×

เจาะเบื้องหลัง Minor ซื้อ BonChon ถึงเวลาขาย ‘ไก่ทอด’ กับเขาบ้างแล้ว!

20.11.2019
  • LOADING...
Minor BonChon

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การที่ ‘ไมเนอร์’ ทุ่มเงิน 2,000 ล้านบาท ซื้อกิจการ BonChon ในประเทศไทย นับเป็นดีลการซื้อกิจการครั้งใหญ่ในธุรกิจร้านอาหารในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
  • ทำไมดีลนี้ถึงน่าสนใจ นั่นเพราะที่ผ่านมา ‘ไมเนอร์’ ยังไม่เคยมีร้านอาหารในพอร์ตขาย ‘ไก่ทอด’ อย่างจริงจังมาก่อน นี่จึงถือเป็นการเข้าสู่ ‘สงครามไก่ทอด’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องเจอคู่แข่งทั้ง KFC, Texas Chicken และ McDonald’s ที่หันมาบุกได้ 3-4 ปีแล้ว
  • ‘ไมเนอร์’ บอกว่า BonChon มีโอกาสขยายได้ถึง 150-200 สาขา เพราะเมื่อดูจากตลาดที่เติบโต พฤติกรรมผู้บริโภคที่ชื่นชอบไก่ และเดลิเวอรีที่โตวันโตคืน BonChon จึงมีศักยภาพอีกมาก
  • ดีลนี้ใช้เวลาคุยกันมาพักใหญ่ๆ ก่อนจะลงตัว หากจะถามว่าดีลนี้ถูกหรือแพง เมื่อจ่ายเงิน 2,000 ล้านบาทแลกกับ 46 สาขา ‘ไมเนอร์’ บอก คุ้มค่าแล้ว

ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน (กันยายนถึงพฤศจิกายน) ในแวดวงธุรกิจอาหารของเมืองไทยเกิดดีลซื้อกิจการครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก 6 กันยายน MK แบรนด์สุกี้คุ้นหู ได้ใช้เงิน 2,060 ล้านบาทเข้าซื้อหุ้นของ ‘แหลมเจริญซีฟู้ด’ โดยหลังจากนี้จะเข้าเป็นหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 65%

 

ตามมาติดๆ ด้วยบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด บริษัทลูกในเครือกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนกว่า 88% ของบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด เจ้าของร้านอาหาร ซานตา เฟ่ และ เหม็งนัวนัว ใช้เงินไปทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท โดยมีข่าวหลุดออกมาในวันที่ 14 ตุลาคม ก่อนที่จะมีแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ตุลาคม

 

อ่านต่อข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ดีลล่าสุดเกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) บริษัทย่อยถือหุ้น 99.73% ได้จัดตั้งบริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด โฮลดิ้ง จํากัด ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เป้าหมายของการจัดตั้งในครั้งนี้เพื่อเข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท ชิคเก้น ไทม์ จํากัด ซึ่งเป็นเจ้าของและดําเนินกิจการร้านอาหาร BonChon ในประเทศไทย โดยใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

 

Minor BonChon

 

‘ไมเนอร์’ ยังไม่เคยมีร้านขาย ‘เมนูไก่ทอด’ อย่างจริงจัง

ทำไมดีลนี้ถึงน่าสนใจ นั่นเพราะที่ผ่านมาถึง ‘ไมเนอร์’ จะมีร้านอาหารภายใต้พอร์ตของ ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ กว่า 2,200 สาขา กระจายตัวใน 26 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ที่คุ้นหูคุ้นตาเช่น The Pizza Company, The Coffee Club, Riverside, Benihana, Thai Express, Swensen’s, Sizzler, Dairy Queen, Burger King ฯลฯ 

 

แต่ไมเนอร์ไม่เคยมีร้านที่มี ‘เมนูไก่ทอด’ อย่างจริงแม้แต่ร้านเดียว นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ไมเนอร์กระโดดเข้าสู่ ‘สงครามไก่ทอด’ อย่างเป็นทางการ หากนั่นเป็นเพียงเหตุผลเบื้องต้นเท่านั้น THE STANDARD ต่อสายถึง ‘ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์’ รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลางและวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เพื่อเจาะลึกถึงดีลนี้

 

ทำไม ‘ไมเนอร์’ ถึงสนใจ ‘เมนูไก่’ อย่างที่รู้กัน สงครามนี้ผู้ที่เป็นเจ้าตลาดคือ KFC ที่ขยายสาขาไปอย่างน้อย 700 แห่งทั่วประเทศ นี่ยังไม่นับ Texas Chicken แบรนด์ไก่ทอดเก่าแก่แดนลุงแซมที่มีเบื้องหลังเป็น ปตท. ที่พร้อมจะกดปุ่มขยายสาขาอย่างรวดเร็วด้วยเงินทุนมหาศาลที่อยู่ในมือ แม้วันนี้จะมีอยู่ราว 18 สาขาก็ตาม (ข้อมูลถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2562) รวมไปถึง McDonald’s ยักษ์ฝั่งเบอร์เกอร์ที่หันมาบุกเมนูไก่อย่างจริงจังได้ 3-4 ปีแล้ว 

 

ชัยพัฒน์ให้เหตุผลกับ THE STANDARD ว่า ไก่ถือเป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่คนไทยให้ความนิยมมากที่สุด และตลาดไก่ยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2561 ‘ตลาดไก่’ เติบโตถึง 229% จากมูลค่า 7,000 ล้านบาท เป็น 24,000 ล้านบาท 

 

ตัวเลขนี้มากกว่ามูลค่าของตลาดอื่นๆ ที่ไมเนอร์มีธุรกิจอยู่ ทั้งตลาดเบอร์เกอร์ที่เติบโตเพียง 196% จากมูลค่า 3,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท, ตลาดพิซซ่าเติบโต 53% จาก 4,000 ล้านบาท เป็น 6,000 ล้านบาท และตลาดไอศกรีม เติบโต 104% จาก 4,000 ล้านบาท เป็น 9,000 ล้านบาท

 

Minor BonChon

‘ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์’ รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลางและวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

 

มีรายได้และกำไรตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ

อีกทั้ง BonChon ถือเป็นร้านที่น่าสนใจ ร้านอาหารเกาหลีและไก่ทอดสไตล์เกาหลีอายุ 17 ปีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ด้วยจำนวนไม่น้อยกว่า 300 สาขา ใน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, บาห์เรน, คูเวต, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, กัมพูชา, เวียดนาม, พม่า และไทย ซึ่งตั้งแต่เข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2554 ธุรกิจเติบโตมาโดยตลอด 

 

THE STANDARD ตรวจสอบข้อมูลผลประกอบการของบริษัท มาชิสโสะ จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ปรากฏเป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้าน BonChon ผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏว่าได้จดทะเบียนเลิกกิจการเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ส่วน บริษัท ชิคเก้น ไทม์ จํากัด ซึ่งปรากฏในเอกสารการเข้าซื้อของไมเนอร์ จัดตั้งเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561 หรือ 1 ปีก่อน เมื่อนำรายได้และกำไรเฉพาะบริษัท มาชิสโสะ จำกัด พบว่า 

 

  • ปี 2557 รายได้ 245 ล้านบาท กำไร 41 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 585 ล้านบาท กำไร 111 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 984 ล้านบาท กำไร 312 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 1,131 ล้านบาท กำไร 313 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 1,351 ล้านบาท กำไร 351 ล้านบาท

 

ด้วยรายได้และกำไรที่เติบโตมาตลอด ในขณะที่มีจำนวนสาขาเพียง 44 สาขา ไม่รวมอีก 2 สาขาที่กำลังจะเปิดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นของไมเนอร์ทั้งหมด เมื่อเทียบกับการเติบโตของตลาดไก่และพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมไปถึงจำนวนสาขาที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ 42 สาขา นครราชสีมา 1 สาขา และพัทยา 1 สาขา BonChon ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากโดยเฉพาะกับพื้นที่ต่างจังหวัด

 

Minor BonChon

 

ไมเนอร์ประเมิน BonChon สามารถขยายสาขาเป็น 150-200 สาขาในอนาคตได้สบายๆ ตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับร้านอื่นๆ ที่อยู่ในพอร์ตจะพบว่า ข้อมูลสิ้นสุด 30 กันยายน 2562 The Pizza Company มี 416 สาขา, Swensen’s 292 สาขา, Sizzler 56 สาขา, Dairy Queen 518 สาขา, Burger King 109 สาขา และ The Coffee Club 62 สาขา 

 

“นอกเหนือจากชื่อแบรนด์เป็นที่รู้จัก การเติบโตของตลาดและตัวร้านเอง อีกหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ไมเนอร์สนใจ BonChon คือศักยภาพในการคืนทุน ที่ทำได้น้อยกว่า 1 ปีเมื่อมีการเปิด 1 สาขา ขณะเดียวกัน EBITDA margin ก็สูงกว่าร้านอาหารอื่นๆ ในไมเนอร์ ฟู้ด ที่สำคัญ BonChon สามารถสร้างยอดขายและกำไรได้ตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ”

 

นอกจากนี้ ยอดขายบางส่วนของ BonChon ยังมาจากเดลิเวอรี ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุ ตลาดนี้จะมีมูลค่าเพิ่มจาก 84,000 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 111,000 ล้านบาทในปี 2564 เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสทั้งสิ้น เพราะไมเนอร์เองก็กำลังบุกตลาดเดลิเวอรีอย่างจริงจัง จึงมั่นใจว่า BonChon จะสามารถสร้างการเติบโตในระยะกลางและยาวได้แน่นอน

 

Minor BonChon

 

ดีลนี้อย่างไรก็คุ้ม!

ดีลนี้ใช้เวลาคุยกันมาพักใหญ่ๆ ก่อนจะลงตัว หากจะถามว่าดีลนี้ถูกหรือแพง เมื่อจ่ายเงิน 2,000 ล้านบาทแลกกับ 46 สาขา บริษัท หลักทรัพย์บัวหลวง จํากัด (มหาชน) ออกบทวิเคราะห์โดยระบุว่า คาดราคาซื้อดังกล่าวอยู่บน EV to EBITDA ที่ 10-13 เท่า มองว่าเป็นราคาซื้อที่ถูกกว่านี้ยากแล้ว เพราะค่าเฉลี่ยของกลุ่มร้านอาหารอยู่ประมาณนี้ และเป็นการซื้อร้านอาหารที่ดำเนินงานอยู่แล้วในปัจจุบัน

 

โดยมี EBITDA เป็นบวกอยู่แล้วราว 150-200 ล้านบาทต่อปี ไมเนอร์จะสามารถรับรู้ผลการดำเนินงานและกำไรของ BonChon ทันที โดยเป็นกำไรส่วนเพิ่มให้ไมเนอร์ประมาณ 1.5 เดือนในไตรมาส 4 และเบื้องต้นจะเพิ่มกำไรประมาณ 2% ในปี 2563 

 

เมื่อเทียบ EV to EBITDA ซึ่งเป็นค่าที่นักลงทุนหลายๆ คนมักหยิบมาใช้แทนค่า P/E Ratio หรืออัตราส่วนราคาต่อกำไร เพราะ EV to EBITDA เป็นตัวเลขที่แสดงถึงมูลค่าความถูกแพงของกิจการได้ดีกว่า เนื่องจาก P/E ที่ยังมีบางค่าไม่สามารถตอบผลการดำเนินงานทางธุรกิจได้ทั้งหมด 

 

ชัยพัฒน์บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบธุรกรรมและการเปรียบเทียบการซื้อขายของบริษัท F&B ในอดีต มีค่า EV to EBITDA เฉลี่ยระหว่าง 10-13x ทั้ง The Coffee Bean & Tea Leaf 14.8 และ KFC Thailand 11.0 โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.0 เป็นต้น ดีลนี้ถือว่าคุ้มค่าแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม 46 สาขาที่ได้มายังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ขณะนี้ไมเนอร์กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ได้รับสิทธิ์ Master Franchise เพื่อขอสิทธิ์ในการขยาย BonChon ไปทั่วประเทศ

 

หากการเจรจาเป็นไปตามที่ไมเนอร์คาดหวัง ‘สงครามไก่ทอด’ ในเมืองไทยต้องร้อนระอุขึ้นอีกแน่นอน

 

Minor BonChon

Minor BonChon

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising