×

TRUE – รอแผนธุรกิจที่ชัดเจน

04.03.2023
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

นับตั้งแต่มีข่าวเกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) กับ DTAC (บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) รวมกันก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.04 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 55%) คิดเป็นมูลค่า Synergy ต่อปีได้ที่ 1.14 หมื่นล้านบาท

 

โดยตัวเลขนี้มาจากการคำนวณต้นทุนที่ประหยัดได้ต่อปีที่จะทำให้มูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 1.04 แสนล้านบาท สมมติฐานของ InnovestX Research อิงกับระยะเวลาดำเนินงาน 13 ปี ซึ่งเป็นจำนวนปีที่เหลือของใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ หากรวมมูลค่า Synergy ที่ 1.14 หมื่นล้านบาท เข้ามาใน EBITDA ของ TRUE ในปี 2566 EBITDA Margin จะอยู่ที่ 49.8% เทียบกับ 48.1% สำหรับ ADVANC โดยแนะนำให้นักลงทุนจับตาดูแผนธุรกิจว่า Synergy ที่อาจเกิดขึ้นจะสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้หรือไม่

 

ด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มประหยัดได้จะอยู่ในส่วนของค่าใช้จ่ายการตลาดในช่วง 3 ปีแรก โดยประเมินได้ว่าค่าใช้จ่ายการตลาดต่อยอดขายจะลดลงจาก 8.6% ในปี 2565 สู่ 8.2% ในปี 2566 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อยอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นจาก 11.2% สู่ 11.6% จากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมธุรกิจ

 

โดยรวมแล้วคาดว่าค่าใช้จ่าย SG&A ต่อยอดขายจะอยู่ในระดับทรงตัว YoY ที่ 19.8% และเชื่อว่า TRUE จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมาตรการเยียวยาจาก กสทช. ระบุว่าทั้งสองบริษัทจะต้องแยกแบรนด์ออกจากกันและไม่ลดจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (Cell Sites)

 

สำหรับ Upside ของ ARPU คาดว่าในระยะสั้นน่าจะมีจำกัด ในทางทฤษฎี จำนวนผู้ให้บริการที่ลดลงน่าจะทำให้ภาพรวมการแข่งขันเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หนึ่งในมาตรการเยียวยา คือการกำหนดให้ลดค่าธรรมเนียมบริการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักลง 12% ภายใน 90 วัน หลังจากดีลเสร็จสิ้น แม้ว่า TRUE จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการให้บริการเสียงและข้อมูลแก่ลูกค้าเพิ่ม ในขณะที่คงราคาแพ็กเกจไว้ แต่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ระบบเติมเงิน

 

กระทบอย่างไร:

เมื่อวานนี้ (3 มีนาคม) ราคาหุ้น TRUE ปรับลดลง 0.12%DoD อยู่ที่ระดับ 8.50 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.42%DoD อยู่ที่ระดับ 1,605.91 จุด (ณ 12.30 น.)

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:

InnovestX Research คาดว่า TRUE จะรายงานกำไร 3.1 พันล้านบาท ในปี 2566 ดีขึ้นจากขาดทุน 5.9 พันล้านบาท ในปี 2565 เนื่องจากจะไม่มีค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจำนวน 7.0 พันล้านบาท ใน 4Q65 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์เกิดขึ้นอีก และรายได้จะปรับตัวดีขึ้น 4.2% ตามการฟื้นของเศรษฐกิจ

 

สำหรับระยะสั้น โมเมนตัมผลประกอบการ 1Q66 จะดีขึ้นทั้ง QoQ และ YoY น่าจะได้แรงหนุนส่วนใหญ่จากค่าใช้จ่ายการตลาดที่ลดลงและรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แข็งแกร่งขึ้น

 

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่มีข่าวเกี่ยวกับการควบรวมกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2564 Valuation ปัจจุบันของ TRUE อยู่ที่ PE 94.2 เท่า และ EV/EBITDA 5.9 เท่า ในปี 2566 เทียบกับ PE 21.9 เท่า และ EV/EBITDA 7.1 เท่า สำหรับ ADVANC

 

โดยมองว่า Valuation ระยะสั้นของ TRUE ตึงตัว เนื่องจาก Synergy ด้านต้นทุนมีจำกัดในช่วง 3 ปีแรก ดังนั้นจึงให้คำแนะนำเชิง Tactical ที่ NEUTRAL ด้วยราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี DCF ที่ 9.50 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้หากต้องการให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น ผู้บริหารจะต้องทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่ามูลค่า Synergy ที่คาดหวังจะสูงกว่า 1.04 แสนล้านบาท นับถึงปัจจุบัน TRUE ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะประกาศแผนธุรกิจของบริษัท

 

นอกจากนี้ InnovestX Research เชื่อว่า TRUE มีโอกาสเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้หลังจากควบรวมกิจการ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาโดยมีสาเหตุมาจากมาตรการเยียวยาจาก กสทช. EBITDA Margin ของ TRUE ยังต่ำกว่า ADVANC ในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการสูงกว่า ในแง่ Upside ของ ARPU หลังจากที่อุตสาหกรรมจะมีผู้เล่นหลักในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียง 2 ราย (TRUE และ ADVANC) ยังต้องติดตามกันต่อไป และเชื่อว่า กสทช. น่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงและความกังวลที่ต้องติดตามคือ ARPU Uplift และ Synergy ด้านต้นทุนเกิดขึ้นเร็วกว่าและสูงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งจะส่งผลทำให้มูลค่า Synergy สูงกว่า 1.04 แสนล้านบาท

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising