×

ผลสำรวจ ‘เด็กไทย’ อยากยกเลิกกิจกรรมหน้าเสาธง-วิชาลูกเสือ เพิ่มวิชาการเงิน การลงทุน

โดย THE STANDARD TEAM
13.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (13 มกราคม) Rocket Media Lab ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ได้จัดทำแบบสอบถามนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 9-11 มกราคม 2567 เพื่อสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ในโรงเรียน การเรียนการสอน ครู 

 

จากจำนวนนักเรียนที่ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศทั้งหมด 1,985 คน พบว่า เป็นเพศชาย 488 คน หญิง 1,247 คน LGBTQIA+ 199 คน และไม่ต้องการระบุเพศ 51 คน ในจำนวนนี้แยกเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา 163 คน ระดับชั้นมัธยมศึกษา 1,772 คน และ ปวช. 50 คน 

 

เมื่อแยกพื้นที่ของนักเรียนที่ตอบแบบสอบถามตามภาคจะพบว่า เป็นนักเรียนในภาคกลางมากที่สุด 746 คน คิดเป็น 37.58% รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 709 คน คิดเป็น 35.72.% ภาคเหนือ 248 คน คิดเป็น 12.49% ภาคใต้ 194 คน คิดเป็น 9.77% ภาคตะวันออก 49 คน คิดเป็น 2.47% และภาคตะวันตก 39 คน คิดเป็น 1.9%

 

สถานที่ใดในโรงเรียนที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุด

 

จากคำถามข้อแรกที่ถามว่าสถานที่ใดที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุด ผลสำรวจพบว่า ‘ห้องน้ำ’ เป็นสถานที่ที่นักเรียนอยากให้ปรับปรุงมากที่สุด โดยตอบสูงถึง 1,388 คน คิดเป็น 96.92% รองลงมาคือ ห้องเรียน 187 คน คิดเป็น 9.42% โรงอาหาร 156 คน คิดเป็น 7.86% สนามกีฬา 142 คน คิดเป็น 7.15% ห้องพยาบาล 31 คน คิดเป็น 1.56% ห้องสมุด 27 คน คิดเป็น 1.36% 

 

อื่นๆ 54 คน คิดเป็น 2.72% เช่น ห้องพักครู โดม หอประชุม โรงรถ ห้องเก็บของ และบางส่วนก็เขียนตอบว่าทุกข้อ

 

กฎที่ไม่ชอบที่สุด

 

สำหรับคำถามว่ากฎเกณฑ์ของโรงเรียนเรื่องใดที่นักเรียนไม่ชอบมากที่สุดนั้น พบว่านักเรียนไม่ชอบให้โรงเรียนกำหนด ‘ทรงผม’ มากที่สุด โดยมีนักเรียนตอบข้อนี้ 990 คน คิดเป็น 49.87% รองลงมาคือ ยึดโทรศัพท์ก่อนเข้าเรียน เป็นจำนวน 209 คน คิดเป็น 10.5% ถัดมาห้ามแต่งหน้า จำนวน 195 คน คิดเป็น 9.82% บังคับใช้กระเป๋าของโรงเรียน 150 คน คิดเป็น 7.56% ห้ามทำสีผม 121 คน คิดเป็น 6.10% เล็บต้องสั้น 100 คน คิดเป็น 5.04% กำหนดรูปแบบถุงเท้า 59 คน คิดเป็น 2.97% กำหนดความยาวกางเกง/กระโปรง 29 คน คิดเป็น 1.46% บังคับใส่เสื้อซับใน 16 คน คิดเป็น 0.81% อื่นๆ 116 คน คิดเป็น 5.84% เช่น ห้ามใส่เสื้อแขนยาว เสื้อกันหนาวในฤดูร้อน ห้ามใส่เครื่องประดับ   

 

การลงโทษของครูที่ไม่ชอบที่สุด

 

ส่วนคำถามที่ว่าการลงโทษแบบไหนของครูที่นักเรียนไม่ชอบที่สุด พบว่า การประจานต่อหน้าเพื่อน เป็นสิ่งที่นักเรียนไม่ชอบมากที่สุด โดยมีนักเรียนเลือกตอบในข้อนี้ 777 คน คิดเป็น 39.14% รองลงมาคือการด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย จำนวน 356 คน คิดเป็น 17.93% อันดับสามคือ กล้อนผม/ตัดผม จำนวน 248 คน คิดเป็น 12.49% ยึดโทรศัพท์ 182 คน คิดเป็น 9.17% สควอตจัมป์/วิ่งรอบสนาม 130 คน คิดเป็น 6.55% การตี 107 คน คิดเป็น 5.39% ให้นั่งตากแดด 66 คน คิดเป็น 3.32% อื่นๆ 119 คน คิดเป็น 5.99% เช่น หักคะแนนความประพฤติ เก็บเงิน/โดนปรับด้วยเงิน ยึดของ 

 

เรื่องที่อยากให้ครูเข้าใจและช่วยเหลือมากที่สุด

 

ส่วนคำถามที่ว่าเรื่องที่นักเรียนอยากให้ครูเข้าใจและช่วยเหลือมากที่สุดคือเรื่องใดนั้น พบว่า เรื่องที่นักเรียนตอบมากที่สุดก็คือ อยากให้ครูเข้าใจเงื่อนไขที่ต่างกันของนักเรียนแต่ละคน เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัว โดยมีจำนวน 807 คน คิดเป็น 40.65% 

 

รองลงมาคือ อยากให้เข้าใจเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียน เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล จำนวน 421 คน คิดเป็น 21.21% อันดับสามคือ ความแตกต่างทางกายภาพ เช่น รูปร่าง ความสูง สีผิว จำนวน 382 คน คิดเป็น 19.24% ความหลากหลายทางเพศ จำนวน 282 คน คิดเป็น 14.21% และอื่นๆ จำนวน 93 คน คิดเป็น 4.69% เช่น ความสามารถที่แตกต่างกันของนักเรียน การโดนบูลลี่ 

 

สิ่งที่ไม่อยากให้ครูทำมากที่สุด

 

คำถามที่ว่าอะไรคือสิ่งที่นักเรียนไม่อยากให้ครูทำมากที่สุด พบว่าอันดับหนึ่งคือการล้อเลียนนักเรียนด้วยเรื่องกายภาพ เพศ ชาติพันธุ์ สำเนียง จำนวน 447 คน คิดเป็น 22.52% รองลงมาคือ สั่งการบ้าน 400 คน คิดเป็น 20.15% พูดจาหยาบคาย จำนวน 290 คน คิดเป็น 14.61% 

 

เลือกที่รักมักที่ชัง จำนวน 280 คน คิดเป็น 14.11% สั่งงานที่ทำให้เกิดภาระทางการเงิน 239 คน คิดเป็น 12.04% ถึงเนื้อถึงตัว 63 คน คิดเป็น 3.17% นินทานักเรียนลงโซเชียลมีเดีย 59 คน คิดเป็น 2.97% ใช้ให้ทำงานในเรื่องส่วนตัว 54 คน คิดเป็น 2.72% รับสอนพิเศษแล้วออกข้อสอบ 42 คน คิดเป็น 2.12% โพสต์คลิป/ภาพถ่ายของนักเรียนลงโซเชียลมีเดีย 32 คน คิดเป็น 1.61% และอื่นๆ 79 คน คิดเป็น 3.98% เช่น นินทานักเรียนให้ครูคนอื่นหรือห้องอื่นฟัง สั่งงานในช่วงก่อนสอบหรือสั่งงานมากเกินไป 

 

สิ่งที่นักเรียนอยากให้มีมากที่สุด

 

ส่วนคำถามเรื่องสิ่งที่นักเรียนอยากให้มีมากที่สุด พบว่านักเรียนอยากให้ชั่วโมงเรียนน้อยลงมากที่สุด จำนวน 757 คน คิดเป็น 38.14% รองลงมาคือนักเรียนอยากใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน จำนวน 386 คน คิดเป็น 19.45% อันดับสามคือ อยากให้มีกิจกรรมประเมินครู จำนวน 231 คน คิดเป็น 11.64% แต่งชุดนักเรียนตามเพศสภาพ 189 คน คิดเป็น 9.52% มีนักจิตวิทยาในโรงเรียน 185 คน คิดเป็น 8.32% อินเทอร์เน็ตฟรี 157 คน คิดเป็น 7.91% และอื่นๆ 80 คน คิดเป็น 4.03% เช่น ยกเลิกกฎระเบียบทรงผม คาบว่าง 

 

กิจกรรมที่นักเรียนไม่อยากให้มีที่สุด

 

สำหรับคำถามที่ว่ากิจกรรมใดที่นักเรียนไม่อยากให้มีมากที่สุด พบว่านักเรียนอยากให้ยกเลิกกิจกรรมหน้าเสาธง มากที่สุด จำนวน 532 คน คิดเป็น 26.8% รองลงมาคือ สมุดบันทึกความดี จำนวน 328 คน คิดเป็น 16.52% อันดับสามคือ กิจกรรมค่ายธรรมะ จำนวน 276 คน คิดเป็น 13.9% กิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ จำนวน 267 คน คิดเป็น 13.45% กิจกรรมสวดมนต์ จำนวน 220 คน คิดเป็น 11.08% กิจกรรมวันพ่อวันแม่ จำนวน 106 คน คิดเป็น 5.34% เวรทำความสะอาด จำนวน 98 คน คิดเป็น 4.94% กิจกรรมจิตอาสา จำนวน 82 คน คิดเป็น 4.13% อื่นๆ 76 คน คิดเป็น 3.83% เช่น กิจกรรมกีฬาสี บันทึกรักการอ่าน กิจกรรม 5 ส. 

 

วิชาที่อยากให้ยกเลิกที่สุด

 

ในคำถามที่ว่าวิชาใดที่นักเรียนอยากให้ยกเลิกที่สุด พบว่าวิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด บำเพ็ญประโยชน์ เป็นวิชาที่นักเรียนอยากให้ยกเลิกมากที่สุด จำนวน 1,216 คน คิดเป็น 61.26% รองลงมาคือ วิชาพุทธศาสนา จำนวน 225 คน คิดเป็น 11.34% อันดับสามก็คือ วิชาหน้าที่พลเมือง จำนวน 128 คน คิดเป็น 6.45% วิชาชุมนุม/ชมรม จำนวน 127 คน คิดเป็น 6.40% นาฏศิลป์ จำนวน 122 คน คิดเป็น 6.15% พลศึกษา จำนวน 40 คน คิดเป็น 2.02% อื่นๆ 127 คน คิดเป็น 6.4% เช่น แนะแนว คณิตศาสตร์ กระบี่กระบอง 

 

วิชาที่อยากให้มีที่สุด

 

เมื่อถามว่า วิชาใดที่นักเรียนอยากให้มีมากที่สุดคือ การเงิน การลงทุน โดยมีนักเรียนที่เลือกตอบข้อนี้ 788 คน คิดเป็น 39.7% รองลงมาคือ วิชาว่าด้วยการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย จำนวน 416 คน คิดเป็น 20.96% อันดับสามคือ วิชาอีสปอร์ต จำนวน 396 คน คิดเป็น 19.95% แดนซ์ จำนวน 268 คน คิดเป็น 13.5% อื่นๆ จำนวน 117 คน คิดเป็น 5.89% เช่น ปฐมพยาบาลเบื้องต้น วิชาการป้องกันตัว แต่งหน้าทำผม ทำอาหาร 

 

อ่านข้อมูลทั้งหมดที่ rocketmedialab.co/database-student-q1-2024 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising