×

ธุรกิจฟิตเนสถูกดิสรัปต์ หลังคนออกกำลังกายที่บ้านมากขึ้น AP มองเป็นช่องว่างต่อยอดธุรกิจอสังหาสู่ ‘FitFriend เทรนเนอร์เดลิเวอรี่’ เฉลี่ยครั้งละ 1,000 บาท

09.02.2023
  • LOADING...
FitFriend

หนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเราคือการแตกมาสู่ธุรกิจใหม่ๆ ล่าสุด AP Thailand ประกาศเปิดตัว ‘FitFriend เทรนเนอร์เดลิเวอรี่’ 

 

“เราได้ค้นหาช่องว่างตลาดใหม่ โดยจะนำทรัพยากรที่มีไปบ่มฟักเพื่อต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถนำกลับมาสนับสนุนธุรกิจในระยะยาวแบบองค์รวม” วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ กล่าว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

วิทการระบุว่า การต่อยอดนี้จะเกิดขึ้นทั้งในมิติธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบใหม่ๆ หรือเพื่อเสริมธุรกิจอื่นๆ ในเครืออย่าง สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมเนจเม้นท์ (SMART) หรือ บางกอกซิตี้สมาร์ท (BC) พร็อพเพอร์ตี้โบรกเกอร์แบบครบวงจร เป็นต้น 

 

ล่าสุด AP ได้เปิดตัว ‘FitFriend เทรนเนอร์เดลิเวอรี่’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งในปีที่ผ่านมา FitFriend มีคนใช้บริการมากกว่า 6,000 คลาส ปัจจุบันมีเทรนเนอร์อยู่ในระบบมากกว่า 100 คน

 

FitFriend นอกจากจะให้บริการแก่บุคคลทั่วไปผ่านระบบ LINE Official: FitFriend แล้ว วันนี้ FitFirend ยังสเกลอัพไปเป็นอีกหนึ่งเซอร์วิส ภายใต้การบริหารจัดการของสมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมเนจเม้นท์ เพื่อให้บริการแก่ลูกบ้านที่สมาร์ทบริหารจัดการกว่า 370 โครงการอีกด้วย

 

“เรามองเห็นโอกาสจากการที่คนไม่อยากเดินทาง และมีเครื่องออกกำลังกายที่บ้านหรือคอนโดมิเนียมอยู่แล้ว แต่อยากได้ผู้เชี่ยวชาญมาสอน ซึ่งราคาของเราเฉลี่ยอยู่ที่ครั้งละ 1,000 บาท ปีที่แล้วยอดขายเฉลี่ยต่อเดือนที่ 8 แสนบาท ปีนี้ต้องการขยับเป็น 1-1.5 ล้านบาทต่อเดือน” วิทการกล่าว 

 

Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ออกบทความที่วิเคราะห์ว่า ธุรกิจฟิตเนสก็กำลังถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนออกกำลังกายที่บ้านได้ ซึ่งเฉลี่ยแล้วมักถูกกว่าราคาสมาชิกรายเดือนของฟิตเนสหลายแห่ง

 

นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าผู้คนจะกลับไปออกกำลังกายตามปกติได้เร็วแค่ไหนเมื่อฟิตเนสและสตูดิโอออกกำลังกายต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดใหม่หลังการระบาดของโควิด อีกทั้งการหาสมาชิกใหม่ยากขึ้นด้วยภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว

 

ขณะที่เทรนเนอร์หลายคนมีการปรับตัวโดยการไปสอนตามบ้านเพื่อหารายได้เสริมในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งการสอนส่วนตัวตามบ้านจะทำให้ลูกค้าจ่ายเงินน้อยกว่า และเทรนเนอร์ได้เงินมากกว่าเพราะไม่ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับฟิตเนส

 

อีกสิ่งที่น่าจับตาคือยังไม่ชัดเจนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อผู้บริโภคลงทุนในอุปกรณ์และปรับการออกกำลังกายเพื่อให้สอดรับกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ที่บ้านแล้ว ผู้บริโภคเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะยกเลิกสมาชิกฟิตเนสไป โดยเฉพาะคนที่ลงทุนในอุปกรณ์ราคาสูง เช่น จักรยาน ลู่วิ่ง หรือชุดอุปกรณ์ยกน้ำหนัก 

 

และผลการสำรวจยังพบว่าคนไทยเป็นสมาชิกฟิตเนสคลับเพียง 0.5% หรือประมาณ 350,000 คน จากประชากรทั้งหมด ยังไม่รวมกับคนที่ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะอีก 1% หรือประมาณ 700,000 คน แน่นอนว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก และเป็นเหตุผลให้ธุรกิจฟิตเนสในไทยกลับมาเติบโตได้ช้า

 

ไม่แน่ชัดว่ามูลค่ารวมของตลาดฟิตเนสในไทยอยู่ที่เท่าไรกันแน่ แต่มีการประเมินว่าอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผู้เล่นในตลาดนี้หลักๆ ได้แก่ Fitness First, Jetts, Fitness24Seven และ Anytime Fitness

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising