×

เปิดงานวิจัย ทำไมผู้หญิงเลือกเป็น ‘เมียน้อย’ แลกมากับอะไร และต้องเจออะไรบ้าง

10.03.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ‘ความผูกพันทางอารมณ์’​ ที่แสดงออกในลักษณะของความรับผิดชอบ ความเป็นห่วงเป็นใย ความเข้าอกเข้าใจของฝ่ายชาย จนกลายเป็นความผูกพันทางใจนั่นเอง เป็นเงื่อนไขสำคัญของการตัดสินใจเป็นเมียน้อย
  • เมียน้อยทำหน้าที่เป็นสะใภ้ที่ดี เพื่อให้สังคมเห็นว่าพวกเธอต่างจาก ‘เมียน้อยทั่วไป’
  • ไม่อยู่คนเดียวก็อยู่กันไปจนตาย เป็นการคาดการณ์อนาคตของเหล่าเมียน้อย

ผู้อ่านรู้หรือไม่ว่าการเป็นเมียน้อยต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง? การเป็นเมียน้อยนั้นต้องแลกมาด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิแห่งตน 

 

แต่ว่าอะไรคือสาเหตุของการตัดสินใจเป็นเมียน้อย? 

 

วันนี้ THE STANDARD อยากแนะนำงานวิจัยศึกษาจากวิทยานิพนธ์ ของ ‘สุภาวดี มนัสปิยะเลิศ’ มหาบัณฑิตคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วย ‘เมียน้อย: กระบวนการตัดสินใจและการปรับตัว’ ซึ่งศึกษาเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2548

 

ในงานชิ้นนี้จะศึกษาภาวะเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจเป็นเมียน้อยของผู้หญิง ศึกษาการปรับตัวและการจัดการเอกลักษณ์ ศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตและการธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของเมียน้อย รวมไปถึงศึกษาการคาดการณ์และวางแผนในอนาคต

 

เพราะรักฉันจึงยอม

 

วิทยานิพนธ์ระบุว่า บทบาทของการเป็นเมียน้อยนั้นถูกสังคมตีตราว่า ‘เป็นผู้หญิงไม่ดี ไร้ซึ่งยางอาย หาผัวไม่ได้’ แต่สิ่งที่งานวิจัยได้กล่าวอ้างถึงเงื่อนไขสำคัญของการเป็นเมียน้อยนั้นคือ ‘ความผูกพันทางอารมณ์’​ ที่แสดงออกในลักษณะของความรับผิดชอบ ความเป็นห่วงเป็นใย ความเข้าอกเข้าใจของฝ่ายชาย จนกลายเป็นความผูกพันทางใจนั่นเอง

 

ในงานชิ้นนี้ยังเสนออีกหนึ่งเงื่อนไขคือต้องการ ‘ลบคำสบประมาทของเมียหลวง’ กล่าวคือ เมียน้อยต้องการที่จะพิสูจน์กับเมียหลวงว่าสามีของเธอนั้นรักตนเองจริง ไม่ใช่แค่เล่นๆ เท่านั้น

 

นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ผู้วิจัยได้เสนอให้เห็นว่ามีแรงขับเคลื่อนให้ผู้หญิงมาเป็น ‘เมียน้อย’ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สังคมไม่ให้การยอมรับ เงื่อนไขเหล่านั้นคือ 

 

  1. ความกดดันด้านครอบครัว ในสภาวะที่ครอบครัวแตกแยก มีโอกาสที่ลูกผู้หญิงจะไม่ได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว เมื่อพบเจอบุคคลที่สามารถเติมเต็มในจุดที่เธอขาดไปได้ เธอก็จะมีความผูกพันทางใจมากยิ่งขึ้น แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีครอบครัวอยู่แล้วก็ตาม 

 

  1. เงื่อนไขสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย อาจมีได้หลากหลายสาเหตุที่ทำให้ฝ่ายชายและหญิงใกล้ชิดกันและก่อให้เกิดความผูกพันทางใจ เช่น ปัจจัยด้านการเรียน หรือปัจจัยด้านสุขภาพ เป็นต้น

 

เป็นเมียน้อยก็เหนื่อยหน่อยนะ

 

สิ่งที่เมียน้อยจะต้องเจอหลังจากการตัดสินใจเป็นเมียน้อยนั้นคือการไม่ยอมรับจากสังคมรอบข้าง ทั้งพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ซึ่งอาจแสดงออกในรูปแบบของการดุด่าว่ากล่าวหรือพูดจาประชดประชัน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเสื่อมเสียของวงศ์ตระกูลและเป็นเรื่องที่น่าอับอาย การไม่ยอมรับยังอาจออกมาในรูปแบบของการแสดงท่าทีรังเกียจได้อีกด้วย เช่น การไม่ถูกเนื้อต้องตัว การไม่พูดคุย หรือการแสดงออกทางสีหน้า

 

ส่วนการจัดการกับการไม่ยอมรับจากบุคคลเหล่านั้น พวกเธอจะทำหน้าที่สะใภ้ที่ดี เพื่อให้ครอบครัวเห็นว่าพวกเธอนั้นแตกต่างจาก ‘เมียน้อยทั่วไป’ หรือพวกเธออาจแยกออกจากครอบครัวเดิมไปเลยก็ได้เพื่อลดความตึงเครียด นอกเหนือจากคนรอบข้างแล้ว เมียน้อยก็ไม่ได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปอีกด้วย ผ่านการถูกพูดจาประชดประชัน ซุบซิบนินทา วิธีการจัดการกับบุคคลทั่วไปนั้นพวกเธอจะหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมและแสดงออกถึงความไม่สนใจไปเลย เพื่อให้ตนเองสามารถผ่านพ้นช่วงชีวิตนี้ไปได้

 

รักก็ปิด (บัง) รักก็เปิด (โทรศัพท์)

 

ถ้าถามว่าเหล่าเมียน้อยดำเนินชีวิตอย่างไรในสังคม งานวิจัยได้ระบุว่า ในการดำเนินชีวิตของพวกเธอจะพบอุปสรรคเรื่องของการไปมาหาสู่กันและการสื่อสาร เมียน้อยจะต้องปิดบังซ่อนเร้นเพื่อเลี่ยงการถูกประณาม ฉะนั้นแล้วการไปมาหาสู่จะไม่สามารถเปิดเผยได้ เช่น การนัดพบเจอตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม และโทรศัพท์จะเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารกันเป็นหลัก

 

นอกเหนือจากอุปสรรคที่ต้องพบเจอแล้ว เหล่าเมียน้อยก็ยังมีเทคนิคเพื่อลบล้างความผิด และมีการอธิบายความสมเหตุสมผลเพื่อให้ตนรอดพ้นจากข้อกล่าวหา และทำให้พวกเธอเกิดเกียรติภูมิแห่งตนที่ดีสำหรับการตัดสินใจเป็นเมียน้อยอีกด้วย 

 

  1. อธิบายว่าความผิดนั้นไม่ได้เกิดจากตนเอง แต่มาจากเวรกรรมที่เคยทำมาแต่ชาติปางก่อนที่ทำให้พวกเธอต้องเป็นเมียน้อยในชาติภพนี้ หรืออ้างเหตุสุดวิสัยว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถแก้ไขได้และต้องปล่อยเลยตามเลย และท้ายที่สุดก็อาจอ้างความผิดว่ามาจากฝ่ายชาย สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตนไม่ได้เป็นคนก่อ การโยนความผิดไปให้กับสิ่งอื่นจะสะท้อนให้เห็นถึงการต่อรองกับตนเองและสังคม 

 

  1. อธิบายว่าตนไม่ได้เกาะสามีกิน สร้างความแตกต่างของพวกเธอจากที่สังคมคาดหวังไว้ ทำให้พวกเธอรู้สึกต่างจาก ‘เมียน้อยทั่วไป’ และมีผลต่อการสร้างเกียรติภูมิแห่งตนในมุมบวก

 

ในงานศึกษาชินนี้ยังระบุถึงวิธีการจัดการให้บุคคลภายนอกไม่รับรู้ถึงการเป็น ‘เมียน้อย’ ไว้ว่า การปกปิดเป็นกลวิธีที่ถูกใช้ในการปรับตัว เช่น ทำตัวปกติ ไม่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเมียน้อยหรือเมียหลวง รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นเพื่อไม่ให้ตนเองแปลกแยกจากสังคมรอบข้าง หรือการบ่ายเบี่ยงความสนใจก็เป็นอีกหนึ่งกลวิธีที่เหล่าเมียน้อยใช้กัน

 

แล้วเธอจะเอาอย่างไรกับชีวิต

 

วิทยานิพนธ์ยังระบุด้วยว่า จากสภาพการเป็นเมียน้อยนั้นอยู่บนความไม่แน่นอน จึงไม่มีความมั่นคงทางชีวิตและจิตใจ ดังนั้นแล้วพวกเธอจึงต้องมีการจัดการและวางแผนอนาคตให้กับตนเอง จากการศึกษาพบว่าพวกเธอจะ

 

  1. อยู่คนเดียวในบั้นปลายชีวิต ดำเนินวิถีอย่างเป็นปกติ ไร้มลทินของ ‘ผู้หญิงไม่ดี’

 

  1. อยู่ด้วยกันจนแก่ตายไปข้างหนึ่ง หรือจนกว่าอีกฝ่ายไปมีคนใหม่

 

ทั้งนี้ ผู้จัดทำได้ระบุทิ้งท้ายไว้ชัดเจนว่า การศึกษาครั้งต่อไปควรมีกลุ่มตัวอย่างที่มากพอ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงจุดร่วมของกระบวนการตัดสินใจและการปรับตัว และอาจสะท้อนภาพปรากฏการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

 

ภาพ: โหลด ShutterStock 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising