สัปดาห์ที่ 11 ของ มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ยังคงแข่งขันกันอย่างดุเดือดและน่าติดตาม อาจบอกได้ว่าใกล้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของรายการแล้ว เพราะเหลือผู้เข้าแข่งขันอีกเพียงแค่ 9 คนเท่านั้น และโจทย์ในสัปดาห์นี้ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยน่าสนใจ แต่นั่นกลับทำให้เราได้เห็นพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าแข่งขันมากขึ้น และยิ่งทำให้ผู้ชมต่างชอบอกชอบใจ เพราะเริ่มสัมผัสได้ว่าพวกเขามาแข่ง ‘มาสเตอร์เชฟ’ กันจริงๆ จังๆ สักที!
ในสัปดาห์นี้มีโจทย์กล่องปริศนาและโจทย์ทดสอบความคิดสร้างสรรค์ โดยโจทย์แรกเป็นการเล่นใหญ่เข้าว่าอย่างการนำ ‘บ้องตัน’ หรือ ‘หางจระเข้’ มาให้ผู้เข้าแข่งขันได้ทำอาหารกัน แน่นอนว่าปฏิกิริยาของผู้เข้าแข่งขันเองและผู้ชมก็ต่างอ้าปากค้าง ด้วยหน้าตาของวัตถุดิบที่ไม่เป็นมิตรเท่าที่ควร ส่วนโจทย์ในรอบหลังดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องสนุกๆ ที่เราได้เห็นตัวละครอย่าง ‘ยูริ’ ผู้พกความน่าหมั่นไส้มาแข่งขันจนโจษจันไปทั้งเมืองได้เป็นคนคุมเกมกับโจทย์ ‘ผลไม้ไทย 8 ชนิด’ โดยเธอจะต้องเลือกผลไม้ให้กับเพื่อนๆ ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ด้วยตัวเธอเอง – แซ่บแน่นอน!
THE STANDARD ขอพาคุณไปไล่เลียงชมวัตถุดิบ ทิปส์เด็ด และสูตรลับที่น่าสนใจว่าในสัปดาห์นี้เราพอจะหยิบจับอะไรในครัว มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ไปใช้ในชีวิตจริงได้บ้าง
แงะวัตถุดิบ: บ้องตัน หรือหางจระเข้
ในช่วงแรกของรายการนั้นทำให้ผู้ชมต่างเอะใจ หลังจากเปิดกล่องปริศนาซึ่งเป็นโจทย์ในสัปดาห์นี้ออกมาพบว่าเป็น ‘อุปกรณ์ลับมีด’ และนึกว่าโจทย์ในวันนี้คือการให้ทำอาหารด้วยอุปกรณ์ลับมีด! แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะที่ลับมีดนั้นเป็นเพียงไอเท็มที่จะช่วยให้ผู้เข้าแข่งขันมีชีวิตรอดในรอบนี้ เพราะวัตถุดิบหลักจริงๆ คือ ‘บ้องตัน’ หรือ ‘หางจระเข้’ ที่มีความใหญ่ หนา และยากในการจะชำแหละเพื่อทำอาหาร ดังนั้นจึงต้องใช้มีดที่คมมากๆ เพื่อจัดการกับมัน ซึ่งนั่นก็เพราะมันคือส่วนที่มีกล้ามเนื้อที่ใช้พลังมากที่สุดในร่างกายของจระเข้ ซึ่งใช้ในการว่ายนํ้า หรือโบกสะบัดไปมาเพื่อกวาดใบไม้ใบหญ้ามาทำรังวางไข่ และใช้เป็นอาวุธฟาดคู่ต่อสู้ แต่ทำไมต้องเป็นส่วนหางของจระเข้ เพราะว่ามันเป็นเนื้อส่วนที่แพงที่สุดและอร่อยที่สุดยังไงล่ะ!
จระเข้ที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจในประเทศไทยเรานั้นมีอยู่ 2 ชนิดคือ จระเข้น้ำจืด (จระเข้พันธุ์ไทย) และจระเข้น้ำเค็ม (จระเข้ตีนเป็ด) สำหรับประเทศไทยแล้วนิยมเลี้ยงจระเข้น้ำจืด หรือจระเข้พันธุ์ไทยมากกว่า เหตุผลก็เพราะมันหาง่ายกว่าพันธุ์จระเข้น้ำเค็ม และเพาะพันธุ์ได้เร็วกว่าที่อายุประมาณ 10-12 ปี หากใครเคยได้ลองรับประทานเนื้อจระเข้จะพบว่ามันมีเนื้อสัมผัสคล้ายๆ กับเนื้อไก่ และวิธีการจัดการกับวัตถุดิบนั้นก็ช่างง่ายดายเหมือนกับการประกอบอาหารด้วยเนื้อไก่ ต้องเสิร์ฟสุกเท่านั้น แต่อาจจะต่างกันตรงที่คุณจะต้องจัดการกับกลิ่นสาบสักหน่อย โดยเลือกใช้เนื้อที่ไม่ติดหนังด้านนอก หรือขยำเกลือสักหน่อยเพื่อลดกลิ่น
ถ้าอย่างนั้นเราก็กินไก่ก็ได้รสชาติเหมือนกันสิ? แต่สิ่งที่คุณควรจะรู้คือความโดดเด่นของเนื้อจระเข้นั้นแตกต่างจากเนื้อสัตว์อื่นๆ เพราะมันเป็นเนื้อที่ให้ปริมาณโปรตีนสูงและไขมันต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมู โดยเนื้อจระเข้มีส่วนประกอบของโปรตีนถึง 21.1% และมีไขมันเพียง 1.9% เท่านั้น จากรายงานของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ในประเทศไทยเราเองเกิดกระแสการรับประทานเนื้อจระเข้เช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นในสองระยะเวลาด้วยกันคือ ในช่วงปี 2533 ซึ่งเป็นยุคเศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟูมาก เป็นเหตุให้คนมีฐานะดีสรรหาอะไรแปลกๆ มารับประทานกัน ส่วนครั้งที่สองคือในช่วงปี 2539-2540 เป็นช่วงที่เกิดปัญหาเรื่องโรควัวบ้ากับโรคไข้หวัดไก่ ทำให้เนื้อจระเข้เข้ามามีบทบาทเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น
แงะวัตถุดิบ: ผลไม้ไทย
เช่นเคยเหมือนในทุกๆ เอพิโสดที่เราจะต้องได้เห็นการนำวัตถุดิบไทยๆ มาเป็นโจทย์ประจำสัปดาห์ และกับโจทย์ทดสอบความคิดสร้างสรรค์ในสัปดาห์นี้ มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ก็สรรหาผลไม้เด็ดของดีมาถึง 8 ชนิด – เห็นแล้วเปรี้ยวปาก
โดยผลไม้แต่ละชนิดก็มีระดับความยากง่ายที่ท้าทายผู้เข้าแข่งขันแตกต่างกันไป เริ่มต้นตั้งแต่ของง่ายๆ อย่าง กล้วย และ มะยงชิด ซึ่งหม่อมป้อมได้ให้เหตุผลว่าผลไม้สองชนิดนี้ง่ายที่สุดก็เพราะปอกเปลือกง่าย ได้เปรียบเรื่องเวลาในการทำอาหาร แถมยังเป็นผลไม้ที่เอาเนื้อมาใช้ง่ายมาก เพราะไม่ว่าจะบดหรือจะปั่นก็ย่อมได้
ส่วนผลไม้ที่มีความยากระดับปานกลางอย่าง มะเฟือง ทับทิม ตะลิงปลิง และ ทุเรียน ก็ดูจะเป็นผลไม้ที่ต้องใช้เวลาในการตระเตรียมและจัดการกับมัน เช่น ทุเรียนที่ปอกเปลือกยาก ทับทิมที่ต้องค่อยๆ แงะเมล็ดภายในของมันออกมาใช้ หรือตะลิงปลิงที่เนื้อน้อย จึงต้องใช้ในปริมาณที่มากเพื่อให้ได้รสชาติ
ส่วนของยากๆ ที่เราเองก็ไม่เคยรับประทานอย่าง สาเก และ มะม่วงหาว มะนาวโห่ นั้นนอกจากจะยากในการเตรียมวัตถุดิบแล้ว รสชาติของพวกมันยังค่อนข้างซับซ้อนและทำให้อร่อยได้ยาก เช่น สาเก ที่นอกจากจะมีรสสัมผัสของความมันแล้วยังมีรสชาติที่จืดสนิท หรืออย่างมะม่วงหาว มะนาวโห่ ที่รสชาติก็สมชื่อของมัน เพราะมีรสชาติที่ไม่สุดสักทางจนมะนาวยังโห่ จะเปรี้ยวอย่างเดียวก็ไม่ใช่ จะฝาดอย่างเดียวก็ไม่ใช่ ดังนั้นหากคุณไม่รู้จักวัตถุดิบเป็นอย่างดี แน่นอนว่ามันจะ ‘พัง’ สมกับที่หม่อมป้อมตักเตือนไว้ในรายการจริงๆ!
เก็บทิปส์: ผลไม้เหล่านี้ทำอย่างไรให้อร่อย
- สาเก (ที่หน้าตาคล้ายขนุนอ่อนจนผู้เข้าแข่งขันอย่าง ‘กะปอม’ ถึงกับตกม้าตาย) ไม่ได้มีแค่รสสัมผัสมันๆ และรสชาติจืดๆ แต่มันมี ‘ยาง’ ที่คุณต้องจัดการกับมันด้วย หลังจากหั่นเป็นชิ้นๆ คุณควรจะต้องล้างมันด้วยแป้งมันหรือแป้งข้าวเหนียวเพื่อขจัดยางออกไป
- ถ้าคุณจะนำสาเกไปทำขนมหวาน คุณต้องแช่มันลงในน้ำปูนใสก่อน เพื่อช่วยรักษาสภาพของเนื้อสัมผัสให้คงรูปอยู่เสมอหลังจากต้ม ทั้งนี้ยังป้องกันการเปื่อยยุ่ยของเนื้อสัมผัสได้ เพราะแคลเซียมอิออนในน้ำปูนใสจะไปแทรกตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของอาหาร และเข้าทำปฏิกิริยากับผนังเซลล์ของอาหาร กลายเป็นแคลเซียมเพคเตด ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง เป็นโมเลกุลไม่ละลายนํ้า และไม่ยอมให้นํ้าผ่านเข้าได้
- ส่วนความฝาดและความเปรี้ยวของมะม่วงหาว มะนาวโห่ นั้นมีอยู่ทั้งในเนื้อและเมล็ดด้านใน ดังนั้นคุณไม่ควรปั่นหรือบดทีเดียวพร้อมกันทั้งลูก และในขณะปรุงควรจะใช้ ‘น้ำตาล’ เป็นตัวช่วยเพื่อบรรเทารสชาติให้กลมกล่อม
สัปดาห์หน้าจะมีวัตถุดิบ เมนู สูตรลับ และทิปส์ดีๆ อะไรจาก มาสเตอร์เชฟประเทศไทย บ้าง ต้องติดตาม
ชมย้อนหลัง EP.11 ได้ที่นี่
- MasterChef คือรายการแข่งขันทำอาหารลิขสิทธิ์จากสหราชอาณาจักร ออกอากาศครั้งแรกในปี 1990 อายุรายการราว 28 ปี เป็นรายการที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาทั่วไปที่มีใจรักในการทำอาหารได้เข้ามาแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล และที่สำคัญ ผู้ชนะจะได้มี Cookbook หรือตำราทำอาหารเป็นของตัวเองด้วย โดยรายการถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก