×

โควิดซ้ำเติมคนทำสื่อ วงเสวนาเสนอทางรอด เร่งปรับตัว-ยกระดับทักษะ-ตั้งกองทุนเยียวยา

โดย THE STANDARD TEAM
02.10.2021
  • LOADING...
mass media

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมวิชาชีพสื่อและสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จัดประชุมระดมความเห็นผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 หัวข้อ ‘สุขภาวะและทางรอดสื่อมวลชนไทยฝ่าภัยโควิด-19’ เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา คนทำสื่อถูกปลดออก เลิกจ้าง ลดเงินเดือนจำนวนมาก แล้วเจอพิษโควิดซ้ำเติม นักวิชาการชี้ สื่อต้องปรับตัวทั้งเทคโนโลยีและเนื้อหาไปสู่คุณภาพ ขณะที่ตัวแทนสื่อเผย มีสื่อที่เดือดร้อนอีกมาก เรียกร้องให้สำรวจข้อมูลเร่งด่วน เสนอว่าควรจะผลักดันตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ

          

รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและโควิดของสื่อมวลชนว่า ก่อนการระบาดของโควิด ธุรกิจสื่อและคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนได้รับผลกระทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือ Digital Transformation โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ ล้วนได้รับผลกระทบที่มีทั้งการปิดตัวเลิกกิจการ เลิกผลิตสื่อ มีการปลดออก เลิกจ้าง หลายสื่อมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยหันมาทำสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น เนื่องจากสังคมไทยได้เข้าสู่ยุคโมบายล์มีเดีย 

 

ดังนั้นเมื่อมาเจอการระบาดที่รุนแรงของโควิด ยิ่งทำให้สื่อมวลชนจะต้องปรับตัวเร็วขึ้นและแรงขึ้น สื่อต้องอยู่ได้และอยู่เป็น ทุกคนต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและเติมจุดแข็งให้กับตัวเอง สื่อกระแสหลักถ้าไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะโควิดทำให้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น ทีวีก็จะมาอยู่บนโลกออนไลน์ กิจกรรมของคนอยู่บนโลกออนไลน์ ทั้งการซื้อสินค้าออนไลน์ การขายของออนไลน์ เม็ดเงินจากการโฆษณาจากภาคธุรกิจ เอกชนก็จะไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น

          

สิ่งสำคัญคือ สื่อต้องปรับตัวนำเสนอเนื้อหาข่าวสารต่างๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะผู้บริโภคมีคุณภาพมากขึ้น ข่าวและข้อมูลจะต้องมีความลึกและน่าเชื่อถือ ผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกว่าต้องการข่าวแบบไหน เพราะฉะนั้นคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนจะต้องมีความรู้เรื่องดิจิทัล ต้องมีจริยธรรม จรรยาบรรณ และคุณธรรม ควบคู่ไปกับถูกตรวจสอบได้ โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิม ซึ่งมีประสบการณ์เป็นจุดได้เปรียบอยู่แล้ว แต่จะต้องทำการบ้านเยอะขึ้น เพิ่มบทบาทของผู้ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร หรือ Data Analysis ต้องตรวจสอบข่าวปลอมเป็น   

 

“ในอนาคตหลังโควิด ธุรกิจสื่อและคนทำงานด้านสื่อจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกอย่างจะอยู่บนโลกออนไลน์ อยู่บนมือถือ ผู้บริโภคจะมีการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารมีผลต่อสังคมและโลกทั้งโลก ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจะรู้เท่าทันสื่อ จึงต้องคำนึงว่าจะผลิตสื่อให้มีคุณภาพมากขึ้นได้อย่างไรในสังคมแห่งความรู้ หรือ Knowledge Society” รศ.ดร.กุลทิพย์ กล่าว 

 

ด้าน ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สื่อมวลชนที่มีบทบาทอยู่ในองค์กรวิชาชีพมายาวนาน กล่าวว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติมีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรสื่อต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ส่วนการดูแลคนทำสื่อเป็นรายบุคคลมีองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ ดูแลอยู่แล้ว ยอมรับว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและโควิดมีผลมาก สื่อมวลชนไม่น้อยตกงาน ส่วนที่ยังอยู่ก็ต้องมีการปรับตัว ขณะนี้เรามีการจัดอบรมต่างๆ เพื่อยกระดับทักษะความสามารถให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยเฉพาะการทำสื่อใหม่ทางออนไลน์จะต้องพัฒนาเรื่องเนื้อหาดีๆ ควบคู่ไปกับการตลาด เผยสู่สาธารณะที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและสร้างรายได้กับคนทำสื่อด้วย 

 

ส่วนการช่วยเหลือสื่อมวลชนที่เดือดร้อนนั้น สมาคมวิชาชีพมีกองทุนการช่วยเหลือฉุกเฉินเฉพาะเรื่องการตกงาน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นสมาชิกขององค์กรนั้นด้วย ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจะไม่ได้รับการช่วยเหลือตรงนี้ ขณะเดียวกันยังมีโครงการที่พยายามช่วยเหลือสื่อมวลชนที่ตกงาน ด้วยการจัดทำโครงการเสนอขอรับทุนจากผู้สนใจเพื่อทำข่าวเจาะในเชิงลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่อยากเกาะติด รวมทั้งการเปิดช่องทางออนไลน์ให้สื่อที่ต้องการหางานกับธุรกิจหรือองค์กรที่ต้องการคนทำงานได้เจอกัน ก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง  

        

ขณะที่ ชามานันท์ สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการ​ประชาสัมพันธ์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของบทบาทสื่อมวลชนในการเป็นสื่อกลางสร้างความรู้และความเข้าใจด้านสุขภาวะกับประชาชน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา สสส. และภาคี จึงได้ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนในรูปแบบต่างๆ เพราะถือว่าสื่อมวลชนก็เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาวะทั้ง 4 มิติ เช่น สุขภาวะทางกาย มีสื่อมวลชนบางส่วนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยมีความเครียด โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อและผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อสื่อมวลชนในช่วงนี้ 

 

สสส. และภาคีเครือข่าย จึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและร่วมกันสนับสนุนให้สื่อมวลชนผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย จิต สังคม ปัญญา และยังคงดำรงบทบาทสำคัญในการสร้างการเรียนรู้และการรู้เท่าทันให้กับประชาชน โดยเฉพาะภัยที่มาจากออนไลน์ ทั้งการพนัน การหลอกลวง เกมออนไลน์ ฯลฯ อยากให้สื่อตอกย้ำนำเสนอต่อเนื่อง รวมทั้งการชี้นำสังคมในทิศทางที่ดีด้วย นำเสนอข่าวสารที่มีคุณค่าภายใต้จรรยาบรรณและจริยธรรมสื่อ ขณะเดียวกันได้เสนอให้สื่อเปิดพื้นที่ในการเสนอข่าวประเด็นสุขภาวะให้มากขึ้น มีการทำงานร่วมกันกับภาคีของ สสส. ในอนาคตมากขึ้นด้วย  

         

ด้าน อภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสู่ดิจิทัลต่อสื่อมวลชนที่ว่ารุนแรงแล้ว เมื่อเจอวิกฤตโควิดซ้ำเติมเข้ามาอีก ทำให้คนทำงานสื่อมวลชนประสบความยากลำบาก หลายคนต้องว่างงาน หลายคนถูกลดค่าจ้างเงินเดือน สื่อมวลชนหลายคนหรือคนในครอบครัวติดโควิด  มสส. จึงอยากเสนอให้มีการจับมือกันขององค์กรวิชาชีพสื่อ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ในการเยียวยาลดผลกระทบในรูปแบบต่างๆ เช่น การตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือ โดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะพร้อมจะจับมือกับทุกฝ่ายในการดำเนินการในเรื่องนี้

         

ในขณะที่ผู้แทนสื่อมวลชนหลายคน เช่น ศักดา แซ่เอียว หรือนักวาดการ์ตูนจาก นสพ.ไทยรัฐ บอกว่า มีสื่อมวลชนไม่น้อยที่ออกจากงานแล้วยังไม่มีงาน อยู่ด้วยความยากลำบาก โทรมาหาก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร จึงอยากจะให้สำรวจข้อมูลคนเหล่านี้ด้วย 

 

เจก รัตนตั้งตระกูล ผู้ประกาศข่าวชื่อดังจาก TNN ระบุว่า สื่อประสบปัญหามาก อยากจะให้ช่วยพัฒนาทักษะออนไลน์ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพใจและสุขภาพกายของสื่อ จึงอยากให้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันทางออนไลน์บ่อยๆ ส่วนสื่ออื่นๆ ทั้งจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์  วิทยุ และสื่อออนไลน์ รวมทั้งสื่อท้องถิ่น ได้เสนอความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบ เรียกร้องให้มีการสำรวจจำนวนสื่อมวลชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อจะหาทางช่วยเหลือเยียวยากันต่อไป และเห็นด้วยหากทุกฝ่ายจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดกองทุนช่วยเหลือผลกระทบที่เกิดขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising