แม้กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนมานานเกือบ 3 เดือน แต่ประชาชนชาวเมียนมาที่สนับสนุนประชาธิปไตยไม่ยอมหมดหวัง ยังคงเดินหน้าอารยะขัดขืน ต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของเมียนมา ทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนในหลายประเทศทั่วโลก
ล่าสุด มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 751 ราย ถูกจับกุมกลายเป็นนักโทษทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 3,431 ราย บางรายได้รับโทษประหารชีวิต โดยกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเดินหน้าสร้างบรรยากาศของความกลัวให้แผ่ขยายไปทั่วสังคมเมียนมาอย่างต่อเนื่อง
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหาร ผู้อยู่เบื้องหลังการประหัตประหารประชาชนชาวเมียนมาและชาวโรฮีนจาจำนวนมาก เพิ่งเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมา เมื่อวันเสาร์ที่ 24 เมษายน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
โดยผู้นำอาเซียนบรรลุ 5 ฉันทามติเพื่อแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมียนมา (1) การจะต้องยุติการใช้ความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องอดทนอดกลั้น ใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่ (2) เปิดพื้นที่การเจรจาเชิงสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน (3) ผู้แทนพิเศษจากอาเซียนเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนกระบวนการเจรจา ภายใต้ความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน (4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (AHA Center) รวมถึง (5) ผู้แทนพิเศษและคณะผู้แทนจะเดินทางไปเยือนเมียนมา เพื่อหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สมาชิกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิจำนวนมากระบุ คาดหวังคำมั่นสัญญาหรือวิธีการที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ โดยต้องการให้อาเซียนยุติการใช้ความรุนแรงในทันที มีไทม์ไลน์และระบุช่วงเวลาชัดเจน เพื่อกดดันกองทัพเมียนมาให้เร่งปล่อยผู้ถูกจับกุมตัว และยุติการประหัตประหารประชาชน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครใน ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ เพื่อคานอำนาจกองทัพ
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: