×

กรุงศรีฯ คาด 13-17 เม.ย. เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

14.04.2020
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ (13-17 เมษายน) ประเมินทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.90 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.67 ต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 

 

ทั้งนี้การซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนลดลง โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 1.16 หมื่นล้านบาท และ 7.6 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบเมื่อกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศมาตรการวงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงการรับซื้อพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นโดยตรงเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับระบบการเงินซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

 

ขณะที่ด้านรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรป (EU) เห็นชอบมาตรการกอบกู้เศรษฐกิจขนาด 5 แสนล้านยูโร แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องรูปแบบการระดมทุน

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีฯ มองว่านักลงทุนจะให้ความสนใจสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการเยียวยาผลกระทบจากประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ 

 

แต่ตลาดยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับแนวทางผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในบางประเทศว่าอาจทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลับมาอีกครั้ง ขณะที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจกำลังทวีความรุนแรงจากการที่กิจกรรมต้องหยุดชะงักลงเป็นเวลานาน นอกจากนี้ราคาน้ำมันตอบรับอย่างจำกัดต่อกรณีกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตรบรรลุข้อตกลงในการปรับลดการผลิตครั้งใหญ่ โดยตลาดยังกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ซบเซาทั่วโลก 

 

ในภาวะเช่นนี้ คาดว่านักลงทุนยังคงลังเลที่จะกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงจนกว่าจะมีสัญญาณบวกครั้งใหม่ ขณะที่สกุลเงินต่างๆ อาจซื้อขายในกรอบที่แคบลง

 

ด้านปัจจัยในประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการระยะที่ 3 เพื่อดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยรวมถึงการออก พ.ร.ก. กู้เงิน โดยกระทรวงการคลังและพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบรวม 1.9 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า การออก พ.ร.ก. กู้เงินในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะกู้เป็นสกุลเงินบาทเป็นหลักจะทยอยกู้ให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยกระทรวงการคลังจะเริ่มดำเนินการจัดหาแหล่งเงินกู้ในเดือนพฤษภาคมนี้ และทางการประเมินว่าการกู้เงินดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นราว 57% ต่อ GDP ในปี 2564 

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมคาดว่าบรรยากาศการลงทุนยังเป็นไปอย่างระมัดระวังต่อไป ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่นิ่งและทั่วโลกอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะถดถอยในวงกว้าง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising