×

อยากกิน อยากช้อป… แต่ก็อยากเก็บเงิน ความย้อนแย้งอันขมขื่นของชีวิตที่พิชิตได้ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

27.08.2019
  • LOADING...
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ‘อยากกิน…แต่ก็อยากเก็บ’ น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่หลายคนเคยเจอ ยิ่งเจอสิ่งเย้ายวนจากโลกโซเชียล ทำให้หลายคนเผลอตัวโอนไว รูดปรื๊ด พอรู้ตัวอีกทีก็มีแต่รายจ่าย ไม่มีเงินเก็บ ยิ่งพอได้ลองใช้ของที่แพงขึ้นมาแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะกลับไปใช้ของที่ราคาถูกลง
  • พฤติกรรมแบบนี้ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Life Cycle Theory of Consumption ที่อธิบายไว้ว่ามนุษย์เราจะพยายาม Smooth Consumption หรือพยายามรักษาระดับไลฟ์สไตล์ของเราให้เท่าเดิม และไม่ให้มันลดลงไป
  • การเก็บเงินในวันนี้เท่ากับว่าเราต้องยอมเสียสละความสุขในปัจจุบันเพื่อที่จะได้มีเงินพอใช้สำหรับวันข้างหน้า แต่ช่วงเวลาที่ออมเงินแล้วเรารู้สึกเจ็บปวดน้อยหน่อยคือตอนที่ ‘รายได้เพิ่มขึ้น’ เพราะเป็นช่วงเวลาทองที่ไลฟ์สไตล์ยังไม่เปลี่ยน และยังมีเงินเข้ามาเพิ่มด้วย

บอกกับตัวเองว่าอยากเก็บเงิน แต่อยู่ๆ ก็เกิดอาการอยากกินซูชิ อยากกินนี่นั่นโน่นเต็มไปหมด ถ้าให้ตอบตัวเองว่า “ก็อย่ากินสิ จะได้เก็บเงินได้” ก็คงจะขัดกับความรู้สึกของคนที่รักการกินอย่างเรา

 

‘อยากกิน…แต่ก็อยากเก็บ’ น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่หลายคนเคยเจอ ยิ่งปัจจุบันมีขนม เครื่องดื่ม อาหาร หรือสินค้าใหม่ๆ มานำเสนอให้ลองกินลองใช้ตลอด ทั้งจากเพื่อนสนิทหรือโฆษณาจากโซเชียลมีเดียที่ส่งมาเย้ายวนใจก็ยิ่งยากที่จะหักห้ามใจ เผลอตัวเมื่อไรก็โอนไว รูดปรื๊ด ลองไปเรื่อยๆ พอรู้ตัวอีกทีก็มีแต่รายจ่าย ไม่มีเงินเก็บ ยิ่งพอได้ลองใช้ของที่แพงขึ้นมาแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะกลับไปใช้ของที่ราคาถูกลง

 

ตัวอย่างเช่น 

 

ถ้าเคยกินซูชิโอมากาเสะแล้ว (แบบที่เชฟปั้นให้กินเป็นคำๆ) ก็อาจจะไม่อยากกินซูชิที่ขายทั่วๆ ไปอีกต่อไป

 

ถ้าเคยใช้ครีมบำรุงผิวราคาแพงมากๆ แล้ว ก็อาจจะไม่ค่อยอยากหันไปใช้ครีมที่ราคาต่ำลงมา 

 

ถ้าเริ่มซื้อนาฬิกาหรูแล้ว ก็อาจจะมองหานาฬิกาเรือนถัดไปที่คุณภาพและราคาพอๆ กันหรือสูงขึ้นไปอีก

 

อารมณ์เหมือนกับว่า “ฉันกลับไปในจุดที่ฉันจากมาไม่ได้แล้วจริงๆ”

 

พฤติกรรมแบบนี้ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Life Cycle Theory of Consumption ที่อธิบายไว้ว่ามนุษย์เราจะพยายาม Smooth Consumption หรือพยายามรักษาระดับไลฟ์สไตล์ของเราให้เท่าเดิม และไม่ให้มันลดลงไป

 

ทฤษฎีนี้ยังบอกไว้อีกด้วยว่าเพื่อรักษาระดับไลฟ์สไตล์ไปได้ตลอด เวลาที่เรามีเงินส่วนเกิน เราก็มักจะเก็บออมไว้เพื่อใช้ในอนาคตยามที่เราเกษียณหรือไม่มีรายได้เข้ามา ซึ่งแปลว่าเราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ในอนาคต 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น 

 

การเก็บเงินก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน และเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายาม

 

เพราะว่าการเก็บเงินในวันนี้เท่ากับว่าเราต้องยอมเสียสละความสุขในปัจจุบัน เพื่อที่จะได้มีเงินพอใช้สำหรับวันข้างหน้า

 

ต่อให้ยอมเสียสละความสุขในวันนี้ เราก็อาจจะยังจินตนาการไม่ออกว่าชีวิตในอนาคตจะต้องมีรายจ่ายอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง 

 

กล่าวคือมันไม่ง่ายเลยที่จะรู้ว่าเราต้องออมเงินเท่าไรดี และจะเริ่มออมตอนไหน

 

หากมาพิจารณากันว่าช่วงเวลาที่ออมเงินแล้วเรารู้สึกเจ็บปวดน้อยหน่อยคือตอนไหนของชีวิตกันนะ 

 

คำตอบหนึ่งก็คือตอนที่ ‘รายได้เพิ่มขึ้น’

 

เพราะว่าเป็นช่วงเวลาทองที่ไลฟ์สไตล์ยังไม่เปลี่ยน และยังมีเงินเข้ามาเพิ่มด้วย

 

สมมติปีหน้าได้เงินเพิ่มมาเดือนละ 3,000 บาท ก่อนที่เราจะใช้เงินทั้งหมดนี้กับการยกระดับไลฟ์สไตล์ ให้ลองคิดว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งสำหรับอนาคต (ที่ไม่แน่นอน) เอาไว้ 

 

แล้วทำอย่างไรเราจึงจะห้ามใจตัวเองเพื่อที่จะออมก่อนใช้กันนะ

 

ริชาร์ด ธาเลอร์ และชโลโม เบนาร์ตซี สองนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชื่อดัง ได้ริเริ่มโครงการ Save More Tomorrow™ หรือออมมากขึ้นในวันพรุ่งนี้ ขึ้นในสหรัฐอเมริกา และประสบความสำเร็จในการทำให้คนมีเงินออมเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี 

 

โครงการนี้ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์พฤติกรรมในการพยายามเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ในหลายๆ ด้าน 

 

เช่น การให้คนในบริษัทเข้ามาอยู่ในโครงการออมนี้โดยอัตโนมัติ ใครอยากลาออกจากโครงการก็ได้ แต่สถานะเริ่มต้นคือทุกคนจะต้องเป็นสมาชิกก่อน

 

นอกจากนี้ทุกคนในโครงการจะต้องตกลงล่วงหน้าเลยว่าถ้าเงินเดือนเพิ่มจะออมเพิ่มขึ้น เช่น จากเดิมเคยออม 2% ของรายได้ พอเงินเดือนเพิ่มก็ออมเป็น 3% ไปเรื่อยๆ ทุกๆ ปีไป

 

สิ่งที่ธาเลอร์และเบนาร์ตซีพบคือผู้เข้าร่วมในโครงการมักจะไม่ลาออกและไม่ปรับอัตราการออมที่ตกลงกันไว้ เนื่องด้วยพฤติกรรมที่คนเรามักจะยอมติดกับสภาพที่ได้ตกลงไว้แล้ว (Default Option) และมีความเฉื่อยหรือความขี้เกียจเกินกว่าที่จะไปเปลี่ยนแปลงเรื่องที่อาจจะดูเล็กน้อยเหล่านี้

 

การตัดเงินออมอัตโนมัตินี้จึงทำให้คนในโครงการมีเงินออมเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะมีโอกาสไขว้เขวกับการนำเงินส่วนเพิ่มทั้งหมดไปใช้จนหมด

 

สำหรับคนที่บริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ได้เก็บสะสมเงิน เวลาเงินเดือนเพิ่มก็สามารถไปปรับเพิ่มอัตราสะสมกันได้ 

 

ส่วนใครที่ประกอบอาชีพอิสระหรือว่ายังไม่ได้ทำงาน แล้วอยากลองนำไอเดียไปใช้เวลาเงินเข้าเพิ่ม ก็ลองตัดเงินอัตโนมัติโดยแบ่งเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีเงินออมไปเลยก็ได้ 

 

เทคนิคเหล่านี้จะช่วยทำให้การออมเป็นเรื่องง่ายขึ้น และช่วยทำให้ปวดใจน้อยลง 

 

ลองนำมาใช้เป็นหนึ่งในเทคนิคการแบ่งออมก่อนจ่ายกันได้นะ

 

เพราะถ้าไลฟ์สไตล์ขึ้นแล้ว… ลงยากนะจ๊ะ 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • Deaton, A., 1986. Life-cycle models of consumption: Is the evidence consistent with the theory?.
  • Shefrin, H.M. and Thaler, R.H., 1988. The behavioral life‐cycle hypothesis. Economic inquiry, 26(4), pp.609-643.
  • Morduch, J., 1995. Income smoothing and consumption smoothing. Journal of economic perspectives, 9(3), pp.103-114.
  • Deaton, A., 2005. Franco Modigliani and the life cycle theory of consumption. 
  • Thaler, R.H. and Benartzi, S., 2004. Save more tomorrow™: Using behavioral economics to increase employee saving. Journal of political Economy, 112(S1), pp.S164-S187.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X