันถ่ายเทความร้อนที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งใช้ในโรงงานผลิตหลายแห่งทั่วโลก ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการควบคุมไว้อย่างรวดเร็ว และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีการหยุดชะงักในการดำเนินงานของโรงงาน

 

ขณะที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า จากเหตุการณ์รั่วไหลของสารเคมีที่ส่งกลิ่นเหม็นกระจายออกในวงกว้างจากโรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 

 

โดยมีประชาชนในพื้นที่แจ้งเหตุไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 นั้น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้มีกฎหมายการรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) เห็นว่า เหตุการณ์การรั่วไหลของสารเคมีดังกล่าวคือประจักษ์พยานล่าสุดของการที่ชีวิตผู้คนในสังคมไทยต้องเสี่ยงภัยกับสารมลพิษทุกวัน (Living Poisons Daily)

 

ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนแทบไม่รู้เลยว่ามีสารมลพิษชนิดใดบ้างที่รั่วไหลออกมาจากโรงงาน แม้การรายงานข่าวในเวลาต่อมาจะระบุว่า เป็นการรั่วไหลของสารเคมีกลุ่มอะโรเมติกเบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) และไบฟีนิล (Biphenyl) และกรมควบคุมมลพิษทำการแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่งดออกจากบ้านเรือน เพื่อเลี่ยงสัมผัสสารเคมี และสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน 

 

แต่ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากการปนเปื้อนในอากาศที่หายใจ ประชาชนไม่รู้เลยว่าการรั่วไหลของสารมลพิษสามารถตกลงสู่ดินและแหล่งน้ำ ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่กิน และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสารมลพิษดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

 

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

 

ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชั้นนำระดับโลก อินโดรามา เวนเจอร์ส  ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ต้องมีภาระรับผิดชอบ (Accountability) โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณชน เกี่ยวกับเหตุการณ์รั่วไหลของสารเคมีครั้งนี้ และดำเนินการประเมินความเสียหายและผลกระทบ

 

  • สุขภาพของประชาชนเฉพาะหน้าในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการชดใช้และเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่เกิดขึ้น (Liability)

 

  • หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องตรวจสอบเหตุการณ์รั่วไหลที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะอย่างรวดเร็ว ตรงไปตรงมา รวมถึงการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ก่อมลพิษ และการติดตามรวบรวมข้อมูล และให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

 

  • หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีบทบาทสำคัญในการติดตามผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่มีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีกลุ่มอะโรเมติกเบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) และไบฟีนิล (Biphenyl) ที่อาจส่งผลเสียหายต่อร่างกายในระยะยาว

 

  • หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องสนับสนุนกฎหมายการรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ภาคประชาชนที่รับรองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) และกำหนดให้มีการรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิด และปริมาณของสารเคมี หรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสีย หรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิด ไปบำบัดหรือกำจัด

 

นอกจากนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของสารเคมี สามารถใช้ช่องทางและกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, และกรีนพีซ ประเทศไทย ขอเชิญชวนประชาชนใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน  และการเรียนรู้ร่วมกันของประชาชนในการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษ เพื่อมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิ สุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง ผ่านพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ได้ที่ thaiprtr.com/   

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising