×

เสวนาสื่อกับการยุติความรุนแรงในครอบครัว สุรา-โควิด ทำความรุนแรงในเด็กเพิ่มขึ้น ห่วงสื่อยังเสนอความรุนแรงซ้ำ

โดย THE STANDARD TEAM
02.12.2021
  • LOADING...
Domestic Violence

วันนี้ (2 ธันวาคม) มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมร่วมกับสื่อมวลชน เรื่อง ‘ยุติความรุนแรงในครอบครัว…สื่อเติมเชื้อหรือดับไฟ’ ผ่านระบบ Zoom โดยมี รศ.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

รศ.กุลทิพย์กล่าวว่า สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการยุติความรุนแรงในครอบครัว ดังจะเห็นได้จากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สอดคล้องกับสหประชาชาติที่กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว

 

จากการสำรวจข้อมูลหลายครั้งพบว่า ปัจจัยกระตุ้นสำคัญของการใช้ความรุนแรงมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด ซึ่งแอลกอฮอล์ถือเป็นต้นทางของปัญหาสำคัญใน 4 มิติ คือ

 

ด้านสุขภาพ ทำลายภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงติดโควิด 2.9 เท่า

 

ด้านอุบัติเหตุทางถนน ที่มากกว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนนมาจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล

 

ด้านเศรษฐกิจ เกิดความสูญเสียไปมากกว่า 9 หมื่นล้านบาทต่อปี 

 

และด้านที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว

 

โดยกิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะทำให้สื่อมวลชนได้เข้าใจบทบาทของ สสส. และภาคีแล้ว ยังจะได้รับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวร่วมกัน

 

ขณะที่ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจถึงต้นเหตุของความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว จากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด จำนวน 1,692 ตัวอย่าง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 17-23 ตุลาคม 2564 พบว่า ความรุนแรงที่พบมากที่สุดร้อยละ 53.1 คือการพูดจาส่อเสียด เหยียดหยาม ด่าทอ และดูถูก รองลงมาร้อยละ 35 คือการห่างเหินไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ตามมาด้วยร้อยละ 22.6 คือการประจานทำให้อาย และร้อยละ 20.2 คือการทำร้ายร่างกาย

 

และข้อมูลยังระบุชัดเจนร้อยละ 41.5 พบว่า มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าช่วงก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด ที่สำคัญร้อยละ 75 ระบุว่า มีเหตุความรุนแรงซ้ำ 2-3 ครั้ง สาเหตุสำคัญร้อยละ 31.4 ตอบว่ามาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อถามถึงผลกระทบต่อครอบครัวจากการระบาดของโควิด พบว่า ร้อยละ 82 มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 80.2 มีผลต่ออารมณ์ และร้อยละ 31.3 มีผลต่อความสัมพันธ์

          

จะเด็จระบุด้วยว่า การแก้ไขปัญหาเมื่อถูกกระทบน่าตกใจว่าร้อยละ 52.2 จะใช้การตอบโต้กลับ ร้อยละ 33.2 พูดคุยไกล่เกลี่ย ร้อยละ 20.1 หลบ ไม่เผชิญหน้า ร้อยละ 11.9 ยอมและวางเฉย มีเพียงร้อยละ 1.4 ที่ดำเนินคดี เมื่อถามถึงการขอความช่วยเหลือหรือปรึกษา พบว่า มีมากถึงร้อยละ 87 ที่ไม่ได้ขอความช่วยเหลือหรือปรึกษา เหตุผลเพราะเชื่อว่าจะแก้ปัญหาเองได้ร้อยละ 75.6 เพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวร้อยละ 61.8 มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาร้อยละ 40 ที่น่าตกใจคือร้อยละ 75.4 ไม่ทราบว่าจะปรึกษาใคร

 

ส่วนบทบาทของสื่อมวลชนพบว่า หนังสือพิมพ์รายวันนั้นมีการเสนอเนื้อหาและภาพที่มีความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวลดลง แต่ที่น่ากังวลคือสื่อโทรทัศน์ มีการนำเสนอฉากหรือเรื่องราวการคุกคามทางเพศ การข่มขืน การใช้ความรุนแรงกับคู่รัก สร้างมายาคติให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนั้นสื่อออนไลน์สมัยใหม่ยังมีการนำเสนอความรุนแรงทางเพศ เช่น จากการเก็บข้อมูลมิวสิกวิดีโอ 19 เพลง มีเนื้อหาที่คุกคามทางเพศ กดทับผู้หญิง จึงอยากให้สื่อและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ต่อไป

 

ด้าน ดร.ชเนตตี ทินนาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในเรื่องการนำเสนอข่าวความรุนแรง สื่อยังขาดการทำงานอีก 2 มิติ คือ

 

หนึ่ง สื่อมักมองความรุนแรงทางตรงที่ปรากฏอยู่ในฉากละครและข่าว แต่ไม่ได้มองให้ลึกในเชิงโครงสร้างความรุนแรงในครอบครัว

 

สอง สื่อควรจะต้องมองความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพก้าวลึกไปมากกว่าเพศหญิงหรือเพศชายไม่เช่นนั้นการมองปัญหาความรุนแรงของสื่อยังคงมีการผลิตภาพซ้ำให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเพียงแค่เรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นผลจากนโยบายสาธารณะของรัฐที่ปกป้องผู้หญิงน้อยเกินไป และระบบทุนนิยมปิตาธิปไตยในสังคมที่หล่อเลี้ยงและกำกับสื่อ การใช้ความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นความผิดทางอาญาที่ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว  การเพิกเฉยของรัฐและการผลิตซ้ำของสื่อจึงถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่คอยหล่อเลี้ยงให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความรุนแรงทางตรงต่อไป

 

“ทางออกของสื่อคือต้องไม่ยอมรับให้ความรุนแรงในครอบครัวกลายเป็นความชอบธรรม และควรต้องทำงานด้วยหลักความรับผิดชอบ ไม่ตำหนิผู้เสียหาย รู้เรื่องกฎหมาย มีการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเสมอหน้า ไม่เลือกฐานะครอบครัว มองปัญหาความรุนแรงทั้งบริบทรอบด้าน ยกระดับให้เห็นว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว นอกเหนือจากการนำเสนอข่าวและข้อมูลแล้วจะต้องให้ข้อมูลช่องทางในการช่วยเหลือด้วย” ดร.ชเนตตีกล่าว

 

ด้าน วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า มีการตั้งคำถามว่าการขายความรุนแรงคือความอยู่รอดของสื่อจริงหรือ ก็ต้องยอมรับว่าในอดีตการนำเสนอภาพ ข่าว และเสียงของความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศของสื่อมวลชนนั้นมีอยู่จริงจนถึงปัจจุบัน เพราะผู้บริหารสื่อหรือเจ้าของธุรกิจสื่อจำนวนไม่น้อยมองว่าข่าวประเภทนี้คนอ่าน คนดู คนฟังชอบหรือให้ความสนใจ เพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์หรือมีสปอนเซอร์สนับสนุนรายการเพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าการนำเสนอความรุนแรงแรงผ่านสื่อทำให้ต่ออายุของธุรกิจต่อไปได้

 

แต่ปัจจุบันนี้สื่อหนังสือพิมพ์ก็เริ่มลดการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ลง แต่สื่อโทรทัศน์บางส่วนรวมทั้งสื่อออนไลน์บางส่วนยังคงมีการนำเสนอความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อยู่ เช่น รายการสนทนาทางโทรทัศน์บางสถานี เห็นได้ชัดว่าเมื่อนำเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัว นำสามีภรรยามาทะเลาะกับผู้หญิงอื่นออกอากาศ กลายเป็นข่าวที่คนสนใจ เมื่อไปดูเรตติ้งรายการพุ่งสูงขึ้น รายได้ของบริษัทก็มีกำไรมากขึ้น แต่ถึงที่สุดในอนาคตตนเชื่อว่าผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดเนื้อหาและคุณภาพของสื่อ เพราะการนำเสนอข่าว ภาพ และเสียงที่สนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง นอกจากจะทำร้ายเหยื่อซ้ำแล้ว อาจจะเป็นการปลูกฝังความคิดการใช้ความรุนแรงให้กับประชาชนไปด้วยโดยไม่รู้ตัว สื่อจึงต้องสกรีนตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่นมากำกับดูแลหรือลงโทษ

 

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลาย โดย กรรณิกา วิริยะกุล บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ กล่าวว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่ตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ต้องถามกลับไปเช่นกันว่าสื่อจะต้องรับผิดชอบทั้งหมดหรือไม่ เพราะภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป หนังสือพิมพ์เดิมเสนอข่าวจากการแถลงข่าวที่เชื่อถือได้ แต่ปัจจุบันต้องส่องจากเฟซบุ๊กว่าใครทำอะไร คำถามคือเราจะเอาความเข้มข้นทางวิชาการหรือจะเอาใจวัยรุ่น

 

“ไทยโพสต์ยืนยันว่าจะยังคงความเข้มข้น ก็หวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยให้สื่อหลักที่ไม่ทำตามกระแสให้อยู่ได้”

 

ส่วน กฤษณ์ชนุตม์ เจียรรัตนกนก บรรณาธิการข่าวไทยรัฐทีวี กล่าวว่า แนวทางของไทยรัฐทีวีทำงานอยู่บนความรับผิดชอบ หากเป็นคดีสะเทือนขวัญก็ต้องนำเสนอเพื่อตักเตือนสังคม นอกจากนี้ยังมีทีมงานคอยดูแลถ้อยคำ การพาดหัว มีกรรมการจริยธรรม 7 คนมาคอยดูแล หากทำอะไรผิดพลาด หน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีบทลงโทษตามมาตรา 37 อยู่แล้ว

 

ด้าน พิธพงษ์ จตุรพิธพร ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมและผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD แสดงความเห็นว่า นโยบายของสถานีคือข่าวความรุนแรงในครอบครัวจะพยายามไม่นำเสนอ ยกเว้นคดีใหญ่จริงๆ จะนำเสนอในมุมของการดำเนินคดีอย่างเดียว ก่อนการนำเสนอภาพหรือเรื่องราวออกหน้าจอจะถามความสมัครใจก่อน นอกจากนั้นยังเสนอแง่มุมของกฎหมายและช่องทางการร้องเรียนด้วย อยากให้มีการให้ข้อมูลและฝึกอบรมเรื่องนี้กับทีวีช่องต่างๆ โดยตรงเลย

 

ปิดท้ายที่ เอกพล บรรลือ บรรณาธิการสำนักข่าว THE STANDARD กล่าวว่า สำนักข่าวไม่ค่อยเสนอข่าวความรุนแรงระหว่างบุคคล เนื่องจากทีมงานมีจำกัด แต่จะเน้นวิเคราะห์ ถอดบทเรียนในประเด็นที่สังคมนำเสนอ โดยผู้บริโภคจะสะท้อนบทบาทของการทำหน้าที่อยู่แล้วว่าอะไรไม่เหมาะสมหรือออกนอกแนวทางที่วางไว้ ทำให้ต้องปรับตัวปรับการทำงานตามใจคนอ่าน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising