×

‘กอบศักดิ์’ เตือนวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศ EM กำลังลามเป็นวงกว้าง ชี้ไทยเสี่ยงโดนหางเลขด้วย

31.08.2022
  • LOADING...
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

‘กอบศักดิ์’ เตือนกลุ่มประเทศ EM เสี่ยงเผชิญวิกฤตหนี้ลุกลามเป็นโดมิโน หลัง Fed ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ พร้อมทำ QT ดึงสภาพคล่องกลับ แนะไทยเร่งเตรียมการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อฉวยโอกาสในวิกฤต

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets (EM) โดยระบุว่า สถานการณ์ในกลุ่ม EM ขณะนี้กำลังเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะมีประเทศอื่นๆ ทยอยเดินตามรอยศรีลังกา จนอาจลุกลามต่อกลายเป็นวิกฤตที่กระทบ Emerging Markets ทั้งหมด

 

โดยประเทศที่มีความเสี่ยงจะเข้าสู่วิกฤตหนี้เป็นรายต่อไปต่อจากศรีลังกา ได้แก่

 

  1. ปากีสถาน ซึ่งมีเงินทุนสำรองเหลือประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์ เท่ากับประมาณ 1.4 เดือนของสินค้านำเข้า ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับศรีลังกา ทำให้ต้องเข้าไปขอความช่วยเหลือจากทาง IMF ซึ่งล่าสุดได้มา 1.2 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี CDS ที่เป็นราคาของการประกันความเสี่ยงไม่ผิดนัดชำระหนี้ใน 6 เดือนข้างหน้าของปากีสถานยังคงอยู่ที่ระดับ 5,000 เทียบกับประเทศปกติที่อยู่ที่ต่ำกว่า 100 สะท้อนถึงความกังวลใจของนักลงทุน 

 

ซ้ำร้าย กำลังมีน้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้ 1/3 ของพื้นที่ของประเทศจมน้ำ สร้างความเสียหายนับ 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อหมดน้ำท่วม ความทุกข์ยากต่างๆ ก็จะตามมา และด้วยเงินที่มีจำกัด วิกฤตที่อยู่ข้างหน้า การช่วยเหลือประชาชนก็จะเป็นไปอย่างจำกัดเช่นกัน โดยมีโอกาสที่เรื่องนี้จะเป็นชนวนนำไปสู่การประท้วง ลุกลามกลายเป็นปัญหาการเมืองของประเทศต่อไปได้

 

  1. เมียนมาร์ โดยล่าสุดเมียนมาร์ต้องปรับลดค่าเงินของตัวเองอีกรอบ จาก 1,850 จ๊าดต่อดอลลาร์มาเป็นประมาณ 2,100 จ๊าดต่อดอลลาร์ แต่ในตลาดมืด ล่าสุดซื้อขายกันที่ 3,500 จ๊าดต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงไปมากเมื่อเทียบกับ 1,350 จ๊าดต่อดอลลาร์เมื่อต้นปี 2021

 

  1. สปป.ลาว ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินกีบก็ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ไม่ดีขึ้นจากระดับต่ำกว่า 15,000 กีบต่อดอลลาร์เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว โดยล่าสุดเงินกีบอ่อนค่ามาอยู่ที่ 15,386 กีบต่อดอลลาร์ เทียบกับ 9,300 กีบต่อดอลลาร์เมื่อต้นปี 2021

 

  1. อียิปต์ นอกจากในภูมิภาคเอเชียแล้ว กลุ่มประเทศ EM ในภูมิภาคอื่นของโลกก็กำลังมีปัญหาเช่นเดียวกัน โดยอียิปต์กำลังถูกนักลงทุนจับตามอง มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงสุดในรอบ 5 ปี ค่าเงินอียิปต์ที่ต้องลดค่าจาก 15.7 ปอนด์ต่อดอลลาร์มาที่ 18.5 ปอนด์ต่อดอลลาร์เมื่อมีนาคมนี้ และล่าสุดยังอ่อนต่อเนื่องมาอยู่ที่ 19.2 ปอนด์ต่อดอลลาร์

 

  1. เอลซัลวาดอร์ (ประเทศแรกของโลกที่รับเงินคริปโตมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน) ก็กำลังมีปัญหาหนัก ล่าสุดถ้ารัฐจะกู้ยืม ออกพันธบัตรใหม่ ต้องจ่ายดอกเบี้ย +24% จากฐานดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐฯ ขณะที่ CDS ของประเทศอยู่ที่หลัก 2,700-3,400 ซ้ำร้ายเงินที่รัฐบาลเอาไปลงทุนไว้ในคริปโตก็เสียหายหนักเช่นกัน

 

  1. อาร์เจนตินา เงินเฟ้อล่าสุดของอาร์เจนตินาอยู่ที่ 70% ทำให้ค่าเงินอ่อนยวบมาอยู่ที่ 139 เปโซต่อดอลลาร์ จาก 83 เปโซต่อดอลลาร์เมื่อต้นปี 2021 โดยในอดีต ค่าเงินอาร์เจนตินาเคยอยู่ที่ 1 เปโซต่อดอลลาร์เมื่อปี 2000

 

  1. ชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่ดูแลเศรษฐกิจของตนเองดีที่สุดในลาตินอเมริกา ล่าสุดก็กำลังประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 8.5% ของ GDP ค่าเงินผันผวนจาก 800 เปโซต่อดอลลาร์ อ่อนไปที่ 1,050 เปโซต่อดอลลาร์ ก่อนที่ทางการจะต้องใช้ 10% ของเงินสำรอง หรือ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เข้าดูแล แม้อาจจะไม่เสี่ยงเท่ากับประเทศอื่นๆ แต่การที่ประเทศชั้นนำระดับชิลีมาอยู่ในเรดาร์ของนักลงทุนก็สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาที่กำลังก่อตัว

 

กอบศักดิ์ระบุอีกว่า รายชื่อทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเลือกสรรมาให้ดูเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่จากสภาพที่เห็นคงต้องบอกว่าไฟกำลังค่อยๆ ลามทุ่งอย่างช้าๆ จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง จากที่เคยคิดว่าศรีลังกาเป็นเพียงลูกโดด เป็นกรณีเฉพาะตอนนี้ ดูเหมือนจะยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังค่อยๆ อ่อนแรง ค่อยๆ เซ และปัญหากำลังสะสมพลังในจุดต่างๆ เพื่อรอเวลาที่จะปะทุขึ้นและกระจายเป็นวงกว้าง

 

โดยสิ่งน่ากังวลใจที่สุดในเรื่องนี้ คือทั้งหมดที่พูดมาเกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพิ่งจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ปรับขึ้นมาแค่ 4 ครั้ง จาก 0-0.25% มาที่ 2.25-2.5% เท่านั้น Fed ยังเดินหน้าต่อไปอีกพอสมควรกว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ดอกเบี้ยจะขึ้นไปและยังต้องทำ QT ดึงสภาพคล่องกลับไปพร้อมๆ กันอีก

 

“ยังคิดไม่ออกว่า 1 ปีให้หลังจากนี้เมื่อ Fed จ่ายยาครบ ขึ้นดอกเบี้ยไปเต็มที่ เมื่อความกลัวเริ่มปกคลุมนักลงทุน เมื่อประเทศ EM บางส่วนมีเงินสำรองถดถอยไปมาก จากเงินที่ไหลออกจะเกิดอะไรขึ้น” กอบศักดิ์ระบุ

 

กอบศักดิ์ประเมินว่า Emerging Market Crisis รอบนี้ จะต่างจากรอบอื่นๆ ในอดีตที่โลกเคยเจอมา เช่น Eastern European Crisis ในปี 2008, Asian Financial Crisis ในปี 1997 และ Latin American Debt Crisis ในปี 1980 ซึ่งแต่ละครั้งวิกฤตจะเกิดเป็นจุดๆ เป็นพื้นที่ แต่หากพิจารณาจากการคุกรุ่นของปัญหาที่ก่อตัวในรอบนี้ เมื่อปัญหาสุกงอมเต็มที่วิกฤตจะครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ลุกลามเป็นทวีปๆ เช่นในอดีต ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาจะวนมากระทบทุกคนใน Emerging Market รวมถึงไทย 

 

“ทางออกของไทย คือต้องใช้เวลาที่เหลือเตรียมการให้พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้ดี ประเภทถ้าฝนจะมาก็เตรียมร่ม เตรียมเสื้อกันฝน เตรียมเก็บข้าวของให้พร้อม คนที่เตรียมการดีก็จะเสียหายน้อย พร้อมสามารถที่จะหยิบฉวยโอกาสที่เปิดขึ้นได้ เวลามีจำกัด อย่าให้เวลาที่เหลือผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ” กอบศักดิ์กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising