×

ยอมโดนแบน ดีกว่าขายกิจการ? ทำไมจีนตอบโต้กรณีสหรัฐฯ บีบขาย TikTok น้อยกว่าช่วง Huawei ถูกแบน

30.04.2024
  • LOADING...
TikTok

กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในสมรภูมิการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในช่วงหลายวันที่ผ่านมา หลัง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขีดเส้นตายให้ ByteDance บริษัทสัญชาติจีนขายกิจการแอปพลิเคชัน TikTok ภายใน 270 วันนับตั้งแต่ลงนามบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านโดยสภาคองเกรส ไม่เช่นนั้นแอปแชร์คลิปวิดีโอสั้นยอดนิยมอย่าง TikTok จะถูกแบนการใช้งานทั่วสหรัฐฯ อย่างถาวร

 

หากการแบนเป็นไปตามเส้นตายวันที่ 19 มกราคม 2025 จริง ก็จะเกิดขึ้นเพียง 1 วันก่อนที่ไบเดนจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยนี้ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ไบเดนอาจใช้อำนาจขยายเวลาการขายกิจการของ TikTok ออกไปได้อีก 3 เดือน หากเห็นว่า ByteDance มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ตามคำสั่งของทางการสหรัฐฯ

 

ปฏิกิริยาจาก TikTok

 

โจวโซ่วจือ ซีอีโอของ TikTok ยืนยันว่า “เราจะไม่ไปไหน” พร้อมมั่นใจว่า ข้อเท็จจริงและรัฐธรรมนูญจะช่วยให้ ByteDance และแอปพลิเคชัน TikTok ชนะคดีเหนือร่างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวได้อย่างแน่นอน

 

ByteDance ยืนยันว่า ไม่มีการแชร์ข้อมูลของผู้ใช้งาน TikTok กว่า 170 ล้านคนในสหรัฐฯ ให้กับทางการจีน ตามที่ทางการสหรัฐฯ แสดงความกังวลแต่อย่างใด อีกทั้งยังระบุว่า บริษัทไม่มีความคิดที่จะขายกิจการ โดยเจ้าหน้าที่ทางการจีนที่กำกับดูแลเรื่องการใช้งานอินเทอร์เน็ตแนะนำให้ ByteDance ยอมถอนตัวออกจากสหรัฐฯ แทนที่การขายกิจการที่ดำเนินงานทั้งหมดในสหรัฐฯ ให้กับผู้อื่น 

 

ท่าทีจีน หลังสหรัฐฯ แบน TikTok

 

หลายฝ่ายมองว่า ท่าทีของจีนต่อกรณีการประกาศแบน TikTok ของสหรัฐฯ ดูจะ ‘ค่อนข้างเงียบกว่าที่คาดการณ์ไว้’ เมื่อเทียบกับช่วงที่จีนออกมาตอบโต้อย่างดุเดือดต่อกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศแบนมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีของจีนอย่าง Huawei  

 

…ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

 

นักวิเคราะห์กล่าวใน The Wall Street Journal ว่า ปฏิกิริยาตอบโต้จากทางการจีนอาจสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ว่า TikTok อาจมี ‘คุณค่าเชิงกลยุทธ์’ ต่อจีนน้อยกว่า Huawei ซึ่งแอปพลิเคชันแชร์คลิปวิดีโอชื่อดังนี้ไม่ได้ถูกมองในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยให้จีนประสบความสำเร็จและกลายเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเช่นเดียวกับ Huawei

 

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และจีนต่างมองว่า การปะทะกันในกรณีของ Huawei นั้นนับเป็นการแข่งขันที่มีเดิมพันสูงกว่า และมีการตอบโต้กันอย่างดุเดือดมากกว่า โดยเฉพาะหลังจากที่ เมิ่งหว่านโจว ผู้บริหารระดับสูงของ Huawei ถูกควบคุมตัวที่แคนาดา ตามคำร้องขอของทางการสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 ก่อนที่จะถูกปล่อยตัว และเดินทางกลับจีนได้ เมื่อปลายเดือนกันยายน ปี 2021 หลังถูกกักตัวในแคนาดานานเกือบ 3 ปี

 

ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ ‘อ้ายจง’ กล่าวกับ THE STANDARD ว่า จริงๆ แล้วปฏิกิริยาจากทางการจีนก็ไม่ได้น้อย เพียงแค่ต่างวาระต่างสถานการณ์กันเท่านั้น กรณี Huawei เสมือนเป็นตัวแทนของจีนที่จะเดินหน้านโยบายสำคัญอย่าง ‘Made in China 2025’ เน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง จีนจึงไม่ยอมและดูมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่ดุเดือด

 

ขณะที่กรณี TikTok ภากรมองว่า ขณะนี้จีนถูกสหรัฐฯ กดดันอย่างหนักในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสินค้าส่งออกหลักใหม่ของจีน ควบคู่ไปกับแบตเตอรี่ลิเธียมและโซลาร์เซลล์ จึงทำให้ดูเหมือนว่าทางการจีนมีท่าทีต่อประเด็นการแบน TikTok ของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ทั้งที่จริงแล้วมีการเรียกร้องในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กับเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กัน

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทางการจีนเชื่อว่า TikTok จะไม่ยอมทำตามสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ เพราะถ้าหากยอมทำตามด้วยการขายกิจการทั้งหมดในสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทแม่ที่ตั้งอยู่ที่จีน ซึ่งจีนมีกฎหมายและมาตรการคุมเรื่องสื่อและบริษัทเทคโนโลยีที่เข้มงวด

 

ภากรยังตั้งข้อสังเกตว่า จีนอาจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการใช้ประโยชน์จากการถูกสหรัฐฯ แบนอย่างไม่เป็นธรรมในครั้งนี้ โดยสร้างระบบ Ecosystem และแพลตฟอร์มแบบจีนที่เข้มข้นและจริงจังขึ้น พร้อมจำกัดการใช้งานในสหรัฐฯ เราจึงอาจเห็นการแบ่งฝ่ายในโลกไซเบอร์และเทคโนโลยีอย่างชัดเจนในอนาคต

 

TikTok กับข้อกังวลด้านความมั่นคง

 

เหตุผลที่ ByteDance อาจยอมโดนแบน ดีกว่าขายกิจการในสหรัฐฯ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง เชื่อว่า โจทย์ทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกับ ‘ความมั่นคงทางไซเบอร์’ (Cybersecurity) เพราะระบบไซเบอร์ของจีนเข้าถึงผู้คนได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็ซ่อนความกังวลของโลกตะวันตกเอาไว้ เพราะเกรงว่าสิ่งนี้อาจนำไปสู่การจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์

 

ทั้งกรณีของ Huawei รวมถึง TikTok นี้ ศ.ดร.สุรชาติ มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า จีนขยายอิทธิพลอย่างมากผ่านระบบไซเบอร์และเทคโนโลยี จนทำให้โลกตะวันตกหวาดระแวง หรือเป็นความกลัวที่เกิดจากการแข่งขันกันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ในขณะที่สหรัฐฯ สั่งแบนแอปพลิเคชันจีน จีนเองก็หวั่นวิตกและแบนการใช้งานแอปพลิเคชันหรือระบบไซเบอร์ต่างๆ จากโลกตะวันตก ‘ไม่ต่างกัน’

 

คำถามสำคัญคือ สังคมไทยกลัวหรือกังวลต่อประเด็นเหล่านี้ไหม หรือสังคมไทยไม่รู้สึก?

 

แฟ้มภาพ: Salarko / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising