×
SCB Omnibus Fund 2024

ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้ ฟากผู้บริหารชิงขายหุ้น ก่อนราคาดิ่ง 90% จากจุดสูงสุด

04.01.2023
  • LOADING...

ช่วงเช้าของวันนี้ (4 มกราคม) บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL แจ้งการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัท รุ่น ALL244A ซึ่งครบกำหนดชำระดอกเบี้ยงวดที่ 5 จำนวน 10.65 ล้านบาท ในวันที่ 3 มกราคม 2566 

 

ขณะที่ ธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ชี้แจงว่า สาเหตุการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ครั้งนี้ เป็นเพราะบริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


แหล่งข่าววงการอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า ปัญหาขาดสภาพคล่องของ ALL ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทเร่งขยายธุรกิจผ่านการซื้อที่ดินและพัฒนาโครงการหลายแห่ง แต่ในบางโครงการประสบปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ เช่น ไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำให้กระแสเงินสดติดขัด 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากนี้คือ การผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ครั้งนี้จะลุกลามต่อเนื่องจนกลายเป็นการผิดนัดชำระหนี้ทั้งจำนวน มูลค่า 709.9 ล้านบาท หรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้น ALL ยังคงยืนยันว่า การผิดนัดชำระดอกเบี้ยข้างต้นยังไม่มีผลทำให้บริษัทต้องชำระหนี้ตามหุ้นกู้ทั้งหมด ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระโดยพลัน (Call Default) ในทันที 

 

สรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียงปัญหาเฉพาะตัวของ ALL เพราะจากการติดตามบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมแทบจะไม่มีปัญหาด้านกระแสเงินสด โดยแต่ละบริษัทยังสามารถซื้อที่ดิน เปิดโครงการ และขายได้ตามปกติ 

 

“ปีที่ผ่านมาการโอนกรรมสิทธิ์ของหลายบริษัทยังทำได้เกินกว่าเป้าหมาย ทำให้กระแสเงินสดไม่มีปัญหา เท่าที่ดูไม่เห็นว่าบริษัทอื่นมีปัญหา ณ เวลานี้” 

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลจะเห็นว่า ALL มีปัญหามาสักระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากคอนโดมิเนียมหลายแห่งสร้างไม่เสร็จตามกำหนด ประกอบกับบริษัทถูกฟ้องร้องจากลูกบ้าน สะท้อนถึงปัญหากระแสเงินสดที่ทำให้บริษัทมีแนวโน้มว่าอาจจะผิดนัดชำระดอกเบี้ยได้ 

 

“ก่อนหน้านี้บริษัททำการเพิ่มทุน แต่ได้ไม่ครบตามจำนวน และการที่บริษัทไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 10 ล้านบาท สะท้อนว่าปัญหาอาจจะหนักพอสมควร แต่สำหรับผู้พัฒนาอสังหารายอื่น ส่วนตัวคิดว่าไม่มีปัญหา หลังจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวและการกลับมาของชาวจีน” 

 

ย้อนรอย ALL หลังเข้าเทรดกลางปี 2562

หลังจากระดมทุนผ่านการขายหุ้น IPO ที่ราคา 4.90 บาท เมื่อปี 2562 หลังจากนั้นหุ้น ALL เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ซึ่งราคาทำสถิติสูงสุดในวันนั้นที่ 2.6 บาท (ราคาหลังเพิ่มทุน) ก่อนที่ราคาหุ้นจะเข้าสู่ขาลงอย่างต่อเนื่องจนมาแตะระดับ 0.26 บาท ทำให้มูลค่าของบริษัทดิ่งลงจากราว 2.2 พันล้านบาทในปี 2561 มาเหลือประมาณ 500 ล้านบาทในขณะนี้ 

 

สำหรับผลประกอบการของ ALL ในปี 2562 ยังคงเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งในแง่รายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก 2.34 พันล้านบาท เป็น 2.92 พันล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเติบโตขึ้นจาก 343.42 ล้านบาท เป็น 501.09 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นผลประกอบการของ ALL เริ่มชะลอตัวลงในปี 2563 ก่อนพลิกเป็นขาดทุนสุทธิต่อเนื่องในปี 2564 และ 9 เดือน ปี 2565 

 

ALL พยายามเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ผ่านมา โดยบริษัทออกหุ้นกู้จำนวน 709.9 ล้านบาท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 แต่ดูเหมือนสภาพคล่องที่บริษัทต้องการจะยังไม่เพียงพอ ทำให้บริษัทตัดสินใจออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อจัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัดอีก 6 ครั้ง ระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2565 รวมเป็นเงิน 273 ล้านบาท 

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การขายหุ้นอย่างต่อเนื่องของผู้บริหารบริษัทอย่าง ‘ธนากร’ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท กลับเป็นฝ่ายขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดทั้งปี 2565 ‘ธนากร’ ขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมาสุทธิ 213 ล้านหุ้น เช่นเดียวกับ ชวนา ธนวริทธิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ขายหุ้นสุทธิ 183 ล้านหุ้น ระหว่างปี 2565 

 

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ALL จะแก้ปัญหาสภาพคล่องในครั้งนี้อย่างไร และจะเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้าและผู้ลงทุนกลับมาได้หรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะยังเป็นปัญหาเฉพาะตัว แต่ต้องไม่ลืมว่าอุตสาหกรรมอสังหาเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในวงกว้าง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising