×

ธุรกิจของลิเวอร์พูลจะสะเทือนแค่ไหน เมื่อ จอร์เกน คล็อปป์ ประกาศลาออก

29.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • นับจากปี 2015 ที่ เจอร์เกน คล็อปป์ เข้ามาคุมทีมจนถึงปัจจุบัน (2024) มูลค่าของลิเวอร์พูลเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้จากหนึ่งในข้อเสนอการลงทุนที่ Liverpool Echo สื่อท้องถิ่น ได้ข้อมูลมาในช่วงกลางปี 2023
  • นอกจากมูลค่าและรายได้ของสโมสรที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความสำเร็จและการเติบโตในทิศทางที่ดีของสโมสรแล้ว อีกเรื่องที่เป็นผลพวงจากการได้ เจอร์เกน คล็อปป์ เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคือ เรื่องของภาพลักษณ์ที่ทำให้ลิเวอร์พูลกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์กีฬาที่ดีที่สุด
  • แนวทางแบบ Moneyball มาเริ่มใช้ได้ผลจริงๆ หลังจากที่ได้คล็อปป์เข้ามาทำทีม ลิเวอร์พูลค้นพบ ‘ช้างเผือก’ มากมายโดยที่ไม่ต้องลงทุนสูง และขายนักเตะที่ไม่จำเป็นออกไปได้ราคาดีกว่าอดีตมาก

ข่าวการประกาศอำลาทีม ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล ล่วงหน้าของ เจอร์เกน คล็อปป์ สร้างความสั่นสะเทือนอย่างมากต่อแฟนฟุตบอลทีมดังของอังกฤษ

 

นั่นเพราะผู้จัดการทีมชาวเยอรมันคนนี้คือสุดยอดผู้จัดการทีมที่พลิกฟื้นสโมสรที่เคยเป็นยักษ์หลับให้กลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ กวาดแชมป์ได้ครบทุกรายการใหญ่บนโลก โดยเฉพาะแชมป์ที่เหล่าเดอะค็อปต้องการอย่างแชมป์พรีเมียร์ลีก ยุติการรอคอยที่ยาวนานกว่า 30 ปี

 

แต่ความสูญเสียของการที่คล็อปป์จะจากทีมไปไม่ได้หยุดอยู่ที่เรื่องในสนามเท่านั้น เพราะเรื่องนอกสนามนับตั้งแต่ ‘บอส’ ผู้นี้เข้ามา ทุกอย่างภายในทีมก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด

 

เปิดด้วยตัวเลขที่น่าสนใจอย่างมูลค่า (Value) ของสโมสรที่เพิ่มขึ้นกว่า 350% ในระยะเวลา 9 ปี

 

การทำงานในแบบของคล็อปป์ช่วยลิเวอร์พูลในด้านเหล่านี้ได้อย่างไร?

 

การคืนชีพจากเถ้าถ่าน

 

ในปี 2010 กลุ่มธุรกิจกีฬา New England Sports Venture (NESV) ซึ่งเป็นเจ้าของทีมเบสบอลระดับตำนานของชาวอเมริกันอย่างบอสตัน เรด ซ็อกซ์ ได้เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการของสโมสรลิเวอร์พูลที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัสภายใต้การบริหารของ ทอม ฮิกส์ และ จอร์จ จิลเล็ตต์ สองนักธุรกิจกีฬาชาวอเมริกันเช่นกัน

 

การเทกโอเวอร์ครั้งนั้น NESV ใช้เงินในการเทกโอเวอร์ 300 ล้านปอนด์ (1.35 หมื่นล้านบาท) เพื่อให้สิทธิ์ในการบริหารจัดการสโมสรอย่างเด็ดขาด และได้เริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งรวมถึงหนี้สินที่เจ้าของเดิมได้ก่อไว้และเหลือให้เป็นมรดกบาป

 

NESV ซึ่งในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Fenway Sports Group (FSG) ที่นำโดย จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี และ ทอม เวอร์เนอร์ ได้นำวิธีการบริหารสโมสรที่ทันสมัยเข้ามาเปลี่ยนแปลงลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ใช้กับทีมเรด ซ็อกซ์​

 

เพียงแต่ในช่วงแรกการทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายนัก FSG ขาดความเข้าใจในเรื่องธุรกิจวงการฟุตบอล การลงทุนผ่านการซื้อผู้เล่นกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สโมสรประสบความสำเร็จน้อยมากในสนามในช่วง 5 ปีแรกที่มี รอย ฮอดจ์สัน, เคนนี ดัลกลิช และ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส เป็นผู้จัดการทีม

 

อย่างไรก็ดี มูลค่าของลิเวอร์พูลได้เพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านปอนด์ เป็น 1,000 ล้านปอนด์ (4.51 หมื่นล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 233%

 

ก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ประหนึ่งการคืนชีพของนกฟีนิกซ์ที่กำเนิดใหม่จากเถ้าถ่าน หลังจากที่คล็อปป์ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมในเดือนตุลาคม ปี 2015

 

ภาพ: Clive Brunskill / Getty Images

 

ด้วยการทำงานที่ยอดเยี่ยมพาลิเวอร์พูลกลับมาเป็นทีมระดับหัวแถวของวงการฟุตบอลยุโรป กวาดแชมป์ได้ทั้งพรีเมียร์ลีก, เอฟเอคัพ, ลีกคัพ, ยูฟ่าซูเปอร์ลีก, ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และแชมป์รายการสโมสรโลก ส่งผลต่อเรื่องมูลค่าของสโมสรด้วย

 

โดยนับจากปี 2015 ถึงปัจจุบัน (2024) มูลค่าของลิเวอร์พูลเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้จากหนึ่งในข้อเสนอการลงทุนที่ Liverpool Echo สื่อท้องถิ่น ได้ข้อมูลมาในช่วงกลางปี 2023

 

คิดแล้วตั้งแต่คล็อปป์เข้ามาทำทีม มูลค่าของลิเวอร์พูลเพิ่มขึ้น 350%

 

ไม่นับเรื่องของรายได้ที่เพิ่มจาก 297.9 ล้านปอนด์ในปี 2015 มาเป็น 593.8 ล้านปอนด์ในปี 2022 (ตัวเลขล่าสุดที่มีการเปิดเผย) หรือคิดแล้วเพิ่มขึ้น 295.9 ล้านปอนด์ คิดเป็น 99% ซึ่งรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้นมาจากเงินรางวัลที่ได้จากการแข่งขัน โดยหัวใจอยู่ที่การได้กลับมาเป็นขาประจำในรายการใหญ่อย่างแชมเปียนส์ลีก ตั้งแต่ฤดูกาล 2017/18 (เพิ่งจะพลาดการเข้าร่วมในฤดูกาลนี้เท่านั้น)

 

แบรนด์นี้พี่รัก

 

นอกจากมูลค่าและรายได้ของสโมสรที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความสำเร็จและการเติบโตในทิศทางที่ดีของสโมสรแล้ว อีกเรื่องที่เป็นผลพวงจากการได้ เจอร์เกน คล็อปป์ เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคือ เรื่องของภาพลักษณ์ที่ทำให้ลิเวอร์พูลกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์กีฬาที่ดีที่สุด

 

นั่นเพราะคล็อปป์ไม่เพียงแต่เป็นผู้จัดการทีมที่ยอดเยี่ยมในเรื่องของการวางกลยุทธ์การเล่นในสนาม แต่ยังเป็นคนที่มีภาพลักษณ์น่าดึงดูด ด้วยความเป็นคนที่ดูจริงจังแต่ก็มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ รวมถึงแสดงออกให้เห็นมาโดยตลอดว่าเป็นคนที่มีจิตใจดี

 

ผู้นำขององค์กรดี ภาพลักษณ์ของลิเวอร์พูลจึงดีไปด้วย โดยที่คล็อปป์ยังสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีให้เกิดขึ้นภายในสโมสร สร้างค่านิยมที่ดีทั้งการตอบแทนคนทำงานหนัก การมอบโอกาสให้แก่เด็กรุ่นใหม่และคนที่ตั้งใจทำงาน ไปจนถึงการจัดการตัวปัญหาด้วยวิธีที่เด็ดขาดและแยบยล

 

ภาพลักษณ์ที่ดีเหล่านี้ทำให้แบรนด์ลิเวอร์พูลเข้มแข็งและน่าดึงดูด เป็นที่ต้องการของเหล่าบริษัทต่างๆ ที่อยากจับมือร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย เพราะไม่เพียงแต่จะมีฐานแฟนฟุตบอลทั่วโลก สโมสรแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในองค์กรที่ภาพลักษณ์ดีที่สุด ไม่มีข่าวอื้อฉาวใดๆ เกิดขึ้นเลยตลอดช่วงที่คล็อปป์ยังอยู่เป็นผู้จัดการทีม

 

ปัจจุบันมูลค่าแบรนด์ของลิเวอร์พูลอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกตามการคำนวณของ Visual Capitalist ที่ 1.41 พันล้านดอลลาร์ (5 หมื่นล้านบาท) เป็นรองแค่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, บาร์เซโลนา, เรอัล มาดริด และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมอันดับ 1 (แต่มีแบ็กอัพเป็นรัฐอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เรียกว่า State-Club)

 

ภาพ: Julian Finney / Getty Images

 

Moneyball ทฤษฎีกีฬาที่ใช้ได้จริง

 

ย้อนกลับไปที่แนวทางบริหารของ FSG หนึ่งในหัวใจสำคัญคือ การบริหารจัดการทีมโดยใช้หลัก ‘Moneyball’ หรือการนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน พูดง่ายๆ คือ เป็น ‘Data-Driven’ ฉบับกีฬา (ซึ่งจะมีรายละเอียดและความซับซ้อนแตกต่างจากการลงทุน)

 

แต่เรื่องนี้พูดง่ายทำยาก ในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรกนับจากเทกโอเวอร์ลิเวอร์พูล FSG ไม่ประสบความสำเร็จในแนวทางดังกล่าวสักเท่าไรนัก ลิเวอร์พูลเป็นทีมที่ซื้อนักเตะเข้าร่วมทีมแพงและขายได้ถูก โดนกดราคาหรือจำใจต้องโละทิ้งแบบแทบไม่เหลือราคา

 

แนวทางแบบ Moneyball มาเริ่มใช้ได้ผลจริงๆ หลังจากที่ได้คล็อปป์เข้ามาทำทีม โดยในช่วงแรกแม้จะไม่เข้าใจมากนัก ด้วยความเป็นผู้จัดการทีมที่เชื่อในเรื่องของการบริหารคน แต่หลังจากได้พูดคุยกับ เอียน เกรแฮม นักวิเคราะห์ของสโมสร และ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส ผู้อำนวยการสโมสร ผู้จัดการทีมชาวเยอรมันเปิดใจรับฟังและเชื่อในคำแนะนำของทั้งสองคน

 

ตรงนี้มาจากสไตล์การทำงานของคล็อปป์ที่ไม่ได้อยากเก่งแบบ ‘ข้ามาคนเดียว’ แต่ชอบที่จะทำงานร่วมกับคนเก่ง สะสมคนเก่งเอาไว้รอบตัว และใช้ประโยชน์จากความสามารถเฉพาะทางของคนเหล่านี้

 

จุดนี้ทำให้แนวทาง Moneyball ของลิเวอร์พูลประสบความสำเร็จ ลิเวอร์พูลค้นพบ ‘ช้างเผือก’ มากมายโดยที่ไม่ต้องลงทุนสูง เช่น โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ ที่ได้จากโรมาด้วยค่าตัว 34 ล้านปอนด์ ซึ่งปัจจุบันขึ้นแท่นเป็นตำนานของสโมสรไปแล้ว หรือเคสคลาสสิกอย่าง แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน แบ็กซ้ายชาวสกอตแลนด์ที่ซื้อมาจากฮัลล์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 8 ล้านปอนด์ ก็กลายเป็นสุดยอดฟูลแบ็กระดับตำนานของสโมสรไปแล้วเช่นกัน

 

ในทางตรงกันข้าม ลิเวอร์พูลกลายเป็นทีมที่ขายนักเตะทำเงินกลับสโมสรได้ดี เช่น โดมินิก โซลังกี ที่ขายให้บอร์นมัธได้ถึง 25 ล้านปอนด์ ทั้งๆ ที่ซื้อจากเชลซีแค่ 3 ล้านปอนด์ หรือ ไรอัน บรูว์สเตอร์ กองหน้าดาวรุ่งจากอะคาเดมี ที่ตัดสินใจขายให้เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ได้ถึง 20 ล้านปอนด์

 

ตัวเลขที่น่าทึ่งคือ นับจากปี 2019 จนถึง 2023 ลิเวอร์พูลใช้เงินลงทุนเรื่องผู้เล่นสุทธิ (Net Spend) แค่ 218.3 ล้านปอนด์ มากกว่าน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่ใช้เงินไป 204.3 ล้านปอนด์ไม่มาก แต่ความแตกต่างคือ ฟอเรสต์เพิ่งจะได้เลื่อนขึ้นพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 2022 

 

218.3 ล้านปอนด์ที่ลิเวอร์พูลใช้ น้อยกว่าคู่แข่งหลายๆ ทีมแบบคนละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเชลซี (637.6 ล้านปอนด์,), อาร์เซนอล (522.8 ล้านปอนด์), ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ (461.8 ล้านปอนด์), นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (416.1 ล้านปอนด์), แอสตัน วิลลา (312.8 ล้านปอนด์) หรือแม้แต่เวสต์แฮม ยูไนเต็ด (247.5 ล้านปอนด์)

 

ที่ลิเวอร์พูลใช้ Moneyball ได้มาจากความสามารถของคล็อปป์ในการดึงศักยภาพนักเตะออกมาได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องทุ่มซื้อนักเตะระดับสตาร์ราคาแพงที่ก็ไม่อาจการันตีว่าจะเป็นการลงทุนที่ยอดเยี่ยมได้เช่นกัน

 

ภาพ: Matthias Hangst / Getty Images

 

Sustainability เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน

 

ความดีงามที่สุดจากทุกสิ่งที่คล็อปป์ทำให้คือ การที่ลิเวอร์พูลเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีเสถียรภาพสูงสุด ต่อให้ไม่ได้เป็นสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดหรือลงทุนมหาศาลที่สุดก็ตาม

 

และผลตอบแทนจากการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม ทำให้ FSG สามารถที่จะนำเงินที่อดออมมาใช้ในการลงทุนสิ่งที่สำคัญต่อสโมสรในระยะยาว นั่นคือเรื่องของการลงทุนปรับปรุงสนามแอนฟิลด์

 

เดิมลิเวอร์พูลมีแผนการจะสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่มาตั้งแต่ก่อนเข้ายุคมิลเลนเนียล (ปี 2000) แต่แผนการก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะเจ้าของสโมสรเดิมอย่าง ปีเตอร์ มอร์ส หรือแม้แต่ ทอม ฮิกส์ กับ จอร์จ จิลเล็ตต์ ก็ไม่กล้าที่จะลงทุน ซึ่งยิ่งปล่อยให้เวลาเนิ่นนาน การก่อสร้างก็ยิ่งมีมูลค่าแพงมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี FSG ได้ศึกษาแผนการใหม่และตัดสินใจที่จะขอปรับปรุงสนามแอนฟิลด์เดิม ซึ่งแม้จะเก่าแก่แต่ก็เปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและเรื่องราว ซึ่งในช่วง 9 ปีที่คล็อปป์อยู่กับสโมสร ลิเวอร์พูลปรับปรุงอัฒจันทร์ใหม่สำเร็จถึง 2 ด้าน คือ ด้านอัฒจันทร์หลัก (Main Stand) และอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์โรด

 

ความจุของสนามเพิ่มจาก 44,000 ที่นั่ง เป็น 61,000 ที่นั่ง และทำให้สโมสรมีรายได้จากวันแข่งขัน (Matchday Revenue) จากเดิม 75 ล้านยูโร (2.8 พันล้านบาท) มาเป็น 103 ล้านยูโร (3.9 พันล้านบาท) และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มอีกในฤดูกาล 2023/24 ซึ่งอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์โรดเพิ่งเปิดใช้งานบางส่วนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

 

สนามโฉมใหม่ก็เหมือนการรีโนเวตบ้านหลังใหม่ ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้อยู่อาศัยกันไปอย่างสบายในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

 

เป็นหนึ่งในมรดกล้ำค่าที่คล็อปป์มอบให้แก่แฟนลิเวอร์พูลทุกคน

 

ทั้งหมดทั้งมวลแล้วจะเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทุกด้านของลิเวอร์พูลที่กลับมาเป็น ‘หงส์แดงตะแคงฟ้า’ ได้อีกครั้งหลังได้นายใหญ่ชาวเยอรมันผู้นี้มา และทำให้การเสียเขาไปหลังจบฤดูกาลนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากกว่าแค่เรื่องของผลงานในสนามเท่านั้น

 

ไม่ใช่ผู้จัดการทีมฟุตบอลคนใดในโลกจะมีผลต่อทีมในทุกมิติได้มากเท่ากับที่คล็อปป์มีความหมายกับลิเวอร์พูล

 

ภาพเปิด: MB Media / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising