×

ภาคประชาสังคมจี้ คสช. ออก ม.44 แก้ไขคำสั่งช่วยเหลือผู้ประกอบการมือถือ ชี้เอื้อนายทุน ผลักภาระให้ประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
20.04.2019
  • LOADING...

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และเครือข่ายผู้บริโภค จัดเสวนา ‘ม.44 อุ้มมือถือใครได้ ใครเสีย และใครเสียท่า?’ เมื่อวานนี้ (19 เมษายน) โดยชี้ให้เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคและภาครัฐเสียประโยชน์ และควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุถึง 7 เรื่องที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับคำสั่ง ม.44 ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือดังนี้

 

1. การยืดหนี้การประมูล 4G ถือเป็นการยกประโยชน์มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทให้กับผู้ประกอบการ 3 ราย เพราะไม่มีการคิดดอกเบี้ย เป็นการเสียโอกาสทางการเงิน และการที่ กสทช. อธิบายว่าการยืดหนี้ไม่ได้ทำให้รัฐได้เงินน้อยลง แต่ยังคงได้เงินเท่าเดิม ถือว่าพูดไม่จริง เพราะถ้านำดอกเบี้ยมาคำนวณจะพบว่าเงินที่รัฐควรได้หายไป แต่เงินที่เอกชนได้จะเพิ่มขึ้น เช่น ทรูได้เพิ่มขึ้น 8,780 ล้านบาท เอไอเอส 8,380 ล้านบาท และดีแทค 2,580 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินกว่า 19,740 ล้านบาท

 

2. การบังคับทำ 5G คือการให้อภิสิทธิ์ครองตลาดต่อสิ่งที่ กสทช. บอกว่ารัฐบาลบังคับให้เอกชนทำ 5G นั้นจริงๆ แล้วเป็นการให้อภิสิทธิ์กับผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 3 ราย เพราะจะมีสิทธิได้คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปให้บริการ 5G โดยไม่ต้องไปแข่งประมูลเลย ตลาดก็จะมีผู้ให้บริการ 3 รายเท่าเดิม ไม่มีรายใหม่เกิดขึ้น เหมือนเอกชนได้ซื้อคลื่น 5G เพื่อผูกขาดตลาดโทรคมนาคมในราคาที่ถูกมาก อีกทั้งไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าผู้ประกอบการจะชำระมูลค่าคลื่นจริง เพราะยังขึ้นอยู่กับปัจจับต่างๆ ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของเลขา กสทช. คำสั่ง คสช. ให้อำนาจมากมาย เสมือนให้ ‘เช็คเปล่า’ แก่เลขา กสทช.

 

3. ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด คืออภิมหาเศรษฐีและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมีผู้ถือหุ้นใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ นอร์เวย์ และจีน จึงเป็นคำถามว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงต้องไปอุ้มมหาเศรษฐีไทย และนักลงทุนต่างชาติ ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีผลประกอบการที่ดีมาโดยตลอด

 

4. บริการ 5G เป็นบริการแห่งอนาคต ไม่ต้องรีบร้อนทำ แม้แต่ผู้บริหารเอไอเอสยังบอกว่าเอไอเอสพร้อมแต่ 5G ยังไม่รีบ ที่ไม่รีบเพราะยังไม่เห็นว่ามีบริการอะไรจะออกมา จึงมีคำถามว่าที่เลขาธิการ กสทช. บอกว่าเอา 5G ออกมาแล้วจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจ มันคือความฝันใช่หรือไม่ ยิ่งถ้าไปดูความพร้อมในการผลิตอุปกรณ์ 5G ในคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ยังไม่มีใครผลิตอุปกรณ์ 5G ในคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์เลย ถ้าได้คลื่นไปแล้วจะทำยังไงต่อ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรีบด้วยซ้ำ รออีก 2-3 ปี ไม่ช้าแน่นอน

 

5. การใช้คำสั่ง ม.44 เป็นการขาดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ และยังอาศัยวันที่ 11 เมษายนในการออกคำสั่ง ซึ่งเป็นช่วงก่อนวันหยุดยาวทำให้ไม่ตกเป็นข่าวมากนัก เพราะถ้าอยู่ๆ รัฐไปยกประโยชน์ให้เอกชนยืดหนี้โดยไม่มีเหตุผลคงต้องเป็นความผิด แต่การใช้ ม.44 ทำให้ไม่สามารถฟ้องเอาผิดได้

 

6. อำนาจดุลยพินิจมาก ยิ่งเสี่ยงทุจริตมาก การมอบอำนาจในการกำหนดสาระสำคัญในการปฏิบัติตามคำสั่งให้แก่เลขาธิการ กสทช. โดยปราศจากหลักการที่กำกับการปฏิบัติหน้าที่อันเหมาะสม ผลจึงเป็นการให้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางมากแก่เลขาธิการ กสทช. ว่าจะตีมูลค่าความถี่อย่างไร ระยะเวลาในการชำระจะยืดได้เท่าไรก็ได้

 

7. ผู้เสียหายครั้งนี้คือประเทศและประชาชน โดยเฉพาะประชาชนเป็นผู้เสียภาษี และในฐานะผู้บริโภคคือเสียโอกาสในการได้รับบริการจากผู้ประกอบการรายใหม่ ในส่วนประเทศ ม.44 ทำให้การกำกับดูแลการโทรคมนาคมในประเทศย้อนกลับไปอยู่ในยุคสัมปทาน ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดการคาดการณ์ และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างเจ้าสัวผู้มีอิทธิพลต่อไป และทำให้ประเทศไทยห่างไกลไปจากประเทศพัฒนาแล้ว เพราะรัฐไทยยังมีปัญหาธรรมาภิบาลที่บกพร่องอย่างร้ายแรง

 

นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติ ยังแนะนำให้ คสช. ออก ม.44 เพื่อแก้ไขและทบทวนข้อบกพร่องในการดำเนินการครั้งนี้ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศและประชาชนอย่างเร่งด่วนด้วย

 

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า คำสั่ง ม.44 ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน เพราะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีประเด็นอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเลย และเมื่อผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้คลื่น 5G ไปก็ถือเป็นการปิดตลาดไปโดยปริยาย

 

“ผู้ประกอบการได้โชคในการขยายเวลา ทำให้ต้นทุนที่ต้องเป็นของบริษัทถูกผลักมาที่ผู้บริโภค จาก 5 ปีกลายเป็น 10 ปี และยังได้คลื่น 5G ราคาถูก เมื่อเทียบกับ 4G เดิมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยไม่ต้องประมูลแข่งขันเลย ขณะที่ 5G ยังไม่มีโครงข่ายและไม่มีอะไรรองรับ ก็เสมือนการหลอกผู้บริโภค” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

 

เช่นเดียวกับ บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ที่สนับสนุนให้ คสช. ออก ม.44 เพื่อแก้ไขคำสั่งเดิม และแนะนำว่าควรรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาดำเนินการแทน เพราะมาตรการที่ออกมาถือเป็นการช่วยเหลือนายทุนฝ่ายเดียว และผลักภาระทั้งหมดให้กับประชาชน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising