×

‘กุลลดา’ ร้องสภาจุฬาฯ ไม่ยอมรับการรายงานผลของกรรมการชุด ‘บวรศักดิ์’ ปมวิทยานิพนธ์ ‘ณัฐพล ใจจริง’

25.08.2022
  • LOADING...

วันนี้ (25 สิงหาคม) กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณี ไชยันต์ ไชยพร ร้องเรียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ณัฐพล ใจจริง โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  1. ให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ยอมรับการรายงานผลของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการร้องเรียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ณัฐพล ใจจริง ซึ่งมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.​ 2558 และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ

 

ซึ่งรายงานดังกล่าว ปาริชาต สถาปิตานนท์ กรรมการและเลขานุการ ได้นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย 

 

กุลลดาเห็นว่า ส่อว่าอาจเป็นรายงานเท็จ ดังที่ เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นความผิดปกติในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง และการรายงานผลอาจจะแย้งกับผลการสอบสวนจริง

 

  1. ให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตรวจสอบความถูกต้องของการสอบสวนและการรายงานผลดังกล่าว ที่ปาริชาตนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

 

ทั้งนี้ หากเป็นการรายงานเท็จ ไม่ตรงกับผลการสอบสวนดังที่เขมรัฐได้เปิดเผยแล้ว สภามหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการสอบสวนต่อผู้เกี่ยวข้องต่อไป

 

  1. ให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เกียรติและยึดมั่นต่อผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดที่มี ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นประธาน และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2561 เพราะข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ตามมาภายหลังล้วนมีสาระสำคัญไม่ต่างไปจากข้อเรียกร้องที่คณะกรรมการชุดแรกได้พิจารณาครบถ้วนแล้ว

 

กุลลดาระบุว่า ไชยวัฒน์ ค้ำชู ในฐานะประธาน พิจารณาพบว่ามีข้อผิดพลาด 1 จุด จาก 31 จุด จากการร้องเรียนในประเด็นต่างๆ ของ ไชยันต์ ไชยพร และไชยวัฒน์ได้สรุปผลว่า 

 

“ข้าพเจ้าใคร่จะชี้ให้เห็นว่า เมื่อกรรมการฯ ได้เรียกนายณัฐพลมารับทราบข้อร้องเรียนของ ศ.ดร.ไชยันต์ นายณัฐพลได้รีบตรวจสอบและยอมรับความผิดพลาดในหน้า 105 โดยไม่ได้โต้แย้งและพยายามหาทางแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นความผิดพลาดโดยบริสุทธิ์ใจมากกว่าจะเป็นความตั้งใจบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

“อนึ่ง ประเด็นว่าด้วยการพยายามแข่งขันและช่วงชิงอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎร และการพยายามฟื้นฟูอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มิใช่ข้อถกเถียงหลักของวิทยาพลของนายณัฐพล และมิใช่ประเด็นใหม่ในวงการวิชาการไทยศึกษาแต่ประการใด”

 

ทั้งนี้ กุลลดาระบุด้วยว่า ขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างถึงที่สุด

 

สำหรับการมายื่นหนังสือในวันนี้มี ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขานุการสภาฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กุลลดาเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จาก 6 จำเลย โดยจำเลยที่ 1 คือ ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ ซึ่งกุลลดาเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ โดยวิทยานิพนธ์ในคดีที่ถูกฟ้องนี้ กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ 5 ท่านได้ลงมติเป็น ‘เอกฉันท์’ ประเมินให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2552 

 

กรรมการ 5 คน ประกอบด้วย

 

  1. ไชยวัฒน์ ค้ำชู ประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
  2. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
  3. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
  4. วีระ สมบูรณ์
  5. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษา

 

โดย ไชยวัฒน์ ค้ำชู ในฐานะประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เป็นผู้เขียนเหตุผลที่คณะกรรมการประเมินให้เป็นวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก (Excellent)

 

เมื่อ พ.ศ. 2561 หลังจาก ไชยันต์ ไชยพร ได้ร้องเรียนจนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวน โดยมี ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นประธานแล้ว

 

ไชยันต์ ไชยพร ได้ร้องเรียนอีกครั้ง กระทั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการร้องเรียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ณัฐพล ใจจริง เมื่อ พ.ศ. 2564 ประกอบด้วยกรรมการ 5 คนคือ  

 

  • บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ

 

  • สุจิต บุญบงการ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการ

 

  • นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการ

 

  • ธีรยุทธ วิไลวัลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ

 

  • ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม เป็นเลขานุการ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising