×

‘ยิมห้องแถว’ ความเก๋าในวงการฟิตเนส

19.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ‘ลือชา’ และ ‘ประเวศร์’ เป็นยิมขนาดเล็กถึงเล็กมาก ท่ามกลางธุรกิจฟิตเนสที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ยิมทั้งสองแห่งยังเปิดให้บริการมาได้ยาวนานหลายสิบปีจวบจนปัจจุบัน
  • ลือชา อดุลย์พิจิตร ผู้สืบทอดกิจการลือชา เล่าว่า สมัยก่อน ‘ค่ายเพาะกาย’ เป็นที่นิยมอย่างมากของบรรดาชายหนุ่ม ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์เพียงร่างกายที่สมส่วน แต่ยังเป็นหนึ่งในวิถีแห่งสุภาพบุรุษที่หมายถึงความมีน้ำใจนักกีฬา
  • สุภาพบุรุษที่เป็นไอคอนในสมัยก่อนอย่าง สมบัติ เมทะนี, มิตร ชัยบัญชา หรือเกชา เปลี่ยนวิถี ต่างก็เคยผ่านมือ ลือชา มาแล้วทั้งนั้น

 

     หากคุณกำลังมองหาฟิตเนสที่มาพร้อมคลาสเรียนที่หลากหลาย เครื่องมือเครื่องไม้มีฟังก์ชันอัตโนมัติล้ำสมัย พร้อมห้องอาบน้ำ ล็อกเกอร์ ซาวน่า และเหล่ากูรูเทรนเนอร์คอยให้คำปรึกษาอย่างครบครัน บอกได้เลยว่ายิมทั้งสองแห่งในห้องแถวไม้รุ่นคลาสสิกอย่าง ‘ลือชา’ และ ‘ประเวศร์’ คงจะทำให้คุณผิดหวัง เพราะสองความเก๋าแห่งฝั่งธนบุรีนี้ไม่ได้มีองค์ประกอบที่ว่ามาเลยสักอย่าง

     ท่ามกลางธุรกิจฟิตเนสสมัยใหม่ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด และข่าวการลอยแพสมาชิกของฟิตเนสเชนยักษ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมๆ การย้อนกลับไปสำรวจถึงสาเหตุที่ทำให้ยิมเก๋าทั้งสองเจ้านี้สามารถเปิดให้บริการมาได้อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

 “การทำยิม ถ้ายึดหลักว่า เราทำเพื่อการกีฬามันก็อยู่ได้ แต่ถ้าไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจ รายได้ ตอบโจทย์ธุรกิจ มุ่งหากำไร บอกได้เลยว่ายากมาก”

 

‘ยิมห้องแถว’ ขวัญใจประจำชุมชน

     ตรงกันข้ามกับฟิตเนสเซนเตอร์สมัยใหม่ที่ทั้งกว้างขวาง และเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัย ทั้ง ‘ลือชา’ และ ‘ประเวศร์’ เป็นยิมขนาดเล็กถึงเล็กมาก เปิดบริการพร้อมความเรียบง่าย สนนราคาสมาชิกจากสมัยก่อนที่เพียงหลักสิบก็ขยับขึ้นมาเป็นหลักร้อยในปัจจุบัน ยิมทั้งสองแห่งเป็นขวัญใจของคนในชุมชน และไม่ว่าจะใส่ชุดกีฬามีแบรนด์ หรือขาสั้น เสื้อยืด รองเท้าแตะ ก็สามารถเดินเข้ามาได้อย่างไม่เก้อเขิน

     ขั้วตรงข้ามทั้งหมดเหล่านี้เป็นข้อดีดึงดูดให้ทั้งคนขับสามล้อ พ่อค้าในตลาด นักศึกษา คนงานต่างด้าว รวมทั้งผู้สูงวัยผมสีดอกเลาที่ยังคงรักสุขภาพ ฯลฯ กล้าที่จะเดินเข้ามาใช้บริการที่ยิมทั้งสองแห่งนี้อย่างไม่ขาดสายเป็นเวลานานร่วม 60 ปีแล้ว

     ลือชา อดุลย์พิจิตร ทายาทรุ่นที่ 2 ผู้สืบทอดกิจการลือชายิมต่อจากรุ่นพ่อ คือ ปรีชา อดุลย์พิจิตร วิเคราะห์ให้ THE STANDARD ฟังถึงเหตุผลที่ยิมห้องแถวและโรงเรียนสุภาพบุรุษแห่งแรกของฝั่งธนบุรี ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ยังอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ให้ฟังว่า

     “การทำยิม ถ้ายึดหลักว่า เราทำเพื่อการกีฬามันก็อยู่ได้ แต่ถ้าไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจ รายได้ ตอบโจทย์ธุรกิจ มุ่งหากำไร บอกได้เลยว่ายากมาก เพราะหากลงทุนสูง นั่นหมายถึง ความต้องการผลตอบแทนให้กลับมาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือต้องมีสมาชิกเยอะ จ่ายค่าสมาชิกเร็วและแพง ดังนั้นเมื่อมันได้ไม่ถึงเป้าก็ต้องยุบตัวลงเป็นเรื่องธรรมดา

     “แต่ถ้าถามว่าทำไมลือชาจึงอยู่มาได้ถึงกว่า 60 ปี นั่นก็เพราะเราตั้งใจทำเพื่อการกีฬา ต้องการให้นักกีฬาได้มีสถานที่พัฒนาตัวเอง เรารู้ว่านักกีฬาต้องการอะไร ใช้อุปกรณ์แค่ไหนเพื่อพัฒนาส่วนใดบ้าง มันจึงไม่ต้องลงทุนสูงเท่ายิมขนาดใหญ่ เราสามารถจัดหาอุปกรณ์กีฬาได้ตามขอบเขตวงเงินของผู้เป็นเจ้าของได้ ดังนั้นถึงนักกีฬาจะจ่ายน้อย จ่ายมาก หรือเบี้ยวบ้างบางเดือน ยิมของเราก็ยังอยู่ได้”

เวตคือการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อสร้างพื้นฐานในการออกกำลังกาย มันเป็นกีฬาที่ต้องใช้สมาธิ เล่นคนเดียว เล่นแล้วมีกล้ามหรือไม่มีกล้าม ไม่มีใครรู้นอกจากตัวเรา

ลือชา อดุลย์พิจิตร รุ่นที่ 2 แห่งลือชายิม

 

ย้อนอดีต ‘ค่ายเพาะกาย’ วิถีสุภาพบุรุษ

     คุณลือชาเล่าว่าในอดีตนั้น ‘ยิม’ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘ค่ายเพาะกาย’ เป็นที่นิยมอย่างมากของบรรดาชายหนุ่ม การเพาะกายไม่ได้ตอบโจทย์เพียงร่างกายที่สมส่วน ทว่ายังเป็นหนึ่งในวิถีแห่งสุภาพบุรุษที่หมายถึงความมีน้ำใจแห่งนักกีฬา เล่นเวตให้อกผายไหล่ผึ่ง เดินอย่างสง่าผ่าเผย และยึดมั่นในคุณธรรม ยกตัวอย่างสภาพบุรุษคนบันเทิงในอดีต อย่าง สมบัติ เมทะนี, มิตร ชัยบัญชา หรือเกชา เปลี่ยนวิถี ต่างก็เคยผ่านมือลือชามาแล้วทั้งนั้น

     และอีกหนึ่งในสุภาพบุรุษที่เดินออกมาจากค่ายลือชาอย่างสง่าผ่าเผยก็คือ ประเวศร์ เตชะอธิก เจ้าของ ‘ประเวศร์ยิม’ ย่านวงเวียนใหญ่ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518

     “ผมเริ่มเล่นเวตมาตั้งแต่อายุ 18 ปี เดิมก็เล่นที่ลือชานี่ล่ะ ตอนนั้นฝั่งธนฯ มีที่นี่ที่เดียว แล้วก็ดังมาก ทำให้คนเข้ามาเล่นที่ลือชาแน่นทุกวัน เมื่อสถานที่มันคับแคบ ผมก็เลยซื้ออุปกรณ์มาต่อเล่นเองที่บ้าน แล้วก็เริ่มเชื่อมเหล็กทำอุปกรณ์ออกกำลังกายด้วยตัวเอง พอเพื่อนบ้านและคนในชุมชนเห็นก็บอกให้เราเปิดยิม เพราะเขาอยากจะเล่นบ้าง ผมก็เลยเปิดยิมในบ้านซึ่งเป็นห้องแถวนี่ล่ะ ชั้นล่างทำอุปกรณ์ ส่วนชั้นบนเปิดเป็นยิม”

     บรรยากาศของประเวศร์ยิมและลือชายิมนั้นคล้ายกันด้วยลักษณะของห้องแถวไม้ อัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์เวตไทยเมด และภาพชายงามรุ่นคลาสสิกประดับเต็มฝาผนัง ซึ่งแน่นอนต้องว่าต้องมีภาพเจ้าของยิมที่ต่างก็เป็นอดีตชายงามตัวท็อปของไทยติดไว้ด้วยเช่นกัน

     ที่ลือชายิมนั้น อุปกรณ์ส่วนใหญ่ออกแบบมาเพื่อให้รับกับมือผู้ใช้ชาวเอเชียโดยเฉพาะบางชิ้นยังคงประทับตรา ‘ฤาชา’ ซึ่งเป็นฟอนต์เก่าแก่ของค่าย ส่วนที่ประเวศร์ยิมนั้นมีอุปกรณ์ให้เลือกเล่นมากกว่า และทุกชิ้นออกแบบ เชื่อม กลึง โดยคุณประเวศร์วัย 68 ปีคนนี้ทั้งสิ้น คุณประเวศร์บอกกับเราว่าแม้จะเป็นยิมรุ่นคลาสสิกแต่ก็อัพเดตเทรนด์เครื่องมือเครื่องใช้มาจากนิตยสารต่างชาติ รวมทั้งฟิตเนสสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยความเก๋าประสบการณ์ และรู้จักไลฟ์สไตล์และสรีระของผู้เข้ายิมเป็นอย่างดี คุณประเวศร์จึงมักจะเติมลูกเล่นเข้าไปในอุปกรณ์เวตที่ออกแบบอยู่เสมอ

ตลาดข้างบ้านนั่นไงคือแหล่งอาหารเสริมอย่างดี เนื้อ นม ไข่ ผัก ผลไม้ กินเข้าไปเลย กินให้ครบห้าหมู่ จากนั้นค่อยๆ ออกกำลังกาย เล่นเวตอย่างถูกต้อง เท่านี้สุขภาพและกล้ามเนื้อที่สวยงามก็จะตามมาเอง

 

     อีกสิ่งที่ทั้งสองยิมต่างยึดถือเหมือนกันคือ การปฏิเสธอาหารเสริม ทว่าเน้นเรื่องการกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และมีวินัยในการออกกำลังกาย

     “เวตคือการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อสร้างพื้นฐานในการออกกำลังกาย มันเป็นกีฬาที่ต้องใช้สมาธิ เล่นคนเดียว เล่นแล้วมีกล้ามหรือไม่มีกล้าม ไม่มีใครรู้นอกจากตัวเรา เพราะเราคงไม่ไปถอดเสื้อเดินให้ใครดู แต่เราจะรู้สึกภูมิใจว่าเราแข็งแรง ดังนั้นเวลาที่มีเทรนเนอร์ไปขายว่ามายิมเราแล้วจะมีกล้าม เอาแมชชีนเวตไปดึงดูดมันจึงผิดหลักการ เพราะเขาฝึกกับเราแค่ที่ยิม ส่วนเมื่อกลับบ้านไปเขากินอะไร นอนตอนไหน เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้

     “การเร่งผลให้ลูกค้าได้เห็นความสำเร็จด้วยอาหารเสริมยิ่งไม่ถูกต้อง สมัยก่อนเมืองไทยไม่มีอาหารเสริมแบบนี้ แต่ก็ยังสร้างนักกีฬาเพาะกายขึ้นมาได้ ตลาดข้างบ้านนั่นไงคือแหล่งอาหารเสริมอย่างดี เนื้อ นม ไข่ ผัก ผลไม้ กินเข้าไปเลย กินให้ครบห้าหมู่ จากนั้นค่อยๆ ออกกำลังกาย เล่นเวตอย่างถูกต้อง เท่านี้สุขภาพและกล้ามเนื้อที่สวยงามก็จะตามมาเอง”

     คุณลือชาให้คำแนะนำสำหรับการเล่นเวตเทรนนิงอย่างง่าย ซึ่งเป็นกฎข้อเดียวกันกับที่คุณประเวศร์มักจะย้ำเสมอว่า การเข้ายิม เล่นเวต ก็เพื่อสร้างภูมิต้านทาน ทุกวันนี้คุณประเวศร์ยังคงเล่นเวตวันละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ รวมทั้งทำหน้าที่เทรนเนอร์ให้คำแนะนำแก่สมาชิกโดยไม่คิดค่าตัวเพิ่ม เหมือนกับค่ายลือชาที่ทั้งเจ้าของค่าย และรุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ในยิม มักจะทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงแบบอัตโนมัติโดยไม่คิดเงินเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งนั่นทำให้สมาชิกไม่ต้องคอยระแวดระวังว่าจะมีเซลส์มาตามประกบ เพื่อขายแพ็กเกจเทรนเนอร์รายเดือนเพิ่มเติม ที่สำคัญยังทำให้ทุกคนในยิมรู้จักกัน สร้างสังคมแบบพี่ๆ น้องๆ เสริมบรรยากาศการพบปะสังสรรค์ไปด้วยในตัว

โมเดลยิมเล็กๆ ในชุมชนแบบนี้เป็นเรื่องที่ควรจะทำให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ภาครัฐหรือกรุงเทพมหานครควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินกล้าเดินเข้ายิม เพื่อให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรง

บรรยากาศของลือชายิม และประเวศร์ยิม

 

ยิมห้องแถว…ทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับทุกคน

     ลือชาผู้เคยเป็นทั้งนักข่าวกีฬาและผู้อยู่เบื้องหลังชายงามระดับอาเซียน ให้ความคิดเห็นถึงการผลักดันยิมเล็กๆ กลางชุมชนให้เกิดขึ้นและอยู่รอด

     “จริงๆ แล้วโมเดลยิมเล็กๆ ในชุมชนแบบนี้เป็นเรื่องที่ควรจะทำให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ภาครัฐหรือกรุงเทพมหานครควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินกล้าเดินเข้ายิม เพื่อให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรง ในสิงคโปร์และมาเลเซียมียิมห้องแถวแบบนี้เยอะมาก บางยิมรับได้เพียง 4-5 คน แต่มีทุกชุมชน นักกีฬาเพาะกายชื่อดังของเขาก็เกิดมาจากยิมห้องแถวอย่างนี้ทั้งนั้น แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเข้ายิมแล้วต้องเป็นนักกีฬาเพาะกาย แต่มันเป็นการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อไปต่อยอดในกีฬาชนิดอื่นๆ ได้อีก”

     เพราะไม่ว่าจะเป็นฟิตเนสเซนเตอร์ที่ทันสมัย ยิมเล็กๆ ในสวนสาธารณะ หรือยิมห้องแถวก็สามารถสร้างเสริมสุขภาพที่ดีได้ทั้งนั้น

 

 

Cover Photo: ประเวศร์ เตชะอธิก เจ้าของ ‘ประเวศร์ยิม’ ย่านวงเวียนใหญ่

FYI

ลือชายิม ตั้งอยู่ที่ สี่แยกบ้านแขก

Contact: 0 2437 6843, 0 2437 2180 (ค่าสมาชิกเดือนละ 800 บาท)  

Facebook: www.facebook.com/pages/ลือชายิม/126557304170586

 

ประเวศร์ ยิม ตั้งอยู่ที่ ซอยกรุงธนบุรี 1

Contact: 0 2439 6338 (ค่าสมาชิกเดือนละ 800 บาท)

Facebook: www.facebook.com/pages/ประเวศร์ยิม/435417749846619

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising