×

บ้านรู้ใจ: Human Centric แนวคิดในการออกแบบบ้านยุคใหม่ที่มองเห็นใจผู้อยู่อาศัยและยึดเป็นศูนย์กลาง

22.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • Human Centric คือแนวทางในการออกแบบที่คำนึงถึงผู้อยู่อาศัยเป็นศูนย์กลาง ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ควบคู่กับงานสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ
  • หลักคิดของ Human Centric มุ่งไปที่การทำความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ และคิดหาวิธีการซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

     การสร้างหรือซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ว่าสถานที่นั้นจะอยู่ในอาคารสูงเสียดฟ้าใจกลางเมือง หรือเรียบชิดบนผืนดินที่มีอาณาเขตกว้างขวาง เมื่อคิดจะลงเงินก้อนโตกับบ้านสักหลัง เราทุกคนย่อมอยากจะได้บ้านที่สวยงาม อบอุ่น ปลอดภัย แต่ต่อให้ออกแบบสวยแค่ไหน ถ้าอยู่ไม่สบาย ฟังก์ชันไม่พร้อม บ้านในวิมานที่คุณฝันไว้ก็อาจล่มสลายลงได้ในพริบตา

     หลักการออกแบบบ้านที่ดีในยุคใหม่จึงไม่ใช่แค่ออกแบบสิ่งต่างๆ ให้สวยงาม น่าอยู่แล้วก็จบสิ้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสม อยู่สบาย เป็นที่พักพิงให้กับผู้อยู่อาศัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง

     THE STANDARD จึงขอพาคุณมารู้จักกับ ‘Human Centric’ หลักการสร้างสรรค์บ้านยุคใหม่ที่ดีพร้อมทั้งฟังก์ชันใช้สอยและงานดีไซน์ โดยคำนึงถึงความสุขของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ

 

 

Human Centric คืออะไร

     ในสมัยก่อน หลักในการออกแบบสินค้าต่างๆ รวมไปถึงบ้านและที่อยู่อาศัยนั้นออกแบบโดยให้ความสำคัญกับ ‘Product Centric’ หรือคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าเป็นสำคัญ เพื่อที่จะดึงดูดความมั่นใจสูงสุดจากผู้บริโภค ต่อมาจึงเข้าสู่ยุค ‘Customer Centric’ ซึ่งเป็นยุคที่ลูกค้าเริ่มมีความต้องการอันหลากหลาย และเหล่าผู้ประกอบการต่างก็คิดที่จะตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างหลากหลายนั้น

     ในขณะที่ในปัจจุบันนี้มีเทรนด์ซึ่งผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพียงลูกค้า จนเกิดเป็นหลัก ‘Human Centric’ หรือ Human Centered Design พูดง่ายๆ ก็คือการออกแบบที่คำนึงถึงมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั่นเอง

     ข้อดีของการออกแบบดังกล่าวก็คือ เมื่อมองผู้บริโภคในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์มากกว่าที่จะเป็นเพียงผู้ใช้ประโยชน์จากงานออกแบบ (User-Centered Design) แต่หันไปให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานในฐานะที่เป็นคนซึ่งมี ‘ความต้องการ’ และ ‘ความพึงพอใจ’ วิธีคิดเช่นนี้ก็จะสามารถทำให้มองเห็นทุกรายละเอียด แล้วนำมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ผ่านการขบคิดและการทดลองขึ้นมา เพื่อมอบให้ผู้ใช้งานหรือผู้อยู่อาศัยมีประสบการณ์ที่ดีขึ้นได้

 

 

วิธีคิดและกระบวนการแบบ Human Centric

     หลักคิดของ Human Centric ถ้าว่ากันตามตามตรงนั้นคล้ายกับหลักการทางวิทยาศาสตร์อยู่มากโข คือมุ่งไปที่การทำความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ และคิดหาวิธีการซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยมีขั้นตอนปฏิบัติอยู่ 5 กระบวนความ ได้แก่

 

1.ทำความเข้าใจ (Empathising)

     เพราะการเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการอย่างถ่องแท้เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และทำให้หลัก Human Centric นั้นเกิดผล อาจเริ่มต้นด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มผู้อยู่อาศัย เฝ้าสังเกตพฤติกรรม เพื่อหาความต้องการต่างๆ ในด้านที่อยู่อาศัย

     สิ่งสำคัญที่สุดคือการศึกษาปัญหาเพื่อค้นหา pain point ที่ผู้คนประสบพบเจอในชีวิตประจำวันเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดในทุกมิติ ตั้งแต่การคิดโครงการ การออกแบบ การก่อสร้าง ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้อย่างรู้ใจสำหรับทุกคนในครอบครัว เช่น กิจวัตรประจำวันของคนที่อยู่ในบ้านเป็นอย่างไร ผู้อยู่อาศัยในบ้านอยู่ในวัยไหน ชอบแบบใด ไม่ชอบแบบใด อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจหรือไม่มีความสุข อันจะนำมาซึ่งการออกแบบบ้าน รูปแบบโครงการ หรือนวัตกรรมวิธีการที่จะช่วยเหลือ

 

2.วิเคราะห์ (Define)

     เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้วก็นำมาขบคิด แยกแยะ ตีกรอบความต้องการ และปัญหาของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสะสมในภายภาคหน้า ซึ่งขั้นตอนนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง ตรงจุด และเกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน เช่น ปัญหาเรื่องความปลอดภัยนั้นจะมีวิธีแก้ได้อย่างไร นอกจากตัวบ้านที่มีเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยแล้ว ทางโครงการจะมีระบบรักษาความปลอดภัยได้อย่างไร ถ้าจะให้ดี ต้องถึงขั้นสร้างชุมชนที่เป็นมิตรขึ้นมาเพื่อคอยช่วยกันสอดส่องดูแลไหม แล้วจะมีกระบวนการอย่างไร ฯลฯ เป็นต้น

 

3.ระดมความคิด (Ideate)

     เมื่อรู้ที่มาของสโคปปัญหาและความต้องการแล้ว ผู้ออกแบบก็ต้องหาไอเดีย และออกแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์คนอยู่มากที่สุด โดยเป็นบ้านหรือโครงการที่รู้ใจ อยู่แล้วสบายใจ ให้ความรู้สึกสุขและอบอุ่น หรือถ้าปัญหาใหญ่ไม่ใช่ฟังก์ชันภายใน แต่เป็นงานบริการหลังการขาย ก็อาจหาเครื่องมือช่วย หรือวิธีการที่ทำให้การอยู่อาศัยนั้นสะดวกสบาย ไร้ปัญหาปวดหัวในอนาคต ซึ่งทางออกก็มีตั้งแต่เรียบง่ายไปจนถึงการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

 

4.ต้นแบบ (Prototype)

     เมื่อได้ไอเดีย เป้าหมาย และสิ่งที่จะทำแล้วก็มาถึงขั้นตอนลงมือปฏิบัติ ถ้าเป็นอุปกรณ์ก็ทำตัวต้นแบบออกมาให้ดูก่อน หรือถ้าเป็นโครงร่างบ้านก็อยู่ในขั้นตอนของ 3D หรือแบบจำลอง หรือถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะถึงขั้นสร้างบ้านต้นแบบขึ้นมาเพื่อให้คนได้เข้ามาทดลองอยู่อาศัยจริงเพื่อเก็บข้อมูล

 

5.ทดสอบ (Test)

     คือการนำต้นแบบออกมาให้กลุ่มเป้าหมายได้ทดลองใช้จริงเพื่อนำผลตอบรับที่ได้ไปปรับปรุง ซึ่งถ้ามีปัญหาก็กลับสู่ขั้นตอนที่ 1 แล้วทำซ้ำวนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้สิ่งที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง

 

     เห็นแล้วใช่ไหมว่ากว่าจะได้บ้านหนึ่งหลัง หรือโครงการที่อยู่อาศัยตามหลัก Human Centric นั้นต้องผ่านการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ พิสูจน์ และทดลองทำซ้ำๆ อยู่หลายหน เพื่อให้เกิดบ้านที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับทุกคน

     Human Centric ที่คำนึงถึงผู้อยู่อาศัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เป็นศูนย์กลางจึงไม่ใช่แค่งานดีไซน์ แต่เป็นกระบวนการที่ผ่านการคิดมาแล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อมอบประสบการณ์การอยู่อาศัยที่ทุกคนในครอบครัวจะพอใจ และเรียกว่า ‘บ้าน’ ได้อย่างเต็มหัวใจ

 

FYI

เพราะเชื่อว่า ‘บ้านที่ดี’ ไม่ได้เป็นแค่ที่พักอาศัย แต่เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่อนาคตที่ดีด้วย SC Asset จึงออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยโดยใช้หลัก Human Centric จนได้มาตรฐาน 5 ความสมบูรณ์แบบ อันได้แก่ 1. งานดีไซน์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงและเหมาะสำหรับผู้อยู่อาศัย (Practical Design)  2. สถานที่ตั้งที่ไปมาสะดวก (Acessible Location) 3. ระบบรักษาความปลอดภัยที่ผู้อยู่สามารถวางใจได้ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน (Security Care) 4.นวัตกรรมบ้านพร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนสมัยใหม่ (Intelligent Home)  5. สังคมคุณภาพด้วยมิตรภาพที่อบอุ่น (Lively Neigbourhood)

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising