คุณเคยรู้สึกไหมว่านอนครบ 8 ชั่วโมงแล้ว แต่พอตื่นขึ้นมากลับรู้สึกเหนื่อยล้าราวกับไม่ได้นอนเลย? หากเป็นเช่นนั้น คุณอาจกำลังเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า Unrefreshing Sleep หรือการนอนที่ไม่สดชื่น มันเป็นภาวะที่ร่างกายและสมองไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเพียงพอจากการนอนหลับ แม้จะนอนครบตามเวลาที่ควรจะเป็นก็ตาม ผู้ที่มีอาการนี้มักจะรู้สึกเหนื่อยล้าเหมือนกับตอนก่อนเข้านอน ซึ่งแตกต่างจากอาการนอนไม่หลับทั่วไปที่ผู้ป่วยมักจะรู้ตัวว่านอนไม่พอ
สาเหตุของการนอนที่ไม่สดชื่นนั้นมีสาเหตุจากหลายอย่าง บางครั้งอาจเป็นอาการของโรคทางการแพทย์ เช่น กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข ทำให้ไม่สบายที่ขา และรบกวนการนอนหลับ (Restless Legs Syndrome), ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia), โรคเหนื่อยล้าเรื้อรัง (ME/CFS) หรือ Long COVID ก็มีส่วน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคลมหลับได้ด้วย
แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร
เริ่มต้นด้วยการเช็กตัวเองว่านอนเพียงพอหรือไม่ หลายคนคิดว่าตนเองต้องการนอนน้อยกว่า 7-9 ชั่วโมงต่อคืน แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจกำลังอดนอนเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว ลองทดสอบด้วยการไม่ตั้งนาฬิกาปลุกในวันหยุดและสังเกตว่าคุณตื่นเองตอนกี่โมง หากคุณตื่นสายกว่าปกติมาก นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังพยายามชดเชยการนอนที่ไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ควรทบทวนว่ายาที่ใช้อยู่ ทั้งยานอนหลับ ยาตามใบสั่งแพทย์ และยาที่ซื้อได้ทั่วไป เช่น เมลาโทนิน เพราะอาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกมึนงงในตอนเช้า หากจำเป็นต้องใช้ยาที่มีผลข้างเคียงเช่นนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีลดผลข้างเคียงให้น้อยลง
การปรับพฤติกรรมการนอนก็เป็นสิ่งสำคัญ ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้ดูนะ
- ลดการดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- งดใช้โทรศัพท์มือถือก่อนนอน
- สร้างกิจวัตรก่อนนอนที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
- พยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน
- จัดห้องนอนให้เย็น มืด และเงียบ
หากคุณได้ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว แต่ยังรู้สึกว่าการนอนไม่ช่วยให้สดชื่นขึ้นจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้คุณได้กลับมามีคุณภาพการนอนที่ดี และตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นในทุกๆ เช้า
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง: