×

ก้าวแรกสู่อวกาศ เมื่ออุปกรณ์และงานวิจัยของไทยถูกลำเลียงพร้อมจรวด New Shepard ของ Blue Origin

23.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • พุธที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา หน่วยงานจากไทย นำโดย mu Space ได้นำส่งสัมภาระประกอบด้วยอุปกรณ์และงานวิจัยต่างๆ ขึ้นไปกับจรวด New Shepard ของบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ Blue Origin
  • อุปกรณ์และงานวิจัยที่ว่าประกอบด้วยอุปกรณ์ห้ามเลือดจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, Carbon Nanotube, อาหารในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ, ผ้าสำหรับทดลองพัฒนาและผลิตเป็นชุดอวกาศ
  • เจมส์-วรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด บอกว่าการส่งสัมภาระในครั้งนี้ระหว่าง Blue Origin และบริษัทของตนเป็นการร่วมมือกันครั้งแรก ซึ่งในอนาคตจะช่วยให้ประเทศในแถบเอเชียเป็นฐานตั้งมั่นปล่อยจรวด รวมถึงช่วยพัฒนาโครงการต่างๆ ทางอวกาศของบริษัท

กลางสัปดาห์ที่แล้ว เราได้เห็นข่าวบริษัทจากไทยส่งสัมภาระและอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นไปกับจรวด New Shepard ของบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ Blue Origin ซึ่งก่อตั้งโดย เจฟฟ์ เบโซส์ (ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งอีคอมเมิร์ซ Amazon)

 

mu Space คือผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมจากไทยที่ได้ร่วมส่งอุปกรณ์บรรจุสิ่งของต่างๆ หรือ Payload ขึ้นไปกับจรวดของ Blue Origin ลำดังกล่าวที่ปฏิบัติภารกิจขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันพุธที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา

 

อุปกรณ์ที่ว่ามีน้ำหนักสัมภาระรวมราว 6 กิโลกรัม ประกอบไปด้วยสิ่งของทดลองทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานด้านอวกาศของประเทศไทย ได้แก่

 

 

  1. อุปกรณ์ห้ามเลือด จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ที่ได้ส่งอุปกรณ์ซึ่งพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ป้องกันกรณีเลือดออกรุนแรง โดยทางสถาบันต้องการทดสอบคุณภาพหลังจากที่อุปกรณ์นี้เจอกับสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Microgravity) ในอวกาศแล้ว

 

 

  1. Carbon Nanotube จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องการศึกษาว่าอวกาศจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อสภาพโครงสร้างและคุณลักษณะทางไฟฟ้าของ Carbon Nanotube ซึ่งเป็นวัตถุที่ถือว่ามีความแข็งแรงกว่าเหล็กถึง 100 เท่า 
  2. อาหารที่อยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ วัตถุประสงค์ของการทดลองคือเพื่อให้รู้ว่าสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำจะส่งผลกระทบต่อกลิ่น รสชาติ และเนื้อของอาหารอย่างไรบ้าง โดยทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านอวกาศของประเทศไทยจะใช้การทดลองนี้เพื่อพัฒนาเทคนิคการจัดทำอาหารสำหรับไว้ใช้บริโภคในอวกาศ

 

 

  1. ผ้าสำหรับทดลองพัฒนาและผลิตเป็นชุดอวกาศ mu Space ได้ส่งวัสดุผ้าสำหรับทดลองพัฒนาและผลิตเป็นชุดอวกาศ เครื่องแต่งกายต่างๆ รวมถึงส่งเสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ระหว่างคนไทยและมหกรรมฟุตบอลโลก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลและโค้ช 13 ชีวิตจากถ้ำหลวง

 

 

  1. สิ่งของอื่นๆ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)  

 

จะเห็นได้ว่าสิ่งของต่างๆ ที่ถูกส่งขึ้นไปกับ New Shepard ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์และงานวิจัยเพื่อหาค้นหาคำตอบของเป้าหมายในภารกิจครั้งนี้ เราได้พูดคุยกับ เจมส์-วรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อไขข้อสงสัยของเป้าหมาย ที่มาที่ไป และแผนการในอนาคตทั้งหมด

 

สาเหตุที่ Blue Origin เลือกทำงานร่วมกันกับ mu Space ก็เพราะบริษัทจากไทยรายนี้ถือเป็นบริษัทดาวเทียมเจ้าแรกในเอเชียที่เซ็นสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรกับพวกเขา และถือเป็นพันธมิตรรายที่ 3 ของโลก (อ่านบทความต่อได้ที่ thestandard.co/muspace/)

 

วรายุทธบอกว่าการทดสอบลำเลียงสัมภาระขึ้นไปบนอวกาศและนำกลับลงมาสู่พื้นโลกในครั้งนี้นับเป็นการทดสอบครั้งแรกดำเนินไปเพื่อสองภารกิจหลัก ประการแรกคือ mu Space ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชุดอวกาศและเซนเซอร์สำหรับใช้ในอวกาศในอนาคต

 

“นี่เป็นขั้นแรกก่อนที่เราจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องแต่งกายอัจฉริยะ (Smart Apparel) ออกมาสำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน มีเซนเซอร์วัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ที่สวมใส่หรือไลฟ์สไตล์ มีทั้งหมด 7 เวอร์ชันด้วยกัน ซึ่งชุดอวกาศจะถูกปล่อยออกมาในเจเนอเรชันที่ 4 ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการปล่อยชุดอวกาศออกมาเลยมันอาจจะเป็นการก้าวกระโดดเกินไป ในขณะเดียวกันฝั่งธุรกิจก็จะต้องสอดรับกับสิ่งที่เราทำด้วย”

 

ส่วนภารกิจที่สองคือการดำเนินตามโรดแมปภารกิจที่ 10 ของ mu Space ในการเดินทางและส่งสัมภาระไปยังดวงจันทร์ โดยเปิดให้มหาวิทยาลัยหรือทีมบุคคลทั่วไปได้ร่วมกันประกวดส่งสัมภาระขนาด 40,000 กิโลกรัม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคการศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศ

 

ภารกิจการส่งสัมภาระขนาด 6 กิโลกรัมของ mu Space ในครั้งนี้กับ Blue Origin ถือเป็นครั้งแรก โดยอุปกรณ์ทั้งหมดได้ถูกส่งขึ้นไปยังอวกาศก่อนนำกลับลงมายังภาคพื้นดินอย่างปลอดภัยผ่านแคปซูลของตัว New Shepard เพื่อศึกษาว่าในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสิ่งต่างๆ อย่างไร และวรายุทธก็เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเปิดประตูไปสู่การที่ Blue Origin อาจจะมองหาทำเลของประเทศในแถบเอเชียเป็นหนึ่งในฐานปล่อยจรวดในอนาคตมากขึ้น

 

“ในอนาคตอาจจะมี Launch Pad ในเอเชียค่อยๆ ถูกพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เราอาจจะได้เห็นการปล่อยจรวดจากประเทศในฝั่งเอเชียมากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลาอยู่เหมือนกัน แน่นอนว่าประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์จากการที่ mu Space ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในด้านนี้มาก

 

“เราจะเริ่มทรานสฟอร์มตัวเองออกมาเป็น site based ของเอเชียและสหรัฐอเมริกาทั้งในแง่ของการทำโปรแกรมท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ หรือวิสัยทัศน์ของเรากับการปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์”

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising