×

สถิติแต่งงานจีนทรุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 สะท้อนนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐอาจไม่ได้ผล

15.06.2023
  • LOADING...
แต่งงานในจีน

ข้อมูลจากกระทรวงกิจการพลเรือนจีนเปิดเผยว่า ตัวเลขของคู่สมรสในจีนปี 2022 ลดลงแตะที่ 6.83 ล้านคู่ หรือต่ำสุดนับตั้งแต่ที่มีการเก็บสถิติมาในปี 1986

 

ทั้งนี้ หากเทียบกับปี 2021 จะเห็นว่าจำนวนคู่แต่งงานใหม่ลดลงราว 8 แสนคู่ในปี 2022 โดยรายงานระบุว่า อัตราการสมรสของชาวจีนลดลงอย่างมากในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ช่วงจุดพีคในปี 2013 ที่เคยมีคู่แต่งงานถึงเกือบ 13.5 ล้านคู่ หรือประมาณ 2 เท่าของตัวเลขในปี 2022

 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีนเกิดความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับอัตราการสมรสและอัตราการเกิดที่มีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยนอกเหนือจากยอดการแต่งงานที่ร่วงหนักแล้ว อัตราการเกิดของประชากรจีนในปี 2022 ยังลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าจีนอาจเจอกับภาวะสังคมผู้สูงอายุได้ในอนาคต

 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 มิถุนายน) เจมส์ เหลียง (James Liang) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Trip.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริการการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ ‘วิกฤตอัตราการเกิดต่ำในจีน’ โดยเขาเรียกร้องให้ระบบโรงเรียนจีนหั่นเวลาให้สั้นลงอีก 2 ปี เหลียงกล่าวว่านโยบายดังกล่าว ‘จะให้เวลาผู้หญิงเพิ่มอีก 2-3 ปีในการสร้างครอบครัวและมีลูก’ รวมถึงยังให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย โดยเหลียงอ้างอีกด้วยว่า นโยบายดังกล่าวจะสามารถช่วยกระตุ้นอัตราการเกิดของจีนได้ถึง 30%

 

ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งเข้ามามีอำนาจในปี 2012 รัฐบาลได้ผลักดันระเบียบวาระทางสังคมที่มีลักษณะอนุรักษนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยส่งเสริมให้ผู้หญิงแต่งงานตอนยังสาว เพื่อที่จะได้มีเวลามีลูกเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างปี 2010-2020 อายุเฉลี่ยของผู้หญิงจีนที่แต่งงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นจาก 24 ปี เป็นเกือบ 29 ปี

 

ในปี 2016 จีนได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว และสนับสนุนให้ผู้หญิงมีลูกสูงสุด 3 คน นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นยังได้นำเสนอนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น อย่างเช่นการทำเด็กหลอดแก้วฟรี และการมอบเงินอุดหนุนสำหรับครอบครัวที่มีลูกคนที่ 2 และ 3

 

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลจีนมองว่าชีวิตสมรสที่เข้มแข็งและสมบูรณ์นั้นเป็นรากฐานให้กับการเพิ่มอัตราการเกิด โดยบางมณฑลถึงกับเสนอให้มีวันลาแต่งงานสูงสุดได้ถึง 30 วัน สำหรับคู่แต่งงานใหม่

 

อย่างไรก็ตาม ยุน โจว (Yun Zhou) นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า หญิงสาวที่มีการศึกษาสูงมักวิจารณ์เกี่ยวกับการแต่งงานอยู่บ่อยครั้งว่า ‘เป็นประเพณีโบราณที่กดขี่ผู้หญิง’ โดยนโยบายจูงใจต่างๆ ที่รัฐบาลมอบให้กับประชาชนดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จในการโน้มน้าวคนหนุ่มสาวให้แต่งงานได้ เนื่องจากพวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาอันหนักหน่วง ทั้งการว่างงานของคนรุ่นใหม่และปัญหาทางเศรษฐกิจ 

 

นอกจากนี้ข้อมูลยังเผยให้เห็นด้วยว่า จำนวนการหย่าร้างลดลงเหลือ 2.1 ล้านคู่ในปี 2022 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า โดยการหย่าร้างของคู่สมรสชาวจีนนั้นลดลงจากปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่มีอัตราการหย่าร้างสูงสุด ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายอดการแต่งงานก็ลดน้อยลงด้วย 

 

ทั้งนี้ ในปี 2021 รัฐบาลได้ออกกฎหมายที่บังคับให้คู่รักใช้ชีวิตด้วยกัน 30 วันก่อนหย่าร้างในกระบวนการ ‘Cooling-off Period’ เพื่อลดความขัดแย้งและปรับความเข้าใจกัน โดยผลลัพธ์ก็เป็นที่น่าพอใจเนื่องจากอัตราการหย่าลดลง

 

แต่ในทางกลับกัน เงื่อนไขในการหย่าร้างดังกล่าวก็อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไม่อยากแต่งงานได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีผู้ใช้งาน Weibo รายหนึ่งเขียนว่า “อุปสรรคจอมปลอมในการหย่าร้างนี้ ทำให้คนหนุ่มสาวไม่กล้าแต่งงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

 

แฟ้มภาพ: leungchopan Via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising