×

4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

โดย THE STANDARD TEAM
31.03.2021
  • LOADING...
4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

จากสถานการณ์ในเมียนมา ณ ปัจจุบัน ที่หลายคนใช้คำว่า สงครามกลางเมือง, รัฐล้มเหลว, กลียุค ฯลฯ นำมาสู่การคาดการณ์อนาคตของเมียนมาที่ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม จากศูนย์อาเซียนศึกษา ศูนย์เกาหลีศึกษา และศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ถึง 4 ฉากทัศน์ ตั้งแต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดไปจนถึงบทบาทของไทยในการคลี่คลายสถานการณ์

 

คลิกอ่านบทความ 4 ฉากทัศน์ชี้อนาคตเมียนมา กับบทบาทไทยและอาเซียนในการคลี่คลายวิกฤตการเมือง

 

 

เป็นฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) เพราะพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคณะรัฐประหารในนาม State Administration Council (SAC) อยู่ในสภาวะรัฐล้มเหลวที่ไม่สามารถบริหารจัดการประเทศและประชาชนเมียนมาได้ การใช้อาวุธหนักเข้าปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้านอย่างสันติด้วยวิธีการอันโหดร้าย คร่าชีวิต และย่ำยีความเป็นมนุษย์ (De-Humanisation อาทิ การเผาศพผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตโดยไม่ให้มีโอกาสประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ) เกิดขึ้นในทุกเมืองใหญ่ของประเทศ ผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และมีผู้บาดเจ็บหลายพันคน ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มเดินทางออกนอกประเทศ ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธ เข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมือง

 

และฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดนี้นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะดูเหมือนว่าผู้นำกองทัพอยู่ในสภาวะเข้าตาจน ขึ้นขี่หลังเสือ หาทางลงไม่ได้ และสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่ในที่สุดจะเกิดการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาจากกองกำลังต่างชาติในนาม ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติ 

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นแม้ไม่มีใครอยากเห็น นั่นคือหลังการโค่นล้มระบบในเมียนมา ทรัพยากรธรรมชาติของเมียนมาอาจถูกรุมทึ้งโดยมหาอำนาจในรูปแบบของบำเหน็จสงคราม ประชาชนเมียนมาจำนวนมากอาจอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ ประเทศที่ถึงแม้จะไม่อยู่ในอุ้งมือของผู้นำกองทัพแต่ก็ไม่ได้สงบสันติสุข

 

ซึ่งถ้าไม่มีใครทำอะไร ปล่อยให้การย่ำยีบีฑาประชาชนเกิดขึ้นต่อไป ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่ 1 ก็จะยิ่งเกิดขึ้นและทวีความรุนแรง

 

 

เป็นฉากทัศน์ที่ดีที่สุด (Best Case Scenario) คือทหารกลับเข้ากรมกอง เลิกยุ่งกับการเมือง ยอมรับผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ที่คะแนนเสียงสนับสนุนพรรค NLD ซึ่งนำโดย ออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นสมัยที่ 2 และมีการดำเนินคดีกับผู้นำกองทัพ เพื่อชดใช้และรับโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข่นฆ่าประชาชน แน่นอนว่านี่คือสิ่งที่ทุกฝ่ายทั่วทั้งเมียนมา ไทย ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก อยากเห็นมากที่สุด แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็แทบจะไม่มี

 

 

ถือเป็นฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ (Plausible Scenario) เมื่อ มิน อ่อง หล่าย เลือดเข้าตา ขึ้นขี่หลังเสือ และหาทางลงไม่ได้ เช่นในปัจจุบัน ในที่สุดนายทหารในกองทัพจำนวนหนึ่งจะไม่พอใจกับสถานการณ์ และนำไปสู่การ ‘รัฐประหารซ้อน’ 

 

ซึ่งมีความเป็นไปได้ เนื่องจากเราเห็นรอยร้าวในกองทัพเมียนมา หรือ Tatmadaw มาแล้วก่อนหน้านี้ หากแต่รอยร้าวนี้ยังถูกกดทับเอาไว้ เพราะนายทหารกลุ่มที่ถูกข้ามหัวยังไม่มีแรงสนับสนุนให้ออกมาเคลื่อนไหว หรือไม่ก็การแบ่งผลประโยชน์ที่ยังลงตัวอยู่ หากแต่ในภาวะวิกฤต การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างนายทหารรุ่นต่างๆ เริ่มไม่ลงตัว เช่นเดียวกับที่แรงสนับสนุนจากภาคประชาชนที่ไม่เอา มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 19 ก็รุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มนายทหารระดับสูงในกองทัพ (กลุ่มนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 24-27 ที่ถูกข้ามหัว) อาจจะรวบรวมกำลังกันและทำรัฐประหารซ้อน

 

แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ แล้วผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารซ้อนจะออกมาในรูปแบบไหน มีความเป็นไปได้ 2 ทาง นั่นคือ หนึ่ง นายทหารกลุ่มใหม่ที่เข้ามาก็มีแนวคิดเช่นเดิม นั่นคือถือผลประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่ต้องการเดินหน้าประเทศไปในทิศทางประชาธิปไตย และนั่นทำให้กลายร่างไปเป็นฉากทัศน์ที่ 1 ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดได้อีกครั้ง

 

หรือในทางตรงกันข้าม หากนายทหารกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเป็น ‘เลือดใหม่’ ที่ต้องการเห็นประเทศเดินหน้าไปได้ในเวทีประชาคมโลก นำพาเมียนมาเข้าสู่ฉากทัศน์ที่สองนั่นคือ ปฏิรูปกองทัพควบคู่กับการปฏิรูปการเมือง เดินหน้าประเทศเมียนมาไปสู่อนาคตที่ทำเพื่อประชาชน นายทหารกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นนายทหารที่ประชาชนเมียนมาอยากจะสร้างอนุสาวรีย์ให้

 

 

ในฉากทัศน์ที่ 4 นี้ ไทยและประชาคมอาเซียนต้องเร่งดำเนินการอะไรบางอย่าง (ASEAN Constructive Engagement Scenario) โดย 4 เรื่องที่ต้องดำเนินการ คือ

 

สำคัญที่สุดและเร่งด่วนที่สุดคือการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะกับประชาชนเมียนมาที่หนีภัยความรุนแรงเข้ามาบริเวณชายแดนของประเทศไทย โดยใช้กลไกอาเซียน ใช้มติของอาเซียนที่ผ่านการประชุมด่วนในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภายใต้สภาวะฉุกเฉิน ที่ไทยเราสมควรเข้าร่วม และผลักดันให้มีมติให้ใช้ประโยชน์จากกลไกของอาเซียนในการช่วยเหลือผู้อพยพเมียนมา และในขณะเดียวกันก็ให้ผู้นำกองทัพของไทยและเมียนมา ซึ่งน่าจะสามารถติดต่อกันได้ชี้แจงว่าไทยต้องดำเนินการ เพราะนี่คือมติของอาเซียน และไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เราจึงต้องรับหน้าที่เช่นนั้นในภารกิจนี้

 

ร่วมกันผลักดันกับประเทศสมาชิกให้ดำเนินการ Targeted Sanctions ต้องเป็นการทำแบบเน้นเป้าหมาย ไม่ใช่การคว่ำบาตรหรือการลงโทษแบบเหมารวมที่จะทำให้คนเมียนมาเดือดร้อน แต่เน้นเป้าหมายการหยุดและตัดท่อน้ำเลี้ยง เส้นทางการเข้าถึงและการใช้เงินของผู้นำกองทัพของเมียนมา ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของเหล่าผู้นำกองทัพเมียนมาและเครือข่าย รวมทั้งเงินฝากมีอยู่ในทั่วโลก (สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต่างยุติเส้นทางทางการเงินไปแล้ว) และในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศไทยและสิงคโปร์ ดังนั้นการผลักดันเรื่องนี้ในเวทีอาเซียนเพื่อให้ได้มติจากส่วนรวม แล้วจึงให้แต่ละสมาชิกไปดำเนินการ จะเกิดขึ้นได้คงต้องผ่านการดำเนินการในทางลับ คุยกันนอกรอบ ไม่เป็นทางการระหว่างไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย 

 

ไทยต้องร่วมผลักดันให้การประชุมอาเซียนในระดับรัฐมนตรีและระดับสุดยอดผู้นำอาเซียนเกิดขึ้นในวาระเร่งด่วน และร่วมกันออกแถลงการณ์ไปยังประเทศคู่เจรจาหลักของอาเซียน (Dialogue Partners) ทั้ง 10 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐฯ ให้ยุติการขายอาวุธและการให้ความร่วมมือทางการทหารกับเมียนมา 

 

ไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่าการค้าขายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าชายแดนเพื่อส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปในเมียนมา ยังต้องทำได้อย่างปกติ เพราะหากสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถส่งเข้าไปค้าขายในเมียนมาได้ คนที่เดือดร้อนไม่ใช่ผู้นำกองทัพเมียนมา หากแต่เป็นประชาชน แน่นอนถึงแม้ปัจจุบันราคาสินค้าบางอย่างในเมียนมาจะปรับสูงขึ้นแล้ว เช่น น้ำมันพืชราคาเพิ่มขึ้นกว่า 20% แต่ผู้ผลิตและผู้ค้าชาวไทยต้องเร่งส่งสินค้าเหล่านี้ และเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายไทยคงต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้สินค้าเหล่านี้ออกไปถึงมือประชาชนเมียนมาได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising