×

บ้านรู้ใจ: เพื่อคนที่คุณรัก หลักการออกแบบ ‘บ้านปลอดภัย’ สำหรับผู้สูงอายุและเด็ก

27.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • รวบรวมหลักในการออกแบบบ้านและการจัดสภาพแวดล้อมต่างๆ มาไว้เพื่อให้คุณนำไปใช้ดูแลสมาชิกในบ้านที่คุณรักทั้งสองวัย
  • แทนที่จะปล่อยให้ผู้สูงอายุเหนี่ยวจับอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องน้ำ แนะนำว่าควรติดราวจับในจุดเสี่ยงอย่างบริเวณโถสุขภัณฑ์และพื้นที่สำหรับอาบน้ำ
  • ในแต่ละปีนั้นมีเด็กที่เสียชีวิตจากไฟฟ้าช็อตจำนวนไม่น้อย เนื่องจากเต้าเสียบไฟฟ้ามักอยู่ในระดับสายตาของเด็กเล็ก นักสำรวจตัวน้อยของเราอาจจะเอานิ้วมือแหย่เข้าไปได้ การปิดล็อกเต้าเสียบจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

     เมื่อการออกแบบโดยคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยนั้นถือเป็นหัวใจหลักของการออกแบบบ้าน (อ่านบทความเรื่อง บ้านรู้ใจ: Human Centric แนวคิดในการออกแบบบ้านยุคใหม่ที่มองเห็นใจผู้อยู่อาศัยและยึดเป็นศูนย์กลางได้ที่ thestandard.co/lifestyle-living-sc-asset-human-centric)

     ความแตกต่างด้านอายุของสมาชิกในบ้านจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญซึ่งมีผลต่อปริมาณความสุขและคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว

     ลองนึกดูว่าหากคุณพ่อคุณแม่ในวัยหมดแรงของเราจะต้องรวบรวมพลังใจพยุงกายขึ้นไปยังห้องส่วนตัวชั้นบนของบ้าน จนโรคประจำตัวนั้นเกิดกำเริบและพลัดตกลงมา หรือเจ้าตัวน้อยวัยเตาะแตะที่กำลังเป็นนักสำรวจจะพลาดพลั้งไปพบกับอุบัติเหตุอะไรเข้า แล้วหัวใจของเราจะสลายสักเพียงใด

     THE STANDARD จึงรวบรวมหลักในการออกแบบและการจัดสภาพแวดล้อมต่างๆ ในบ้านมาไว้ให้คุณนำไปใช้ดูแลสมาชิกในบ้านที่คุณรักทั้งสองวัย เพื่อที่คุณและพวกเขาจะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและเปี่ยมสุขไปนานๆ  

 

Photo: Africa Studio/Shutterstock

 

บ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

     จากข้อมูลประชากรไทยปี 2556 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 9.4 ล้านคน คิดเป็น 14.5% ของประชากร โดยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน และคาดว่าภายในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจะมีประชากรสูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด

     นี่จึงเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่หลายๆ คนน่าจะเริ่มคิดถึงเรื่องบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุกันบ้างแล้ว เพราะเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ ผู้สูงวัยในบ้านซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวของเราอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่คนเดียว และต่อไปนี้คือหลักในการออกแบบบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

 

     1. พื้นต้องไม่ลื่น

      เนื่องจากผู้สูงอายุแทบทุกคนมักจะประสบปัญหาต่อเนื่องจากการหกล้มได้ ไม่ว่าจะด้วยสภาพของกระดูกและร่างกายที่ไม่ได้แข็งแรงเหมือนสมัยก่อน การจะออกแบบบ้านเพื่อเน้นความสวยงามวิจิตรแบบเงาวับ แต่ลื่นปรื๊ด ก็คงไม่เหมาะกับสวัสดิภาพของคุณปู่คุณย่านัก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพื้นไม้หรือพื้นกระเบื้องก็ควรที่จะมีความฝืดของผิวสัมผัส หากจะเลือกใช้กระเบื้อง ก็ควรเป็นกระเบื้องชนิดที่กันลื่นได้ พื้นไม้ก็ไม่ควรขัดให้มันวาวจนลื่นเกินไป และสมัยนี้ก็มีน้ำยาที่ใช้สำหรับลดความมันและลื่นได้ด้วย

 

     2. หลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับและเหลี่ยมขั้น

     ไม่ต้องพูดถึงห้องนอนส่วนตัวบนชั้นสอง ยิ่งคุณปู่คุณย่าที่กำลังแก่ตัวลงก็ยิ่งไม่มีกะจิตกะใจที่จะหอบหิ้วตัวเองขึ้นไปยังชั้นบน อนึ่ง บ้านที่มีพื้นต่างระดับก็เป็นสิ่งที่ควรระวังไว้สำหรับทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่ที่อาจจะสะดุดหรือหกล้ม ยิ่งถ้ามีเหลี่ยมคมก็จะยิ่งเป็นอันตราย ดังนั้นในการออกแบบบ้านจึงควรนึกถึงการจราจรภายในบ้านและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อคนทั้งสองวัยนี้ นอกจากนี้พื้นต่างระดับยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้เก้าอี้รถเข็นสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย

 

     3. ติดตั้งราวจับในจุดที่จำเป็น

     แทนที่จะปล่อยให้ผู้สูงอายุเหนี่ยวจับอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องน้ำ เช่น ราวแขวน อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ หรือลูกบิด ซึ่งอาจจะหลุดออกมาทำให้เกิดอันตรายได้ แนะนำว่าควรติดราวจับ (สูงประมาณ 80-90 เซนติเมตร) ในจุดเสี่ยงตั้งแต่ทางเข้าไปในห้องน้ำจนถึงโถสุขภัณฑ์ หรือพื้นที่อาบน้ำ โดยราวจับดังกล่าวนั้นควรจะสามารถรับน้ำหนักและแรงเหนี่ยวตัวให้ลุกขึ้นยืนได้

 

     4. สวิตซ์ไฟต้องอันใหญ่ แสงสว่างต้องเพียงพอ

     เพราะสมรรถภาพทางการมองเห็นของผู้สูงวัยนั้นมีความแตกต่างจากคนหนุ่มสาว การปรับสายตาระหว่างพื้นที่มืดและสว่างจึงอาจทำได้ไม่ดีนัก ฉะนั้นเราควรออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ให้ความสว่างระหว่างภายในและภายนอก รวมถึงระหว่างห้องให้มีความสม่ำเสมอและพอเพียง เพื่อให้ผู้สูงอายุปรับสายตาได้

     นอกจากนี้สวิตซ์ไฟควรจะมีสีขาวและขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้ง่าย ทั้งควรจะเรืองแสงได้ในความมืด ระดับความสูงของสวิตซ์ไฟก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรพิจารณา เพราะหากผู้สูงอายุนั่งรถเข็น ก็ควรจะติดตั้งให้อยู่ในระดับพอเหมาะที่จะสามารถกดใช้งานได้สะดวก นอกจากนี้ก็ควรจะติดตั้งแผงสวิตซ์ของอุปกรณ์อื่นๆ อย่างแอร์ พัดลม หรือระบบต่างๆ ไว้ยังตำแหน่งใกล้เคียง โดยเน้นให้ใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อน

 

     5. ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

     ไม่ว่าจะเป็นเพราะด้วยอุบัติเหตุ หรือปัญหาสุขภาพที่กำเริบขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยมิได้คาดหมาย การติดตั้งอุปกรณ์ Emergency Call ส่งเสียงเตือนให้คนที่อยู่ในบ้านรู้ตัวว่ามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ก็จะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุได้อย่างทันท่วงที

     ทั้งนี้ระบบ ‘Smart  Home’ หรือบ้านอัจฉริยะ ในปัจจุบันยังสามารถเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต เพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถเรียกดูภาพจากกล้องวงจรปิด และรับทราบถึงความเป็นไปภายในบ้านผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย

 

Photo: Oleksandr Khmelevskyi/Shutterstock

 

บ้านปลอดภัยสำหรับเด็ก

     แม้เด็กที่กำลังโตนั้นจะมีความแตกต่างจากผู้สูงวัยซึ่งสังขารร่วงโรย แต่ข้อจำกัดของวัยและธรรมชาติอันไร้เดียงสาของเด็กก็ทำให้มีความน่าเป็นห่วงที่แตกต่างจากผู้สูงวัยได้ไม่แพ้กัน โดยบ้านปลอดภัยสำหรับเด็กนั้น เราควรคำนึงถึงหลักการและสภาพแวดล้อมเหล่านี้

 

     1. ป้องกันไฟช็อต

     รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีนั้นมีเด็กที่เสียชีวิตจากไฟช็อตจำนวนไม่น้อย เนื่องจากเต้าเสียบไฟฟ้านั้นมักอยู่ในระดับสายตาของเด็กเล็ก และนักสำรวจตัวน้อยจอมซนของเราก็อาจจะเอานิ้วมือแหย่เข้าไปได้ การปิดล็อกเต้าเสียบจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

 

     2. ล็อกหน้าต่างและรั้วกั้น

     นอกจากจะติดตั้งล็อกหน้าต่างเพื่อป้องกันโจรขโมยแล้ว ยังสามารถป้องกันเด็กตกลงไปได้ด้วย นอกจากนี้ในส่วนของบันไดควรจะติดตั้งรั้วกั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กคลานหรือเดินพลัดตกบันไดลงไปด้วย

 

     3. ควรป้องกันภายในห้องครัว

     ห้องครัวเป็นห้องที่อุดมไปด้วยสิ่งของสารพันอันตรายที่ควรจะป้องกันให้พ้นมือของเจ้าตัวน้อยจอมซน ไม่ว่าจะเป็นมีด เตา จาน แก้ว ฯลฯ ลองนึกดูสิว่าถ้าน้ำเดือดๆ อยู่แล้วเจ้าหนูเกิดไปซน ทำน้ำร้อนหกลวกตัว หรือหยิบเอาของมีคมจนทำให้เกิดอันตรายก็เป็นไปได้ ดังนั้นควรจะป้องกันเอาไว้ก่อนโดยการจัดเก็บของมีคมให้มิดชิดพ้นมือ จัดให้มีฝาครอบเตา และสวิตซ์ หรือกระทั่งทำที่กั้นไม่ให้เด็กเข้าไปในบริเวณครัวตามลำพัง

 

     4. ห้องน้ำและสระว่ายน้ำคือจุดพึงระวัง  

     เนื่องจากพื้นลื่นๆ ของห้องน้ำอาจจะทำให้หกล้มบาดเจ็บ ดังนั้นนอกจากเลือกใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่นแล้ว ยังสามารถใช้แผ่นพรมกันลื่นเสริมหรือแทนกันได้ และถ้ามีสระว่ายน้ำ ก็อาจจะต้องพิจารณาเรื่องรั้วกั้น เพื่อคอนเฟิร์มความปลอดภัยให้เจ้าตัวน้อยไม่จมน้ำ

FYI
  • เพราะใส่ใจทุกรายละเอียดของทุกชีวิตในบ้าน หลักมาตรฐาน 5 ความสมบูรณ์แบบของ SC Asset จึงรวมไปถึงงานดีไซน์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง (Practical Design) ระบบรักษาความปลอดภัยที่สามารถวางใจได้ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน (Security Care) นวัตกรรมบ้านพร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัย (Intelligent Home) ที่จะช่วยมอบทั้งคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยให้กับสมาชิกทุกวัยของบ้านที่คุณรัก
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising