×

ย้อนประวัติศาสตร์ปฏิบัติการ Midway อุ่นเครื่องก่อนชมสงครามอากาศยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโรงภาพยนตร์

04.11.2019
  • LOADING...

1. Midway (สหรัฐอเมริกาถล่มญี่ปุ่น) คือภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์ ‘ปฏิบัติการมิดเวย์’ สงครามทางอากาศยานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดระหว่างกองทัพสหรัฐอเมริกาและกองทัพญี่ปุ่นในปี 1942 โดยผู้กำกับ โรแลนด์ เอมเมอริช (Independence Day, Godzilla, The Day After Tomorrow, 2012 ฯลฯ) นำแสดงโดย ลุค อีแวนส์, วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน, แพทริก วิลสัน, แอรอน เอ็กฮาร์ต, เอ็ด สไครน์ ฯลฯ เข้าฉายในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2019

 

2. ปฏิบัติการมิดเวย์ (Battle of Midway) คือปฏิบัติการสำคัญที่นำไปสู่จุดพลิกผันของสงครามบนคาบสมุทรแปซิฟิก เป็นหนึ่งในสงครามด้านอากาศยานที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 

 

เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายน 1942 ทิ้งช่วงเวลา 6 เดือน นับจากกองทัพอากาศญี่ปุ่นบุกทิ้งระเบิดทำลายกองทัพของสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ โดยเป้าหมายต่อไปของญี่ปุ่นคือ การบุกยึดเกาะมิดเวย์อะทอลล์ให้ได้

 

3. เกาะมิดเวย์อะทอลล์ (Midway Atoll) คือเกาะที่อยู่บนมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ห่างจากแคลิฟอร์เนียประมาณ 5,200 กิโลเมตร และห่างจากโตเกียวประมาณ 4,100 กิโลเมตร ทำให้กลายเป็นพื้นที่สำคัญ เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 ประเทศ ถ้าญี่ปุ่นยึดพื้นที่นี้ได้สำเร็จ จะเพิ่มโอกาสในการโจมตีกองสหรัฐอเมริกาได้สะดวกยิ่งขึ้นมาก

 

4. ณ เวลานั้น กองทัพเรือและกองทัพอากาศของญี่ปุ่นได้เปรียบสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ทั้งสมรรถนะของเครื่องบินรบซีโร่ ที่เหนือกว่าเครื่องบินรบทุกรุ่นที่สหรัฐอเมริกามีอยู่ รวมทั้งวินัยประสบการณ์ด้านการรบของทหารญี่ปุ่นที่ฝึกฝนด้านการรบทางอากาศมาเป็นเวลานาน เมื่อเทียบกับทหารสหรัฐอเมริกาที่มีเวลาฝึกการรบด้านอากาศเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น

 

5. กองทัพสหรัฐอเมริกาชดเชยความเสียเปรียบในสงครามครั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและซ่อมบำรุงเครื่องบินและเรือรบที่มีประสิทธิภาพมากกว่า รวมทั้งเทคนิค ‘การข่าว’ ที่สามารถจับสัญญาณและถอดรหัสแผนการบุกยึดเกาะมิดเวย์ของกองทัพญี่ปุ่นได้ทุกฝีก้าว 

 

แนวคิดหลักของปฏิบัติการมิดเวย์คือ การโจมตีไม่ให้อีกฝ่ายรู้ตัว เหมือนที่กองทัพญี่ปุ่นประสบความสำเร็จจากปฏิบัติการทิ้งระเบิดถล่มฐานทัพเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อ 6 เดือนก่อน แต่เมื่อแนวคิดหลักล้มเหลว ก็ทำให้ปฏิบัติครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนอย่างสิ้นเชิง

 

6. กองทัพสหรัฐอเมริการู้ข่าวว่า กองทัพญี่ปุ่นวางแผนปฏิบัติการมิดเวย์ในเช้าวันที่ 4 มิถุนายน 1942 (วันที่ 3 เป็นแผนโจมตีลวง) แต่กองทัพสหรัฐอเมริกาถอดรหัสและยืนยันแผนการได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 1942 ทำให้มีเกือบ 1 สัปดาห์ ในการวางแผนโยกย้ายกองกำลังออกจากเกาะมิดเวย์ 

 

เตรียมเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ เรือลาดตระเวนหนัก 7 ลำ เรือพิฆาต 14 ลำ เรือดำน้ำ 18 ลำ รอโจมตีสวนกลับอยู่รอบนอก และเตรียมปืนใหญ่ ปืนต่อสู้อากาศยาน เครื่องบินรบ P-40 และเครื่องบินทิ้งระเบิด B17 รอรับมืออยู่ที่ฐานทัพมิดเวย์

 

7. ส่วนกองทัพญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 กองเรือ คือ หน่วยโจมตีลวง (ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะกองทัพสหรัฐอเมริกาทราบข่าวแล้ว) หน่วยโจมตีหลักที่เกาะมิดเวย์ และหน่วยสนับสนุนที่จะตามมาสบทบ รวมทั้งหมดประกอบด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน 8 ลำ (บรรจุเครื่องบินรบซีโร่เต็มอัตราศึก) เรือประจัญบาน 11 ลำ เรือลาดตระเวน 15 ลำ เรือพิฆาต 50 ลำ เรือลำเลียงทหารที่จะยึดเกาะ 12 ลำ ซึ่งมากกว่ากองทัพสหรัฐอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด

 

8. ทั้ง 2 กองทัพเริ่มปะทะกันตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 1942 แต่ไม่ได้มีจุดพลิกผันของเหตุการณ์ ยกเว้นเครื่องบินรบจำนวนหนึ่งของกองทัพสหรัฐอเมริกาได้รับความเสียหายจากความล้มเหลวในการลอบโจมตีกองทัพยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น 

 

ส่วนทางญี่ปุ่นก็ไม่ได้รับความเสียหายที่เป็นรูปธรรม เพียงแต่มีชนวนความหายนะเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นกองทัพญี่ปุ่นสั่งปิดการสื่อสารระหว่าง 3 กองเรือลงทั้งหมด เพราะกลัวว่าจะถูกดักสัญญาณได้ (ไม่ทันแล้ว) ทำให้กองทัพอื่นๆ ไม่รับรู้การถูกโจมตีกลับจากกองทัพสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการพยายาม ‘ยืนยัน’ ที่อยู่ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาก็ไม่ประสบความสำเร็จ

 

9. กระทั่งเช้าวันที่ 4 มิถุนายน 1942 กองทัพโจมตีหลักของญี่ปุ่นเริ่มปฏิบัติการปูพรมโจมตีฐานทัพมิดเวย์ตามแผน แน่นอนว่า กองทัพสหรัฐอเมริกาไม่สามารถต้านทานได้แม้แต่น้อย แต่ก็เฝ้ารอโอกาสอย่างใจเย็น กระทั่งเครื่องบินลาดตระเวนสามารถยืนยันที่อยู่ของกองเรือหลักของญี่ปุ่นได้ ก็รีบส่งเครื่องบินรบและเครื่องบินทิ้งระเบิดไปโจมตีทันที

 

กองทัพเครื่องบินรบของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถประสานงานเพื่อโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายการโจมตีไม่เป็นผล กองทัพสหรัฐอเมริกาได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่วนกองทัพญี่ปุ่นก็รู้แล้วว่า มีกองทัพหลักของสหรัฐอเมริกาซ่อนอยู่ที่อื่น ไม่ใช่บนเกาะมิดเวย์

 

10. แต่แล้วก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อฝูงบินหนึ่งของสหรัฐอเมริกาพบเรือพิฆาตของญี่ปุ่นโดยบังเอิญ และสะกดรอยตามไปจนพบที่ตั้งของกองเรือหลักของญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยเครื่องบินรบที่เพิ่งลงจอด อยู่ระหว่างการเตรียมแผนเพื่อโจมตีอีกครั้ง แต่ด้วยการข่าวที่ล้มเหลว ไม่สามารถยืนยันเป้าหมายที่จะโจมตีต่อไปได้ ทำให้กองทัพเรือและกองทัพอากาศที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นมีสภาพไม่ต่างอะไรจากเป้านิ่งรอรับการโจมตี

 

11. สหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็น 3 ฝูงบิน เข้าโจมตีและทิ้งระเบิดใส่เรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ กำลังรบหลักของกองทัพญี่ปุ่นที่แทบไม่มีโอกาสป้องกันตัว การโจมตีของกองทัพสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 3 ลำของญี่ปุ่นค่อยๆ ถูกไฟไหม้และจมลงในเวลาไล่เลี่ยกัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเสียเครื่องบินรบและเครื่องบินทิ้งระเบิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  

 

เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นจุดพลิกผันสำคัญของสงคราม เพราะกองทัพโจมตีหลักของญี่ปุ่น (ไม่นับกองกำลังสนับสนุนที่อยู่ห่างออกไป) เหลือเรือบรรทุกเครื่องบินพร้อมรบเพียง 1 ลำเท่านั้น และกองทัพสหรัฐอเมริกาต้องรีบจบสงครามนี้ให้เร็วที่สุด

 

12. สงครามครั้งต่อไปเริ่มขึ้นทันทีในวันที่ 5 มิถุนายน กองทัพญี่ปุ่นที่เหลือเรือบรรทุกเครื่องบินเพียง 1 ลำ ยังไม่ยอมแพ้ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินรบซีโร่ออกไปโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่งของสหรัฐอเมริกา และแน่นอนว่า ญี่ปุ่นยังคงเด็ดขาดมากกว่า สามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ 

 

แต่ระหว่างที่กองทัพญี่ปุ่นให้ทหารหยุดพัก เพื่อเตรียมสำหรับการโจมตีครั้งต่อไปในช่วงเย็นของวันที่ 6 มิถุนายน กองทัพสหรัฐอเมริกาก็รีบปิดเกมด้วยการส่งเครื่องบินรบและเครื่องบินทิ้งระเบิดที่เหลือ ปูพรมโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินและกองทัพที่เหลืออยู่ของญี่ปุ่นอย่างหนัก ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นอยู่ในสภาพไร้การป้องกัน ก็ถูกจัดการได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่แรงระเบิด กองไฟ และกลุ่มควันของเรือบรรทุกเครื่องบินลำสุดท้ายจะค่อยๆ จมหายไปสู่พื้นทะเล ในช่วงเช้าของวันที่ 7 มิถุนายน

 

13. กองกำลังสนับสนุนของญี่ปุ่นตัดสินใจถอนทัพออกจากสมรภูมิ และเป็นการปิดฉากสงครามมิดเวย์ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อบุกยึดทำเลสำคัญอย่างเกาะมิดเวย์ไม่สำเร็จ ญี่ปุ่นก็ไม่อาจขยายพื้นที่การบุกไปยังสหรัฐอเมริกาและพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างที่คิด และได้เห็นแล้วว่า เทคโนโลยีการซ่อมบำรุง และสร้างเครื่องบินและเรือรบของสหรัฐอเมริกานั้นมีศักยภาพมากขนาดไหน พวกเขาขาดเพียงแค่ ‘ประสบการณ์’ การรบทางอากาศที่กำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น

 

14. ความเสียหายครั้งใหญ่จากสมรภูมิมิดเวย์และทรัพยาที่มีจำนวนกัดไม่สามารถสร้างกำลังรบขึ้นมาทดแทนได้เท่ากองทัพสหรัฐอเมริกา ทำให้กองทัพเรือและกองทัพอากาศของญี่ปุ่นลดบทบาทในสงครามลงอย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่จะกลายเป็นผู้แพ้สงครามโดยสมบูรณ์แบบในปี 1945

 

15. เมื่อเดือนตุลาคม 2019 เพิ่งมีการค้นพบซากของเรือบรรทุกเครื่องบินชื่อ คากะและอาคากิของกองทัพญี่ปุ่นที่ถูกจมลงไปในปฏิบัติการมิดเวย์ โดยทีมสำรวจค้นพบซากเรือทั้ง 2 ที่จมอยู่ที่ระดับความลึก 18,000 ฟุต ภายในเขตอนุสรณ์สถานทางทะเลแห่งชาติ ปาปาฮานาอูโมคัวคีอา ใกล้เกาะฮาวายของสหรัฐฯ

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ Midway ได้ที่ 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising