×

9 เทคนิคกินราเมนให้อร่อย สไตล์ ‘เชฟชินจิ อิโนะอุเอะ’ แห่ง No Name Noodle

09.08.2023
  • LOADING...

คอราเมนในประเทศไทยไม่มีใครไม่รู้จัก เชฟชินจิ อิโนะอุเอะ (Shinji Inoue) แห่งร้าน No Name Noodle ร้านราเมนไร้ชื่อไร้ป้ายที่เสิร์ฟราเมนเบสซุปไก่สไตล์คราฟต์แค่ไม่กี่ถ้วยต่อวัน และด้วยการจำกัดจำนวนเสิร์ฟทำให้ No Name Noodle เป็นหนึ่งในร้านราเมนที่อร่อยที่สุดแต่จองยากที่สุดเช่นกัน

 

แน่นอนว่าความสำเร็จของเชฟชินไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่มาจากความอุตสาหะล้วนๆ นอกจากจะไปฝึกปรือฝีมือการทำเส้นและซุปที่ฟุกุโอกะและโตเกียว เมื่อมีวันว่างเชฟชินจะตระเวนกินราเมนร้านใหม่ๆ อยู่เสมอ ร้านไหนใครว่าดี ว่าอร่อย เชฟชินไปตระเวนกินหมด เพื่ออัปเดตเทรนด์ราเมน ทั้งยังสะสมรสชาติและประสบการณ์ ก่อนกลั่นกรองออกมาเป็นราเมนให้เราชิม และนั่นทำให้เชฟชินกลายเป็นนักชิมตัวยง ที่รู้วิธีการกินราเมนให้อร่อยและถึงเครื่องมากที่สุดคนหนึ่ง! 

 

เมื่อ THE STANDARD LIFE ขอเทคนิคการกินราเมนจากเชฟชินบ้าง เชฟเพียงเอ่ยอย่างถ่อมตัวว่า วิธีการของเขาไม่มีอะไรมาก แค่กินตอนซุปยังร้อน และดื่มด่ำกับรูป รส กลิ่นของราเมนให้ครบทุกประสาทสัมผัส 

 

และนี่คือ 9 เทคนิคกินราเมนให้อร่อยในสไตล์ เชฟชินจิ อิโนะอุเอะ 

 

 

ขั้นตอนที่ 1: ดมกลิ่น

 

เมื่อถ้วยราเมนมาเสิร์ฟตรงหน้า สิ่งแรกที่เชฟชินแนะนำให้ทำคือ ‘ดมกลิ่น’ เพื่อเปิดประสาทสัมผัสในร่างกาย และช่วยให้เราจินตนาการได้ถึงความอร่อยของราเมนในชามนั้น กลิ่นซุปอ้างอิงได้หลายอย่าง ตั้งแต่เบสของน้ำซุป ส่วนผสมต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยเรียกน้ำย่อย เตรียมกระเพาะให้พร้อมการเติมเต็ม

 

ขั้นตอนที่ 2: ชิมซุป

 

เมื่อดมกลิ่นจนพอใจแล้ว เชฟแนะนำให้เริ่มใช้ช้อน ‘ชิมซุป’ เพื่อจำแนกรสชาติของซุป ซุปเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการทำราเมน ราเมนแต่ละเจ้าจะมีเบสน้ำซุปต่างกัน อยู่ที่ส่วนผสมของแต่ละร้าน เช่น ซุปไก่ ซุปกระดูกหมู ซุปทะเล ไหนจะมีส่วนผสมอื่นๆ อีก เช่น โชยุ เกลือ มิโซะ ฯลฯ และการจะได้ซุปที่อร่อยนั้นจำเป็นต้องปรุงเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อที่ดึงรสชาติที่แท้จริงของวัตถุดิบออกมาอย่างเต็มที่ ฉะนั้นถ้าซุปดีราเมนชามนั่นย่อมอร่อยไปแล้วกว่าครึ่ง! เชฟบอกว่าขั้นตอนนี้ให้ชิมสัก 3 ช้อน เพื่อให้เข้าถึงรสชาติที่แท้จริง

 

 

ขั้นตอนที่ 3: ดูเส้น

 

เส้นราเมนแต่ละเจ้ามีสูตรลับไม่เหมือนกัน บางเจ้าผสมแป้ง 3 ชนิด บางเจ้า 5 ชนิด ฯลฯ มีทั้งเส้นหยาบ เส้นนิ่ม มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป นอกจากรสชาติต่างแล้วรูปลักษณ์ก็ต่างกันด้วย ฉะนั้น ก่อนคีบเส้นเข้าปาก แนะนำให้ดูเท็กซ์เจอร์ของเส้นด้วยตา เส้นลวกเป็นอย่างไร เรียงตัวสวยไหม ฯลฯ เพื่อที่ยามเรากินจะได้มีภาพของเส้นผุดขึ้นมาในหัวทันที

 

ขั้นตอนที่ 4: กินเส้น 

 

วิธีการกินเส้นที่อร่อยในแบบฉบับญี่ปุ่น คือการซู้ดเส้นในคำเดียว เชฟชินแนะนำให้คีบเส้นในตำแหน่งที่ไม่มีท็อปปิ้ง จุ่มซุป 1 ครั้ง แล้วซู้ดเส้นเข้าปากในคำเดียว เส้นราเมนพาซุปเข้าปากไปด้วย แต่ถ้าคนไหนไม่สะดวกซู้ดเส้น จะตักเส้นใส่ช้อนแล้วกินพร้อมซุปก็ได้เช่นกัน

 

 

ขั้นตอนที่ 5: กินเครื่อง

 

เชฟแนะให้กินเครื่องหลังกินเส้นจนหมดชาม แต่จะกินเครื่องระหว่างกินเส้นก็ไม่ติด แต่เชฟมีลำดับการกิน เริ่มต้นด้วยชาชู, เมมมะ (หน่อไม้), ลูกชิ้นแผ่น และไข่ต้มท้ายสุด เหตุที่เก็บไข่ไว้สุดท้าย เชฟบอกว่าเมื่อหั่นไข่ออกมาไข่แดงจะไหลเข้ากับซุปกลายเป็นซุปอีกรสชาติ ทำให้ซุปอร่อยขึ้น  

 

ขั้นตอนที่ 6: โปะข้าว

 

สำหรับใครที่ไม่อิ่ม เชฟบอกว่าช่วงเวลานี้แหละที่เหมาะกับกินกับข้าวที่สุด หลังจากกินเส้นจนหมด นักชิมสามารถสั่งข้าวมากินคู่ได้ หรือถ้าไม่กินคู่ จะเอาข้าวเปล่าโปะลงซุปในช่วงสุดท้ายก็อร่อยไม่น้อย ยิ่งเมื่อรวมกับซุปข้นที่ผสมไข่แดงด้วยแล้วยิ่งอร่อย

 

 

ขั้นตอนที่ 7: แพริ่งกับน้ำโซดา

 

การแพริ่งน้ำกับราเมนไม่มีกฎตายตัว แต่สำหรับเชฟชิน น้ำโซดาเป็นน้ำที่เหมาะกับการชิมและกินราเมนที่สุด เพราะช่วยทั้งเรื่องตัดเลี่ยน ลดมัน ดื่มแล้วล้างรสชาติเดิมได้หมดจด ไม่เหลือค้างในปาก ช่วยให้การรับรสชัดเจนขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 8: เครื่องปรุงช่วยเสริมรส

 

ร้านราเมนแบบดั้งเดิมไม่ค่อยมีเครื่องปรุงเสริมรสเท่าไร แต่สำหรับร้านเชฟชินมีเครื่องปรุงอยู่มาก เช่น บ๊วย และเห็ดดุกเซล เชฟชินแนะนำว่าหลังจากชิมรสชาติดั้งเดิมของราเมนจนพอใจ ถ้าอยากเปลี่ยนบรรยากาศ ให้จุ่มเส้นลงซุป 1 ครั้ง แล้วลองเติมเกลือเล็กน้อยลงไปที่เส้นราเมน รสของเส้นจะเปลี่ยนเป็นหวานขึ้น หรือลองผสมเห็ดดุกเซลหรือบ๊วยลงไปในซุป รสของราเมนทั้งชามจะกลายเป็นอีกรสไปเลย

 

ขั้นตอนที่ 9: เข้าร้านช่วงเวลา 13.30 น.

 

ตอนตระเวนกินราเมนที่ญี่ปุ่น เชฟชินบอกว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการชิมราเมนคือหลังมื้อเที่ยง เป็นช่วงที่คนน้อย ร้านไม่ยุ่งจนเกินไป เชฟมีเวลาสอดส่องพูดคุยกับลูกค้า นักชิมก็มีเวลาละเลียดชิมได้เต็มที่ ไม่จำเป็นต้องรีบ เพราะฉะนั้น สำหรับร้านทั่วไป ถ้าอยากได้ประสบการณ์การกินเต็มที่ แนะนำให้มาช่วงเวลา 13.30 น. จะดีที่สุด

 

 

สำหรับใครอยากมีประสบการณ์การชิมราเมนมื้อพิเศษกับเชฟชิน THE STANDARD LIFE ชวนคุณมาเยียวยาจิตใจด้วยมื้อพิเศษหลังเลิกงาน กับงาน ‘LIFE TABLE: Good Night Ramen’ เซ็ตราเมน เมนูพิเศษ 4 คอร์ส แพริ่งกับเครื่องดื่มที่ไม่เคยเสิร์ฟที่ไหนมาก่อนจาก No Name Noodle ในวันที่ 25-27 สิงหาคม 2566 วันละ 2 รอบ รวมทั้งหมด 72 ที่นั่ง สนนราคาอยู่ที่ 2,100 บาท (Non-Alcohol) และ 2,400 บาท (Alcohol Pairing) 

 

เปิดให้สำรองที่นั่งวันที่ 10 สิงหาคม 2566 เวลา 12.00 น. ได้ที่ www.zipeventapp.com/e/LIFE-TABLE-Good-Night-Ramen

 

ภาพ: ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising