×

The Crown (ซีซัน 4) ควีนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

16.11.2020
  • LOADING...
The Crown (ซีซัน 4) ควีนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ควีนเอลิซาเบธที่ 2 (โอลิเวีย โคลแมน สวมบทบาทได้อย่างวิเศษเลิศเลอ) ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวที่เรียกได้ว่าเป็น ‘มหากาพย์แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์’ และบุคลิกของตัวละครนี้มีพัฒนาการที่น่าครุ่นคิดคํานึงเมื่อเปรียบกับทั้ง 3 ซีซันก่อนหน้า 
  • ความท้าทายของควีนสําหรับฤดูกาลล่าสุดปะทุขึ้นมาพร้อมๆ กับตัวละครใหม่สองคน คนหนึ่งได้แก่ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (จิลเลียน แอนเดอร์สัน จากซีรีส์ดังเรื่อง The X-Files) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ และอีกคนหนึ่งที่เป็นปัญหาเรื้อรังกว่าคือเจ้าหญิงไดอานา (เอ็มม่า คอร์ริน)  
  • ในขณะที่สังคมโยนความผิดบาปให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในฐานะบุคคลที่ทําให้เรื่องที่เริ่มต้นเหมือนเทพนิยายต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่หากใครสืบสาวราวเรื่องตั้งแต่ฤดูกาลก่อนก็คงประมวลได้ว่าผู้ร้ายตัวจริงของเรื่องก็ยังคงเป็นระบบสถาบันกษัตริย์ที่ขัดขวางไม่ให้ชาร์ลส์ (จอช โอคอนเนอร์) ตกล่องปล่องชิ้นกับผู้หญิงที่เขาเรียกว่า ‘Love of my life’ นั่นคือ คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบลว์ส

 

ในห้วงเวลาที่สถาบันกษัตริย์กลายเป็นประเด็นสําคัญทางสังคมอย่างที่มองเห็นและเป็นอยู่ในบ้านเราตอนนี้ การมาถึงซีซัน 4 ของซีรีส์ชุด The Crown ผลงานการสร้างสรรค์ของ ปีเตอร์ มอร์แกน (คนเขียนบท The Queen) ทาง Netflix ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเหตุการณ์สําคัญต่างๆ นานาในช่วงคาบเกี่ยวตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1990 ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องแนวบันเทิงคดีที่ถูกสร้างเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของสามัญชนอย่างเราๆ ท่านๆ เพียงลําพังอีกต่อไป แต่มันเต็มไปด้วยแง่มุมที่เปิดกว้างให้ผู้ชมรู้สึกเกี่ยวข้องและเชื่อมโยง

 

เรื่องหนึ่งที่อาจจะถอดบทเรียนได้จากสิ่งที่ซีรีส์ของปีเตอร์บอกเล่าก็คือ ในช่วงเวลาหนึ่ง สถาบันกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรกลายเป็นสิ่งที่แปลกปลอมมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้กรอบสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุดเนื้อหาของเอพิโสด 5 ระบุอย่างแจ้งชัดว่าโลกของคนเป็นเจ้าผิดแผกแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากของคนเป็นไพร่ชนิดไม่อาจหลอมรวม และชีวิตของเหล่าเชื้อพระวงศ์แต่ละพระองค์ตามที่ได้รับการสอดแทรกในเอพิโสดต่างๆ ก็เหมือนกับอยู่ใน ‘บับเบิล’ หรือฟองอากาศส่วนตัว และต่อไม่ติดกับวิถีอันยากแค้นลําเค็ญของเหล่าพสกนิกรผู้ซึ่งเริ่มตลกไม่ออกกับชีวิตอันแสนบัดซบของตัวเอง ไม่มากไม่น้อย นั่นนําพาให้เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ทว่าใครที่โตทันก็คงจะจําได้ว่า ‘สิ่งที่เกิดขึ้น’ กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก และโดยปริยาย สําหรับควีน เรื่องดังกล่าวอาจเปรียบได้กับ ‘Wake up call’ หรือการปลุกให้พระองค์ตื่นขึ้นมารับรู้ข้อเท็จจริง

 

อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับการที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ซึ่งเกิดและเติบโตในสังคมแบบเก่าได้รับการปลูกฝังไม่ให้เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการทางการเมือง และวางเฉยต่อเรื่องทะเลาะเบาะแว้งต่างๆ นานา หรือจากคําพูดของพระองค์เองในซีซันก่อน พระราชอํานาจอันยิ่งใหญ่และสูงสุดของควีนก็คือการไม่ทําอะไรเลย (Doing nothing) แต่จนแล้วจนรอด ซีซันล่าสุด (ซึ่งเห็นได้ชัดว่ารีเสิร์ชมาอย่างถี่ถ้วน) ก็บอกให้รู้ว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ใช่พระอิฐพระปูนผู้ซึ่งจะสามารถวางตัวเป็นกลางและลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งได้ตลอดเวลา และในทันทีที่พระองค์ขยับเขยื้อนด้วยการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันดูไม่แตกต่างจากการเลือกข้าง (เอพิโสดที่ 8) มันไม่เพียงนําพาให้สถานการณ์ยิ่งตกต่ำและย่ำแย่ ทว่าผลลัพธ์ในบั้นปลายซึ่งสิ้นสุดลงอย่างน่าขุ่นข้องก็ตอกย้ำถึงความแห้งแล้งและเลือดเย็นของตัวระบบสถาบัน

 

 

พูดอย่างไม่อ้อมค้อม The Crown ซีซัน 4 ยังคงรักษามาตรฐานที่สูงลิบลิ่วของทั้งงานสร้างที่ประณีต พิถีพิถัน และเรื่องราวที่ถูกคัดเลือกมาถ่ายทอด ซึ่งกลายเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เปิดกว้างสําหรับการสืบเสาะและค้นหาเพิ่มเติม หรือจริงๆ แล้วซีซัน 4 ยังได้เปรียบกว่าเพื่อนในแง่ที่มันบอกเล่าเรื่องที่ร่วมสมัยมากขึ้น

 

แน่นอนว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 (โอลิเวีย โคลแมน สวมบทบาทได้อย่างวิเศษเลิศเลอ) ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวที่เรียกได้ว่าเป็น ‘มหากาพย์แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์’ และบุคลิกของตัวละครนี้มีพัฒนาการที่น่าครุ่นคิดคํานึงเมื่อเปรียบกับทั้ง 3 ซีซันก่อนหน้า พูดง่ายๆ ‘ลิลี่เบธ’ ดูมั่นอกมั่นใจ เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้วัยวุฒิและคุณวุฒิ ตลอดจนประสบการณ์ที่สั่งสมทําให้พระองค์โต้ตอบกับผู้คนรอบข้างและรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าด้วยปฏิภาณไหวพริบที่หลักแหลมและเฉียบคม กระทั่งน่าจะเป็นแบบอย่างให้บรรดาสรรพกษัตริย์ของประเทศต่างๆ ได้อาศัยเป็นทั้งอุทาหรณ์และแบบเรียนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

 

ใครที่ติดตาม The Crown มาตั้งแต่ต้นก็น่าจะสรุปได้ไม่ยากว่าสิ่งที่ ปีเตอร์ มอร์แกน ในฐานะผู้ให้กําเนิดซีรีส์เรื่องโด่งดังเน้นย้ำเสมือนเป็นแก่นหลักอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การบอกว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็คือเสาหลักที่ค้ำจุนให้สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษยังคงดํารงอยู่ได้อย่างเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาหลายสิบปีของการขึ้นครองราชย์ ตัวสถาบันและเหล่าเชื้อพระวงศ์ต่างช่วยกันก่อเรื่องวุ่นวายหรือแม้กระทั่งอื้อฉาวนานัปการ 

 

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ความท้าทายของควีนสําหรับฤดูกาลล่าสุดปะทุขึ้นมาพร้อมๆ กับตัวละครใหม่สองคน คนหนึ่งได้แก่ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (จิลเลียน แอนเดอร์สัน จากซีรีส์ดังเรื่อง The X-Files) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ เจ้าของฉายานางสิงห์เหล็ก ผู้ซึ่งคาแรกเตอร์อันแข็งแกร่งหรือแม้กระทั่งแข็งกระด้าง บวกกับภูมิหลังของการต้องมานะบากบั่นและทํางานหนักตลอดทั้งชีวิต นําพาให้ระหว่างเธอกับควีนแทบไม่มีอะไรหลงเหลือให้พอจะเป็นจุดร่วมสักอย่างเดียว ทีละน้อย ความไม่ลงรอยและบาดหมางก็เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ตั้งแต่เอพิโสดแรก

 

ว่าไปแล้ว หนึ่งในความเอร็ดอร่อยของซีซันล่าสุดได้แก่การเฝ้าติดตามฉากปะทะคารมระหว่างตัวละครทั้งสองคน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ทว่าเป็นการแลกหมัดตั้งแต่ตอนแรกจนกระทั่งถึงตอนสุดท้าย และอย่างไม่ลดราวาศอก ความน่าสนุกอยู่ตรงที่ตามเนื้อผ้า ถ้อยคําเหล่านั้นยังคงรักษาความสุภาพ มารยาททางสังคม หรือแม้กระทั่งการสรรเสริญเยินยอ หากทว่าความนัยที่แฝงเร้นกลับเชือดเฉือน จิกกัด และเหน็บแนม และไหนๆ ก็ไหนๆ การมีฐานันดรที่เหนือกว่าของควีนไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ และอีกฝ่ายต้องยําเกรงหรือก้มหัวให้เสมอไป

 

แต่ที่ต้องระบุอย่างจําเพาะเจาะจงก็คือผู้สร้างหาทางออกให้กับปมขัดแย้งอันมหึมานี้ได้อย่างน่าจดจํา อีกทั้งยังกัดเซาะความรู้สึกอย่างชนิดสุดแสนจะทานทน และนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เนื้อหาเปิดกว้างให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดถึงบทบาทที่ช่างแห้งแล้ง เย็นชา และปราศจากความเป็นมิตรของระบบสถาบัน

 

 

อีกคนหนึ่งที่เป็นปัญหาเรื้อรังกว่ามาร์กาเร็ตก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เจ้าหญิงไดอานา (เอ็มม่า คอร์ริน) นั่นเอง จริงๆ แล้วปัญหาชีวิตแต่งงานระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับเจ้าหญิงไดอานาเป็นเรื่องที่รับรู้ในวงกว้าง และมันถูกนําไปสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีและบันเทิงคดีนับไม่ถ้วน ในขณะที่สังคมโยนความผิดบาปให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในฐานะบุคคลที่ทําให้เรื่องที่เริ่มต้นเหมือนเทพนิยายต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่หากใครสืบสาวราวเรื่องจากสิ่งที่ผู้สร้าง The Crown บอกไว้ตั้งแต่ฤดูกาลก่อนก็คงประมวลได้ว่าผู้ร้ายตัวจริงของเรื่องก็ยังคงเป็นระบบสถาบันกษัตริย์ที่ขัดขวางไม่ให้ชาร์ลส์ (จอช โอคอนเนอร์) ตกล่องปล่องชิ้นกับผู้หญิงที่เขาเรียกว่า ‘Love of my life’ นั่นคือ คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบลว์ส (ด้วยเหตุผลที่เธอมีครอบครัวแล้ว) โดยปริยาย ความปวกเปียกอ่อนแอของชาร์ลส์บวกกับความเป็นตัวเองและการไม่ยอมจํานน (มากขึ้นเรื่อยๆ) ของไดอานาก็นําพาให้ชีวิตสมรสของทั้งสองคนกลายเป็นสมการที่แก้ไม่ได้

 

มองในแง่หนึ่ง ระหว่างมาร์กาเร็ตและไดอานาตกที่นั่งเดียวกัน ทั้งสองเป็นคนนอกที่พาตัวเองเข้ามาอยู่ในวงโคจรของราชวงศ์วินด์เซอร์ และต้องเผชิญกับแรงเสียดทานต่างๆ นานา ประเด็นหนึ่งที่สามารถสรุปได้ก็คือการที่ใครคนนั้นไม่ยอมศิโรราบให้กับระบบอย่างสิ้นเชิง หรือแม้กระทั่งทําตัวแข่งกับควีน (ในเอพิโสด 5 ผู้ชมได้เห็นว่าควีนเริ่มหวั่นไหวกับความนิยมของมาร์กาเร็ตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และในเอพิโสด 10 ไดอานาถูกกล่าวหาว่าเธอพยายามทาบรัศมีและทําตัวเป็นศูนย์กลาง) ก็นําพาให้เส้นทางของทั้งสองคนคับแคบตีบตันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

 

 

จุดแข็งอีกอย่างที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือเทคนิคและแท็กติกในการบอกเล่าที่ทั้งลื่นไหลและแพรวพราว ดังที่กล่าวไปก่อนหน้า ส่วนหนึ่งของเนื้อหาอาจจะพึ่งพาบทสนทนาซึ่งถูกเขียนขึ้นอย่างเชือดเฉือนและแหลมคม แต่ตัวซีรีส์ก็ไม่ได้เดินเรื่องด้วยการพูดคุย ตรงกันข้าม ลีลาทางด้านภาพ เสียง และการตัดต่อกลายเป็นภาคขยายสําคัญที่นําพาให้ The Crown เต็มไปด้วยโน่นนี่นั่นที่ดึงดูดสมาธิของผู้ชม หนึ่งในช็อตที่ยากจะลืมเลือนได้แก่การใช้ภาพสะท้อนของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) ที่กระเพื่อมไหวบนผิวน้ํา (เอพิโสด 7) เพื่อบอกถึงสภาวะไม่มั่นคงทางอารมณ์หรือแม้กระทั่งปรวนแปร หรือช็อตสั้นๆ ที่ถูกแทรกเข้ามาในระหว่างโมโนล็อกสําคัญของเจ้าชายฟิลิปในช่วงท้ายของเอพิโสด 10 ก็ช่วยตอกย้ำถึงสภาวะที่แท้จริงของบรรดาตัวละครที่แวดล้อมสมเด็จพระราชินี หรือการตัดสลับงานเลี้ยงวันเกิดของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดกับของใครบางคนในสถานพักฟื้นผู้บกพร่องทางสติปัญญา (เอพิโสด 7) ก็บอกถึงความเชื่อมโยงอย่างมีเลศนัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่เป็นซีรีส์ที่พึ่งพาแท็กติกและกลวิธีทางด้านภาพยนตร์อย่างยิ่งยวด มันนําพาให้พลังในการสื่อสารยิ่งแผ่ซ่าน พรั่งพรู และส่งผลให้ทั้ง 10 เอพิโสดผ่านการรับรู้ไปอย่างรวดเร็ว เพลิดเพลิน และชวนให้ติดตามอย่างชนิดงอมแงม

 

2-3 ปีที่แล้ว ปีเตอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเป็นพวกล้มเจ้าที่ย้ายข้างมายืนโบกธงฝั่งรอยัลลิสต์ โดยเฉพาะหลังจากที่ได้มาเกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นี้ แต่อย่างหนึ่งที่แฟนซีรีส์คงเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือ The Crown ไม่ใช่ซีรีส์โฆษณาชวนเชื่อหรือโปรโมตสถาบัน ตรงกันข้าม บทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์หรือเป็นกระจกสะท้อนให้ผู้ชมได้เห็นด้านที่ไม่น่ารื่นรมย์ของระบบสถาบันตลอดจนตัวบุคคลก็ไม่เพียงเน้นย้ำว่าคนเป็นเจ้าไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ซึ่งไม่เคยทําอะไรผิดพลาดหรือแตะต้องไม่ได้ พวกเขาล้วนมีข้อบกพร่องและจําเป็นต้องปฏิรูปตัวเองเพื่อรักษาความนิยมและอยู่รอด

 

กล่าวในที่สุดแล้ว หากจะมีอะไรที่ผู้ชมบ้านเราเรียนรู้ได้จากซีรีส์ที่โด่งดังระดับปรากฏการณ์เรื่องนี้ คือการเปิดโอกาสให้สังคมได้มีบทสนทนาเกี่ยวกับตัวสถาบันอย่างอารยชนและเปิดเผย และนั่นน่าจะเป็นหนทางที่ช่วยค้ำจุนให้ระบบดํารงอยู่ต่อไปได้อย่างมีความหมาย วิธีการที่สุดแสนล้าหลัง อันได้แก่ การปิดกั้นความคิดเห็นแตกต่าง หรือแม้กระทั่งใช้กฎหมายเล่นงาน ก็รังแต่จะทําให้ข่าวลือและเสียงซุบซิบนินทายิ่งดังกระหึ่มและโหมกระพือมากขึ้น หรือแม้กระทั่งสั่งสมความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์และต่อต้าน ซึ่งไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ไม่มีทางเป็นประโยชน์โพดผลกับตัวสถาบันเลย

 

The Crown (2016-2020)
ผู้สร้าง: ปีเตอร์ มอร์แกน
ผู้แสดง: โอลิเวีย โคลแมน, จิลเลียน แอนเดอร์สัน, เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์, จอช โอคอนเนอร์, เอ็มมา คอร์รินฯลฯ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising