×

โฆษกฯ ก้าวไกล เผยพร้อมหนุนแก้ กม.ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอประชาชนช่วยส่งเสียง ดันร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ให้สำเร็จ

โดย THE STANDARD TEAM
17.03.2022
  • LOADING...
สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา

วันนี้ (17 มีนาคม) สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา สมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนครปฐม ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องกับเพจแฟนคลับศิลปินกลุ่มหนึ่ง เข้าชี้แจงกรณีโพสต์ภาพศิลปินถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า การที่บรรดาแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าร่วมงานกับดารา ไอดอล เซเลบริตี้ แบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ 

 

แต่สำหรับในประเทศไทย มีมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จึงเป็นเหตุทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อในการบังคับใช้ และการใช้ดุลพินิจตามกฎหมาย ที่ผ่านมาจึงทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้จำนวนมาก หลายคนมองว่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้คือการลดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิดผลจริง จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายบนโลกโซเชียล 

 

สุทธวรรณกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้มีภาคประชาชนหลายกลุ่มเห็นว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีจุดที่ต้องแก้ไข อย่างในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น หากมองในเจตนาของเพจ การโพสต์ภาพดังกล่าว ผู้เป็นเจ้าของเพจไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นเพียงการรายงานความเคลื่อนไหวของศิลปินให้รับทราบเท่านั้น สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในเพจที่ผ่านมา การโพสต์ถึงศิลปินที่ได้รับเลือกเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ของแบรนด์ดังระดับโลก ไม่ต่างอะไรกับแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ ที่ศิลปินสามารถสร้างมูลค่าให้แก่แบรนด์นั้นๆ ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของชั้นเชิงการตลาด 

 

แต่อยากเสริมเพิ่มเติมว่า คงจะดีกว่านี้ ถ้าศิลปินมีโอกาสได้โพสต์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ผลิตเหล้าหรือเบียร์จากผู้ผลิตไทยดีๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การเกษตร การท่องเที่ยวไทยมากกว่า เช่น ลูกชิ้นยืนกิน กินกับเหล้าอะไรในบุรีรัมย์ดีที่สุด เป็นต้น ตนคิดว่ามุมแบบนี้ย่อมมีประโยชน์กว่าเรียกคนมาปรับแพงๆ จนกลายเป็นการทำลายศักยภาพจากทรัพยากรที่เรามีไปไม่ว่าคนหรือวัตถุดิบ

 

“สิ่งสำคัญที่ควรแก้ไข จึงควรเป็นเนื้อหาใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ที่ว่าด้วยเนื้อหาหลักคือห้ามโฆษณา เห็นได้ชัดว่ากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย ทำให้ผู้ผลิตรายย่อย หรือผู้ผลิตหน้าใหม่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ หลายคนยังได้รับผลกระทบเพราะไม่มีช่องทางทำมาหากิน โดยเฉพาะช่วงโควิด ที่ร้านก็ปิด ขายออนไลน์ก็ไม่ได้ คนที่ได้จึงมีแต่รายใหญ่ เพราะดูจากค่าปรับแล้ว เขาเอารวมในงบโฆษณาก็ได้ ขายในร้านสะดวกซื้อก็ได้ ไม่สะเทือนอะไร ขนหน้าแข้งไม่ร่วง ยอดขายก็ยังพุ่งไม่ต่างจากปกติ แต่คนที่เสียประโยชน์อย่างมหาศาลตัวจริงคือประชาชนและเศรษฐกิจไทย เพราะมีแต่ปรับกับเจ๊ง”สุทธวรรณกล่าว

 

สุทธวรรณยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า คงไม่มีใครอยากสนับสนุนให้คนดื่มจนเสียสุขภาพหรือขาดสติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนทำให้เรื่องอื่นๆ เสียหายหมด ผู้เกี่ยวข้องคงต้องมาพิจารณาว่าจะต้องรณรงค์ทางอื่นอย่างไร คนจะเลิกดื่มที่ไม่ใช่เพียงการห้ามโฆษณา พรรคก้าวไกลจึงจะสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง 2 ฉบับจากภาคประชาชน ส่วนรายละเอียดการแก้ไขจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้งเมื่อกฎหมายเข้าสู่สภา ส่วนอีกหนึ่งร่างกฎหมายที่ยังอยากให้ติดตามกันต่อคือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือร่างสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล ที่จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมสภาข้างหน้านี้ จึงอยากฝากให้ประชาชนช่วยกันกดดันไปยัง ส.ส. ของท่านในพื้นที่ ให้รับหลักการร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการพิจารณาครั้งนี้ด้วย 

 

“การปลดล็อกการผลิตสุราเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยมีอิสระในการผลิต ไม่โดนจำกัดด้วยแรงม้าและกำลังคน หรือสร้างเงื่อนไขยากๆ ด้วยจำนวนการผลิตมากๆ ที่มีแต่ทุนใหญ่เท่านั้นจะทำได้ หากทำสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาการผูกขาดของสังคมไทย และเกษตรกรก็สามารถนำพืชผลการเกษตรมาแปรรูปได้ อย่างในจังหวัดนครปฐมที่ตัวเองอาศัยอยู่ หรือในจังหวัดสุพรรณบุรี บ้านเกิดของครอบครัว มีพันธุ์ข้าวดีๆ มากมายที่เหมาะจะนำมาทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แต่ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ หรือแม้กระทั่งจะมีนักแสดงมาช่วยประชาสัมพันธ์เพิ่มศักยภาพให้ท้องถิ่นก็ทำไม่ได้เช่นกัน ดังกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมาย พรรคก้าวไกลจะร่วมกันผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน หรือสร้างความลำบากเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและพี่น้องประชาชนต่อไป” สุทธวรรณกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising