×

ทำความเข้าใจเกม หุ้น MORE ทิ้งคำถามถึงช่องโหว่ของวงการหุ้นไทย

14.11.2022
  • LOADING...
หุ้น MORE

ประเด็นร้อนที่สุดของแวดวงตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อน คงจะหนีไม่พ้นกรณีของ บมจ.มอร์รีเทิร์น หรือ MORE ซึ่งถูกถล่มขายจนราคาหุ้นรูดติดฟลอร์ (Floor) ถึง 2 วันติดต่อกัน 

 

กรณีของหุ้น MORE ไม่ใช่แค่เรื่องของราคาที่ดิ่งลงอย่างหนักภายในเวลาอันสั้น แต่เป็นการทิ้งเครื่องหมายคำถามอันใหญ่ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าจะรับมือและวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในลักษณะนี้ขึ้นมาอีกได้อย่างไร 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง​:


ก่อนที่จะลงรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุและผลลัพธ์ของกรณีที่เกิดขึ้น อยากจะพาไปทำความรู้จักที่มาที่ไปของหุ้น MORE กันก่อน 

 

จากหุ้น DNA สู่ชื่อใหม่ว่า MORE 

หากดูข้อมูลจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเห็นว่า MORE จดทะเบียนเข้ามาเป็นหุ้นในตลาดตั้งแต่ปี 2555 แต่ก่อนหน้านี้มีชื่อว่า บมจ.ดีเอ็นเอ 2002 หรือ DNA ก่อนที่คณะกรรมการของบริษัทในเวลานั้นจะลงมติให้เปลี่ยนชื่อหุ้นจาก DNA มาเป็น MORE ในเดือนพฤศจิกายน 2561 

 

ไม่เพียงแค่เปลี่ยนชื่อ แต่บริษัทยังได้รื้อโครงสร้างธุรกิจ จากเดิมที่เป็นผู้จัดจำหน่าย DVD กลายเป็นธุรกิจบริหารจัดการน้ำ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพลังงาน รวมถึงความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ระหว่างทาง เช่น ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสมุนไพร ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เป็นต้น 

 

ขณะเดียวกันโครงสร้างผู้ถือใหญ่ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากเดิมที่มี สามารถ ฉั่วศิริพัฒนา ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 21.28% เมื่อปี 2560 กลายมาเป็น อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ที่ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 แทนที่ ด้วยสัดส่วน 23.08% ณ เดือนมีนาคม 2563 

 

ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจาก DNA มาสู่ MORE ตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงกลางปี 2563 ราคาหุ้น MORE วิ่งอยู่ในกรอบประมาณ 0.15-0.4 บาท ก่อนที่ราคาหุ้นจะวิ่งเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาแตะจุดสูงสุดที่ 2.98 บาท เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่า (Market Cap.) ของหุ้น MORE พุ่งขึ้นจากราว 2 พันล้านบาท ไปสู่ระดับ 2 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 ปี

 

ราคาดิ่ง 2 ฟลอร์ ใน 2 วัน 

ขาขึ้นของราคาหุ้นที่ดำเนินมาตลอด 2 ปี ดูเหมือนจะจบลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่ 2 วัน หลังจากที่ราคาหุ้น MORE เปิดกระโดดขึ้นไปที่ 2.9 บาท ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมหาศาลถึง 1.53 พันล้านหุ้น เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน แต่หลังจากนั้นกลับมีแรงเทขายออกมาอย่างหนัก กดให้ราคาหุ้นลงไปกองอยู่ที่ 1.95 บาท และตามมาด้วยแรงขายอีก 54.9 ล้านหุ้น ในช่วงเปิดตลาดวันถัดมา ทำให้ราคาหุ้นดิ่งไปอยู่ที่ 1.37 บาท 

 

คำถามสำคัญที่ตามมาหลังจากเกิดแรงเทขายอย่างหนักคือ ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังแรงขายที่มากผิดปกตินี้ ขณะเดียวกันแรงซื้อในช่วงราคาเปิด (ATO) จำนวนกว่า 1.5 พันล้านหุ้นมาจากใคร

 

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการจากบริษัทหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ในสื่อสังคมออนไลน์มีการพูดถึงชื่อของ อภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ ปิงปอง ในฐานะผู้ที่วางซื้อราคาเปิดด้วยจำนวน 1.5 พันล้านหุ้น ส่วนผู้ที่เทขายหุ้นออกมานั้นยังไม่ได้มีการเปิดเผยชื่ออย่างเป็นทางการเช่นกัน 

 

‘เกมหุ้น MORE’ กับความเสียหายที่โบรกเกอร์อาจต้องรับไว้

โดยปกติแล้วบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ ในฐานะนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ มักจะไม่ต้องเผชิญกับความเสียหายใดๆ จากการที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นหรือลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการชำระเงินของลูกค้าไม่ได้มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น 

 

แต่สำหรับกรณีของหุ้น MORE ครั้งนี้ โบรกเกอร์กว่า 10 รายเกิดความกังวลขึ้นมาว่า ลูกค้าที่วางซื้อหุ้น MORE คิดเป็นมูลค่าเกือบ 4.5 พันล้านบาท อาจจะไม่สามารถชำระราคาค่าซื้อหุ้นได้อย่างที่ควรจะเป็น 

 

ข้อมูลจากแหล่งข่าวโบรกเกอร์เปิดเผยว่า บัญชีที่ลูกค้ารายใหญ่ใช้สำหรับซื้อหุ้น MORE ในครั้งนี้คือบัญชีที่เรียกว่า Cash Account ซึ่งเป็นบัญชีที่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ นิยามไว้ว่า ‘ลงทุนก่อน จ่ายทีหลัง’ โดยโบรกเกอร์จะตัดเงินค่าซื้อหุ้นจากบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวมของลูกค้าในวันทำการที่สอง จากวันที่สั่งซื้อหุ้น (T+2)

 

สำหรับวงเงินที่ให้กับลูกค้าจะพิจารณาตามฐานะทางการเงิน หลักประกัน และความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อได้รับอนุมัติวงเงินแล้ว ลูกค้าจะต้องวางหลักประกัน 15% ของวงเงินดังกล่าวไว้กับโบรกเกอร์ 

 

ซึ่งกรณีนี้ดูเหมือนว่าหลักฐานการเงินส่วนสำคัญที่ถูกนำมาใช้คือหุ้น MORE ที่อยู่ในพอร์ตของลูกค้า หลังจากที่ใช้ประกอบการขอวงเงินแล้ว ก็ถูกกระจายไปวางเป็นหลักประกันไว้ในแต่ละโบรกเกอร์ 

 

ทั้งนี้ การพิจารณาให้วงเงินของแต่ละโบรกเกอร์นั้นไม่เท่ากัน อาจจะเป็น 2-3 เท่า หรือมากกว่า หรือน้อยกว่านั้นก็ขึ้นกับแต่ละบริษัท เช่นเดียวกับการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับหุ้นตัวใดเป็นหลักประกันก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละโบรกเกอร์เช่นกัน 

 

ถามว่าความเสียหายของโบรกเกอร์อยู่ตรงไหนบ้าง? 

 

โดยหลักแล้วคือความเสียหายจากการที่ลูกค้าไม่ชำระเงินค่าซื้อหุ้นตามกำหนด T+2 ซึ่งจะครบกำหนดในวันนี้ (14 พฤศจิกายน 2565) เท่ากับว่าโบรกเกอร์จะต้องนำเงินของบริษัทไปสำรองจ่ายให้กับผู้ขาย ซึ่งมูลค่าในส่วนนี้อาจรวมกันสูงเกือบ 4.5 พันล้านบาท 

 

แม้โบรกเกอร์ที่ได้รับความเสียหายจะพยายามเรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) เข้ามาตรวจสอบและระงับธุรกรรมครั้งนี้ไว้ชั่วคราว แต่ล่าสุด ตลท. ยังคงยืนยันว่า การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ทุกหลักทรัพย์ระหว่างบริษัทสมาชิกและสำนักหักบัญชี ยังคงดำเนินการไปตามปกติ เท่ากับว่าโดยหลักการแล้วโบรกเกอร์แต่ละแห่งจะต้องชำระเงินให้กับลูกค้าที่ขายหุ้น MORE ออกมา แม้ว่าผู้ซื้อจะไม่ชำระเงินค่าซื้อก็ตาม 

 

ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าซื้อ ตามกระบวนแล้วโบรกเกอร์มีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายเป็นคดีแพ่ง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่แต่ละโบรกเกอร์จะได้รับเงินไม่ครอบคลุมเท่ากับที่ต้องเสียไป 

 

นอกจากเงินที่จะต้องจ่ายออกไปแล้ว โบรกเกอร์ยังมีความเสี่ยงจากการที่บริษัทอาจตัดสินใจจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงินให้กับผู้ขายหุ้น ซึ่งแหล่งข่าวโบรกเกอร์เปิดเผยว่า หากบริษัทจ่ายเงินให้กับลูกค้าไปแล้ว ท้ายที่สุดมีการตรวจสอบพบว่าธุรกรรมซื้อขายหุ้น MORE ที่เกิดขึ้นเป็นธุรกรรมที่มีความผิดตามกฎหมายของ ปปง. ก็มีความเสี่ยงที่บริษัทอาจมีความผิดไปด้วย และในทางกลับกัน หากบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าหุ้นที่ลูกค้าขายออกไปแล้ว ลูกค้าก็มีสิทธิในการฟ้องร้องบริษัทเช่นกัน

 

ช่องโหว่ของวงการหุ้นไทย  

แหล่งข่าวโบรกเกอร์เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้โบรกเกอร์แต่ละแห่งมองเห็นรอยรั่วบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของแนวทางในการพิจารณาวงเงินที่ให้กับลูกค้า และการพิจารณาหลักประกันที่นำมาวาง 

 

“การปล่อยวงเงินให้กับลูกค้าของแต่ละโบรกคงจะเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาด้วยว่าหุ้นแต่ละตัวควรที่จะให้วงเงินคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของฟรีโฟลต และในอนาคตเราอาจจะเห็นแต่ละโบรกส่งข้อมูลไปที่หน่วยงานส่วนกลาง” 

 

นอกจากนี้ การให้วงเงินกับหุ้นขนาดเล็กที่ถูกนำมาวางเป็นหลักประกันก็อาจจะลดลง โดยอาจจะลดลงเหลือเพียง 30-40% ของมูลค่าหุ้น อย่างไรก็ตาม ผลที่จะตามมาคือ ความหวือหวาของหุ้นขนาดเล็กก็อาจจะลดลง เพราะโดยปกติแล้วหุ้นขนาดเล็กจะขับเคลื่อนด้วยการใช้มาร์จิ้น

 

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามตามมาคือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแต่ละโบรกเกอร์รุนแรงมากน้อยแค่ไหน และเหตุใดแต่ละบริษัทจึงต้องออกมาขอให้ตลาดหลักทรัพย์ช่วยระงับธุรกรรมชั่วคราว 

 

นอกจากเรื่องของการพิจารณาวงเงินของลูกค้าแต่ละคนแล้ว แต่ละโบรกเกอร์อาจจะต้องพิจารณาถึงวงเงินที่ให้ลูกค้าทั้งหมด ว่าคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดต่อสภาพคล่องที่มีอยู่ทั้งหมด เพราะหากเกิดกรณีเลวร้ายขึ้นมาเพียงครั้งเดียวก็อาจจะรุนแรงจนถึงขั้นล้มละลายได้ หากประเมินความเสี่ยงไม่ดีพอ

 

“ส่วนตัวมองว่า เหตุการณ์แบบ MORE ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกแล้ว จากบทเรียนที่เกิดขึ้น” แหล่งข่าวทิ้งท้าย

 

สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อหลังจากนี้คือ การเข้ามาตรวจสอบธุรกรรมในครั้งนี้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ผิดปกติและผิดกฎหมายด้วยหรือไม่ 

 

แต่ในระหว่างนี้เราน่าจะได้เห็นโบรกเกอร์แต่ละแห่งเร่งคุมเข้มกันภายใน เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X