×

สยามในสงครามโลกครั้งที่ 1

22.08.2017
  • LOADING...

“หลายคนบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมสงคราม สงครามอยู่ในยุโรป แต่เราอยู่ไทย ซึ่งไกลกันมาก แต่เมื่อมาเจอฝรั่งเศสและอังกฤษที่จ้องเราอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว มันใกล้ตัวมากๆ”

 

     ประโยคข้างต้นอาจจะทำให้เราเข้าใจได้ลึกซึ้งว่า ในสนามรบและสนามรัก ทุกอย่างมีความยุติธรรมในตัวเอง

 

     กระนั้นก็ตาม สำนวนซึ่งมีที่มาย้อนกลับไปสมัย มิเกล์ เด เซร์บันเตส เขียนข้อความในลักษณะนี้ลงในนิยายดัง ดอนกิโฆเต้ ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะปล่อยให้เรื่องราวของสงครามเป็นไปตามครรลองของมันเองโดยธรรมชาติ เมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือเราได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมวลมนุษยชาติ

 

 

     ในวาระครบรอบ 100 ปีที่สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 THE STANDARD ถือโอกาสพาผู้อ่านร่วมเดินทางย้อนเวลากลับไปเพื่อมองภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ศึกษาบริบทแวดล้อม รับรู้ผลพวงภายหลังสงคราม เพื่อให้เห็นภาพกว้างที่จะช่วยให้เข้าใจ ‘มหาสงคราม’ ได้อย่างลึกซึ้ง

 

     โถงกลางชั้น 1 ของอาคารหอวชิราวุธานุสรณ์เงียบสงบราวกับว่าได้รับอิทธิพลความเคร่งขรึมมาจากอาคารใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอสมุดแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ความเงียบสงัดไม่ได้เกิดจากการร้างไร้ผู้คน เพราะบอร์ดนิทรรศการและตู้กระจกที่จัดวางวัตถุจัดแสดงภายในต่างมีผู้เข้าชมยืนจับจ้องมองดูอย่างตั้งใจ  

 

 

     ‘๑๐๐ ปี สยามกับสงครามโลกครั้งที่ ๑’ อาจไม่ใช่นิทรรศการใหญ่โตและมีผู้เข้าชมหลั่งล้นมหาศาล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวของอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วร่วมร้อยปียังคงอยู่ในความจดจำรำลึกของคนไทยส่วนหนึ่ง ด้วยตลอดระยะเวลานับตั้งแต่เปิดให้เข้าชมเมื่อ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้คนเดินทางมาชมนิทรรศการนี้อย่างต่อเนื่อง ขัดกับชุดความคิดที่ได้ยินบ่อยครั้งว่า ประวัติศาสตร์สำหรับคนไทยยุคนี้ก็เหมือนเรื่องเล่าเก่าเก็บในตู้ นานเท่านานจึงจะหยิบมาปัดฝุ่นสักครั้ง

 

     THE STANDARD ฉบับนี้จะพาคุณย้อนอดีตกลับไปเมื่อร้อยปีก่อน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้เพียง 3 ปีเศษ สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็อุบัติขึ้น ทรงเผชิญพระราชภาระหนักหน่วงในการนำพานาวาลำน้อยที่บรรทุกชาวสยามแล่นฝ่าคลื่นลมจากทิศทางต่างๆ อย่างระมัดระวัง เพราะหากตัดสินใจผิดเพียงครั้ง อาจหมายถึงการอับปางของแผ่นดิน

 

     จิตติ เกษมกิจวัฒนา ภัณฑารักษ์ผู้สร้างสรรค์เรื่องราวของนิทรรศการ ‘๑๐๐ ปี สยามกับสงครามโลกครั้งที่ ๑’ ค่อยๆ พลิกประวัติศาสตร์มุมที่แทบไม่เคยได้รับการพูดถึงให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง

 

     “ในเมืองไทยมีนิทรรศการเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเล่าถึงเหตุผลที่รัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเข้าร่วมสงครามโลก ความสำคัญของเหตุการณ์ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง หลายๆ คนพูดว่าไม่มีความจำเป็นในการเข้าร่วมสงคราม มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นคือคนข้างนอกมองเราอย่างไร”

 

      สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นที่ยุโรปใน ค.ศ. 1914 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2457 ครบ 100 ปีไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นมีนิทรรศการเกี่ยวกับสงครามโลกจัดขึ้นหลายแห่งในเมืองไทย และเป็นอย่างที่จิตติบอกไว้ เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ล้วนมีการนำมาเล่าแทบจะทุกแง่มุม รวมถึงการที่สยาม (ชื่อประเทศในขณะนั้น) ซึ่งวางตัวเป็นกลางในสงครามมาตลอด ได้ประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังจากสงครามดำเนินไปแล้วเกือบ 3 ปี ทำให้วาระครบรอบ 100 ปีการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่น และเพิ่งเวียนมาบรรจบในวันที่ 22 กรกฎาคมปีนี้ ภัณฑารักษ์หนุ่มเล่าอดีตอีกครั้งผ่านวัตถุจัดแสดงอย่างสิ่งพิมพ์ของประเทศต่างๆ ที่พูดถึงสยามระหว่างปี 1910-1917 และสิ่งที่เขาเจอก็เล่าเรื่องในตัวเองอย่างสมบูรณ์

 

    “ตอนที่เราเป็นกลาง ไม่มีข่าวอะไรเลยทั้งสิ้นนะครับ แต่พอเราเข้าร่วมสงครามโลกปุ๊บ พระบรม-ฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 6 ขึ้นปกหนังสือบางเล่ม เนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 และเมืองไทยเผยแพร่ออกไปค่อนข้างเยอะ มีสื่อฝรั่งเศสเขียนแล้วทำให้ผมสะอึกคือเขาเรียกเราว่าเพื่อนบ้าน เขามีความยินดีที่ประเทศสยามเข้าร่วมสงครามในฐานะเพื่อนบ้าน มันยิ่งเน้นย้ำว่าเขาคุมกัมพูชากับเวียดนาม เขาถือว่าประเทศรอบๆ บ้านเราเป็นของเขา เพราะฉะนั้นเราเห็นความหวาดเสียวของการเป็นกลาง ไม่เข้ากับฝ่ายใดอยู่ท่ามกลางประเทศที่เป็นพันธมิตร การเขียนเหล่านั้นมันมี subtext อะไรอยู่หรือเปล่า นั่นคือเรื่องที่น่าสนใจ

 

       “ส่วนหนังสือพิมพ์อังกฤษจะเน้นตลอดเรื่องที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ และได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ประเทศสยาม หรือบางฉบับของฝรั่งเศสนำพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 6 ตอนเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งยังทรงพระเยาว์มากมาขึ้นปกแล้วบอกว่านี่คือพระมหากษัตริย์ไทย ทำให้เกิดคำถามว่าจุดประสงค์คืออะไร หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นไม่มีรูปล่าสุดหรือก็ไม่น่าใช่

 

     “พอเป็นหนังสือพิมพ์เยอรมนี เขาก็เขียนถึงเราว่า สยามเข้าร่วมสงครามโลกจะทำอะไรได้ ไม่มีความสำคัญอะไรหรอก เป็นแค่ platonic เข้าร่วมแค่ในนาม แต่สักพักหนึ่งหนังสือพิมพ์อังกฤษก็ออกมาเขียนแก้ให้ว่า การที่สยามเข้าร่วมสงครามโลกนั้น contribute ให้ได้อยู่ ประเทศไทยมีการฝึกการทหารสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการเริ่มต้นตั้งกองทัพอากาศด้วยซ้ำไป ส่วนในรัชกาลที่ 6 มีการฝึกเสือป่า เพราะฉะนั้นพลเรือนก็ได้รับการฝึกแบบสมัยใหม่”

 

 

       จิตติพาเราเดินชมแต่ละส่วนจัดแสดงอย่างช้าๆ แม้ไม่ใช่นิทรรศการขนาดใหญ่ แต่เส้นเรื่องชัดเจน ซึ่งถูกขยายอย่างน่าสนใจ ด้วยสิ่งของและหลักฐานจากอดีตก็บอกได้ว่า ช่วงเวลาการค้นคว้าของภัณฑารักษ์ต้องละเอียดลออ และไม่ใช่งานง่าย โชคดีว่าผู้ช่วยของจิตติคือ กิตติธร น้องสาวแท้ๆ ของเขาผู้เรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส เธอตระเวนตามร้านหนังสือเก่าในปารีส ค้นหาสิ่งพิมพ์ระหว่างปี 1910-1917 ในหมวดที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ใช้สายตาเจาะย่อยลงไปอีกเพื่อสกัดเฉพาะที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 และสยาม

 

       ภาพยนตร์ขาว-ดำที่ฉายบางช่วงตอนของเหล่าทหารอาสาไทยที่ไปร่วมรบที่ยุโรปซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในจอที่มุมห้องก็เป็นผลงานส่วนหนึ่งของกิตติธร เธอและจิตติติดต่อหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส ค้นหาฟิล์มเก่าเฉพาะส่วนของทหารไทย คัดเลือกจากความยาว 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 15 นาที และซื้อสิทธิ์การฉายเพื่อนำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ เพราะอยากทำให้คำกล่าวที่ว่า ‘ทหารไทยไปยุโรปในสงครามโลกครั้งที่ 1’ ชัดเจนกระจ่างแบบไม่ต้องนั่งจินตนาการถึง

 

     หนังขาว-ดำฉายภาพทหารสยามวัยหนุ่มฉกรรจ์ในอิริยาบถต่างๆ ดูทรงพลังอย่างประหลาด คนรุ่นบรรพบุรุษของเราที่รอนแรมต่างบ้านต่างเมืองเมื่อร้อยปีก่อน พวกเขาจะรู้สึกหรือนึกคิดถึงสิ่งใดบ้าง

 

    “ทหารที่ไปคือทหารอาสา สมัครมาเอง ไม่ใช่ว่าโดนเกณฑ์ ส่วนหนึ่งคือข้าราชการที่เป็นทหาร ส่วนที่สองคือพลเรือน อีกส่วนคือนักเรียนไทยในต่างประเทศที่อยากเข้าร่วม คนสมัครเป็นทหารอาสาเกือบ 1,400 คน คัดเลือกไปมา สุดท้ายเหลือ 1,200 กว่าคน ที่เราส่งไปคือกองกำลังทหารบกรถยนต์ และทหารอากาศ ทหารบกรถยนต์ฝึกไม่นานก็ได้ไปทำหน้าที่ก่อน เป็นกองกำลังขนส่ง ส่วนกองทัพอากาศฝึกนานกว่า พอฝึกเสร็จก็ประกาศยุติสงครามพอดี เลยไม่ได้ออกรบ แต่ก็ได้นำความรู้มาพัฒนากองทัพอากาศ”

 

 

     นอกจากสิ่งพิมพ์เก่าและภาพยนตร์สั้นแล้ว ส่วนจัดแสดงอื่นก็ต่างมีเรื่องเล่าในตัวเองเช่นกัน จิตติเลือกผนังขาวสะอาดด้านหนึ่งถ่ายทอดคำประกาศความเป็นกลางของสยาม และคำประกาศเข้าร่วมสงครามของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ให้ผู้เข้าชมยืนอ่านกันเอง ด้วยเหตุผลว่า ที่ผ่านมาเราอ่านอดีตจากการตีความมามากแล้ว หากย้อนกลับมาอ่านคำประกาศจริงๆ แล้วพิจารณาคู่กับมุมมองที่ต่างชาติมองเรา เรื่องราวที่ได้จะเป็นอย่างไร

 

     ที่วางเคียงข้างคำประกาศอันเคร่งขรึมคือพระบรม-ฉายาลักษณ์ขาว-ดำของรัชกาลที่ 6 มีทั้งรูปที่ทรงฉลองพระองค์แบบทหารราบเบาเดอรัม (Durham Light Infantry) กรมทหารราบที่ทรงเข้าประจำการหลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิร์สต์ และมีพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงชุดโบราณ ที่สำคัญเหมือนกับฉลองพระองค์จำลองของพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งซึ่งตั้งแสดงเป็นสง่าอยู่กลางโถงด้วย จิตติอธิบายว่าฉลองพระองค์นั้นคือ ‘เครื่องทรงมหาพิชัยยุทธ’ เป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ยามออกสงคราม ประกอบด้วยพระภูษาไหม โจงกระเบนสีแดงเลือดนก ฉลองพระองค์ชั้นในแบบนักรบไทยโบราณไม่มีแขน สีแดง เป็นฉลองพระองค์ที่รัชกาลที่ 1 เคยทรงออกศึกสงครามมาแล้ว ชั้นนอกทรงฉลองพระองค์แพรสีแดง คอตั้ง มีจีบรอบไหล่ ฉลองพระองค์ทั้งชั้นในและชั้นนอกลงอักขระเลขยันต์จนทั่ว ส่วนผ้าคาดบั้นพระองค์คือพระภูษาสมรดพื้นแดงตาดไหมทองแล่ง

 

     รัชกาลที่ 6 ทรงเครื่องทรงนี้ในวันที่สยามประกาศเข้าร่วมสงคราม 22 กรกฎาคม 2460 จิตติเล่าว่า เดิมพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งนี้ก็ทรงเครื่องทรงมหาพิชัยยุทธจำลองอยู่แล้ว แต่เป็นสีแดงเฉดเดียวกันทั้งหมด ทว่าเมื่อเขานำภาพเก่าซึ่งเป็นรูปขาว-ดำมาเทียบ จึงเห็นว่าฉลองพระองค์ทั้งชุดมีน้ำหนักสีเข้มอ่อนไม่เท่ากัน จึงแก้ไขปรับปรุง โดยได้ผู้เชี่ยวชาญจากบ้านคำปุน แหล่งผลิตและศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผ้าโบราณ จังหวัดอุบลราชธานี ทอผ้าขึ้นใหม่และย้อมสีด้วยครั่ง พอผ้าจะแห้งก็ต้องถ่ายรูปไว้ ปรับเป็นขาว-ดำเพื่อนำมาเทียบกับเครื่องทรงในพระบรมฉายาลักษณ์ เทียบเฉดสีไปเรื่อยๆ จนได้ใกล้เคียงที่สุด

 

     ภัณฑารักษ์หนุ่มเล่าเพิ่มเติมว่า “พอพันธมิตรชนะสงครามก็มีการตกลงกันว่าจะทำเหรียญชัยที่แต่ละประเทศออกแบบกันเองได้ แต่ขอให้แถบแพรเป็นสีรุ้งเหมือนกัน และด้านหนึ่งของเหรียญให้มีคำว่า ‘มหาสงครามเพื่ออารยธรรม’  อีกด้านเป็นรูปนารายณ์บันฦาชัย สื่อถึงชัยชนะ นอกจากนี้ยังมีเหรียญตรา ครัวซ์ เดอ แกร์ (Croix de Guerre) ที่ฝรั่งเศสมอบให้ทหารบกรถยนต์ เพราะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีเยี่ยม

 

     หลังสงครามจบลง ได้มีการประชุมสันติภาพ (Peace Conference) ที่พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2462 ฝ่ายไทยมีตัวแทนเข้าร่วม คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร และหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล อัครราชทูตสยาม นับเป็นจุดเริ่มต้นของความเสมอภาคระหว่างสยามกับประเทศผู้ชนะสงครามอื่นๆ สิ่งที่ตามมาคือการจัดตั้งสันนิบาตชาติ (League of Nation) ทำหน้าที่เป็นเวทีกลางให้ชาติต่างๆ เจรจากันเพื่อจะได้ไม่ต้องไปจบที่สงครามอีก  

 

     หลักฐานที่ค้นเจอคือภาพการประชุม รวมถึงผังที่นั่งของชาติสมาชิก จิตติบอกว่าตำแหน่งของอัครราชทูตไทยทั้งสองพระองค์บริเวณหัวโต๊ะใกล้เคียงกับมหา-อำนาจทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา อ่านได้ว่าสถานะของเราปลอดภัยและได้รับการยอมรับดี

 

     เมื่อถามว่าในระหว่างทางที่ค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ภัณฑารักษ์หนุ่มมองเห็นอะไรบ้าง เขาหยิบยกประเด็นพื้นที่ของสื่อขึ้นมาเล่าให้เราฟัง

 

     “สื่อเป็นพื้นที่ของการสู้กัน เป็นเวทีเพื่อสร้างอะไรต่างๆ สำหรับผม นี่คือเรื่องที่น่าตื่นเต้น ร้อยปีที่แล้วมีขนาดนี้เลยหรือ”

 

     ตอนที่ประกาศเป็นกลาง ไทยถูกขนาบด้วยประเทศฝ่ายพันธมิตรทั้งหมด ข้างหนึ่งอังกฤษ ข้างหนึ่งฝรั่งเศส ทางใต้คือมาเลเซีย และสิงคโปร์ก็อังกฤษ พอไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 มีคนไทยจำนวนมากเหมือนกันที่ไม่เห็นด้วย เพราะเรามีสัมพันธไมตรีที่ดีกับเยอรมนี คนเยอรมันทำงานในเมืองไทยเยอะ แต่กับอังกฤษและฝรั่งเศส เรามีปัญหามาตลอด พอประกาศสงครามเลยต้องมีการแปลข่าวจากต่างประเทศเป็นไทย บอกให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

 

     “บันทึกจากทูตไทยในต่างประเทศบอกว่า มีการส่งข่าว หารือประชุมลับตลอด บางทีเรามองภาพว่ารัชกาลที่ 6 ท่านทรงตัดสินพระราชหฤทัยคนเดียว แต่ถ้าดูจากเอกสารจะเห็นว่ามีการทำงานเป็นกลุ่ม แลกเปลี่ยนข่าวสาร เช็กด้านการทูตตลอด เพราะฉะนั้นมันเป็นความซับซ้อนในสถานการณ์ขณะนั้น หลายคนบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมสงคราม สงครามอยู่ในยุโรป แต่เราอยู่ไทย ซึ่งไกลกันมาก แต่เมื่อมาเจอฝรั่งเศสและอังกฤษที่จ้องเราอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว มันใกล้ตัวมากๆ อ่านได้เลยจากเนื้อข่าวในหนังสือพิมพ์ตอนนั้น”

 

     ห้องนิทรรศการไม่ใหญ่เลย แต่เราใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงในการชมและพูดคุยกับภัณฑารักษ์ เรื่องท้ายๆ ที่เราถามจิตติถึงเหตุผลที่คนไทยควรต้องรู้เกี่ยวกับมหาสงครามเมื่อร้อยปีก่อน คำตอบของภัณฑารักษ์หนุ่มมาในรูปของการเชื่อมโยงอดีตเข้าหาปัจจุบัน

 

     “สถานการณ์บ้านเมืองทั่วโลกปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้น 20 เปลี่ยนแปลงสูงมาก มีบันทึกว่าบางส่วนของพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ 6 ทรงมีต่อทูลกระหม่อมจักรพงษ์ สะท้อนพระราชปณิธานของพระองค์ที่ทรงหวังว่าสยามจะมีความเท่าเทียมและเสมอภาคกับประเทศอื่นๆ อย่างแท้จริง รัชกาลที่ 6 ทรงใช้วิธีใหม่ๆ การมีสิทธิมีเสียงในพื้นที่นานาชาติก็เป็นของใหม่

 

     “พอเราเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 สนธิสัญญาที่เราเสียเปรียบเยอรมนีหมดไปโดยสิ้นเชิง ส่วนเรื่องการยุติสนธิสัญญาต่างๆ ที่เราเสียเปรียบอังกฤษ ฝรั่งเศส หลายๆ คนให้เครดิตรัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่จุดเริ่มต้นของความเสมอภาคจริงๆ คือการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1

 

     “การที่ผู้ปกครองจะพาประเทศชาติบ้านเมืองให้เท่าทันความเป็นไปของโลก จำเป็นก็ต้องเปลี่ยนระบบภายในหลายอย่าง และทุกอย่างมีกระบวนการที่ดำเนินไปเรื่อยๆ” จิตติสรุป

 

     อดีตในวันวานส่งผ่านด้วยกาลเวลา และกลายเป็นเรื่องเล่าผ่านการตีความจากมุมมองที่หลากหลาย นิทรรศการ ‘๑๐๐ ปี สยามกับสงครามโลกครั้งที่ ๑’ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามหรือตัดสินเหตุการณ์ใด เป็นแต่เพียงเรื่องเล่าอีกมุมมองที่ถ่ายทอดอดีตอันส่งผลถึงปัจจุบัน และทำให้เราได้รู้ว่าประวัติศาสตร์ยังคงมีชีวิตและมีเรื่องราวระหว่างบรรทัดเสมอ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X