หลังจากการเปิดตัว มิชลิน ไกด์ ฉบับกรุงเทพฯ ภูเก็ต และพังงาไปเมื่อต้นปี 2561 ล่าสุด มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย เตรียมตัวขยายเนื้อหาไปยังหัวเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย เพื่อต่อยอดความสำเร็จของ ‘มิชลิน ไกด์’ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหารของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกครั้ง
ล่าสุด มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แถลงข่าวเกี่ยวกับหนังสือไกด์บุ๊กเล่มที่ 3 ‘มิชลิน ไกด์ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ภูเก็ต และพังงา’ (Michelin Guide Bangkok, Chiang Mai, Phuket and Phang-Nga) โดยขยายไปสู่แดนเหนือของไทยอย่างเมืองเชียงใหม่ พร้อมรายชื่อแหล่งที่พักและร้านอาหารที่ควรค่าแก่การไปเยือนในเชียงใหม่กว่า 50 แห่ง จากราวๆ 160 แห่งในกรุงเทพฯ ในปีที่ผ่านมา
แกลล์ ฟาน-ฮิว รองประธานด้าน Michelin Experience ประจำเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย เผยว่า “นอกเหนือจากขึ้นชื่อเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว เชียงใหม่ยังมีศักยภาพด้านอาหาร มีทั้งฟาร์มท้องถิ่น โครงการหลวง อาหารพื้นเมือง วัฒนธรรมการกิน และวัตถุดิบที่โดดเด่น ทั้งเชียงใหม่ยังเป็นที่จับตามองในมุมมองของผู้ตรวจสอบของมิชลินในแง่ของการพัฒนาด้านการครัว เชียงใหม่ตอบโจทย์ในแง่ของคุณภาพอาหาร ความสร้างสรรค์ ความเป็นท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ทั้งยังเป็นที่รู้จักดีในแง่ของอาหาร และเป็นเมืองที่น่าค้นหาในมุมของการท่องเที่ยวและการหาประสบการณ์ทั้งด้านไฟน์ไดนิ่งและอาหารริมทางที่มีคุณภาพอีกด้วย”
นายกฤษณะ แก้วธำรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การท่องเที่ยงแห่งประเทศไทยสนับสนุนการท่องเที่ยวและอาหาร และช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย และเชียงใหม่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารพื้นถิ่นและวัตถุดิบท้องถิ่น ทั้งมีอาหารพื้นเมืองและอาหารนานาชาติ การท่องเที่ยวด้านอาหารสามารถช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และจากความสำเร็จของมิชลิน ไกด์ทั้ง 2 เล่มที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางตามมาเพิ่มมากขึ้น จึงมั่นใจว่าเล่มนี้จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยมากขึ้นเช่นกัน”
ขณะเดียวกันนักสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ Blue Sky For Chiang Mai ได้สอบถามทางมิชลินถึงการรับรองไม่สนับสนุนอาหารป่า ต่อเนื่องจากปัญหาการเผาป่าเพื่อเห็ดถอบหรือเห็ดเผาะ อันก่อมลภาวะทางอากาศจน ทำให้เชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มลภาวะอากาศแย่ที่สุดในโลก โดยทางรองประธานด้าน Michelin Experience ประจำเอเชียตะวันออกและออสเตรเลียของมิชลิน ระบุว่า “เชฟรุ่นใหม่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แต่มิชลินเองก็มีความรับผิดชอบเนื่องจากทำงานเกี่ยวโยงกับอาหาร และตรวจสอบคุณภาพของอาหาร รวมถึงการทำงานของเชฟและร้านอาหารด้วยเช่นกันอยู่แล้ว ดังนั้นด้านคุณภาพจะเป็นตัวบอกถึงแหล่งที่มาและความสมควรถูกต้อง อันเป็นหัวใจสำคัญของการพิจารณาเพื่อมิชลิน ไกด์”
มิชลิน ไกด์ ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1900 จากแนวคิดของสองพี่น้อง อองเดรและเอดูอาร์ มิชลิน (André & Édouard Michelin) ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทมิชลิน บริษัทยางรถยนต์แห่งเมืองน้ำหอม โดยตัดสินใจทำคู่มือหน้าปกแดงอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีความหนา 400 หน้า เพื่อให้ข้อมูลสำหรับผู้ใช้รถยนต์ (ซึ่งขณะนั้นในฝรั่งเศสมีไม่ถึง 3,000 คน) ได้รู้วิธีการดูแลรถเบื้องต้น พร้อมทั้งบอกสถานที่บริการต่างๆ ขณะเดินทาง ซึ่งรวมถึงร้านอาหารและที่พัก โดยแจกจ่ายให้ฟรีไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
นับจากวันนั้นถึงวันนี้ มิชลินได้แจกดาวให้กับร้านอาหารมากว่า 20,000 ดาวแล้วทั่วโลก ผ่านประสบการณ์ของนักชิม หรือผู้ตรวจสอบชาวมิชลิน (Michelin Inspector) ซึ่งมักมาจากสายการโรงแรมและอาหารเครื่องดื่ม ทั้งต้องผ่านการเทรนตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี “สิ่งหนึ่งที่ทำให้มิชลินแตกต่างคือ ผู้ตรวจสอบมิชลินไม่เปิดเผยตัว โดยต้องรับประทานอาหารแต่ละร้านมากกว่า 3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเหมาะสมจริงๆ”
วิธีการให้ดาวหรือการกล่าวถึงร้านนั้นๆ ในคู่มือดูจาก 1. การคัดสรรวัตถุดิบสดใหม่ คุณภาพดี 2. เอกลักษณ์ของเชฟที่บรรจงใส่ในจาน 3. ความชำนาญและเทคนิคการประกอบอาหาร 4. ความเสมอต้นเสมอปลาย 5. ความคุ้มค่าสมราคา และมีทุกระดับอาหาร หลายราคา ในบ้านเราอาหารบิบ กูร์มองด์เริ่มต้นที่ 40 บาท
คู่มือมิชลิน ไกด์ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ภูเก็ต และพังงา (Michelin Guide Bangkok, Chiang Mai, Phuket and Phang-Nga) มีกำหนดเผยแพร่ให้นักชิมทั่วไทยและทั่วโลกได้ลิ้มลองความอร่อยในปี 2563 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ guide.michelin.com/th/bangkok
อ่านเหตุผลที่การท่องเที่ยวไทยอยากได้มิชลิน ไกด์ ฉบับกรุงเทพฯ ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า