คำว่า ‘แรงขับเคลื่อน’ ในที่นี้มาจาก Motivation ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต
ที่จริงแล้วพูดได้ถึงขั้นที่ว่าแรงขับเคลื่อนคือ ‘เหตุผล’ ที่เราทำอะไรบางอย่างด้วยซ้ำ มันทำให้เราเกิดความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเดินไปสู่เป้าหมาย แรงขับเคลื่อนไม่ได้แค่ ‘ผลักดัน’ ให้เราทำสิ่งต่างๆ เท่านั้นนะครับ แต่มันยังทำให้เราเกิดความพึงพอใจในอันที่จะทำด้วย แล้วเมื่อทำเสร็จแล้วได้ผลลุล่วงอย่างที่ตั้งเป้าไว้ก็จะเกิดความพึงพอใจอีกชั้นหนึ่ง
พูดง่ายๆ ก็คือถ้าเรามี Motivation ในการทำอะไรสักอย่าง เราจะพึงพอใจหรือ ‘สนุก’ กับมันทั้งในระดับของ ‘วิธีการ’ หรือ ‘การลงมือทำ’ และ ‘เป้าหมาย’ หรือ ‘ผลลัพธ์สุดท้าย’ เลย
แรงขับเคลื่อนจึงไม่เหมือนการถูกบังคับให้ทำ ซึ่งเราอาจไม่สนุกหรือไม่พึงพอใจกับตอนต้องลงมือทำ และแม้ผลลัพธ์สุดท้ายอาจไม่ได้ออกมาดังใจหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าแรงขับเคลื่อนนั้นแรงมากพอจะทำให้เราได้ทำอะไรบางอย่างอย่าง ‘เต็มที่’ โดยมากเราจะรู้สึกว่าการได้ลงมือทำถือเป็นรางวัลในตัวของมันเองแล้ว และเมื่อเรารู้สึกว่าได้รับรางวัลจากการทำสิ่งนั้นๆ ก็จะผลักให้เราอยากทำสิ่งนั้นต่อไปอีก ดังนั้นถ้าเรามีแรงขับเคลื่อนที่แรงพอ ในที่สุดเราก็จะได้รับผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ไม่มากก็น้อย
แรงขับเคลื่อนหรือ Motivation จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อทั้งคนที่จะเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เช่น เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ และจำเป็นต่อคนที่จะเป็นนายตัวเอง เช่น คนที่ทำงานแบบฟรีแลนซ์ เพราะมันจะทำให้เราทำเรื่องต่างๆ ได้ตลอดเวลาอย่างมีพลัง ไม่ซึมเซา หมองหม่น หรือจมอยู่กับความเพ้อฝันโดยไม่ได้ลงมือทำ
หลายคนอาจคิดว่าแรงขับเคลื่อนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวคน ใครมีพลังแบบนี้ก็จะมีตลอดไป ใครไม่มีก็ไม่มีเลย แต่ที่จริงแล้วแรงขับเคลื่อนเป็นเรื่องที่ ‘ฝึก’ กันได้ และเราจำเป็นต้อง ‘เทรน’ สมองของเราอยู่เสมอด้วย เพื่อให้เรา ‘มาสเตอร์’ กับแรงขับเคลื่อนในตัวและทำให้แรงขับเคลื่อนนั้นยั่งยืน
คำถามก็คือ…แล้วจะทำอย่างไรดี?
ในทางชีววิทยา แรงขับเคลื่อนไม่ใช่สิ่งที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ แต่มันคือสารเคมีในสมองของเรานี่ล่ะครับ และสารเคมีสำคัญที่สุดที่หลายคนคงรู้จักดีก็คือโดพามีน (Dopamine)
เรามักคิดกันว่าโดพามีนเป็นสารแห่งความสุขที่จะหลั่งออกมาเวลาที่เราทำอะไรสำเร็จหรือเจอหน้าคนที่รัก คล้ายๆ กับเป็นสารเคมีที่ ‘ให้รางวัล’ กับเรา แต่ที่จริงแล้วโดพามีนมีการทำงานที่กว้างกว่านั้น
นักวิทยาศาสตร์พบว่าโดพามีนหลั่งออกมาในหลายสถานการณ์ด้วย เช่น เวลาที่เราเครียด เวลาที่เจ็บปวด เวลาที่เราสูญเสีย (และแน่นอน เวลาที่เรามีความสุข) ที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์ยังพบด้วยว่าโดพามีนสามารถหลั่งออกมา ‘ก่อน’ ที่เราจะได้รับ ‘รางวัล’ ต่างๆ เสียอีก คือไม่ต้องรอให้บรรลุถึงผลลัพธ์ปลายทางเสียก่อน โดพามีนก็หลั่งได้เหมือนกัน นั่นแปลว่าโดพามีนเกี่ยวข้องกับ ‘แรงขับเคลื่อน’ ที่จะทำสิ่งต่างๆ อย่างแข็งแรงและลึกซึ้ง
นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมที่ศึกษาหนูลึกลงไปถึงระบบประสาทอย่าง จอห์น ซาลาโมน (John Salamone) แห่งมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต ถึงขั้นสรุปเอาไว้อย่างค่อนข้าง ‘ฟันธง’ ด้วยซ้ำว่าโดพามีนนั้นน่าจะเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับแรงขับเคลื่อนหรือ Motivation มากเสียยิ่งกว่าความสุขหรือ Pleasure เสียอีก
เขาพบว่าระดับโดพามีนในสัตว์จะพุ่งสูงขึ้นหลังเกิดความเครียด เช่น ต่อสู้กับตัวอื่นแล้วแพ้ หรือทหารที่มีความเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (เช่น ไปออกรบ) ก็จะมีกิจกรรมในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับโดพามีนสูงขึ้นหากได้ยินเสียงปืนหรือเสียงการสู้รบ เพราะฉะนั้นโดพามีนจึงไม่ได้เป็นแค่สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสุขเฉยๆ
เขายังพบด้วยว่าในสัตว์ที่มีระดับโดพามีนต่ำมักจะเป็นสัตว์ที่เลือกทำสิ่งที่ง่ายๆ และให้รางวัลตอบแทนที่มีมูลค่าต่ำ ในขณะที่สัตว์ที่มีระดับโดพามีนปกติจะอยาก ‘ลงทุนลงแรง’ ทำอะไรบางอย่างมากกว่า เช่น ปีนรั้วข้ามไปเพื่อให้ได้อาหารที่มีพลังงานสูงกว่า
ซาลาโมนยังบอกด้วยว่าเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากพบหน้าเพื่อนฝูง ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะขาด ‘แรงขับเคลื่อน’ ในตัวนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ไมเคิล เทรดเวย์ (Michael Treadway) และเดวิด ซาลด์ (David Zald) ได้ศึกษาและเขียนรายงานไว้ในวารสาร Neuroscience ว่าโดพามีนนั้นถึงขั้นมีผลอย่างมากต่อ ‘ความตั้งใจทำงาน’ (Willingness to Work) ของมนุษย์กันเลยทีเดียว
เขาทดลองด้วยการใช้เทคโนโลยีทำแผนที่ในสมองของคนสองประเภท (ซึ่งก็มีรายละเอียดในการแบ่งคนสองประเภทนี้อยู่นะครับ ลองอ่านในรายละเอียดดู) คือกลุ่มคนที่ ‘มุ่งมั่น’ (เขาใช้คำว่า Go-Getters หมายถึงมุ่งมั่นฟันฝ่าจะลงมือทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้รับผลที่ต้องการ) กับอีกกลุ่มคือคน ‘ขี้เกียจ’ (เขาใช้คำตรงๆ ว่า Slackers)
พบว่ากลุ่มคน ‘มุ่งมั่น’ นั้นมีระดับโดพามีนในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องรางวัลและส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงขับเคลื่อน (ซึ่งก็คือ Corpus Striatum กับ Ventromedial Prefrontal Cortex) ในขณะที่คนกลุ่ม ‘ขี้เกียจ’ จะมีระดับโดพามีนสูงในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และการประเมินความเสี่ยงคือ Anterior Insula
ผลที่ได้ทำให้เห็นว่าคนที่มีพฤติกรรมต่างกันมีการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองแตกต่างกัน แต่ต้องย้ำไว้ตรงนี้ด้วยนะครับว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ได้บอกว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล เช่น โดพามีนทำให้เรามีแรงขับเคลื่อนมาก หรือว่าเพราะเรามีแรงขับเคลื่อนมากจึงทำให้เกิดการหลั่งโดพามีนมาก เพียงแต่พบว่าสองเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยนักวิทยาศาสตร์ยังต้องศึกษาต่อไปว่ามีกลไกการทำงานอย่างไร ซึ่งก็อาจทำให้เราสามารถช่วยผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีพลังหรือมีอาการซึมเศร้าได้
ยังมีการศึกษาที่น่าสนใจมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งศึกษาเรื่องของ ‘ความตั้งใจจริง’ หรือ Willpower (หรือจะเรียกให้ขลังๆ หน่อยก็ได้ว่า ‘จิตตานุภาพ’) การศึกษานี้พบว่าตัว Willpower ของมนุษย์นั้นมีอยู่จำกัด คือถ้าเราตั้งใจสู้ ฮึบทำงานอะไรก็แล้วแต่ ผ่านไประยะหนึ่งมันก็จะค่อยๆ อ่อนแรงลง โดยเขาไปศึกษาในผู้พิพากษา (ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มคนที่มี Willpower แรงกล้าที่สุด) เขาบอกว่าผู้พิพากษาที่ต้องตัดสินคดีความนั้น พอเวลาผ่านไปก็แสดงให้เห็นถึงภาวะ Willpower Fatigue อยู่เหมือนกัน
ดังนั้นแรงขับเคลื่อนหรือ Motivation จึงมีสองลักษณะที่สำคัญ อย่างแรกก็คือเราต้อง ‘ฝึก’ เพื่อให้มันเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้อง ‘ฝึก’ เพื่อจะทำให้มันดำรงอยู่ต่อไป ไม่อ่อนล้าง่ายๆ ด้วย ซึ่งวิธีการฝึกนั้นมีหลากหลาย
นักจิตวิทยาบอกว่าส่วนใหญ่แล้วเรามักจะไม่มีแรงขับเคลื่อนด้วยเหตุผล 3 อย่าง คือรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ รู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ค่อยถูกต้องกับตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะทำ ดังนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ค่อยๆ ฝึกไป เช่น ต้องเลือกสิ่งที่จะทำด้วยตัวเอง (หรือถ้าเลือกไม่ได้ก็ต้องสร้างความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้เลือกทำสิ่งนั้นขึ้นมาเอง), ปรับเปลี่ยนความรู้สึกของตัวเองหรือปรับเปลี่ยนตัวงานที่ต้องทำให้ถูกต้องเหมาะสมกับตัวเอง และประเมินความสามารถของตัวเองให้ถ่องแท้ว่าทำได้หรือไม่ได้ รวมทั้งระลึกไว้ด้วยว่าการฝึกทำจะทำให้เราทำได้ในที่สุด
ส่วนการรักษาแรงขับเคลื่อนเอาไว้ไม่ให้อ่อนล้าง่ายๆ ก็มีวิธีอยู่หลายอย่างเช่นกัน เช่น พัฒนากิจวัตรที่แข็งแกร่งให้เป็นไปตามตาราง การปล่อยตัวไปเรื่อยๆ จะทำให้เราไหลเรื่อยเฉื่อยแฉะ, การเลือกจัดการกับงานที่มีลำดับความสำคัญสูงกว่า รวมทั้งปฏิเสธสิ่งที่ไม่จำเป็นให้เป็น ต้องพูดคำว่า ‘ไม่’ ให้ได้ เพื่อมุ่งมั่นทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกให้สำเร็จ
แรงขับเคลื่อนเป็นสิ่งจำเป็นต่อทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต ข่าวดีก็คือแรงขับเคลื่อนไม่ใช่สิ่งที่ตกลงมาจากฟากฟ้า แต่สามารถฝึกได้ด้วยการ rewire สมองของเราเสียใหม่
การมีแรงขับเคลื่อนไม่ได้แปลว่าชีวิตของเราจะง่ายขึ้น แต่น่าจะทำให้เราสนุกและพึงพอใจกับงานและชีวิตได้มากขึ้น
ซึ่งนั่นเป็นเรื่องสำคัญ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์