×

เงินซื้อความสุขได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น! เคล็ดลับควักเงินซื้อความสุขจากนักจิตวิทยา

24.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • เงินสามารถซื้อความสุขให้กับคนเราได้จริงหรือไม่ ถ้าคนเราต้องการจะใช้เงินซื้อความสุขต้องใช้อย่างไร ผลวิจัยจากนักจิตวิทยามีคำตอบ
  • ประสบการณ์เป็นสิ่งที่สามารถคงอยู่ในความทรงจำของเราได้นานกว่าสิ่งของ ดังนั้นการใช้เงินซื้อประสบการณ์จึงส่งผลต่อความสุขของคนเราได้มากกว่า
  • ถ้ามีวงเงินจำกัด นักจิตวิทยาแนะนำว่าให้ซื้อของใหม่ๆ ที่ไม่ใหญ่มาก ไม่แพงมากหลายๆ ชิ้นดีกว่าซื้อของใหญ่ๆ ราคาแพงๆ เพียงไม่กี่ชิ้น เพราะความสุขจะยั่งยืนมากกว่าถ้าเราสามารถ Top-up หรือเติมความสุขจากการได้ของเหล่านั้นมาอยู่เรื่อยๆ เมื่อเทียบกับการได้ของใหญ่ไม่กี่ชิ้น

คำถามที่ผมมักจะถูกถามบ่อยมากก็คือเงินสามารถซื้อความสุขให้กับคนเราได้จริงหรือไม่ ซึ่งผมก็มักจะตอบไปว่าเงินสามารถซื้อความสุขให้กับคนได้จริงๆ แต่จากการวิจัยแล้วเรามักจะพบกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินและความสุขเป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเล็กถึงเล็กมากเมื่อเทียบกันกับปัจจัยอื่นๆ ในชีวิตของคนเรา เช่น ปัจจัยทางด้านสุขภาพ หรือทางสังคม

 

และสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่กับความสุขก็คือคนส่วนใหญ่ใช้เงินซื้อความสุขกันไม่ค่อยเป็น คำถามก็คือถ้าคนเราต้องการใช้เงินเพื่อซื้อความสุขล่ะ เราควรจะต้องใช้เงินอย่างไร

 

วันนี้ผมขอนำผลงานวิจัยของนักจิตวิทยา 3 ท่าน อลิซาเบธ ดันน์ (Elizabeth Dunn), แดเนียล กิลเบิร์ต (Daniel Gilbert) และทิม วิลสัน (Tim Wilson) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Consumer Research ในเรื่องของการใช้เงินซื้อความสุขอย่างถูกต้องมาเล่าให้ฟังกันนะครับ

 

  1. ใช้เงินซื้อประสบการณ์ดีกว่าใช้ซื้อสิ่งของ

ทำไมการใช้เงินซื้อประสบการณ์จึงดีกว่าการใช้เงินซื้อสิ่งของ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนเรามักจะปรับตัวกับการมีสิ่งของได้ค่อนข้างเร็ว ยกตัวอย่าง การซื้อไอโฟนรุ่นล่าสุด เราอาจจะแฮปปี้มากๆ ใน 2-3 วันแรกที่ได้มันมา แต่ไม่นานนักเราก็จะเริ่มชินกับการมีไอโฟนเครื่องใหม่ และจะยิ่งชินเร็วขึ้นไปอีกถ้าเราไปเห็นว่าคนอื่นๆ ก็มีไอโฟนรุ่นใหม่เหมือนกันกับเราเลย ซึ่งก็ทำให้ความสุขที่ได้มาจากการซื้อไอโฟนลดลงไปโดยปริยาย

 

ในทางกลับกัน ประสบการณ์เป็นสิ่งที่สามารถคงอยู่ในความทรงจำของเราได้นานกว่า โดยได้มีการวิจัยที่พบว่าคนเราส่วนใหญ่มักจะสามารถรำลึกถึงประสบการณ์ดีๆ ในอดีตที่เราใช้เงินซื้อมาได้มากกว่าสิ่งของที่ซื้อมา

 

ซึ่งการที่ประสบการณ์เป็นอะไรที่ติดอยู่ในความทรงจำของเราได้นานกว่าสิ่งของ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าการใช้เงินซื้อประสบการณ์จึงดีต่อความสุขของคนเรามากกว่าการใช้เงินซื้อสิ่งของ

 

  1. ใช้เงินเพื่อทำให้คนอื่นมีความสุขดีกว่าใช้เงินกับตัวเอง

จากการวิจัยของดันน์พบว่าเวลาที่คนเราใช้เงินกับคนรอบข้างเพื่อทำให้เขามีความสุข (เช่น การซื้อของขวัญ หรือการเลี้ยงข้าวคนอื่น) ความสุขที่เราได้มานั้นมักจะมีค่ามากกว่าความสุขที่ได้มาจากการใช้เงินซื้อของให้ตัวเอง

 

และความสุขที่เราได้มาจากการใช้เงินกับคนอื่นนี้ยังเกิดขึ้นได้จากการใช้เงินกับคนที่เราไม่รู้จักอีกด้วย

 

สาเหตุที่การใช้เงินเพื่อคนอื่นทำให้ตัวเรามีความสุขก็คือสิ่งที่เรียกว่า Warm Glow หรือความรู้สึกอบอุ่นในใจ ที่เราได้มาจากการทำให้คนอื่นมีความสุขนั่นเอง

 

แต่ถึงแม้ว่าสาเหตุนี้จะค่อนข้างเข้าใจได้ง่าย แต่ดันน์กลับบอกว่าเวลาที่อาสาสมัครในการทดลองของเขาถูกถามว่าพฤติกรรมไหนที่จะทำให้เขามีความสุขมากกว่ากันระหว่างการใช้เงินกับตัวเองกับการใช้เงินเพื่อคนอื่น อาสาสมัครส่วนใหญ่กลับคิดว่าการใช้เงินกับตัวเองทำให้พวกเขามีความสุขมากกว่าการใช้เงินเพื่อคนอื่น

 

ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือถึงแม้เราจะรู้ว่าการใช้เงินทำให้คนอื่นมีความสุขสามารถทำให้เรามีความสุขได้ในท้ายที่สุด แต่คนเราส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจผิดว่าการใช้เงินกับตัวเองสามารถส่งผลให้ตัวเรามีความสุขมากกว่าอยู่ดี

 

  1. ถ้าจะซื้อของให้กับตัวเอง ใช้เงินเพื่อซื้อของชิ้นเล็กๆ หลายๆ ชิ้นดีกว่าซื้อของชิ้นใหญ่ๆ ไม่กี่ชิ้น

คนเราชอบอะไรที่ใหม่ๆ นะครับ เพราะว่าอะไรที่ใหม่ๆ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Novel ความสุขที่เราได้มาจากของนั้นมักจะมีอัตราการปรับตัว (Adaptation Rates) ช้ากว่าของที่เราชินกับมันไปแล้ว

 

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีวงเงินที่จำกัดล่ะก็ การที่จะใช้เงินเพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ก็คือการใช้เงินซื้อของที่ใหม่ๆ แต่ไม่ใหญ่และไม่แพงมากหลายๆ ชิ้นให้กับตัวเองดีกว่าการซื้อของชิ้นใหญ่ที่มีราคาแพงๆ เพียงไม่กี่ชิ้น

 

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าความสุขที่เราได้มาจากการซื้อของนั้นมีโอกาสที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากกว่าถ้าเราสามารถ Top-up หรือเติมความสุขจากการได้สิ่งของเหล่านั้นมาอยู่เรื่อยๆ เมื่อเทียบกับการได้ของชิ้นใหญ่ไม่กี่ชิ้น

 

  1. ลดการใช้เงินซื้อประกัน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเรายอมซื้อประกันสินค้าก็เพราะว่าเรากลัวความ ‘เสียใจ’ ที่อาจจะตามมาทีหลัง ถ้าสิ่งของที่เราซื้อมาในวันนี้ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น โทรทัศน์ หรือไอโฟนรุ่นล่าสุดมันเกิดเสียหายแล้วเราไม่ได้ซื้อประกันเอาไว้ตั้งแต่แรก

 

แต่ในการวิจัยทางด้านความสุขของกิลเบิร์ตและวิลสันพบว่าคนเราส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าตัวเองมีภูมิต้านทานความเสียใจในอนาคตที่สูง กิลเบิร์ตและวิลสันเรียกภูมิต้านทานความเสียใจตัวนี้ว่า Psychological Immune System

 

พูดง่ายๆ ก็คือคนเราส่วนใหญ่มีความสามารถในการปรับตัวกับความผิดหวังที่เกิดขึ้นในชีวิตให้กลับมามีความสุขเหมือนเดิมได้ เช่น เราอาจจะเสียใจมากในวันที่รู้ว่าสอบตกหรือถูกคนรักทิ้ง แต่ไม่นานเราก็มักจะลืมสิ่งที่เกิดขึ้นและกลับมามีความสุขเหมือนเดิมได้

 

เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะลืมกันว่าเราต่างคนก็มี Psychological Immune System ตัวนี้ และความกลัวความผิดหวังหรือเสียใจในอนาคตนี้นี่เองที่ทำให้เรายอมจ่ายเงินซื้อประกันสินค้า ทั้งๆ ที่ถึงแม้ของที่เราซื้อมามันจะพังโดยไม่ได้ซื้อประกัน แต่เราก็จะสามารถปรับสภาพจิตใจให้กลับมามีความสุขได้เหมือนก่อนก็ตาม

 

  1. จ่ายวันนี้แล้วบริโภควันหน้า (แทนการบริโภควันนี้แล้วจ่ายเงินในวันข้างหน้า)

คนเราส่วนใหญ่มักจะเคยเห็นโฆษณาชวนเชื่อที่มีใจความว่า ได้ของวันนี้ไปเลยฟรีๆ แล้วค่อยจ่ายในวันข้างหน้าได้ ซึ่งเป็นอะไรที่ฟังแล้วดูดีใช่ไหมครับ

 

ปัญหาก็คือการบริโภควันนี้แล้วจ่ายวันหน้านั้นเป็นตัวการที่จะทำให้เกิดความทุกข์จากการสร้างหนี้สินให้กับตัวเองในอนาคต

 

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่ากลยุทธ์การบริโภควันนี้แล้วจ่ายวันหน้านั้นเป็นการที่บริษัทผู้จำหน่ายกำลังใช้ประโยชน์จากการเล่นกับจุดอ่อนของการเป็นมนุษย์เรา ซึ่งก็คือการที่มนุษย์เราชอบ ‘ความสุขทันที’ (Instant Gratification) นั่นเอง และด้วยเหตุผลที่มนุษย์เราชอบความสุขทันที การที่เรามีตัวเลือกที่ง่ายในวันนี้และสุขในวันนี้ (แต่ทุกข์ในวันข้างหน้า) ก็อาจจะทำให้เราเลือกซื้อในสิ่งที่ปกติแล้วเราอาจจะไม่เลือกก็ได้  

 

และในทางตรงกันข้าม กลยุทธ์ที่จ่ายวันนี้แล้วบริโภควันหน้า เช่น การสั่งซื้อเกมที่เราอยากจะเล่น แต่มันยังไม่ออกวางจำหน่าย หรือการซื้อลอตเตอรี่ที่ยังไม่ประกาศผลรางวัลนั้น เราก็จะสามารถมีความสุขจากการคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง หรือฝันในสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ เช่น การถูกรางวัลที่หนึ่ง เป็นต้น ซึ่งการคิดถึงและฝันถึงในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น (Anticipation) นั้นไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จากการบริโภควันนี้แล้วจ่ายวันหน้าเลย

 

  1. ก่อนจะซื้ออะไรสักอย่าง ให้นึกถึงในสิ่งที่เรามักจะไม่ได้นึกถึง

เวลาที่เรากำลังจะตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่างนั้น เรามักจะไปโฟกัสแต่คุณสมบัติที่เด่นชัดที่สุดเกี่ยวกับสิ่งของนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะซื้อรถสักคัน เราก็อาจจะไปโฟกัสอยู่แต่กับความเร็วสูงสุดของรถคันที่เราอยากจะได้เป็นส่วนใหญ่ แต่เราอาจจะไม่ได้นึกถึงเลยว่าถ้าซื้อไปแล้วจะต้องใช้ขับไปทำงานตอนเช้าที่รถติดทุกวัน มันจะยังคุ้มอยู่ไหมถ้าเราต้องจ่ายเงินพรีเมียมเพื่อซื้อความเร็วของรถ เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้ออะไรสักอย่างหนึ่งให้เราคำนึงถึงในสิ่งที่เรามักจะไม่ได้คำนึงถึง แต่อาจจะมีผลต่อความสุขของเราในระยะยาวด้วยนะครับ

 

  1. ระวังการซื้อของจากการตัดสินใจแบบเปรียบเทียบ

มันคงจะเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงได้ยากนะครับที่คนเราจะไม่ทำการเปรียบเทียบกันระหว่างตัวเลือกที่มีในชีวิตของเรา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีบ้านที่อยากจะซื้ออยู่ในใจสองหลัง ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อบ้านหลังใดหลังหนึ่งนั้น เราก็มักจะทำการเปรียบเทียบคุณสมบัติที่บ้านแต่ละหลังมีจนแน่ใจแล้วว่าบ้านหลังหนึ่งดีกว่าบ้านอีกหลังแน่ๆ แล้วค่อยตัดสินใจ ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์ของการตัดสินใจที่มีเหตุมีผลดีนะครับ

 

แต่ก็ต้องระวังการตัดสินใจที่จะซื้อของจากการตัดสินใจแบบเปรียบเทียบอย่างเดียวนะครับ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการเปรียบเทียบอาจจะทำให้เราแคร์มากเกินไปในความแตกต่างนิดๆ หน่อยๆ ของสินค้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะไม่มีความสนใจในคุณสมบัติที่เราใช้ในการเปรียบเทียบนั้นเลยก็ได้ เช่น สีของบ้าน หรือแม้แต่บริเวณของสนามหญ้าหน้าบ้าน เป็นต้น

 

  1. จงเชื่อความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ที่มีให้กับสิ่งที่เราต้องการจะซื้อมากกว่าความอยากได้ของตัวเราเอง

คนเราส่วนใหญ่มักจะคิดกันว่าเรารู้จักตัวเองดีที่สุด และรู้ว่าตัวเราชอบอะไรมากที่สุด

 

แต่ผลของการวิจัยทางด้านจิตวิทยามักจะบอกกับเราว่าคนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจผิดๆ ให้กับตัวเองอยู่เรื่อยๆ เพราะอคติทางด้านความคิด (Cognitive Bias) ต่างๆ นานาที่เรามีในกระบวนการตัดสินใจของเรา

 

เพราะฉะนั้นคำแนะนำของกิลเบิร์ต วิลสัน และดันน์ ก็คือเราไม่ควรเชื่อความชอบของตัวเองมากจนเกินไป ในทางกลับกัน เราควรเชื่อความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ที่มีให้กับสิ่งที่เราต้องการอยากจะจ่ายเงินซื้อมากกว่าความอยากได้ของตัวเราเอง

 

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าประสบการณ์ของคนส่วนใหญ่มักจะมีสัญญาณที่ดีกว่าความรู้สึกที่ตัวเราเองมี หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Wisdom of the Crowd นั่นเอง

 

เพราะถึงแม้ว่าเราอยากจะได้สินค้าชิ้นนั้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าคนส่วนใหญ่โหวตว่าสินค้าชิ้นนั้นเป็นสินค้าที่แย่มากๆ เราก็ไม่ควรที่จะซื้อ ถึงแม้ว่าความรู้สึกที่ตัวเราเองกำลังมีในขณะนั้นจะบอกว่าควรจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งของนั้นมาครอบครองก็ตาม เพราะถ้าเราซื้อสินค้านั้นกลับบ้านไปจริงๆ โอกาสที่เราจะมีประสบการณ์คล้ายๆ กันกับคนส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์ไม่ดีต่อสินค้าก็จะสูงตามไปด้วย

 

และทั้งหมดนี้ก็คือคำแนะนำที่นักจิตวิทยาทั้ง 3 คนมีให้กับพวกเรานะครับ เพราะฉะนั้นผมขอให้ทุกท่านใช้เงินซื้อความสุขกันอย่างคุ้มค่ากันนะครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ่านเพิ่มเติม

  • Dunn, E.W., Gilbert, D.T. and Wilson, T.D., 2011. If money doesn’t make you happy, then you probably aren’t spending it right. Journal of Consumer Psychology, 21(2), pp.115-125.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising