×

ร้านประจำผมหายไปหลังเปิดเมือง

20.05.2021
  • LOADING...
ร้านประจำ

เศรษฐกิจ​ไทย​ไตรมาส 2 กำลังอยู่บนความเสี่ยงหดตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้า​ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่อาจชะลอแรง​ ทั้งจากมาตรการภาครัฐที่จำกัดการเปิดร้านค้า ร้านอาหาร หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ​อื่นๆ​ รายได้ของผู้ประกอบการก็ลดลง​ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็หดตัว​ 

 

แต่น่าสนใจที่เศรษฐกิจ​ไทย​ยังมีกลุ่มมนุษย์​เงินเดือนที่มีรายได้มั่นคง​ เพียงแต่เขาเลือกทำงานที่บ้าน​ หรือ​ Work from Home เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน​ ผมลองตั้งคำถามว่า​ หากมนุษย์​เงินเดือนกลับมาทำงานมากขึ้น​ หลังเศรษฐกิจ​เริ่มเปิดมากขึ้น​ หรือเขาได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น​ สิ่งต่างๆ จะกลับมาเหมือนเดิม​ หรืออย่างน้อยก็​ New Normal ไหม​

 

เพื่อหาคำตอบ​ นักเศรษฐศาสตร์​เดินดินอย่างผมก็ต้องออกไปซอกแซก​ตามร้านค้า​ สอบถามคนค้าขายทั่วไปดู​ สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือคนบางตามาก​ ร้านอาหารที่เปิดเนื้อที่ได้น้อย​ คนขายก็ขายของได้น้อยเช่นกัน​ จึงมีคนขายหลายรายที่เลือกที่จะปิดร้านมากกว่ามาขายของแล้วขาดทุน​​ 

 

วันที่ผมเดินสำรวจก็ใจหาย​ เพราะเจ้าของร้านประจำที่เคยแวะไปพูดคุยซื้อของไม่ได้มาเปิดร้าน​เช่นเดิม​ แล้วหากสถานการณ์​ปัจจุบัน​ที่​การระบาดรายวันยังรุนแรง​เช่นนี้​ ผมมองว่ามาตรการ​ภาครัฐที่เข้มงวด​ยังมีต่อไป​ และอาจมีอีกหลายร้านค้าที่เลือกจะปิดร้าน​ เลือกอยู่บ้านดีกว่าออกมาขายแล้วขาดทุน​ 

 

บางคนบอกผมว่า​ ยิ่งผ่อนคลาย​ เขายิ่งแย่​ ทีแรกผมคิดว่าผมฟังผิด​ เพราะในเมื่อมีมาตรการผ่อนคลายให้คนมาจับจ่ายใช้สอย​มากขึ้น​ และอนุญาต​ให้คนมานั่งรับประทานใน​ร้าน​อาหารได้​ ยอดขายหรือรายได้น่าจะดีขึ้น​ ส่วนต้นทุนหรือวัตถุดิบที่ซื้อไว้แล้วขายไม่ออก​ วันต่อๆ ไปก็ซื้อน้อยลงได้​ ซึ่งน่าจะพอมีกำไรเหลือ​ ไม่เห็นต้องปิดร้าน​ หรือกังวลว่าจะแย่ลงกว่าตอนล็อกดาวน์​ 

 

แต่พอฟังคำตอบแล้วก็เห็นใจร้านค้า​ นั่นเพราะต้นทุนที่สำคัญสำหรับเขาไม่ใช่เพียงวัตุดิบหรือค่าเดินทาง​มาร้าน​ แต่คือค่าเช่าแผงขายของ​ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าของใจดีลดค่าเช่าให้บางส่วน​ ทำให้พออยู่ได้​ แม้ยอดขายเหลือน้อย​ แต่พอบอกว่าเปิดเมือง​ ค่าเช่าก็กลับมาที่เก่า แต่ยอดขายไม่ได้ขึ้นมาเท่าเดิม​ เพราะการเปิดในลักษณะที่มีข้อแม้หรือคนยังกังวลจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูง​ ทำให้เมื่อเปิดร้าน​ ยิ่งขาดทุน​ สู้ปิดร้านไปเลยดีกว่า

 

การปิดร้านอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด​ แต่เขาเลือกไม่ได้​ หากเลือกได้​ เจ้าของร้านประจำผมคงอยากจะขอให้เจ้าของตลาดหรือห้างลดค่าเช่าแผงให้​ ที่ผ่านมาผมสังเกตว่าเขาลดต้นทุนวัตถุดิบแต่คงคุณภาพสินค้าได้ด้วยการทำทุกอย่างด้วยตัวเอง​ ทั้งเครื่องปรุงหรือวัตถุดิบที่ใช้อันไหนทำเองได้ก็จะไม่ซื้อ​ เขาเล่าว่า​ แม้ต้องตื่นตี 4 เพื่อมาเตรียมของมากมาย​ ขายของเสร็จช่วงบ่ายกลับบ้านก็ไม่ได้พัก​ เพราะต้องเตรียมของไว้ขายวันพรุ่งนี้ต่อ​ 

 

การลดต้นทุนจากการเตรียมของด้วยตัวเอง​ หรือ​ Internalize Cost ก็ช่วยลดรายจ่ายในการซื้อสินค้าและคุมคุณภาพได้​ ผมเคยถามว่าทำไมไม่ขึ้นราคาของ​ เพราะผมรู้ว่าวัตถุดิบที่ใช้นั้นมันราคาขึ้นหมดแล้ว​ เขาก็ยิ้มตอบว่าขึ้นราคาแล้วลูกค้าจะหาย​ แต่รอบนี้อาจคุมค่าใช้จ่าย​ด้านค่าเช่าไม่ได้​ เลยต้องขอพัก​ สิ่งที่มองต่อคือ​ เขาจะกลับมาขายของได้อีกไหม​ หรือจะกลับมาขายที่เดิมได้ไหม​ 

 

การปรับตัวให้ขายของออนไลน์อาจ​ทำไม่ได้สำหรับทุกคน​ หากทำได้ก็ช่วยลดค่าเช่าแผงและค่าเดินทางได้มาก​ แต่คงมากลุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องแบ่งรายได้ให้กับบริษัทส่งอาหาร​ แล้วสุดท้ายจะให้ร้านค้าปรับตัวอย่างไรดี​ เมื่อลดต้นทุน​ ทำงานหนัก​ คงราคาสินค้า​ แบกค่าใช้จ่าย​ สุดท้ายยังไม่ไหวในช่วงเปิดเมืองเพราะค่าเช่าที่คุมไม่ได้​ และที่ผมห่วงคือ​ ในโลกที่ธุรกิจปรับตัวเสมอ​ จะมีคนที่สามารถปรับตัวได้เร็วกว่ามาแทนที่​ คนที่สามารถอยู่รอดได้​ จ่ายค่าเช่าได้​ สุดท้ายหากรอให้สถานการณ์​กลับสู่ภาวะปกติ​ แล้วขอเจ้าของห้างหรือตลาดกลับมาขาย​ วันนั้นอาจไม่ได้แผงเดิมหรือไม่มีพื้นที่เหลือ​ให้ขาย​เหมือนเดิม​ ปัญหาระยะสั้นอาจกลายเป็นปัญหาระยะยาว​ ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไป​ และคงต้องเป็นกำลังใจให้เจ้าของร้าน​และธุรกิจที่ยังมีหน้าร้านทั้งหลายให้ฝ่าฟันวิกฤต​นี้ไปได้​ 

 

แต่วิกฤตการระบาดรอบที่​ 3 นี้อาจยาวกว่ารอบแรก​ในปีก่อน​ ซึ่งต้องอาศัยความอดทนมากขึ้น​กว่าเดิม ใครที่พอหาช่องทางเติมสภาพคล่องให้ธุรกิจอยู่ได้ในช่วง​ 3 เดือนนี้​ก็น่าจะรีบหา​ เพื่อประคองให้ไม่ต้องปิดร้าน​ และเผื่อมีความหวังที่ยอดขายจะกระเตื้องมาบ้างเมื่อมาตรการที่เข้มงวดผ่อนคลาย​มากขึ้น​ สำหรับมนุษย์​เงินเดือน​ อย่าลืมเป็นกำลังใจไปแวะร้านประจำ​ ช่วยอุดหนุนให้เขาอยู่รอดให้ได้ด้วยนะครับ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising