×

คุยข้ามวัยกับ เฟิร์ส-ลัท-จ๋า สามทัศนคติที่แตกต่างจากก้นครัวมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ซีซัน 2

03.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • จ๋า น้ำทิพย์ สารภาพกับเราว่าตอนเด็กๆ ไม่ชอบเข้าครัว เพราะเธอไม่ชอบล้างจาน และเธอเกลียดกลิ่นน้ำยาล้างจานมาก
  • เฟิร์ส ธนภัทร เปรียบเทียบ ลัท นลัท เป็นอาหารชนิดหนึ่งนั่นก็คือ ‘ข้าวหลามไส้สังขยา’ เพราะเขาคิดว่าสิ่งนี้ดูอธิบายตัวลัทได้ดีที่สุด ทั้งเรื่องการเป็นคนถนัดทำของหวานและความคิดสร้างสรรค์
  • ลัท นลัท ชื่นชมจ๋าครั้งไปเวิร์กช็อปแล่ปลาด้วยกัน โดยจ๋าเอาเนื้อปลาเหลือๆ เศษๆ มาทอด และทำเป็นปลากะพงทอดราดน้ำปลาให้ลัทกิน และลัทรู้สึกประทับใจกับความคิดสร้างสรรค์ของจ๋ามาก

ถึงแม้รายการ มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ซีซัน 2 จะลาจอไปได้สักพักใหญ่แล้ว แต่เราก็ยังคงอยากจะหาโอกาสนั่งพูดคุยกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ บ้าง หลังจากคราวที่แล้วเรานั่งคุยกับสองหนุ่มหล่อสองวัยอย่าง กอล์ฟ สัญญา และ หมอตั้ม ดิศกุล สืบเสาะหารสชาติชีวิตของพวกเขาอย่างเข้มข้น มาคราวนี้เราจับเอาสามผู้เข้าแข่งขันสามวัยมานั่งคุยกันอย่างออกรส ซึ่งสองในสามคนนี้คือเจ้าของตำแหน่งแชมป์และรองแชมป์ของซีซันที่ผ่านมาอย่าง เฟิร์ส-ธนภัทร สุยาว และ ลัท-นลัท จิรวีรกูล ซึ่งรายหลังนี้เพิ่งจะคว้าตำแหน่งเจ้าสาวป้ายแดงพ่วงมาด้วย บวกกับหนึ่งผู้เข้าแข่งขันที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในซีซันนี้อย่าง จ๋า-น้ําทิพย์ ภูศรี

 

พวกเขามีอายุไล่เรียงกันไปตั้งแต่วัย 21 ปี (เฟิร์ส), 25 ปี (จ๋า) และ 30 ปี (ลัท) ต่างเติบโตมาในวันที่โลกหมุนเร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยี แต่การเกิดห่างกันไม่กี่ปีในช่วงระยะที่เท่าๆ กัน กลับมีแง่มุมที่ต่างกันมาก และคล้ายคลึงกันมากๆ อยู่ในทีอย่างน่าสนใจ เราจึงขออนุญาตให้พวกเขาลองถามตอบเพื่อต่อยอดความคิดแก่กัน จับจดความคิดเห็น ทัศนคติ วิธีคิด และวิธีการทำงานของพวกเขา เพราะคงไม่มีโอกาสบ่อยๆ ที่พวกเขาทั้งสามจะมานั่งคุยกันแบบนี้

 

(จากซ้ายไปขวา) เฟิร์ส ธนภัทร, ลัท นลัท และจ๋า น้ำทิพย์

 

ทั้งสามคนเติบโตมากับอาหารประเภทไหน รสชาติไหนคือสิ่งที่คุณฝังจำมาตั้งแต่เด็กๆ

ลัท: ทางบ้านลัทที่จังหวัดลำปางจะเป็นอาหารที่มีความเป็นจีนปนไปกับอาหารเหนือ อย่างรสชาติที่คุ้นมาตั้งแต่เด็กก็จะเป็นรสมือแม่เสียส่วนใหญ่ แม่ลัทก็จะทำกุ้งอบวุ้นเส้น ยำถั่วกับมะเขือ มีความจีนและเหนือผสมกัน

 

จ๋า: ของจ๋าจะเป็นอาหารอีสานกับอาหารไทยค่ะ ทางบ้านเป็นคนอีสาน เพราะฉะนั้นจ๋าจะได้กินทุกอย่างจริงๆ ทุกรสชาติ กินเนื้อวัว กินเครื่องในแปลกๆ กินของดิบ อย่างปูดองนี่จะชอบมาก (หัวเราะ)

 

เฟิร์ส: ของผมก็จะเป็นอาหารไทยเหนือทั่วไปครับ ไม่มีรสชาติไหนเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรสชาติคุณแม่ทำเสียเยอะ

 

 

จุดเริ่มต้นในการทำอาหารครั้งแรกของคุณทั้งสามคน

จ๋า: เข้าครัวกับคุณแม่นี่แหละคือจุดเริ่มต้น ที่บ้านจ๋าเป็นอู่ซ่อมรถ หน้าร้านก็จะซ่อมรถกันโฉงเฉงไป หลังครัวก็จะเป็นคุณแม่ทำกับข้าวไป แต่ตัวจ๋าเองจะชอบไปอยู่กับผู้ชายมากกว่า ชอบอยู่หน้าร้านกับพี่ชาย และพี่ชายก็จะไล่ให้มาอยู่กับคุณแม่ เพราะกลัวน้องจะแมนเกินไป แต่ดูเหมือนไล่ไม่ทันนะ (หัวเราะ) สารภาพว่าตอนเด็กๆ ไม่ชอบเข้าครัว เพราะไม่ชอบล้างจาน จ๋าเกลียดกลิ่นน้ำยาล้างจานมากเลย ทำให้เราไม่อยากเข้าครัว แต่ตอนทำอาหารน่ะสนุกมาก เราก็คอยหยิบวัตถุดิบให้แม่ แล้วแม่ก็จะถอนหายใจแล้วก็บ่นว่าชักช้า

 

ลัท: แม่ทุกคนเป็นอย่างนี้หมด แล้วเราก็เถียงว่าทำไมไม่ทำเองในเมื่อไม่ทันใจ (หัวเราะ)

 

เฟิร์ส: ของผมก็โดนบ่นนะตอนเด็กๆ แม่ผมก็เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ขายกับข้าว เราก็ต้องช่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เลยต้องทำอาหารเป็นไปโดยปริยาย

 

ลัท: ของลัทครั้งแรกที่จำได้คือ เข้าครัวกับแม่ และจำได้ว่าแม่กำลังทำปูให้กินด้วยวิธีเอาตะเกียบกับสากมาตีกัน เจาะตรงอกปู ลัทจำได้เลยว่าแม่ทำให้กินครั้งเดียว เพราะลัทไม่อยากกินอีกเลย สงสารปู (หัวเราะ) มันสดมาก มันยังดิ้นอยู่เลย ติดตามาก

 

คุณเคยได้ชิมรสมือของใครสักคนในวงสนทนานี้หรือไม่

จ๋า: ขนมของลัทค่ะ ใครๆ ก็ต้องเคยได้กิน อร่อยนะ บราวนีคุณน่ะ (หัวเราะ)

 

ลัท: แต่เชื่อไหมว่า ไม่เคยมีใครได้ชิมฝีมือเฟิร์สเลย ไม่เคยได้กินเลยจริงๆ

 

จ๋า: เวลามาเจอหน้ากัน ปาร์ตี้กัน เฟิร์สก็หนีไปนอน ไม่เข้าครัว เพราะเฟิร์สชอบอ้างว่ามีคนทำเยอะแล้ว เด็กซุ่มที่แท้จริง

 

เฟิร์ส: ก็มีคนทำเยอะแล้วจริงๆ พี่ (หัวเราะ)

 

ลัท: แต่ลัทเคยชิมรสมือจ๋านะ คือจ๋ารสมืออร่อย ทำอะไรก็อร่อย เคยไปเวิร์กช็อปด้วยกันครั้งหนึ่งก่อนเข้ารายการ มีการสอนทำอาหารญี่ปุ่น แล่ปลาโน่นนี่ จ๋าก็เอาเนื้อปลาเหลือๆ เศษๆ มาทอด บอกเราว่าจะทำเป็นปลากะพงทอดราดน้ำปลา แล้วจ๋าใส่หัวหอมใหญ่เข้าไปในน้ำปลา บอกว่าจะได้หวาน สำหรับลัท จ๋าเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมากๆ

 

 

คุณตกหลุมรักการทำอาหารเพราะอะไร

ลัท: เราชอบที่สุด คือตอนที่คนได้กินอาหารของเรา

 

จ๋า: แล้วกูจะตอบอะไรเนี่ย (หัวเราะ)

 

ลัท: เหมือนเวลาเราทำขนม เราเห็นคนทำหน้าฟิน แล้วบอกว่ามันอร่อยจังเลย นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราได้รับ

 

จ๋า: เรื่องจริงค่ะ ขอตอบเหมือนพี่ลัท ความสุขของคนทำคือคนกิน ต้องรอมีคนมากิน มันถึงจบกระบวนการทำอาหารของเรา พอเขาตอบว่ามันดี ตอนนั้นแหละ คือคำตอบว่าเราชอบทำอาหารเพราะอะไร

 

เฟิร์ส: งั้นผมขอตอบไม่เหมือนแล้วกัน ความสุขในการทำอาหารของผมคือ ผมจะคิดก่อนว่า ผมจะทำให้ใครกิน เพราะความสุขของผมคือการทำอาหารให้ใครสักคนที่ผมอยากให้กินจริงๆ

 

หากให้เปรียบคนในวงสนทนานี้เป็นอาหารหนึ่งชนิด คุณจะเปรียบเทียบพวกเขาเป็นอาหารจานไหน

ลัท: อย่างจ๋านี่ลัทให้เป็น ‘ส้มตำปูปลาร้า’ ค่ะ แซ่บ ครบรส หมายถึงเรื่องความเก่งกาจรอบด้านของเขาด้วยนะ มีทั้งแข็งแรง เผ็ด หวาน และเค็ม ส่วนของเฟิร์ส ลัทให้เป็น ‘แกงอ่อม’ แล้วกันค่ะ มันมีความละมุนทางรสชาติอยู่ค่อนข้างมาก เหมือนตัวน้องเขาที่มีทั้งละมุน ทั้งแข็งกร้าว

 

เฟิร์ส: รอบนี้ผมขอตอบก่อนบ้าง ผมให้พี่จ๋าเป็น ‘ต้มแซ่บกระดูกอ่อน’

 

จ๋า: เพราะว่ามึงจะได้เคี้ยวกูได้ใช่ไหม? (หัวเราะ)

 

เฟิร์ส: ไม่ใช่พี่จ๋า ผมหมายถึงพี่มีทั้งความแข็งและความอ่อนอยู่ในตัวไง และมีรสชาติเผ็ดร้อนอย่างนี้ (หัวเราะ) ส่วนพี่ลัท ผมให้เป็น ‘ข้าวหลามไส้สังขยา’ ดูอธิบายตัวพี่เขาได้ดีที่สุด ทั้งเรื่องของหวานและความคิดสร้างสรรค์ครับ

 

จ๋า: จ๋าคิดว่าพี่ลัทควรเป็นขนมไทยทั้งหมด เพราะมีขั้นตอนเยอะ ซับซ้อน และละเอียดอ่อน พี่ลัทเขาเป็นผู้หญิงอ่อนหวาน แต่แอบยากข้างในนะ แล้วก็แข็งแกร่งมาก ส่วนเฟิร์สเหมาะมากกับ ‘ไข่เจียวใส่พริกซอย’ เพราะว่ามันดูเด็กมาก แต่ซ่อนความเผ็ด ความเก่งไว้ข้างใน

 

 

คุณคิดว่าการที่ผู้ใหญ่สมัยนี้มักชอบพูดว่า วัยรุ่นยุคเราๆ นั้นเหลาะแหละ เปลี่ยนงานบ่อย หรือไม่เอาไหน เป็นเรื่องจริงหรือไม่

ลัท: สำหรับวัยลัท ลัทว่ามันเป็นยุคที่คนค้นหาตัวเองแล้วก็มีโอกาสเยอะ เพราะว่าทุกวันนี้เรามีอินเทอร์เน็ต เราสามารถหาสิ่งที่เราชอบได้เยอะมาก ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องรอรับโทรศัพท์ไปสัมภาษณ์งานเท่านั้น หรือดูงานที่เขาเสนอมาจากในหนังสือพิมพ์ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คนยุคเรามีทางเลือกเยอะ ไม่แปลกใจที่เราจะสามารถหาแนวทางของตัวเองได้อย่างที่ชอบ หรือเปลี่ยนความชอบไปมาก็ไม่ใช่เรื่องผิด

 

จ๋า: ผู้ใหญ่อาจจะมองคนวัยจ๋าว่าเหยาะแหยะ เพิ่งเรียนจบมา ลุ่มๆ ดอนๆ ซึ่งจริงๆ แล้วที่พวกเขามองว่าวัยเราเหยาะแหยะ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าวัยรุ่นทำอะไรกันอยู่ และเขาก็คงไม่เข้าใจ มันเหมือนทุกวันนี้เราสามารถวิ่งเข้าหาความฝันหรือสิ่งที่เราชอบ เพื่อให้เปลี่ยนเป็นอาชีพได้ และเราก็ยังวิ่งไปได้เรื่อยๆ

 

เฟิร์ส: ตัวผมก็เข้าใจว่ายังไงผู้ใหญ่ก็มองไม่เหมือนเราหรอก เขาจะเคยชินกับอาชีพที่มีภาพความสำเร็จมาแล้ว อย่างข้าราชการ ทหาร ครู ต่างๆ มันคือภาพของความมั่นคง แต่ว่าเราเกิดในอีกยุคหนึ่งที่มองสิ่งที่เรียกว่าอาชีพแตกต่างจากเขา เขาจึงไม่รู้จักอาชีพที่เราอยากเป็น เขาไม่เห็นสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ

 

 

คุณต่างมองเห็นอะไรจากช่องว่างทางอายุของพวกคุณทั้งสามคน ทัศนคติ วิธีคิด หรือมุมมองอะไรจากน้องๆ หรือพี่ๆ ที่คุณนำมาปรับใช้ในชีวิต

ลัท: ถ้านับกันเฉพาะในรายการแข่งขัน ลัทอยู่ตรงกลาง เพราะมีคนที่อายุมากกว่าและเด็กกว่าด้วยมากๆ กับผู้ใหญ่ ลัทรู้สึกว่าลัทได้เรียนรู้อะไรจากเขาเยอะมาก เพราะพี่ๆ เขาผ่านโลกมาเยอะ พอเราไปปรึกษาอะไร เขาก็จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาให้เราได้ดี ส่วนฝั่งน้องๆ เราคุยกับเขาเหมือนได้เติมไฟ ได้แชร์ความคิดความรู้สึกกันมากกว่า

 

เฟิร์ส: สำหรับผม การพูดคุยกับพี่ๆ เหมือนเป็นการทบทวนตัวเองไปด้วยว่า ผมทำในสิ่งที่ผมทำตอนนี้ได้ดีแค่ไหน บางเรื่องที่เรารู้ หรือบางเรื่องที่พี่ๆ เขารู้ พอได้แลกเปลี่ยนกัน ทำให้ผมได้ความรู้ใหม่ๆ เยอะขึ้นมากครับ

 

จ๋า: มองเห็นในเรื่องของความคิดนะคะ ในเกมแข่งขันอาจจะไม่มีผลเท่าไร แต่เราได้เห็นน้องๆ ที่เก่งมากๆ อย่างเฟิร์สเองก็ดี หรือคนอื่นๆ ในรายการ จ๋ารู้สึกว่าพวกเขาตามหาสิ่งที่พวกเขาต้องการอยู่เสมอ มันทำให้เขามีประสบการณ์เยอะ ทำให้เขาเก่งกว่าเรา แต่ถ้าพี่ๆ ที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเรา เราก็ได้ปรึกษา ได้ในเรื่องแง่คิดต่างๆ ในเรื่องการใช้ชีวิต

 

แต่ถ้าได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับแก๊งเด็กกว่า จ๋าชอบที่พวกเขาจะมีแต่วิ่งหาโอกาส เขาจะทบทวนตัวเองว่าเขามีอะไรบ้าง และมีอะไรที่เขายังไม่รู้อีก ซึ่งนั่นคือจุดแข็งของเด็กยุคนี้ ยุคเราก็ด้วยที่อาจจะเหลาะแหละในสายตาคนอื่น แต่เรามีความเชื่อในการเลือกจะทำอะไรบางอย่างเสมอ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising