×

ผลกระทบจากเคสหุ้น MORE? แรงเก็งกำไร Warrant พุ่งกระฉูด IP-W1 บวก 611% ภายใน 2 วัน

18.11.2022
  • LOADING...
MORE

แม้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะซึมลงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่แรงเก็งกำไรในใบสำคัญแสดงสิทธิในการจะซื้อหุ้นสามัญ หรือวอแรนต์ (Warrant) กลับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากช่วงก่อนหน้านี้ 

 

โดยเฉพาะ Warrant ของ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) อย่าง IP-W1 ที่ราคาซื้อขายพุ่งขึ้นจากราคาปิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ 0.59 บาท ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 4.2 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 611% ภายใน 2 วันทำการ พร้อมด้วยปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับปกติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง​:


ในขณะที่ Warrant อื่นๆ ก็มีแรงเก็งกำไรเข้ามาเช่นกัน เช่น SAAM-W2 +222%, NDR-W2 +85%, LEO-W1 +70%, SA-W1 +65% 

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่แรงเก็งกำไรใน Warrant ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นผลจากการที่หุ้นขนาดเล็กเก็งกำไรได้ยากขึ้น และถูกคุมเข้มเกี่ยวกับการปล่อยมาร์จิ้นมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีของหุ้น MORE ทำให้นักลงทุนและนักเก็งกำไรในตลาดหันมาเก็งกำไรใน Warrant แทนที่ 

 

“แต่การเก็งกำไรใน Warrant ต้องระมัดระวังอย่างมาก และอาจเป็นอะไรที่น่ากลัวกว่าการใช้มาร์จิ้น”

 

ต้องเข้าใจก่อนว่า Warrant เป็นตราสารที่มีอายุจำกัด ขณะที่มูลค่าของ Warrant จะอิงกับ ‘หุ้นแม่’ หรือหุ้นที่ Warrant อ้างอิงอยู่ด้วย หากแรงเก็งกำไรใน Warrant ไม่ได้สอดคล้องกับราคาพื้นฐาน และปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ นักลงทุนควรจะยิ่งระมัดระวังมากขึ้น 

 

“อย่างน้อยที่สุด หากจะเก็งกำไรใน warrant นักลงทุนควรจะคำนวณราคา Warrant รวมกับราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ หากออกมาสูงกว่าราคาหุ้นแม่เกินกว่า 10% ขึ้นไป จะอันตรายมาก เพราะจะทำให้เราขาดทุนหลังการใช้สิทธิ” 

 

นอกจากนี้ นักลงทุนควรจะดูข้อมูลวันหมดอายุด้วยเช่นกัน และต้องรู้ว่า Warrant แต่ละตัวจะถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ก่อนวันหมดอายุ 1 เดือน หมายความว่า นักลงทุนที่ถือ Warrant จะไม่สามารถซื้อขายได้หลังจากขึ้น SP แล้ว หากนักลงทุนไม่ได้สำรองเงินไว้เพื่อใช้สิทธิแปลง เท่ากับว่าเงินที่ใช้ลงทุนใน Warrant นั้นๆ จะกลายเป็นศูนย์ในท้ายที่สุด 

 

ด้าน สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังจากเกิดกรณีหุ้น MORE ทำให้หุ้นขนาดเล็กถูกคุมเข้มมากขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาปล่อยมาร์จิ้น 

 

โดยปกติแล้วแต่ละบริษัทหลักทรัพย์จะเลือกปล่อยมาร์จิ้นให้กับหุ้นแต่ละตัวแตกต่างกัน และอาจจะมีหุ้นบางตัวที่จะไม่ปล่อยมาร์จิ้นให้เลย ส่วนระดับในการปล่อยมาร์จิ้นก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละบริษัทจะแบ่งเกรดหุ้น A-D ที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งหุ้นเกรด A จะปล่อยมาร์จิ้น 50% ส่วนเกรด D จะปล่อยแค่ 20% 

 

หลังจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคุมเข้มอย่างแน่นอน เราอาจเห็นการทำ Public Hearing ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า เพื่อสำรวจความเห็นว่าเกี่ยวกับการออกเกณฑ์เพื่อคุมเข้มมากขึ้น เช่น การพิจารณาเปอร์เซ็นต์ต่อฟรีโฟลต หรือการคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน เพื่อประกอบการปล่อยมาร์จิ้นให้กับหุ้นขนาดเล็ก” 

 

หากมีการปรับเกณฑ์คุมเข้มมากขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อนักลงทุนบางส่วน โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศ และนักลงทุนรายย่อยบางส่วน ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่ใช้มาร์จิ้นในการซื้อขายสูง ขณะเดียวกันปริมาณการซื้อขายของหุ้นกลุ่มเล็กอาจจะชะลอลง ความผันผวนก็อาจจะลดลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าตลาดหลักทรัพย์จะตัดสินใจอย่างไรหลังจากนี้ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising