×

ผักชีไม่ได้มีไว้แค่โรยหน้า ไขปริศนาญี่ปุ่นคลั่งผักชีไทย จนยกมงให้เป็นอาหารแห่งปี

08.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ผักชี ถูกโหวตให้เป็น ‘อาหารแห่งปีของคนญี่ปุ่น 2016’ (Dish of The Year 2016) โดยโพลของนิตยสารด้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง ‘GuruNavi’
  • สรรพคุณของผักชีมีเยอะมาก ตั้งแต่ช่วยลดน้ำตาลในเส้นเลือด ไปจนถึงช่วยขับลมและต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
  • กระแสความฟีเวอร์ผักชีในญี่ปุ่น เริ่มมาจากการเปิดให้บริการของ ‘Paxi House’ ในปี ค.ศ. 2007 ร้านอาหารแห่งแรกของโลกที่นำผักชีบ้านๆ ของไทยไปเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร
  • ใช่ว่าคนญี่ปุ่นทุกคนจะรักผักชีไปเสียหมด ขนาด ทาคุยะ คิมูระ (Takuya Kimura) ยังประกาศออกรายการ SMAPxSMAP เลยว่า “ไม่เอาผักชี” เป็นภาษาไทย

      กระแสการบริโภคผักชี หรือ ‘ผักชีฟีเวอร์’ ในประเทศญี่ปุ่น ยังคงแรงอย่างต่อเนื่องแบบฉุดไม่อยู่ และคาดว่ากราฟคงพุ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดเกินคาดเดา เพราะเท่าที่คนเขียนสังเกตมาหลายปี ก็ไม่เห็นกระแสนิยมจะลดน้อยถอยลงตรงไหน เห็นก็แต่เพิ่มขึ้นจนถูกโหวตให้เป็น ‘อาหารแห่งปีของคนญี่ปุ่น 2016’ (Dish of The Year 2016) จากโพลของนิตยสารด้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง ‘GuruNavi’ หลังจากนั้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็โหนกระโจนลงไปในกระแส ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ (ที่เกี่ยวข้องกับ) ผักชี

 

 

พื้นฐานเรื่องผักชี

      ‘ผักชี’ เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กในวงศ์ Apiaceae มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรปตอนใต้ แอฟริกาเหนือไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

      ใบมีลักษณะหยักลึกเข้าหากลางใบ ช่อดอกย่อยสีขาวอมชมพู ผลมีลักษณะรีค่อนข้างกลม แก่จัดเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล คนไทยนิยมนำต้นไปรับประทานเป็นผักแกล้มกับอาหารบางชนิด เช่น สาคูไส้หมู หรือนำไปตกแต่งจาน ดังสำนวนที่ว่า ‘ผักชีโรยหน้า’ ที่เราคุ้นชินนั่นแหละ รากผักชีใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องพริกแกง หรือแกงจืดเพื่อความหอม เมล็ดใช้เป็นเครื่องเทศ ใส่ในน้ำแกง สะเต๊ะ บาเยีย ข้าวหมกไก่ ฯลฯ

      สรรพคุณของผักชีมีเยอะมาก ตั้งแต่ช่วยลดน้ำตาลในเส้นเลือด จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานและลดน้ำหนัก ป้องกันโรคหวัด ไปจนถึงช่วยขับลมและต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง ฯลฯ

 

ผักชีเทมปุระ ของร้าน Paxi House

(Courtesy of Paxi House)

 

‘Paxi House’ ผู้ปลุกกระแส ‘ผักชี ฟีเวอร์’ ในญี่ปุ่น

      ชาวญี่ปุ่นเรียกผักชีว่า ‘ผักชี’ ทับศัพท์ตามภาษาไทย โดยออกเสียงว่า ‘pa-ku-chii’ (パクチー) ตามหลักการเขียนคำต่างประเทศ

      กระแสความฟีเวอร์ของผักชีในญี่ปุ่น เริ่มต้นจากการเปิดให้บริการของ Paxi House (Paxi เป็นคำเพี้ยนมาจากคำว่า Phakchi ที่เขียนทับศัพท์ในภาษาอังกฤษ) ในปี ค.ศ. 2007 ร้านอาหารแห่งแรกของโลกที่นำผักชีบ้านๆ ของไทยไปเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารแบบจริงจัง โดยเสิร์ฟเมนูเกี่ยวกับผักชีทั้งหมด 35 ชนิด มีทั้งข้าวหน้าเนื้อโรยผักชี (เยอะๆ) สลัดผักชี เทมปุระผักชี พาสต้าผักชี สารพันเมนูสุดจะสร้างสรรค์

      ร้านนี้เปิดโดยคนญี่ปุ่นที่มาเมืองไทยแล้วคลั่งไคล้ผักชีเอามากๆ จนเก็บข้อมูลและนำไปเปิดร้านให้คนญี่ปุ่นได้ลิ้มลองที่กรุงโตเกียว

 


 ไอศกรีมรสผักชี ที่จังหวัดโอคายามา (Okayama)

      ตามบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ ‘ผักชี’ ปรากฏตัวให้คนญี่ปุ่นรู้จักครั้งแรกต้องนับย้อนไปหลายทศวรรษ อิงจากชื่อของผักชีที่ปรากฏตัวอยู่ในหนังสือ Engishiki ในปี 927 ว่าด้วยเรื่องกฎหมายและศุลกากรของญี่ปุ่นในยุคนั้น แต่ดูเหมือนคนญี่ปุ่นไม่พึงใจเสียเท่าไร ผักชีจึงถูกลืมเลือนหายไปนานจนกระทั่งปรากฏตัวอีกครั้งในยุคเอโดะ (Edo) ช่วงราวศตวรรษที่ 16-18 โดยมาในรูปแบบของสมุนไพรจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หมอยุคนั้นนิยมนำมาปรุงยา กระทั่งช่วงหลังสงครามโลกครั้ง 2 ผักชีจึงถูกนำมาขายในตลาดสดอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ความนิยมอีกเช่นเคย

 

เบียร์แกล้มผักชี ของร้าน Phakchi Bar

(Courtesy of Phakchi bar)

 

      ความคลั่งของคนญี่ปุ่นที่มีต่อผักชี มีมากเสียจนคุณไม่คาดคิด จากความชอบ (ขั้น Geek) ของคนคนเดียว สร้างกระแสให้คนนับพันหันมาบริโภค ถึงขนาดรวมตัวกันเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ มีสมาชิกมากกว่า 500 คนภายในไม่กี่เดือน และพัฒนาสานต่อกลายเป็น ‘สมาคมคนรักผักชีนานาชาติ’ (International Paxi Organization) ซึ่งผู้ก่อตั้งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คุณเคียว ซะทะนิ (Kyo Satani) เจ้าของร้าน Paxi House นั่นเอง

      เมื่อเริ่มได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก รายการโทรทัศน์และสื่อญี่ปุ่นก็เริ่มทำสารคดี เจาะลึกถึงสรรพคุณอาหาร พร้อมแนะนำสถานที่กินเสร็จสรรพ คนญี่ปุ่นจึงแห่กันไปลิ้มลอง

 

คากิโกริผักชี ของร้าน Thailand Yatai 999

(Courtesy of Thailand Yatai 999)

 

      Paxi House จึงไม่ใช่ร้านอาหารเฉพาะทางด้านผักชีเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป มีอีกหลายร้านผุดขึ้นตาม เช่น Soi Roppongi  กับเมนูสลัดผักชีแตงกวายอดนิยม Go Go Phakchi  ร้านอาหารผักชีแห่งแรกในโอซาก้า หรือ Thailand Yatai 999  ที่เด่นดังเรื่องผักชีหม้อไฟรสจัดจ้าน และเมนูล่าสุดคากิโกริผักชี หรือ น้ำแข็งใสรสผักชีที่โด่งดังในโลกโซเชียลรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

 


 เมนูผักชีหม้อไฟของร้าน Thailand Yatai 999

 

คนรัก (ผักชี) เท่าผืนหนัง คนชังนั้นมากพอๆ กับผืนเสื่อ

     แม้กระแสผักชีมาแรงจนฉุดไม่อยู่ แต่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นทุกคนจะรักผักชีไปเสียหมด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักพ่ายแพ้ต่อกลิ่นฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ของผักชี

     ขนาด ทาคุยะ คิมูระ (Takuya Kimura) นักร้องนักแสดงชายอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ยังประกาศออกรายการ SMAPxSMAP ออกอากาศเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2011 เลยว่า “ไม่เอาผักชี” เป็นภาษาไทย ทั้งๆ ที่เมนูในการปรุงวันนั้นเกี่ยวข้องกับอาหารไทยโดยแท้

     ล่าสุดกับแบบสำรวจบนเว็บไซต์ Minna no Koe (みんなの声) ที่สอบถามชาวญี่ปุ่นจำนวน 3,758 คน ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม – 22 กรกฎาคม 2017 ในหัวข้อ ‘คุณชอบกินผักชี? หรือเกลียดผักชี? กันแน่’ ผลสรุปว่า มีคนเกลียดถึง 31% (1,188 โหวต) อันดับ 2 พอกินได้ แต่ไม่ชอบ 28% (1,058 โหวต) ในขณะที่คนชอบและชอบมาก รวมกันเพียง 559 เสียง คิดเป็น 9% และ 5% ตามลำดับ

     นั่นตอกย้ำความจริงที่ว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงเกลียดผักชีเช่นเดิม

 

ผงอาบน้ำกลิ่นผักชี

(Courtesy of Brand)

เมื่อผักชีเป็นมากกว่าอาหาร

     ถึงส่วนใหญ่จะเกลียดมากเพียงใด แต่คนรักก็มีมากพอให้หลายบริษัทกล้ากระโจนลงกระแส เราจึงเห็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเกี่ยวกับผักชีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผักชีอบแห้ง คาลบี้รสผักชี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสผักชี ป๊อปคอร์นรสผักชี เบียร์รสผักชี รวมไปถึงสินค้าที่กินไม่ได้ เช่น หนังสือรวมเมนูผักชี และผงอาบน้ำกลิ่นผักชี ที่อาบแล้วหอมกลิ่นผักชีไปทั้งวัน (อะไรจะขนาดนั้น)

 

กูลิโกะ เพรทซ์ รสผักชี

(Courtesy of Pretz)

 

     ล่าสุดกับ ‘เพรทซ์รสผักชี’ ที่เพิ่งปล่อยตัวไปไม่กี่วันก่อน เรียกเสียงฮือฮาให้คนรักผักชีมากโข จนแฮชแท็ก #プリッツ และ แท็กที่เกี่ยวข้องกับผักชีเต็มไปด้วยเพรทซ์รสผักชี

     สิ่งที่พีกกว่านั้นคือ การปล่อยเพลง ผักชี เฮฟเว่น ของวง Tenshin Actor วงบอยแบนด์หนุ่มคิวชู ด้วยการสนับสนุนของสมาคมผักชีประจำประเทศญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์ให้คนหันมากินผักชีเยอะๆ

     แน่นอนว่าเนื้อหาเพลงต้องบรรยายถึงความคลั่งไคล้และสรรพคุณอันเหลือล้นของผักชี ที่สำคัญมีคำบรรยายภาษาไทยให้เสร็จสรรพ เอาไว้ให้เหล่าพาคุชินิส (Pakuchinist) ไปฝึกร้อง ฝึกสั่งเป็นภาษาไทยกัน

 

 

     หรือแม้แต่ Hotpepper นิตยสารออนไลน์ที่ให้ข้อมูลร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักในญี่ปุ่น ยังเลือกใช้ผักชี และร้านอาหารไทยเป็นหนึ่งในซีรีส์เพื่อโปรโมตเว็บไซต์

 

 

     จากการสอบถามออนไลน์โดยนิตยสารออนไลน์ Hotpepper เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่ามีคนกินผักชีเดือนละครั้งขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 60.9 และมีคนกินมากกว่าอาทิตย์ละครั้งถึงร้อยละ 21.9 นั่นแปลได้ว่าเหล่าผู้อ่านนิตยสาร Hotpepper ซึ่งเป็นนักชิมส่วนใหญ่นิยมบริโภคผักชีเป็นประจำ และอนุมานได้ว่า ตลาดการบริโภคผักชีในคนญี่ปุ่นกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร้เพดานกำหนด

     สำหรับไทยเอง ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็เตรียมหารือกับบริษัทนำเที่ยวจัดทำแพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวอาหาร ‘ตามรอยผักชีไทย’ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่นให้มาท่องเที่ยว โดยจะเริ่มตั้งแต่ต้นทาง พาบุกสวนผักชีกันถึงไร่ ก่อนปิดท้ายด้วยเมนูผักชีสดๆ อร่อยๆ

     คนญี่ปุ่นเป็นชาติที่ทำอะไรจริงจัง ชอบหรือคลั่งสิ่งใดก็พาตัวเองไปสุดโต่ง ถ้ากระแสความฟีเวอร์นี้ยังไม่ลดน้อยถอยลง เราคงเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และแปลกตาอีกเพียบ ชนิดที่ว่าเราคนไทยที่กินผักชีกันจนคุ้นชินต้องร้อง ว้าว! แบบคาดไม่ถึงแน่นอน (ดูจากผงอาบน้ำและบิงซู เป็นต้น)

 

อ้างอิง: 

FYI

 

  • ญี่ปุ่นปลูกผักชีมากที่จังหวัดชิซูโอกะ (Shizuoka) และโอคายามา (Okayama) ขณะที่ผักชีส่วนใหญ่ที่จำหน่ายนำเข้าจากประเทศไทยและเวียดนาม ในราคาประมาณ 3 ต้น 300 เยน หรือราว 150 บาท
  • ผลิตภัณฑ์จากผักชีได้รับความนิยมอย่างเหลือเชื่อ ขนาดร้านสะดวกซื้อชื่อดัง 7-Eleven ยังต้องผลิตอาหารเมนูผักชีออกจำหน่าย
  • ผู้หญิงญี่ปุ่นเชื่อว่า กินผักชีแล้วสวย หน้าเด็ก ผิวพรรณเต่งตึง เพราะมีฤทธิ์เป็นยา ช่วยในการขับถ่ายและกำจัดของเสีย
  • พาคุชินิส (Pakuchinist) และ พาคุชิสต์ (Pakuchist) เป็นศัพท์ใหม่ภาษาญี่ปุ่น ที่ Elle Japan และ Nikkei ใช้เรียกคนที่คลั่งไคล้ผักชีมากๆ
  • ผักชี เฮฟเว่น ไม่ใช่เพลงแรกที่มีเนื้อร้องเกี่ยวกับผักชี เพราะก่อนหน้านั้นมีไอดอลสาววง ชิริสึ เอบิสึ จูกาคุ (Shiritsu Ebisu Chuugaku) ออกเพลง The Choice Is パクチー ซึ่งมีเนื้อเพลงประมาณว่า “เด็กอย่างฉันกินผักชี กินยากหน่อย แต่หม่ำๆๆๆ”

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising