×

35 ปี มหิดลอินเตอร์ (MUIC) Flexible Education: Disrupted and Transformed

โดย THE STANDARD TEAM
21.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ‘มหิดลอินเตอร์’ เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่เผชิญการ Disruption จากโควิด-19 และ Transform ได้ด้วยศักยภาพและความพร้อมใจของบุคลากรทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และพนักงาน
  • ปรับ 16 หลักสูตรภายใต้แนวคิด Flexible Education สามารถดีไซน์การเรียนรู้ของตัวเอง เลือกเรียนวิชาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากวิชาบังคับใน Major ได้โดยใช้ความสนใจหรือความต้องการเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นตัวกำหนด
  • ครบรอบ 35 ปี วิทยาลัยนานาชาติแห่งแรกของมหาวิทยาลัยรัฐ มุ่งสู่ต้นแบบสถาบันการศึกษา Liberal Arts Education ที่ดีที่สุดในประเทศไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาของโควิด-19 เป็นตัวเร่งการ Disruption โลก และธุรกิจต้อง Transform ปรับและเปลี่ยนตัวเองให้วิ่งได้เร็วขึ้น

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ยอมรับว่า ‘มหิดลอินเตอร์’ เป็นอีกหนึ่งองค์กรการศึกษาที่เผชิญความท้าทายจากเหตุการณ์ดังกล่าว จนต้องปรับการเรียนการสอนอย่างปัจจุบันทันด่วน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ

แม้จะอยู่ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาควบคุมได้ แต่ด้วยความเป็น Liberal Arts Education อันเป็นดีเอ็นเอของมหิดลอินเตอร์ ทั้งอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา จึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี

 


 

Flexible Education
เพราะการศึกษาในยุคปัจจุบันต้องมีความยืดหยุ่นสูงกว่าในอดีต การสร้างหลักสูตรที่ตอบสนองความเปลี่ยนไปของโลก รวมถึงความสนใจและความต้องการของผู้เรียนนั้นจำเป็นมาก

หลักสูตรแห่งอนาคตคือหลักสูตรที่ตอบโจทย์ผู้เรียนอย่างแท้จริง ทั้งในด้านความหลากหลายในศาสตร์ของการเรียนรู้ ตลอดจนด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

 

 

โดยในเดือนกันยายนนี้ คณบดีมหิดลอินเตอร์เล่าว่า ทั้ง 16 หลักสูตรจะถูกปรับใหม่ภายใต้แนวคิด Flexible Education หรือการศึกษาแบบยืดหยุ่น ที่นักศึกษาของมหิดลอินเตอร์จะสามารถดีไซน์การเรียนรู้ของตัวเอง โดยสามารถเลือกเรียนวิชาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากวิชาบังคับใน Major ได้ โดยใช้ความสนใจหรือความต้องการเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นตัวกำหนด

เป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สนุกมากขึ้น และเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และพัฒนาทักษะที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองในการทำงานในอนาคตอีกด้วย

 

“เมื่อก่อนเด็กที่เรียน Biological Science แต่อยากเรียน Business ด้วยนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะเครดิตที่ต้องเรียนใน Major นั้นเยอะมาก และจำนวนวิชาให้นักศึกษาได้เลือกเรียนนอกหลักสูตรยังมีน้อย

“ดังนั้นเราจึงทำการปรับโครงสร้างหลักสูตรใหม่ทั้งหมด โดยสร้าง I-Design Electives เป็นคอร์ส 5 คอร์สที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถไปเรียนในวิชาของหลักสูตรอื่นที่เขาสนใจ ซึ่งภายในวิทยาลัยฯ ของเรามีหลักสูตรให้เลือกเรียนได้ทั้งหมด 16 หลักสูตร

“โดยเราเชื่อว่าการเปิดกว้างทางการศึกษาแบบนี้จะช่วยพัฒนาให้บัณฑิตของเราเป็นคนที่ทั้งรู้ลึกและรู้กว้าง สามารถทํางานและแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนในเชิงโครงสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เช่น เด็กที่เรียนภาษาจีน แล้วมีความสนใจอยากเรียนภาษา AI ของฝั่งไอที ก็สามารถทำได้ หรือเด็กที่เรียน Computer Science แล้วสนใจด้านการออกแบบ ก็สามารถเลือกเรียนเกี่ยวกับ Media Communication ได้เช่นกัน นี่คือการดีไซน์การเรียนในรูปแบบใหม่ที่เราเชื่อว่าจะตรงโจทย์ความต้องการของผู้เรียน จะได้เห็นเร็วๆ นี้ค่ะ” คุณหมออธิบาย

 

 

Connections ต่อยอดความสำเร็จ
จากหลักสูตรใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนในสิ่งที่ตนต้องการ อีกหนึ่งกุญแจสำคัญคือเรื่อง Connections ที่หาไม่ได้โดยทั่วไปนอกจากที่ MUIC เท่านั้น

 

 

“Disruption มันย่อมเกิดขึ้นตามวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เราห้ามการเกิดขึ้น หรือการหายไปไม่ได้ แต่คนที่มี Liberal Arts Education อยู่ในตัว ย่อมที่จะสามารถพาตัวเอง รวมทั้งพาผู้อื่นก้าวข้ามผ่านไปได้”

 

“หลักสูตรบริหารธุรกิจของเราจะมี Practical & Knowledge เยอะมาก อาจารย์ของเราจะมีโจทย์ Innovation ส่งมาให้แก้ปัญหาอยู่เสมอ ซึ่งอาจารย์เหล่านี้ก็จะเอาโจทย์มาเป็นกรณีศึกษาถ่ายทอดให้นักเรียนอีกต่อหนึ่ง

“ยกตัวอย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ เขาก็จะผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอด ทีนี้เขาก็จะมาปรึกษาทางหลักสูตรบริหารธุรกิจว่า ถ้าเขาทำสินค้านี้ขึ้นมา มันจะขายได้ไหม อาจารย์ของเราก็ส่งมาให้เด็กเราดู พอเด็กเราดูก็ส่ายหน้า ขายไม่ได้แน่

“นี่คือกระบวนการคิดของสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ อีกฝั่งศิลปศาสตร์ คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ คุณคิดแบบหนึ่ง แต่มันขายไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ จากนั้นทั้งสองฝั่งจึงมา Brainstorm หา Solutions ในการแก้ไขทางออกกันจนสำเร็จ นี่คือผลลัพธ์ของการเรียนรู้ Practical & Knowledge ที่อาศัย Connections ของมหิดลอินเตอร์”

ถึงบรรทัดนี้ น่าจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของการเรียน Liberal Arts Education หรือศิลปะวิทยาศาสตร์ชัดเจนขึ้น เป็นตัวอย่างของสถาบันการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

 

 

 

เรื่อง Connections ยังมีความน่าสนใจอีกเรื่อง โดยบัณฑิตสาขาชีววิทยาของมหิดลอินเตอร์ สามารถจะไปเรียนต่อแพทย์อีก 4 ปีในหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษาสหรัฐอเมริกา (สหรัฐอเมริกามีรูปแบบการเรียนแพทยศาสตร์ที่ต่างจากไทย ต้องเรียนปริญญาในระดับปริญญาตรีก่อนแล้วจึงเรียนแพทย์ต่อได้) และมีโอกาสฝึกงานเป็นแพทย์ประจำบ้าน (Residency Training) ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งในปัจจุบันมีนักศึกษา 10 คนที่เข้าโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ศิษย์เก่ามหิดลอินเตอร์ยังสามารถเข้าศึกษาต่อโรงเรียนแพทย์ชั้นนำได้ทั่วโลก อาทิ Duke-NUS Medical School และ Monash School of Medicine รวมทั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ชั้นนำระดับโลกอื่นๆ อีกด้วย

 

บรรยากาศของสังคมที่กระหายการเรียนรู้
ขณะที่เรากำลังอยู่ในยุคที่เด็กๆ รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ยุคที่เด็กๆ สามารถหาความรู้ได้ผ่านการใช้เครื่องมือและสื่อออนไลน์ หากเขามองว่าใบปริญญาไม่ได้เป็นคำตอบที่เขาต้องการอีกต่อไป แน่นอนว่า Disruption ในแวดวงมหาวิทยาลัยจึงอาจเป็นเรื่องที่ใกล้เกินกว่าที่คิด

ดังนั้นบริบทของการเป็นสถาบันศึกษาจะต้องตอบโจทย์สิ่งที่ผู้เรียนต้องการให้ได้อย่างตรงจุด เอาไปใช้ได้จริง อะไรที่นักศึกษาไม่สามารถหาได้จากการเรียนรู้ด้วยตัวเองคนเดียว คำตอบคือบรรยากาศกับ Student-Centered Mindset ของคณาจารย์ ที่เป็นสองหัวใจสำคัญ

เริ่มจากบรรยากาศ ด้วยสภาพแวดล้อมของมหิดลอินเตอร์ การที่มีนักศึกษาต่างชาติจาก 40 ประเทศ อีกทั้งมีคณาจารย์ พนักงาน นักศึกษาเต็มเวลา นักศึกษาแลกเปลี่ยน รวมแล้วมากกว่า 500 คน จากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาเครือข่ายต่างประเทศทั่วโลกกว่า 115 แห่ง

 

 

แน่นอนว่านี่คือแต้มต่อของมหิดลอินเตอร์ที่ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ปรัชญา และวิถีชีวิตที่เป็นสากล ซึ่งนี่คือจุดเด่นอย่างแรกซึ่งคุณไม่สามารถหาได้ด้วยตนเองทางออนไลน์ หรือถ้าต้องไปเรียนต่างประเทศก็มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า 

 

 

“อย่างที่สอง คณาจารย์เรา Student-Centered Mindset จริงๆ คือมีเด็กอยู่ในหัวใจ ทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กได้ในสิ่งที่เด็กควรได้

“อย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เราต้องรีบทำการเรียนออนไลน์ อาจารย์ก็ขวนขวายที่จะทำให้การเรียนการสอนได้เร็วและมีคุณภาพที่สุด

 

“การที่อาจารย์ปฏิบัติกับนักศึกษาเหมือนเป็นครอบครัว เป็นลูกเป็นหลาน ไม่มีกำแพงกั้น ซึ่งเป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้บรรยากาศเราเป็นสังคมที่กล้าแสดงความคิด กล้าแสดงมุมมองต่างๆ โดยที่เราไม่ได้ปิดกั้นว่านักเรียนไม่มีสิทธิ์เถียงอาจารย์ คือถ้าคุณมีไอเดียอะไรเจ๋งๆ คุณแชร์ได้เลย ซึ่งนี่คือรากฐานของสังคมที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ออกมาได้” 

 

 

ก้าวสู่ 35 ปี กับดีเอ็นเอที่ส่งต่อสู่สังคม
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล คือวิทยาลัยนานาชาติของรัฐแห่งแรกในประเทศไทย

วันนี้มหิดลอินเตอร์ผ่านมาแล้ว 34 ปี ด้วย 16 หลักสูตร ผลิตบัณฑิตมากกว่า 8,800 คน เป็นวิทยาลัยนานาชาติชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับระดับสากล เชื่อว่าถ้าใครอยากเรียนหลักสูตรนานาชาติ ต้องมีมหิดลอินเตอร์ติด Top 3 แน่นอน

หลายคนทราบอยู่แล้วว่าที่ ‘มหิดลอินเตอร์’ มีศิษย์เก่าที่เราคุ้นชื่อกันดีในปัจจุบัน เฌอปราง อารีย์กุล BNK48 สาขาวิชาเคมี, นาย-ณภัทร เสียงสมบุญ สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์, ภูมิ-วิภูริศ ศิริทิพย์ สาขาวิชาการผลิตภาพยนตร์ หรืออย่าง เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ จากสาขาบริหารธุรกิจ ตลอดจนอีกหลายคนที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนหลายภาคส่วนของประเทศไทย ครอบคลุมตั้งแต่วงการแพทย์ วงการการศึกษา อุตสาหกรรมธุรกิจ อุตสาหกรรมโรงแรม อุตสาหกรรมบันเทิง ฯลฯ

นี่คือภาพปลายน้ำที่คนนอกอย่างเรา ‘เห็นแบบผ่านๆ’

ซึ่งการมาพูดคุยกับผู้บริหารในวันนี้ไม่เพียงทำให้เรารู้จักดีเอ็นเอของที่นี่มากขึ้น แต่คุณหมอยังฉายภาพให้เห็นถึงอนาคตแวดวงการศึกษาไทยที่ควรจะต้องเป็น กับบริบทความท้าทายเมื่อเข้าสู่ปีที่ 35 ของมหิดลอินเตอร์ ท่ามกลางการ Disruption ของสังคมและเศรษฐกิจทั้งองคาพยพ

“ความสวยงามบนโลกใบนี้คือการที่คนเรามีความคิดที่แตกต่าง บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายของ Liberal Arts Education ที่แท้จริง แต่เราเชื่อว่าเมื่อเขาได้อยู่ในบรรยากาศที่นี่ เมื่อเขาได้ซึมซับคุณค่าที่เราสอดแทรกไปทั้งในหลักสูตรทฤษฎีและกรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง เขาจะค่อยๆ มองเห็นแก่นแท้ของการใช้ชีวิต มองเห็นความสุขที่เราได้ใช้ชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวเราเมื่อได้มีโอกาสสร้างคุณค่าให้แก่สังคม” นี่คือประโยคสุดท้าย แต่เป็นประโยคที่สำคัญที่สุดที่ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติบอกก่อนจบการสนทนา 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising