×

MAY THE CREATIVE FORCE BE WITH YOU

28.11.2017
  • LOADING...

สหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของคนที่รักและหลงใหลในศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ในแทบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี แฟชั่น ภาพยนตร์ ละครเวที หรือธุรกิจดิจิทัล ฯลฯ ซึ่งแวดวงศิลปะดังกล่าวก็เติบโตและแข็งแกร่งมากขึ้นตามวันเวลา จนกลายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสร้างรายได้ ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล เฉพาะในปี 2016 ที่ผ่านมา มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมดกว่า 3 ล้านตำแหน่ง หรือทุกๆ 1 ใน 11 งาน จะเป็นงานที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตมากถึง 5% ต่อปี  (www.thecreativeindustries.co.uk)

 

 

การสนับสนุนจากภาครัฐอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุดอันเปรียบเสมือนต้นธารแห่งความคิดสร้างสรรค์ก็คือ เมืองและผู้คน ซึ่งต่างก็เป็นภาพสะท้อนของกันและกัน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างเสริมพลังให้แก่กันและกัน เมืองไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัย ทำงาน และใช้ชีวิตไปวันๆ เท่านั้น เแต่เมืองยัง
มีส่วนสำคัญในการช่วยบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นให้ผู้คนมีชีวิตชีวา และใช้ความคิดสร้างสรรค์นั้นให้เป็นประโยชน์และผลิดอกออกผล จนกลายเป็น
ผลงานที่ลอกเลียนแบบยาก เมืองแบบนี้เองที่เราเรียกว่าเมืองสร้างสรรค์ หรือ Creative City

 

 

ในอีกด้านหนึ่ง พลังสร้างสรรค์ในเมืองก็มีส่วนในการกระตุ้นให้ผู้คนค้นหาศักยภาพของตัวเอง เชื่อมโยงเครือข่ายของคนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันผ่านพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเราจะทำความรู้จักในชื่อของ Creative Hub (ครีเอทีฟ ฮับ) พูดง่ายๆ ว่า จุดรวมพลของคนมีความคิดสร้างสรรค์ก็คือ ครีเอทีฟ ฮับนั่นเอง

 

ทริปในการไปเยือนสหราชอาณาจักรร่วมกับ
British Council (บริติช เคานซิล) เมื่อไม่นานมานี้ คือการทำความเข้าใจเรื่องศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ที่กระจาย
อยู่ตามเมืองใหญ่ทั้ง 4 เมือง คือ คาร์ดิฟฟ์ บริสตอล ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ เพื่อค้นหาว่า พวกเขาสร้างสรรค์ครีเอทีฟ ฮับขึ้นมาได้อย่างไร นอกจากเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตแบบสร้างสรรค์แล้ว ไม่แน่ว่าเราอาจนำแง่คิดเหล่านั้นมาทบทวน และตั้งคำถามกับเมืองใหญ่ที่เราอยู่ว่า บางทีเราอาจต้องการพื้นที่สร้างสรรค์แบบนี้มากกว่าสิ่งปลูกสร้างแบบอื่นที่ผุดขึ้นทั่วเมืองหรือเปล่า?​

Why Creative Hub?

ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ เป็นคำที่ใช้กันอย่าง
แพร่หลายในต่างประเทศ​ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการตีความที่หลากหลายกันไปในแต่ละแห่งด้วย แต่สิ่งที่เราคิดว่าน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่เข้าใจง่ายที่สุดน่าจะเป็นคำจำกัดความที่ว่า

 

“ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์คือสถานที่ ไม่ว่า
จะเป็นแบบที่จับต้องได้จริง หรือพื้นที่เสมือนจริง ที่ดึงเอาคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาอยู่รวมกัน มีผู้นำที่
ทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ และสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่าย ก่อตั้งธุรกิจ พัฒนา และสร้างการมี
ส่วนร่วมให้กับชุมชนภายในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม หรือเทคโนโลยี

 

“ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นผู้นำรูปแบบใหม่ โดยมีผู้นำศูนย์ฯ​ หรือ
ผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คนที่เข้าใจการสร้างคุณค่าทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสามารถทำงานสลับไปมาในภาคส่วนที่แตกต่างกันได้อย่างมีความสุข

(จากหนังสือ British Council Creative HubKit)  

 

และอย่างที่เกริ่นไว้ว่า สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับครีเอทีฟ ฮับมากเป็นพิเศษ เพราะถือเป็น
พื้นที่อันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต่อยอดและขยายเครือข่ายให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ จากนี้เราลองไปทำความรู้จักกับครีเอทีฟ ฮับที่น่าสนใจและเรียนรู้ในแต่ละเมืองต่อไป

 

 

From LONDON To  CARDIFF

กรุงคาร์ดิฟฟ์เป็นเมืองหลวง จัดว่าเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด และมีประชากรมากที่สุดของเวลส์ แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ คาร์ดิฟฟ์ก็เป็นเมืองที่มีสีสันไม่แพ้เมืองชื่อดังอีกหลายๆ เมืองในสหราชอาณาจักร และยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมและองค์กรทางด้านความคิดสร้างสรรค์ชื่อดังระดับโลกอีกด้วย

 

ข้อมูลจาก The Creative Hub Report 2016 รายงานว่า คาร์ดิฟฟ์เป็นศูนย์กลางของการผลิตสื่อที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกกรุงลอนดอน และบริษัทผลิตสื่อโทรทัศน์อิสระในเมืองนี้ที่มีอยู่กว่า 600 แห่ง ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นเติบโต เพราะสามารถสร้างรายได้รวมกว่า 350 ล้านปอนด์ในปีที่ผ่านมา

 

 

รีเบกกา กูลด์ (Head of Arts at British Council Wales) เคยสรุปเรื่องความคิดสร้างสรรค์และลักษณะเฉพาะของเมืองคาร์ดิฟฟ์ในงาน Cardiff: Creative Capital จัดโดย Creative Cardiff Network เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาว่า “ความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ว่าจะมาจากกลุ่มคนทั่วไป องค์กรอิสระ หรือว่าอุตสาหกรรมที่ลงหลักปักฐานแล้ว ล้วนไหลเวียนอยู่ในสายเลือดของชาวเวลส์ทั้งสิ้น” นั่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญในอีกหลายๆ เหตุผลก็ได้ที่ทำให้บรรยากาศในเมืองคาร์ดิฟฟ์กระตุ้นให้เกิดการสร้างครีเอทีฟ ฮับอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง 2 สถานที่สำคัญ
ของเมือง อย่าง Chapter และ The Sustainable Studio ด้วย

 

Chapter

“สิ่งที่จำเป็นสำหรับเมือง คือการเจริญเติบโตของผู้คน ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง”

 

จากประวัติของ Chapter ทำให้เราได้รู้ว่า ที่นี่เคยเป็นอาคารโรงเรียนร้างในยุค 70s ก่อนจะปรับปรุงให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านศิลปะที่ถือว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่เก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ​และเป็นแหล่งกำเนิดความคิดสร้างสรรค์ให้ชาวคาร์ดิฟฟ์มากว่า 40 ปี ภาพที่ผู้คนเดินเข้ามาชมภาพยนต์ รับประทานอาหาร ดูการแสดง และร่วมกิจกรรมมากมายตามความสนใจ คือสิ่งที่ตอกย้ำได้ดีว่า ทำไมชาวคาร์ดิฟฟ์ถึงรักสถานที่แห่งนี้มากมายนัก

 

 

แอนดี อีเกิล ผู้อำนวยการของ Chapter เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า “เรามีทีมที่คอยจัดโปรแกรมกิจกรรมสำหรับการละคร นาฏยศิลป์ และศิลปะในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ นอกจากนั้นเรายังช่วยสร้างและสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์และความร่วมสมัย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราพยายามสนับสนุน”

 

ขณะเดียวกันเขายังให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการพัฒนาเมือง และการจัดการครีเอทีฟ ฮับ ที่ส่งผลกับชาวเมืองได้อย่างน่าคิดว่า  

 

“ผมว่าคาร์ดิฟฟ์เป็นเมืองที่มีการขยายตัวรวดเร็วที่สุดในสหราชอาณาจักรเลยก็ว่าได้ ดังนั้นจึงมีการพุ่งความสนใจมาที่เมืองนี้เป็นอย่างมาก ผมเชื่อว่าเราน่าจะมีประชากรเพิ่มอีกเป็นแสนคนภายใน 20 ปีข้างหน้า ดังนั้นเมืองจึงมีความกดดันในด้านการจัดหาบริการต่างๆ ให้กับประชาชน รวมทั้งพื้นที่ให้บริการทางด้านสันทนาการและวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงออก ให้คนได้พัฒนาความสามารถอย่าง
ชาญฉลาด และมีความสร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังเป็น
เรื่องที่ดีมาก หากมีการสนับสนุนผู้คนในเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิต เพราะเมื่อไรที่เมืองมีการ
เติบโตมากขึ้น เราก็อาจจะลืมคิดไปว่า สิ่งที่จำเป็น
สำหรับเมือง คือการเจริญเติบโตของผู้คนไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง”

 

The  Sustainable  Studio

ครีเอทีฟ ฮับแห่งนี้แตกต่างจากแห่งแรก เพราะเพิ่ง
ก่อตั้งได้ไม่นาน แต่ก็สร้างความคึกคักและมีชีวิตชีวาให้กับเมืองนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีศิลปินและคนรักศิลปะมารวมตัวกันเพื่อเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานดีๆ แทบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเครื่องประดับ
การออกแบบเสื้อผ้า หรือการปั้นเซรามิก The Sustainable Studio ก่อตั้งโดย ซาร่า วาเลนติน และจูเลีย ฮาร์รีส ศิลปินสาวสองพี่น้องที่มองเห็นศักยภาพของโรงงานเก่าทิ้งร้าง พวกเธอจัดการชุบชีวิตขึ้นมาเป็นพื้นที่ทำงาน
ศิลปะใจกลางเมือง โดยนำวัสดุจากไม้เหลือใช้มาดัดแปลงและตกแต่งพื้นที่ เพื่อเน้นความยั่งยืนและเรียบง่าย

“ฉันคิดว่าคาร์ดิฟฟ์มีการสนับสนุนชุมชนสร้างสรรค์ที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ขณะเดียวกันก็คิดว่าตัวชุมชนเอง ก็ทำงานร่วมและประสานกันได้ดีด้วย หมายความว่า เราไม่ได้มาแข่งขันกันเอง เพราะเราก็มีเพื่อนที่มีพื้นที่แบบเดียวกันในเมืองนี้ ดังนั้นเราก็ช่วยกันสอนและ
แบ่งปันข้อมูลกัน จึงทำให้เรามีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ไม่ใช่ในทางที่สร้างผลกำไรมากมาย แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่แค่ในคาร์ดิฟฟ์ แต่ยังรวมถึงในเวลส์ด้วย” จูเลีย ฮาร์รีส ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ต่อคำถามถึงมุมมองที่เธอมีต่อคาร์ดิฟฟ์, บ้านเกิดของเธอ ที่วันนี้มีบรรยากาศที่คึกคักขึ้นกว่า
เดิมมาก

 

DID YOU  KNOW?

14,861

คือจำนวนตัวเลขการจ้างงานในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ ของกรุงคาร์ดิฟฟ์

2,788

คือกลุ่มคนทำงานอิสระและบริษัท
ที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์
25

จำนวนครีเอทีฟ ฮับทั่วเมือง และยังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง

 

 

From LONDON To BRISTOL

แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ ติดชายทะเล และมีจังหวะชีวิตที่เรียบง่าย ไม่หวือหวามากนัก (กระทั่งศิลปิน
กราฟฟิตีอย่างแบงก์ซีโด่งดังขึ้นมา) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหลายๆ เมืองในสหราชอาณาจักร
แต่ภาพจำของบริสตอลภาพหนึ่งที่ชัดเจนอย่างมากก็คือ ภาพอาคารบ้านเรือนหลากสีบริเวณ
ท่าเรือคริสตัล วูด ที่เราอดคิดไม่ได้ว่าน่าจะเป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า เมืองนี้ก็มีสีสันไม่แพ้ใครเช่นกัน ข้อมูลจาก Bristol Business Guide เมื่อปี 2016 ที่สำรวจโดยมูลนิธิที่ทำงานด้านนวัตกรรม
และความคิดสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักร 
(Nesta) จัดอันดับให้บริสตอลติดอันดับ 1 ใน 10 อันดับแรกที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และนวัตกรรมที่กำลังมาแรงที่สุดในประเทศอังกฤษ  

 

 

Tobacco Factory

หากสงสัยว่าทำไมครีเอทีฟ ฮับแห่งนี้ถึงมีชื่อเหมือนโรงงานยาสูบ ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะในอดีตที่นี่เคยเป็นโรงงานยาสูบมาก่อนนั่นเอง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่นี่ก็เคยเกือบถูกทำลายทิ้ง เพราะความชำรุดทรุดโทรม
ตามกาลเวลา แต่อดีตสถาปนิกและนายกเทศมนตรี
ที่มองการณ์ไกลอย่าง จอร์จ เฟอร์กูสัน ที่ปัจจุบันเป็น
ผู้อำนวยการของที่นี่ได้จัดการซื้อพื้นที่มาปรับปรุงใหม่ให้เป็นโรงละครขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางศิลปะสมัยใหม่ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ จอร์จให้สัมภาษณ์ถึงประเด็น
ในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ว่า

 

“ผมคิดว่าการที่คนเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้ ก็น่าจะต้องทำงานในสถานที่ที่สามารถปลดปล่อยความคิดได้ด้วย การมีสถานที่ที่ใช่ มีแสงที่พอเหมาะ และบางครั้งก็เกี่ยวกับเสียงด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เกิดกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์ แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ผมอยากจะพูดเกี่ยวกับพื้นที่ในลักษณะเดียวกันนี้ คือมันสามารถส่งผลกับเศรษฐกิจโดยรวม มีเงินหมุนเวียนกันในชุมชน คนมาซื้อกาแฟจากร้านในท้องถิ่น ซื้ออาหารจากร้านในท้องถิ่น มันแตกต่างกันมากกับการที่คน
ไปซื้อของจากร้านใหญ่ๆ แล้วเงินก็ไหลออกไปข้างนอก แต่การมีพื้นที่แบบนี้ เป็นการสร้างเมืองที่ยั่งยืนและ
เข้มแข็งได้จริงๆ”

 

DID  YOU  KNOW?

6,300

ตำแหน่ง คืออัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์
ในบริสตอล

12.7%

จากรายได้ทั้งหมดของเมืองมาจากธุรกิจเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

Banksy

หลายคนรู้จักผลงานมากมายของศิลปินนิรนามที่ชื่อ Banksy (แบงก์ซี) แต่น้อยคนจะรู้ว่าบ้านเกิดของเขาอยู่ที่บริสตอล สหราชอาณาจักร ไม่ใช่ลอนดอนอย่างที่ใครๆ เข้าใจ จากประวัติบอกว่า เขาลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยม ตอนนี้น่า
จะมีอายุราว 42-43 ปี แบงก์ซีสร้างสรรค์งานศิลปะแนวกราฟฟิตีบนกำแพงและพื้นที่สาธารณะมานานกว่า 20 ปี ผลงานของเขาเคยไปปรากฏที่นิวยอร์ก 
แอลเอ ดีทรอยต์ อิสราเอล และอีกหลายเมือง
ทั่วโลก ผลงานของแบงก์ซีนอกจากจะมีอารมณ์ขันและเสียดสีการเมืองอย่างชาญฉลาด ยังถือเป็นงานศิลปะที่สวยงาม จนมีการนำไปประมูลในราคาสูงหลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยความที่งานของเขาอยู่บนพื้นที่สาธารณะ เช่น กำแพงริมถนน บนผนังด้านนอกของอาคาร ฯลฯ เมื่อมีคนชนะการประมูลจึงต้องมีการเคลื่อนย้าย ออกไปจาก
สถานที่เดิม แต่ก็ไม่มีใครครั่นคร้ามกับความลำบาก เพราะเชื่อว่าผลงานของเขาอาจมีราคาพุ่งสูงต่อไปอีกในอนาคต ล่าสุดมีการบันทึกไว้ว่า 
ผลงานที่มีการประมูลไปในราคาสูงที่สุดคือ
ผลงานที่ชื่อ Keep It Spotless (ผลงานร่วมกับ
เดเมียน เฮิร์สต์) ซึ่งได้มีการประมูลไปในราคากว่า 1,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากการจัดประมูลเพื่อการกุศลของสถาบัน Sotheby ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2008 นอกจากนั้นใน ค.ศ. 2015 แบงก์ซียังจัดนิทรรศการกลางแจ้งใน
รูปแบบสวนสนุกชื่อ Dismaland เพื่อล้อเลียน Disneyland และให้คำจำกัดความสวนสนุกนี้ว่าเป็นสวนสนุกที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กๆ

 

 

From LONDON To LIVERPOOL

ถ้าใครจะคิดถึงวงดนตรีอย่าง The Beatles ทันทีที่มาถึงลิเวอร์พูลก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะที่นี่คือ
บ้านเกิดของวงสี่เต่าทองวงดนตรีที่โด่งดังข้ามเวลาจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน แต่เราไม่อยากให้คุณจดจำลิเวอร์พูลแค่นี้ เพราะสิ่งที่น่าสนใจ
ไปกว่านั้นก็คือ เมืองนี้คือเมืองที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี หรือ The City of Music จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ใน ค.ศ. 2008 จากความโดดเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรม อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมือง ส่วนด้านธุรกิจสร้างสรรค์อื่นๆ ลิเวอร์พูลก็ไม่แพ้เมืองใดในอังกฤษเช่นกัน 
เพราะที่นี่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับ
การเติบโตของครีเอทีฟ ฮับที่สุด และที่ที่เราอยาก
แนะนำให้รู้จักก็คือ Bluecoat

 

 

Bluecoat

ท่ามกลางถนนช้อปปิ้งสายหลักกลางเมืองลิเวอร์พูล มีถนนชื่อ School Lane เมื่อเลี้ยวเข้ามาแล้ว เราจะเห็นอาคารอนุรักษ์จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติที่มีอายุมากกว่า 300 ปี ตั้งตระหง่านอย่างน่าเกรงขาม ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้เข้าไปเยี่ยมชมด้านในเช่นกัน เพราะในปัจจุบันที่นี่คือพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์และเรียนรู้ศิลปะแทบทุกประเภทใจกลางเมืองลิเวอร์พูล

“ที่นี่เรามีงานหลักๆ อยู่ 3 ประเภท หนึ่งคือการสนับสนุนศิลปิน เรามีพื้นที่ให้ศิลปินได้สร้างงานของตัวเองถึง 33 ห้อง เช่น มีห้องสำหรับฝึกเต้นรำ มีห้องสำหรับทำงานพิมพ์ มีห้องทำงานให้เช่าสำหรับบริษัทที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ และทุกวัน หรือทุกชั่วโมง ผู้คนจะเข้ามาทำงานที่นี่ มาดื่มกาแฟ และทำกิจกรรมหรือดูนิทรรศการ ขณะเดียวกันเราก็สร้างการมีส่วนร่วมด้วยการจัดโปรแกรมที่เข้าถึงคนจำนวนมาก เช่น มีการเดินทางไปเยี่ยมพื้นที่เสื่อมโทรมที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษ ซึ่งก็คือพื้นที่แถบชานเมืองลิเวอร์พูล และเด็กๆ ที่มาจากย่านนั้นก็มาทำกิจกรรมที่ Bluecoat ปีละ 4-5 ครั้ง เพื่อมาสนุกกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ก็คือ ผู้คนจากสังคมที่หลากหลายมาพบปะ มีปฏิสัมพันธ์กัน มาพูดคุย มากระทบไหล่ศิลปิน นี่คือวิธีการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ด้วยการยอมรับความแตกต่าง นำพาผู้คนที่มีความแตกต่างด้านความคิด และภูมิหลังของครอบครัวให้มาเจอกันได้” มารี โคลก ผู้อำนวยการของ Bluecoat ให้คำอธิบายเพิ่มเติม

 

DID YOU  KNOW?

48,000

คน คือจำนวนของคนที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์และดิจิทัล

7,000

คือจำนวนบริษัทที่อยู่ในแวดวง
ความคิดสร้างสรรค์และดิจิทัล
ในลิเวอร์พูล

1,000

ล้านปอนด์ คือตัวเลขรายได้ของเมืองที่เกิดจากธุรกิจสร้างสรรค์ในลิเวอร์พูล

 

 

From LONDON To MANCHESTER

มาลิเวอร์พูลแล้วไม่มาแมนเชสเตอร์ก็กระไรอยู่ 
แต่การมาเยือนแมนเชสเตอร์ของเราในครั้งนี้
ก็ทำให้ภาพจำเกี่ยวกับแมนเชสเตอร์เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด แมนเชสเตอร์สำหรับเราที่ผ่านมาคงไม่มีอะไรมากไปกว่าเมืองแห่งทีมฟุตบอลชื่อดังอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือเมืองที่เป็นบ้านเกิดของวงดนตรีอย่าง Oasis แต่สิ่งที่เราและหลายๆ คนอาจไม่รู้ก็คือ เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากลอนดอนแห่งนี้ ในอดีตที่นี่เคยเป็นเมืองแห่งการผลิตสิ่งทอ และเป็นเมืองแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลก แต่เมื่อหลายร้อยปีผ่านไป เมืองที่เคยโด่งดังเรื่องสิ่งทอก็เปลี่ยนรูปโฉมใหม่กลายเป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีไปได้อย่างน่าทึ่ง และครีเอทีฟ ฮับที่เราอยากพาไปทำความรู้จักก็คือ Madlab  

 

 

Madlab

ที่นี่คือ maker space ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างสรรค์ที่ไม่หวังผลกำไร แต่เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนชุมชนดิจิทัลในมืองแมนเชสเตอร์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ถ้าคุณมาที่นี่ สิ่งที่จะได้เห็นก็คือ ผู้คนจากทุกช่วงวัยมารวมตัวกันสร้างนวัตกรรมและเรียนรู้เทรนด์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ราเชล เทอร์เนอร์ ผู้อำนวยการของ Madlab ให้เวลามาพูดคุยกับเราเรื่องบทบาทที่สำคัญของครีเอทีฟ ฮับกับชุมชนด้วยว่า

“ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญที่เราได้ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์คือ การทำให้คนรู้สึกอิสระ พึ่งพาตัวเองได้ ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ที่นี่มีโปรแกรมหลากหลายให้พวกเขาเรียนรู้ คนที่มาที่นี่จึงมีทุกช่วงวัย และมีคนทุกระดับความสามารถ แต่ละคนสามารถค้นพบสิ่งที่พวกเขาชอบและเดินหน้าไปกับสิ่งนั้นได้ นั่นคือ
ความรู้สึกของการทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง”

 

DID YOU  KNOW?

50,000

คือตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับนวัตกรรม และดิจิทัล

250

คือจำนวนธุรกิจที่เกี่ยวกับนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์และดิจิทัล

60,000,000

ปอนด์ คือเม็ดเงินจากนักลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามา เพราะเชื่อมั่นในกลยุทธ์
ด้านดิจิทัลของเมืองแมนเชสเตอร์

 

Special Interview

บทสัมภาษณ์พิเศษ ดร. พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะ
และอุตสาหกรรม
สร้างสรรค์ ประจำ
บริติช เคานซิล (ประเทศไทย)​ ผู้
รับผิดชอบและริเริ่มทำคู่มือสำหรับการพัฒนาครีเอทีฟ ฮับเป็นภาษาไทย รวมถึงสร้างการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องครีเอทีฟ ฮับผ่านกิจกรรมเสวนา อบรม ประชุม 
และร่วมทำสารคดีเรื่องครีเอทีฟ ฮับในสหราช-อาณาจักรกับ THE STANDARD เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องครีเอทีฟ ฮับมากขึ้น

 

ครีเอทีฟ ฮับ ในความหมายที่ควรจะเป็นคืออะไร

ครีเอทีฟ ฮับ แปลเป็นภาษาไทยได้ยาก แต่ถ้าแปลตรงตัวเลยก็คือ การเป็นจุดเชื่อมต่อของความคิดสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ให้ผู้คนมาพบปะกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางความคิด จนเอื้อให้เกิดการคิดค้นหรือแนวคิดใหม่ๆ และการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม

พื้นที่แบบนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ในอาคาร แต่เป็นพื้นที่ออนไลน์ หรือกลุ่มคนก็ได้ ขอให้เกิดการรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ก็พอ เช่น พื้นที่ศิลปะวัฒนธรรมโคเวิร์กกิ้งสเปซเครือข่ายต่าง ๆ หรือ maker space แต่องค์ประกอบสำคัญที่สุดคือ คนและชุมชนที่มารวมตัวกัน 
อีกส่วนหนึ่งคือ การกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การพัฒนา ถ้าขาด
สิ่งใดสิ่งหนึ่งในนี้ก็ไม่ใช่ครีเอทีฟ ฮับ ในประเทศไทยหลายคนคิดว่าสตาร์ทอัพกับครีเอทีฟ ฮับเป็น
สิ่งเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วสตาร์ทอัพเป็นรูปแบบของธุรกิจ ในขณะที่ครีเอทีฟ ฮับเป็นพื้นที่เพื่อ
สร้างสิ่งที่ดีขึ้น อาจจะเป็นธุรกิจหรือไม่เป็นก็ได้

 

รูปแบบการสนับสนุนให้ครีเอทีฟ ฮับเกิดขึ้นจริงและแพร่หลายควรจะเป็นอย่างไร

ครีเอทีฟ ฮับเป็นคำใหม่สำหรับไทย แต่ในด้านแนวคิดเป็นสิ่งที่เรามีอยู่นานแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้คิดถึงพื้นที่เหล่านั้นในลักษณะของการเป็นฮับ
สิ่งสำคัญที่ฮับต้องมีคือ การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของชุมชนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และต้องการสร้างประโยชน์ในกับสังคมของตัวเอง 
ดังนั้นจุดแรกคือ ต้องมีการรวมกลุ่มของคน ต้องมีผู้นำฮับที่เข้มแข็ง และเข้าใจศักยภาพของชุมชน ซึ่งชุมชนในที่นี้หมายถึงสมาชิกของฮับและผู้ที่
เข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อย่าง maker space หรือสตูดิโอศิลปะ ต้องมีกิจกรรมสม่ำเสมอที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้
และพัฒนา รวมทั้งต้องมีรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน 
ทำให้ฮับอยู่ได้ด้วยตัวเอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม
ฮับถึงมีร้านอาหาร และร้านกาแฟ เพราะเป็น
ส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้ฮับนำกลับมาลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การสนับสนุนจาก
ภาครัฐ อาจจะเป็นการให้สิทธิพิเศษในด้านภาษีสำหรับฮับที่มีลักษณะเป็นบริษัทเพื่อผลประโยชน์ของชุมชน หรือเป็นวิสาหกิจชุมชน และสนับสนุนหรือร่วมลงทุนพัฒนาฮับให้เติบโตขึ้น หรือมีการ
นำสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย หรือสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ร่วมกับฮับนั้นๆ

 

อะไรคือข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่ทำให้เรื่องของครีเอทีฟ ฮับยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย

สิ่งที่เราคิดว่าประเทศไทยยังขาดคือ ความเข้าใจในแนวคิดเรื่องฮับ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมีพื้นที่ แต่อยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งและการแลกเปลี่ยนของชุมชน ซึ่งเรามองว่า การสร้างฮับ สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งคือ คนและการสร้างในเกิดการปฏิสัมพันธ์ของคน ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจกันว่า การมีพื้นที่เช่นร้านกาแฟที่เปิดให้คนมานั่งทำงานแล้วต่างคนก็ต่างไปนี่ไม่เรียกว่าฮับนะ การเป็นฮับต้องกระตุ้นให้เกิดการคิดและเรียนรู้ รองลงมาจะเป็นเรื่องเงินทุนหรือรูปแบบธุรกิจและการบริหารจัดการ ซึ่งก็ต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมจากประสบการณ์ของฮับอื่นๆ และจากผู้เชี่ยวชาญ 
แต่จริงๆ ตอนนี้ประเทศไทยก็มีบรรยากาศที่ดีสำหรับการเริ่มต้นเรื่องนี้

 

Photo: ทรงพล จั่นลา, ธนิต นฤพนธ์จิรกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X