×

เก็บทิปส์ แงะวัตถุดิบ และส่องสูตรเด็ดจาก MasterChef Thailand Season 2 EP.6

13.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • มีวิธีการปรุง ‘ปลาหมึกยักษ์’ ให้นิ่มขึ้นหลายวิธี อย่างในร้านอาหารประเทศสเปนมักจะนำปลาหมึกยักษ์ไปลวกในน้ำเดือดจัด 3 ครั้งเพื่อให้ได้เนื้อที่นิ่มขึ้น และจะต้องลวกในหม้อทองแดงทรงสูงเท่านั้น เพื่อให้หนวดปลาหมึกยักษ์สุกโค้งเข้ารูปกับขอบหม้อเพื่อความสวยงาม
  • การจัดการกับ ‘ไก่บ้าน’ ช่างง่ายแสนง่าย เพียงแค่คุณจะต้องนำไปต้มทั้งตัวเพื่อให้ง่ายต่อการถอนขนซึ่งมีจำนวนเยอะมาก เพราะถ้าหากคุณถอนขนทันทีโดยไม่ผ่านการต้มจะทำให้หนังไก่ฉีกขาด ไม่น่ารับประทาน
  • ตามธรรมชาติแล้ว ปลาดุกนั้นชอบอาศัยอยู่ในโคลน ตัวมันจึงเต็มไปด้วยกลิ่นโคลนและเมือก ดังนั้นคุณจะต้องชโลมเกลือและล้างมันจนกว่าจะสะอาดก่อนจะนำมาปรุงอาหาร รวมทั้งล้างกลิ่นเหล่านั้นด้วยการต้มร่วมกับสมุนไพรไทยอื่นๆ

แฟนรายการ มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย คงช็อกไปตามๆ กันตั้งแต่เห็นตัวอย่างของเอพิโสด 6 ที่ปล่อยออกมาเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว เพราะเราได้เห็นซีนที่รุนแรงต่อความรู้สึกอย่างการที่ เชฟเอียน พงศ์ธวัช นำจานอาหารของผู้เข้าแข่งขันท่านหนึ่งเทลงถังขยะอย่างไม่ไยดี พร้อมกล่าวประโยคอันน่าขนลุกที่ได้ยินทีไรก็ใจฝ่อว่า “เชฟไม่ทานครับ” -สงสัยเชฟจะเอียน

 

 

เชฟเอียนจะเอียนไม่เอียนไม่ทราบ คุณต้องลองเข้าไปชมรายการด้วยตัวเอง แต่ที่แน่ๆ เอพิโสดนี้ยังคงความสนุกไว้อย่างครบถ้วน ทั้งโจทย์ที่ท้าทาย การเล่นเกมชวนหัวของผู้เข้าแข่งขัน ความดราม่า และฝีปากของกรรมการที่น่ากลัวเสมอ ต้องขอชื่นชมทีมงานของรายการนี้ไว้ตรงนี้ด้วย เพราะรายการเดินทางมาถึงตอนที่ 6 แล้ว แต่มันยังสามารถทำให้ผู้ชมร่วมสนุกไปด้วยได้อย่างต่อเนื่องด้วยยอดผู้ชมเกิน 1 ล้านวิวในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

 

ดูเหมือนว่า ‘การทำความรู้จักวัตถุดิบ’ จะถูกหยิบยกเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในเอพิโสดนี้ เพราะในสัปดาห์นี้มีโจทย์ในการใช้วัตถุดิบระดับโลกอย่าง ‘ทาโกะ’ หรือ ‘ปลาหมึกยักษ์’ รวมไปถึงวัตถุดิบพื้นบ้านไทยๆ อีก 3 ชนิดอย่าง ปลาดุก ไก่บ้าน และหมูป่า ซึ่งล้วนมีวิธีการจัดการวัตถุดิบในแบบของตัวมันเอง ซึ่งคณะกรรมการก็ยังคงกล่าวตักเตือนผู้เข้าแข่งขันเสมอถึงการหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำอาหาร เพื่อให้พวกเขาได้ทำทุกโจทย์ออกมาอย่างเต็มที่ และในขณะที่กรรมการกำลังพร่ำสอนและตักเตือนอยู่นั้น เราก็พบเห็นผู้เข้าแข่งขันที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบอยู่หลายคน บางคนแยกปลาช่อนกับปลาดุกไม่ออก บ้างก็ไม่รู้จักการถอนขนไก่ หรือไม่รู้จักต้นหอมและปลาแห้งญี่ปุ่น -นี่พวกพี่มาเล่นอะไรกันนะ

 

ถึงแม้รายการจะเต็มไปด้วยผู้เข้าแข่งขันที่ทำให้คนดูปวดหัว หัวเราะ และเสียน้ำตาให้กับพวกเขา แต่ในขณะเดียวกัน ครัวมาสเตอร์เชฟก็ยังมีอะไรให้ THE STANDARD ได้สำรวจอยู่เสมอ ว่าแต่สัปดาห์นี้พอจะมีอะไรให้เราได้หยิบจับไปใช้ในครัวที่บ้านได้บ้างล่ะ

 

 

แงะวัตถุดิบ ‘กล่องปริศนา’ ทาโกะ (ปลาหมึกยักษ์)

ปฏิกิริยาหลังจากเปิดกล่องปริศนาในสัปดาห์นี้อาจจะไม่ค่อยหวือหวาเท่าไร มันควรจะเป็นความตกใจมากกว่า เพราะเจ้าวัตถุดิบหนวดยาวแปดเส้นตัวโตนี้มองดูแล้วน่าขนลุกอยู่ไม่เบากับ ‘ทาโกะ’ หรือ ‘ปลาหมึกยักษ์’ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ทั่วโลกนิยมกันอย่างแพร่หลายและแพงมาก! ขึ้นชื่อว่าปลาหมึก แน่นอนว่ามันต้อง ‘เหนียว’ แถมยังมีรสชาติอ่อน โดดเด่นแค่เพียงรสสัมผัสในการกินเท่านั้น เพราะฉะนั้นการปรุงเจ้าปลาหมึกยักษ์นี้จึงจำเป็นจะต้องทำให้นุ่มขึ้นและเพิ่มรสชาติ ซึ่งต้องใช้ความละเอียดและใส่ใจพอสมควร เพราะถ้าหากปรุงให้ปลาหมึกสุกจนเกินไป เนื้อของมันจะแห้ง

 

สิ่งหนึ่งที่หม่อมหลวงภาสันต์ได้กล่าวถึงปลาหมึกยักษ์นี้ไว้คือการจัดการวัตถุดิบตามแบบฉบับคนท้องถิ่นในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่บอกว่า ‘หากเป็นปลาหมึกยักษ์ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน พวกเขาจะฟาดปลาหมึกกับหินตั้งแต่ตอนจับขึ้นมาเพื่อให้มันนิ่ม’ ทำไมรุนแรงจัง แล้วมันมีวิธีอื่นอีกหรือไม่

 

 

ถึงจะรุนแรง แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะวิธีการปรุงอาหารของเชฟชาวกรีกมักจะแนะนำให้เอาปลาหมึกสดๆ ไปตีเข้ากับก้อนหินเพื่อทำให้เนื้อของมันนุ่มขึ้น (ในกรณีนี้ คุณอาจใช้ที่ทุบเนื้อแทนก็ได้ อย่ารุนแรงกับน้องนักเลย) หรืออย่างวิธีอื่นๆ ในประเทศละแวกนั้น เช่น ในร้านอาหารประเทศสเปนมักจะนำปลาหมึกยักษ์ไปลวกในน้ำเดือดจัด 3 ครั้งเพื่อให้ได้เนื้อที่นิ่มขึ้น และจะต้องลวกในหม้อทองแดงทรงสูงเท่านั้น เพื่อให้หนวดปลาหมึกยักษ์สุกโค้งเข้ารูปกับขอบหม้อเพื่อความสวยงาม

 

แงะวัตถุดิบท้องถิ่นไทย 3 ชนิด

ในรอบบททดสอบความคิดสร้างสรรค์ หรือ Invention Test นี้เหมือนทุกอย่างจะดูจับวางและลงตัวไปหมดกับการที่ ‘กะปอม’ ผู้เข้าแข่งขันที่ชนะจากรอบกล่องปริศนา ผู้ขึ้นชื่อเรื่องความชำนาญในวัตถุดิบแบบไทยๆ ได้มาเป็นผู้เลือกวัตถุดิบบังคับให้กับผู้เข้าแข่งขันท่านอื่นๆ ในรอบนี้ อันประกอบไปด้วย ไก่บ้าน ปลาดุก และหมูป่า ซึ่งล้วนแต่เป็นวัตถุดิบที่น่าสนใจ และผู้ชมอย่างเราคาดหวังว่าจะได้เห็นความหวือหวาของการดัดแปลงของบ้านๆ เหล่านั้นให้ออกมาน่ารับประทานและสร้างสรรค์ แถมยังมีการจัดการวัตถุดิบที่ค่อนข้างเฉพาะตัวอีกด้วย

 

 

ไก่บ้าน

ตำแหน่งวัตถุดิบที่ยากและน่ากลัวที่สุดในสัปดาห์นี้เราขอยกให้เป็นของ ‘ไก่บ้าน’ ที่บอกว่าน่ากลัวไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นวัตถุดิบที่ปรุงยากหรอกนะ แต่ทางรายการเขายกไก่บ้านมาทั้งตัวให้ผู้เข้าแข่งขันได้จัดการวัตถุดิบตั้งแต่ถอนขนยันแล่เนื้อเถือหนัง! แต่ก็นับว่าโชคดีแค่ไหนแล้วที่รายการนำไก่บ้านชนิดนอนสิ้นใจตาหลับเสร็จสรรพมาให้ เพราะครั้งหนึ่งใน มาสเตอร์เชฟ สหรัฐอเมริกา เคยให้ผู้เข้าแข่งขันวิ่งไล่จับไก่งวงตัวเป็นๆ ในห้องซูเปอร์มาร์เก็ตมาแล้ว!

 

หากใครเป็นคนที่เคยรับประทานไก่บ้านจะทราบดีว่าเนื้อและรสชาติของมันโดดเด่นในเรื่องของความเหนียวนุ่ม มีส่วนของเนื้อและไขมันน้อย ซึ่งการจัดการวัตถุดิบนี้ก็ช่างง่ายแสนง่าย เพียงแค่คุณจะต้องนำน้องไก่บ้านไปต้มทั้งตัวเพื่อให้ง่ายต่อการถอนขนซึ่งมีจำนวนเยอะมากเหลือเกินจนน่าปวดหัว เพราะถ้าหากคุณถอนขนทันทีโดยไม่ผ่านการต้มจะทำให้หนังไก่ฉีกขาด ไม่น่ารับประทาน และเสียคุณค่าของวัตถุดิบไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

และไก่บ้านนี่เองที่เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดซีนดราม่าใหญ่โต เมื่อผู้เข้าแข่งขันอย่าง ‘กอล์ฟ’ และ ‘จ้อน’ ปรุงไก่ไม่สุก ด้วยความล่าช้าในการจัดการกับไก่บ้านและเวลาที่มีจำกัด พวกเขามัวแต่วุ่นวายกับการบรรจงถอนขนไก่บ้านอยู่จนเสียเวลาในการปรุงอาหารได้อย่างเต็มที่ เชฟและผู้ชมจึงขอชื่นชมว่าทั้งสองจานนี้เป็นจานที่ชูวัตถุ ‘ดิบ’ อย่างแท้จริง และเมนูทั้งสองก็ลงไปนอนแอ้งแม้งในถังขยะอย่างอาดูร

 

ผิดกับ ‘จ๋า’ ผู้เข้าแข่งขันที่ชนะในรอบนี้ไปอย่างขาดลอย เธอเลือกหั่นเฉพาะบางส่วนของไก่ออกมาเพื่อจัดการกับขน ซึ่งย่นเวลาในการทำงานไปได้มากโข แถมความละเอียดลออในการถอนขนไก่เส้นเล็กๆ ออกจนหมดก็แสดงถึงความใส่ใจในการทำอาหารและได้ใจผู้ชมไปมากทีเดียว

 

 

ปลาดุก

อีกหนึ่งวัตถุดิบที่ค่อนข้างมีรสชาติเฉพาะตัว แถมยังอร่อยมากๆ หากปรุงได้ที่กับ ‘ปลาดุก’ ซึ่งหากใครไม่รู้จริงๆ ว่าตามธรรมชาติแล้วปลาดุกนั้นชอบอาศัยอยู่ในโคลน ดังนั้นเมื่อคุณได้วัตถุดิบมาปุ๊บ คุณจะต้องเห็นความเงาวิบวับของมันที่เรียกว่า ‘เมือก’ อยู่บนตัว รวมไปถึงกลิ่นโคลนที่รุนแรงน้อยมากตามแต่แหล่งที่ไปจับมา วิธีการที่คณะกรรมการบอกในการจัดการปลาดุกเบื้องต้นนั้นคือชโลมเกลือและล้างมันเข้าไปจนกว่าจะสะอาด และล้างภายนอกไม่พอ คุณยังจะต้องจัดการกับน้องปลาดุกนี้ด้วยการต้มมันพร้อมกับสมุนไพรไทยอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เพื่อดับกลิ่นโคลนของมัน

 

 

หมูป่า

วัตถุดิบชนิดสุดท้ายในสัปดาห์นี้เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องของรสสัมผัสที่เหนียวทั้งเนื้อและหนัง รวมไปถึงมีกลิ่นสาบที่รุนแรง ดังนั้นวิธีการจัดการของหมูป่าและปลาดุกก็จะคล้ายๆ กันตรงที่ควรจะต้องนำไปต้มหรือตุ๋นกับข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เพื่อดับกลิ่นและช่วยชูรสชาติของมันออกมา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของหมูป่าคือ คุณไม่ควรเลาะหนังมันออก เพราะนั่นคือส่วนที่อร่อยที่สุด! ความผิดพลาดในสัปดาห์นี้เกิดขึ้นกับผู้เข้าแข่งขันตัวเก็งอย่าง ‘เดียว’ ที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในการปรุงหมูป่า เพราะเขาเลาะหนังหมูป่าออกไปหมด ไม่นำมาปรุงอาหารด้วย เดียวอาจจะไม่รู้ว่าหนังกรุบๆ จากชั้นไขมันที่หนาและหนังที่เหนียวมากของหมูป่านั้นคือดีเทลรสสัมผัสที่หาไม่ได้จากเนื้อสัตว์ประเภทอื่นเชียวนะ

 

สัปดาห์หน้าจะมีวัตถุดิบ เมนู สูตรลับ และทิปส์ดีๆ อะไรจาก มาสเตอร์เชฟประเทศไทย บ้าง ต้องติดตาม

 

ชมย้อนหลัง EP.6 ได้ที่นี่

 

FYI
  • MasterChef คือรายการแข่งขันทำอาหารลิขสิทธิ์จากสหราชอาณาจักร ออนแอร์ครั้งแรกในปี 1990 อายุรายการราว 28 ปี ซึ่งเป็นรายการที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาทั่วไปที่มีใจรักในการทำอาหารได้เข้ามาแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล และที่สำคัญ ผู้ชนะจะได้มี Cookbook หรือตำราทำอาหาร เป็นของตัวเองด้วย โดยรายการถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising