×

พลังงานเสนอเศรษฐา ‘ดึงงบกลาง’ 2 พันล้านบาท สกัดขึ้นค่าไฟ 3.99 บาท/หน่วย นับถอยหลังมาตรการตรึงราคาน้ำมันและค่าไฟใกล้หมดอายุ 31 ธ.ค. นี้

08.12.2023
  • LOADING...
ค่าไฟฟ้า

หลังจากที่ กกพ. ประกาศว่าจะขึ้นค่าไฟ 4.68 บาทต่อหน่วย มีผลงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ทำให้หลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความกังวล จนล่าสุดเจ้ากระทรวงพลังงานออกมาระบุว่า “การปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบคงต้องใช้เวลา” แต่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน วันนี้จึงอยู่ระหว่างเตรียมเสนอของบกลางประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาค่าไฟให้อยู่ที่ระดับเดิม 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ทันก่อนสิ้นปี 2566 ท่ามกลางรอยต่อมาตรการตรึงราคาน้ำมันและค่าไฟที่กำลังจะหมดอายุ 31 ธันวาคมนี้แล้ว

 

วันนี้ (8 ธันวาคม) ที่กระทรวงพลังงาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงพลังงาน​ เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องค่าไฟงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ว่าขณะนี้กระทรวงพยายามหาแนวทางหลากหลายรูปแบบในการดำเนินการ เพื่อทำให้ค่าไฟต่ำกว่า 4.68 บาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศล่าสุด 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับก่อนว่าการแก้ปัญหาทั้งระบบไม่ใช่เรื่องที่ทำได้แบบที่ใจคิดทันที เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยการที่จะให้ค่าไฟลดลง 10 สตางค์ จะต้องมีค่าใช้จ่าย หรือผู้ที่ต้องแบกรับภาระตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาท 

 

“การพยายามจะตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ระดับเดิม 3.99 บาทต่อหน่วย ทำได้ยาก เพราะราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟปรับขึ้นราคาในช่วงฤดูหนาว แต่จะพยายามทำให้ต่ำที่สุด”

 

พร้อมทั้งกล่าวถึงประเด็นที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ค่าไฟงวดใหม่อยู่ที่ราคา 4.10 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 4.20 บาทต่อหน่วยตามที่กระทรวงพลังงานเคยระบุว่าจะดำเนินการก่อนหน้านี้นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวต้องการให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยมากกว่า

 

ทั้งนี้ แนวทางที่วางไว้แน่นอนว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เพราะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อาจต้องแบกรับภาระเพื่อประชาชน

 

เล็งของบกลางปี 2567 กว่า 2,000 ล้านบาท อุดหนุนค่าไฟ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในกลุ่มเปราะบางซึ่งใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยคาดว่าปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 75% ของกลุ่มผู้ใช้ไฟที่เป็นที่อยู่อาศัยทั้งหมด หรือประมาณ 17.7 ล้านราย คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งหมดประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอของบกลาง​ปี​ 2567 มาดำเนินการ โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนสิ้นปี

“เบื้องต้นเวลานี้คงต้องเสนอมาตรการดังกล่าวให้ใช้ในระยะ 4 เดือนแรกของปี 2567 ไปก่อนตามโครงสร้างเดิม เพราะการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบคงต้องใช้เวลา ส่วนประชาชนทั่วไปขณะนี้กำลังพยายามหาแนวทางหลากหลายรูปแบบในการดำเนินการ”

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะใช้โอกาสดังกล่าวนี้ในการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบเลยหรือไม่นั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านพลังงาน ที่จะต้องมีการประกาศค่าไฟใหม่ในทุกงวด โดยกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา เพื่อนำมาแก้ไข

 

“ตอนนี้คงต้องทำตามโครงสร้างเดิมก่อน เพราะเป็นแบบนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว แต่ก็พยายามหาทางทุกมิติว่าจะปรับโครงสร้างพลังงานอย่างไร เพื่อให้ราคาลดลงได้ด้วยตัวเอง และไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน หรือเรียกว่าปลดแอกจากราคาที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเป็นปัจจัยหลักสำคัญ” พีระพันธุ์กล่าวย้ำ

 

ส่องมาตรการตรึงราคาน้ำมันและค่าไฟที่กำลังจะหมดอายุ 31 ธันวาคม 2566 

 

THE STANDARD WEALTH สรุปข้อมูล 2 มาตรการลดราคาพลังงาน ได้แก่ มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี (LPG) ขณะนี้จะครบกำหนดมาตรการดูแลคือวันที่ 31 ธันวาคม 2566  

 

  • มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร มาตรการนี้ใช้ 2 กลไก คือ การปรับลดภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลลงประมาณ 2.50 บาทต่อลิตร ร่วมกับการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแล เพื่อให้ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการอยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ซึ่งขณะนี้กองทุนน้ำมันติดลบสะสม 78,000 ล้านบาท
  • มาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี (LPG) ตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) จากการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ไฟเขียวตรึงราคาต่อถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ส่งผลให้สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 47,000 ล้านบาท

 

ขณะที่มาตรการตรึงราคาค่าไฟ 

 

ปัจจุบันยังตรึงราคา 3.99 บาทต่อหน่วย สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566

  • กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างตรึงราคา 3.99 บาทต่อหน่วย โดยเตรียมเสนอของบกลาง 2,000 ล้านบาท 
  • หากรัฐบาลมีนโยบายตรึงค่าไฟต่อ การอุดหนุนทุกๆ 1 สตางค์ จะใช้เงิน 600 ล้านบาท ถ้าบนสมมติฐานที่จะขึ้นค่าไฟ 4.68 บาทต่อหน่วยจริง เท่ากับส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย  
  • รัฐบาลต้องหาแหล่งเงินทุน เพราะจำนวนค่อนข้างสูง 
  • หากจะใช้วิธียืดหนี้ กฟผ. (ที่มีหนี้สะสมอยู่เกือบแสนล้านบาท) ต้องดูความพร้อมและสถานะการเงินควบคู่

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising